สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระมหากรุณาธิคุณ ต่อมรดกโบราณคดี

จากประชาชาติธุรกิจ

นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อวันที่9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" สมดังพระราชปณิธานที่ทรงประกาศในพระบรมราชโองการเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ที่เสด็จดำรงในสิริราชสมบัติ ทรงสนพระราชหฤทัยสร้างสรรค์และทรงอุปถัมภ์บำรุงมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยและแนวพระราชดำริด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณอันกว้างไกล ทรงตระหนักในคุณค่ามรดกศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานความเจริญและการพัฒนาประเทศ ทั้งทรงเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติบำรุง อนุรักษ์ ฟื้นฟูและสืบทอดศิลปวัฒนธรรมทุกแขนงให้ยั่งยืนมั่นคง เป็นสมบัติและเกียรติภูมิของชาติ



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ว่า

"มรดกนี้ คำที่ถูกต้องคือเป็น บารมี ได้สร้าง บารมี ตั้งแต่โบราณกาลสะสมเรื่อยมา ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมืองไทยถึงยังอยู่ได้ แต่ถ้าเราไม่ทำต่อ บารมีก็สลายไป เราอย่าไปเบิกบารมีที่บ้านเมืองที่ประเทศไทยได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกินไป เราต้องทำบ้างหรือเพิ่มพูนให้ประเทศชาติมีอนาคตแน่นอน"

พระราชดำรัสดังกล่าวครอบคลุมถึงมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอันเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้และเป็นหน้าที่ของอนุชนต้องธำรงรักษาทั้งสร้างสรรค์พัฒนาอย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เพื่อให้ธำรงอยู่สืบไป

มรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพชนไทยสร้างสมสืบทอดมาแต่อดีตทั้งจารีตขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณวัตถุโบราณสถาน ประณีตศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ ทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี นาฏศิลป์และวรรณคดี เหล่านี้ล้วนมีเอกลักษณ์โดดเด่นแสดงถึงความเป็นชาติอารยะ



เหตุนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเยือนสถานที่สำคัญอันเป็นมรดกของประเทศเพื่อทรงอนุรักษ์และฟื้นฟูให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปโดยเฉพาะโบราณสถานสำคัญที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล

การเสด็จพระราชดำเนินแหล่งมรดกโบราณคดีและประวัติศาสตร์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเช่นเสด็จฯวัดมหาธาตุจังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี เดิมเรียกวัดหน้าพระธาตุ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระวิหารหลวงได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจถึง 3 ครั้ง

เสด็จพระราชดำเนินพระนครคีรี (เขาวัง) เพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ขึ้นบนพระนครคีรี ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2496 ทอดพระเนตรเห็นความชำรุดทรุดโทรมของอาคารต่าง ๆ จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมศิลปากรซ่อมแซมรักษาให้คงสภาพที่งดงามดังเดิม อีกทั้งยังได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซ่อมแซมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทซึ่งประดิษฐานพระบรมรูปสำริดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับความเสียหายทั้งสองส่วนและเสด็จพระราชดำเนินอีกหลายครั้ง

เสด็จประพาสถ้ำจอมพลและถ้ำฤๅษีเขางูจังหวัดราชบุรีเป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่ในภูเขาหินปูนลูกโดดขนาดเล็ก เรียกกันมาแต่เดิมว่า เขากลางเมือง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยงดงามหลายแห่ง ในอดีตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2438 ได้ทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธย จปร และเลข 114 อันหมายถึงปีที่เสด็จประพาส และทรงจารึกอักษรพระราชทานนามถ้ำว่า "ถ้ำจอมพล" ที่ปากถ้ำ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จประพาสถ้ำจอมพลและทรงจารึกพระปรมาภิไธย "ภปร" ที่หน้าถ้ำเช่นเดียวกัน

ทอดพระเนตรถ้ำพระยานคร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ตั้งอยู่บนไหล่เขาลูกหนึ่งในทิวเขาสามร้อยยอด สันนิษฐานว่าพระยานครผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้พบถ้ำนี้ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นพระยานครคนใด



เสด็จพระราชดำเนินวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงประทับพระราชหฤทัยเป็นเหตุให้เสด็จพระราชดำเนินวัดไชยวัฒนารามบ่อยครั้ง ทรงถ่ายรูปวัดไชยวัฒนารามด้วยความเพลิดเพลินพระราชหฤทัยยิ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจึงได้กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับวิธีการบูรณะถึงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เป็นที่พอพระราชหฤทัย

พระมหากรุณาธิคุณต่อแหล่งมรดกโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ประกอบด้วย จังหวัดสุโขทัย จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดอุตรดิตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรโบราณสถานเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

เมืองเก่าสุโขทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ในอดีตเคยเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ กำแพงเมืองเป็นกำแพงพูนดิน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 3 ชั้น มีประตู 4 ประตู มีโบราณสถานสำคัญ ดังนี้ วัดมหาธาตุ เป็นวัดสำคัญขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสุโขทัย, วัดชนะสงคราม, พระอจนะ วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย

เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย บริเวณช่วงแหลมโค้งของแม่น้ำยม วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในศิลปะสมัยอยุธยา

ในการเสด็จประพาสภาคเหนือเมื่อพุทธศักราช 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีจิตรลดา จนกระทั่งถึงจังหวัดพิษณุโลก ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินยัง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระพุทธชินราช ในพระวิหารพระพุทธชินราช

ทรงนมัสการพระธาตุลำปางหลวงและวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เป็นโบราณสถานสำคัญและเป็นศูนย์กลางชุมชนโบราณ จนกระทั่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวลำปาง

ทรงประกอบพิธียกฉัตรพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย วัดพระธาตุบังพวนตั้งอยู่ที่ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุหัวหน่าวของพระพุทธองค์ พระธาตุองค์นี้ได้พังทลายลงเมื่อพุทธศักราช 2513 ต่อมากรมศิลปากรได้สร้างขึ้นใหม่ ในพุทธศักราช 2520 ภายในวัดมีธาตุเจดีย์ 15 องค์ วิหาร 3 หลัง อุโบสถ 1 หลัง และเนินดินที่ยังไม่ได้ขุดแต่งอีกหลายแห่ง เจดีย์เหล่านี้มีลักษณะแตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบซึ่งบางรูปแบบแสดงถึงอิทธิพลศิลปะจากล้านนาด้วย นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่น่าสนใจ คือ "สัตตมหาสถาน" เป็นการจำลองสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ 7 แห่ง ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในภาคอีสาน

วันที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ไปทรงประกอบพิธียกฉัตรพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีจิตศรัทธาเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อการบำรุงปฏิสังขรณ์พระธาตุบังพวน

ทอดพระเนตรปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดนครราชสีมาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2-4 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498 ในโอกาสนี้ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ทรงสักการะพระพุทธปฏิมา ณ วัดสุทธจินดา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา และทอดพระเนตรปราสาทพิมาย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลพิมาย อำเภอพิมาย

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆโดยเฉพาะพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแหล่งมรดกโบราณคดีและประวัติศาสตร์



สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระมหากรุณาธิคุณ มรดกโบราณคดี

view