สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาคธุรกิจการเงิน-พลังงาน-อสังหาฯ มองทิศทางปี60 บนเวทีประชาชาติธุรกิจ ภูมิทัศน์ใหม่ เศรษฐกิจไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

วันที่ 23 พฤศจิกายน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนา "THAILAND 2017 ภูมิทัศน์ใหม่เศรษฐกิจไทย" ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 
โดยช่วงเช้ามีการปาฐกถาจาก ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรื่อง "ทศพิธราชธรรม นำทางราษฎร์ รัฐ" และบรรยายพิเศษเรื่อง "100 บริษัทอาเซียน โลกใหม่ ความท้าทายใหม่" โดยสุกิจ อุดมศิริ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) เมย์เเบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด 
ต่อมาเป็นการเสวนาพิเศษเรื่อง "ภูมิทัศน์ใหม่ เศรษฐกิจไทย" โดยนักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย ประกอบด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยเเละประธานสมาคมธนาคารไทย และนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เเละกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สิ่งที่ธุรกิจธนาคารต้องเผชิญในปีหน้า และต้องจับตามองคือ กฎเกณฑ์อย่างรัฐธรรมนูญ ความเคลื่อนไหวของภาครัฐในระยะยาวและสั้น โดยทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าปี 2560 เรื่องที่ต้องจับตาคือการเมืองภูมิภาค เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ที่มีนโยบายแตกต่างกัน ส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทย  เช่นการส่งออกที่มีสัดส่วนมากต่อเศรษฐกิจไทย


นอกจากนี้เรื่องอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ถือว่าต่ำมานานน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับขึ้นอย่างที่หลายคนมองว่าธนาคารกลาสหรัฐ(เฟด)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ไทยซึ่งต้องจับตามองก่อนที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของไทย
   
นายปรีดีกล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่ต้องจับตาคือ เทคโนโลยีมาแบบไม่น่าเชื่อ เพราะอดีตคนคิดแต่ทำไม่ได้ แต่วันนี้ สามารถทำได้เหมือนที่คิด ในราคาที่ถูกลง และทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้นก็ส่งผลกระทบในหลายมิติ เห็นได้จากธุรกรรมของธนาคารที่เป็นโมบายแบงก์กิ้งเพิ่มขึ้น ซึ่งธุรกรรมผ่านสาขาก็ไม่ลดลง ทำให้ธนาคารต้องปรับระบบหลังบ้านให้รองรับคนเข้ามาทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นจากช่องทางที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นฐานเรายังต้องมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ในการวางแผนงานของธนาคาร


   
“แม้ว่าคนจะมองบล็อกเชน จะมาเป็นตัวกลางแทนที่ธนาคาร แต่ผมมองว่าไม่น่าจะใช่ ธนาคารยังคงอยู่แต่จะอยู่แบบไหนยังไม่เห็นภาพชัดเจน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็เตรียมตัวเพื่อจับมมือกับสตาร์ทอัพเพื่อเพิ่มโอกาศทางธุรกิจ”นายปรีดีกล่าว

ขณะที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคธุรกิจพลังงาน คีย์สำคัญที่ภาคธุรกิจจะต้องเผชิญคือ ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจัย มาจากเศรษฐกิจของโลกที่มีความผันผวนกระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ  
"อย่างราคาน้ำมันที่ปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาดูไบอยู่ที่ 47 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และเชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันในปีหน้าจะเปลี่ยนแปลงไม่มากตามภาวะเศรษฐกิจของโลกจะขยายตัวประมาณ 2-3%" นายอรรถพลกล่าว

เขากล่าวต่อว่า ในกรณีที่หากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อาจจะทำให้แหล่งผลิตที่มีการปิดไปก่อนหน้าหันกลับมาผลิตอีกครั้ง ซึ่งอาจจะกระทบต่อราคาน้ำมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 
"เมื่อมองมาที่ธุรกิจน้ำมันของโลกจะเห็นว่าเราอยู่ตรงทางแยกเพราะเทคโนโลยีไฟฟ้าที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่เริ่มลดลงมากในช่วง7-8 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนลดลง 3-4 เท่าแล้ว และยังมีแนวโน้มที่อาจจะปรับลดลงต่อเนื่องอีกจนอาจทำให้รถไฟฟ้าสามารถแข่งขันกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันได้"
นายอรรถพลกล่าวด้วยว่า เมื่อมองการใช้พลังงานในประเทศไทยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ3%ตามการขยายลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในขณะที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่ลงทุนมากนัก ทั้งนี้ ปตท.มองว่าตลาดอาเซียนละเลยไม่ได้ เพราะเมื่อเปรียบเทียบการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน ไทยถือว่ามีการขยายตัวที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้มีข้อน่าสังเกตว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV ส่วนใหญ่กำลังเข้าสู่สังคมหนุ่มสาว ประเด็นเหล่านี้นักลงทุนจะต้องนำมาพิจารณาในการลงทุน 
"การขยายตัวทางธุรกิจของปตท.จะเน้นขยายควบคู่ไปกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือSMEsทุกวันนี้จะเห็นว่าผู้ประกอบการในไทย90%อยู่ในกลุ่มนี้ ฉะนั้นจะเห็นว่าธุรกิจน้ำมันของปตท.รวมกว่า 1,400 แห่งนั้นส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี เมื่อมองการใช้พลังงานในไทยจะพบว่า เป็นการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานทุกชนิดมารองรับการใช้ รวมถึงนำเข้าพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำจากสปป.ลาว อีกด้วย"นายอรรถพลกล่าว และว่า  มูลค่าการใช้พลังงานของไทยในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท แต่เมื่อมองประสิทธิภาพการใช้พลังงานค่อนข้างต่ำ
เขากล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางของธุรกิจพลังงานนั้นต้อง "เปลี่ยนความคิด" จากที่ต้องการใช้พลังงานถูกที่สุด มาเป็นใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เปลี่ยนจากซัพพลายไซต์มาเป็นดีมานไซต์ ผลักดันในเรื่องของสมาร์ทกริด รวมถึงการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองอย่างเช่นโซล่ารูฟท็อป
ในส่วนธุรกิจของ ปตท.นั้น ถึงเวลาต้องสร้างใหม่ในหลายเรื่องโดยใช้ทรัพยากรคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมคิด เช่น บิซิเนสโมเดลของค้าปลีกน้ำมันจากปัจจุบันที่อยู่ในรูปแบบของคอมมิวนิตี้มอลล์ ปตท.จะมองแค่โปรดักส์หรือการบริการเท่านั้นไม่ได้ ต้องมองโมเดลใหม่ๆเข้ามาด้วย สิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องมีเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงคือ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก อย่าคิดแค่เรื่องโปรดักส์หรือการบริการให้มองถึงบิซิเนสโมเดลใหม่ๆ และที่สำคัญการทำงานจะต้องมีคีย์แมสเสซที่ชัดเจนออกมา และพยายามสื่อสารแนวคิดใหม่ๆด้วย
ด้านนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระยะของการปรับตัวอย่างยิ่ง และบริษัทที่จะอยู่รอดได้ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดแต่เป็นคนที่ปรับตัวได้มากที่สุด

“อายุของบริษัทต่างๆ สั้นลงมากจากแต่ก่อนอาจจะอยู่ได้เป็นร้อยปีแต่ตอนนี้วงจรชีวิตบริษัทเหลือแค่ 15 ปี เพราะบริษัทโตได้เร็วมาก บริษัทที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯสามารถพุ่งไปได้ถึงขนาดนั้นภายใน 5 ปีแรก เช่น อูเบอร์ ในขณะที่บริษัทใหญ่สมัยก่อนอย่าง โกดัก แบล็กเบอร์รี่ ตายไปแล้ว” นายชานนท์กล่าว
เขากล่าวต่อว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เล็งเห็นว่ามาจาก 2 ปัจจัย คือ การเจริญเติบโตของธุรกิจก้าวไปอย่างเป็นทวีคูณแบบกราฟเอ็กซ์โพเนนเชียล (Exponential) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทคโนโลยีหลายอย่างถูกหลอมรวมกัน โดยสังคมปัจจุบันอยู่ในจุดที่เป็น ‘ศอก’ ของกราฟ เป็นจุดที่กำลังพุ่งตัวขึ้นไป มีผลถึงแรงงานในระบบอุตสาหกรรมในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วยระบบออโตเมชัน เทคโนโลยีทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่แซงหน้าระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear) แต่ดั้งเดิมอย่างรวดเร็วมาก
นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Shared Economy) ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากยุคสมัยที่ผู้บริโภคสามารถเช่าของจากผู้ให้เช่า เช่น เช่ารถ วิทยุ เซิร์ฟบอร์ด มาจนถึงยุคนี้ที่มีระบบเป็นสื่อกลาง เช่น อูเบอร์ แอร์บีเอ็นบี ให้ผู้บริโภคแชร์วัตถุจากกันโดยตรง

นายชานนท์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามพื้นฐานขององค์กรที่จะสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ ต้องเริ่มจากการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สามารถคิดค้นนวัตกรรม
“ไทยเรามีสังคมที่พูดกันเรื่องปัญญาประดิษฐ์(AI)ไอโอที (IoT: Internet of Things) ไทยแลนด์ 4.0 เราพูดได้ แต่พื้นฐานวัฒนธรรมยังมีช่องว่างในการสื่อสารที่จะไปถึงได้จริง ที่บริษัทอนันดาฯ เราพยายามจะสำรวจว่าในทีมบริหารมีการพูดคุยกันจริงๆ หรือไม่ในองค์กร เพราะสังคมไทยมีเรื่องความเกรงใจเยอะ ซึ่งบางทีกลายเป็นเหตุผลในการดื้อเงียบ ตอบใช่กลายเป็นไม่ เราต้องมาดูพื้นฐานในองค์กรก่อนเรื่องนี้ ถ้าผู้นำคิดแต่คนอื่นไม่คิดตาม มันก็ไม่เกิดพลัง เหมือนคลื่นลูกเดียวแล้วหายไป”
นายชานนท์ กล่าวปิดท้ายว่า ในการดำเนินงานจริงบริษัทต้องแบ่งเป็นสองมือ มือหนึ่งดำเนินการธุรกิจไปตามปัจจุบัน มีการทำรายได้และสรุปรายได้ในแต่ละไตรมาส แต่อีกมือหนึ่งเป็นเหมือนห้องทดลองที่จะต้องตั้งสมมติฐานอนาคตว่าจะทำธุรกิจอย่างไรต่อไป นั่นคือการสร้างนวัตกรรม โดยสิ่งสำคัญคือจังหวะว่าจะนำนวัตกรรมออกมาสร้างเป็นธุรกิจเมื่อไหร่จึงจะเหมาะสม



สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาคธุรกิจการเงิน พลังงาน อสังหาฯ มองทิศทางปี60 เวทีประชาชาติธุรกิจ ภูมิทัศน์ใหม่ เศรษฐกิจไทย

view