สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การค้าโลกเข้าโหมด ชะลอตัว เปิดเกม ทุ่มตลาด-ตั้งกำแพงภาษี

จากประชาชาติธุรกิจ

ถึงตอนนี้สถานะของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ยังคงเป็นเพียงแค่ "ว่าที่" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยังไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ตามที่ลั่นวาจาเอาไว้ในระหว่างการหาเสียงได้ ไม่ว่าจะเป็นการล้ม "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" (ทีพีพี), การเปิดการเจรจาเพื่อปรับเงื่อนไขความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) หรือแม้กระทั่งการจัดการกำหนดกำแพงภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าจากจีนก็ตาม

นักวิชาการและนักวิเคราะห์ทั้งหลายเชื่อว่าหากทรัมป์ดำเนินการตามนั้นจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรงของการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลเสียหายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม เพราะโดยข้อเท็จจริง ภาวะการค้าโดยรวมทั่วโลกในเวลานี้ก็ตกอยู่ในสภาพที่สามารถเรียกได้ว่า "ตุปัดตุเป๋" อยู่ก่อนแล้ว

รายงานของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อเดือน ต.ค.ผ่านมา ไอเอ็มเอฟแสดงตัวเลขให้เห็นว่าการค้าโลกอยู่ในสภาวะชะลอตัวอย่างหนัก สัดส่วนการขยายตัวรายปีนับตั้งแต่ปี 2012 เรื่อยมามีเพียง 3% เศษเท่านั้น

และเพื่อให้เห็นภาพการชะลอตัว รายงานของไอเอ็มเอฟระบุไว้ว่า "ระหว่างปี 1985-2007 อัตราการขยายตัวที่แท้จริงของการค้าทั่วโลกจะมีมูลค่าเฉลี่ยคิดเป็นราว 2 เท่าของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดของโลก แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางการค้าของโลกทำได้ดีที่สุดแค่เฉลี่ยแล้วพอ ๆ กับการขยายตัวของจีดีพีโลกเท่านั้น"



ไอเอ็มเอฟสรุปไว้ว่า สภาพการชะลอตัวทางการค้าของโลก (เมื่อเทียบกับผลผลิตทางเศรษฐกิจ) ต่อเนื่องกันยาวนานเช่นนี้ "ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 50 ปี"

สภาวะการค้าของโลกยังสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านทางธุรกิจเดินเรือสินค้า โดยบริษัทพาณิชย์นาวีขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น "นิปปอน ยูเซน", "มิตซุย โอเอสเค" หรือ "คาวาซากิ ไคเซน" ล้วนประสบภาวะขาดทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น และคาดกันว่าทั้ง 3 บริษัทรวมกันจะขาดทุนสูงถึง 85,000 ล้านเยน (ราว 27.2 ล้านบาท) สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2017 ซึ่งกำหนดสิ้นสุดปีงบประมาณใน มี.ค.ปีหน้า

"นิโคลาส เบอร์"
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของฮาแพค-ลอยด์ บริษัทพาณิชย์นาวีเยอรมันบอกกับที่ประชุมในนครแฮมบูร์กเมื่อ 10 พ.ย.ที่ผ่านมานี้ว่า ระดับการขาย "ซากเรือ" สูงสุดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ตัวเลขของสิงคโปร์เองซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีท่าเรือพาณิชย์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็สะท้อนข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกัน เพราะสัดส่วนความเคลื่อนไหวของคอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าที่ผ่านเข้าออกท่าเรือของสิงคโปร์ในปี 2015 ลดลง 8.7% และในปี 2016 นับถึงเพียงเดือน ต.ค.ก็ยังลดลงอีก 1.7% เช่นเดียวกัน จีดีพีของประเทศสิงคโปร์ในไตรมาส 3 ของปีนี้ก็หดตัวลงถึง 4.1%

ขณะที่ "แฮริสัน หู" หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของรอยัลแบงก์แห่งสกอตแลนด์ (อาร์บีเอส) บอกว่า แม้แต่ประเทศจีนซึ่งเคยเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันให้การค้าโลกขยายตัวอย่างมากในทันทีที่จีนกลายเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อปี 2001 เพราะนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากนานาประเทศทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ส่งผลผลิตที่ได้ออกขายไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน ก็ลดการนำเข้าทั้งในด้านของชิ้นส่วนต่าง ๆ และในส่วนวัตถุดิบลง จากที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 52% ของการนำเข้าทั้งหมดเมื่อปี 2007 เหลือเพียง 42% ในปีนี้

การปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดของประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" จากเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเพื่อการเติบโตให้กลายเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตได้ด้วยการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักซึ่งจะทำให้จีนสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ลดผลกระทบจากนอกประเทศลง แต่ในเวลาเดียวกันก็ส่งผลให้การค้าของจีนหดตัวลงตามไปด้วย ตัวเลขของสำนักงานภาษีศุลกากรทั่วไปของทางการจีนเองก็แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ จีนส่งออกรวมกันคิดเป็นมูลค่าเพียง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 6.3% ในขณะที่การนำเข้าก็ลดลง 7.5%

"ทิม คอนดอน"
หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของธนาคาร "ไอเอ็นจี" ชี้ให้เห็นว่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหลังวิกฤตเศรษฐกิจทำให้บริษัทจำนวนมากพากันขยายธุรกิจของตัวเองโดยไม่ดูกำลังซื้อ ส่งผลให้เกิด "ผลผลิตส่วนเกินสะสมกันอยู่มากมายทั่วโลก" ในเวลานี้ ทำให้จำเป็นต้องดิ้นรนแสวงหา

ผู้ซื้อซึ่งนับวันจะหายากมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ "การทุ่มตลาด" ที่จะนำไปสู่การปิดกั้นทางการค้าในรูปของการกำหนดกำแพงภาษีกันเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของผู้ผลิตในท้องถิ่นของตนเอง

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือกรณีเหล็กจากจีนที่ทางอียูเพิ่งตัดสินใจเรียกเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาดสูงถึง81.1% เป็นต้น หรือในกรณีที่สหรัฐอเมริกาขึ้นกำแพงภาษีต่อเหล็กที่นำเข้าจากทั้งจีน, อินเดีย, อิตาลี, เกาหลีใต้ และไต้หวันเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ในขณะที่จีนก็กล่าวหาทำนองเดียวกันกับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบ ทำให้ภาวะการค้าโลกยิ่งชะงักงันและชะลอตัวมากยิ่งขึ้นไปอีกนั่นเอง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การค้าโลก เข้าโหมด ชะลอตัว เปิดเกม ทุ่มตลาด ตั้งกำแพงภาษี

view