สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหาภูมิพล มิ่งขวัญชาวนา พระบิดาแห่งงานวิจัยและพัฒนาข้าวไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

ตลอดเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญต่อการทำนาปลูกข้าว อาชีพหลักและอาหารหลักของคนไทย ขณะเดียวกันก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งส่งเสริมพัฒนาและแก้ปัญหาด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา ก่อให้เกิดโครงการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าว ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ให้ชาวนาไทยในแหล่งปลูกข้าวหลักทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ที่ทรงก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2504 ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมุ่งเน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับนาข้าวทดลอง สวนจิตรลดา โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงบดแกลบ ธนาคารข้าว ธนาคารโค-กระบือ ซึ่งใช้เป็นที่ศึกษาทดสอบพันธุ์ข้าว เทคโนโลยีการทำงาน การปลูกพืชหมุนเวียนในนาข้าว รวมทั้งโครงการพระราชดำริฝนหลวง อ่าง-เขื่อนกักเก็บน้ำ ฝ่ายชะลอน้ำ ฯลฯ คือรูปธรรมที่ชัดเจนของพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการวิจัย ทดลองในลักษณะปฏิบัติจริง จนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทั่วโลกว่า ทรงเป็น "กษัตริย์เกษตร" และ "พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย" มุ่งมั่นทุ่มเทกำลังพระวรกายพัฒนาเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ทรงให้ความสำคัญต่ออาชีพการทำนาและปัญหาขาดแคลนข้าวในถิ่นทุรกันดารเพื่อให้ปวงชนชาวไทยอยู่ดีกินดี

ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัส"ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง ทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน ......" (พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พ.ค. 2504)

ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลด้านการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ทดลอง อนุรักษ์ ส่งเสริม รวมทั้งเพิ่มมูลค่าข้าว เชื่อมโยงทั้งด้านการผลิต แปรรูป การตลาด นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงภารกิจในการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการส่งเสริมพัฒนาการทำนาปลูกข้าว

พระบิดาแห่งการวิจัยพัฒนา


อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า งานวิจัยและพัฒนาด้านข้าวของประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงการเพาะปลูกข้าวและพัฒนาข้าวของไทยให้มีคุณภาพ โดยให้มีการขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านชลประทานที่ใช้ในการปลูกข้าวของชาวนา และจัดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวจากทุ่งหลวง ซึ่งอยู่ใน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ต่อมาในปี 2459 ได้มีการก่อตั้งหน่วยงานวิจัยด้านข้าวขึ้นเป็นแห่งแรก คือ "นาทดลองคลองรังสิต" ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการปฏิรูปข้าวไทย

ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงสนพระทัยงานด้านวิจัยและพัฒนาข้าวไทยมาโดยตลอด มีการส่งเสริมสนับสนุนข้าวไทย จนเป็นที่ชื่นชมไปทั่วโลก

เห็นได้จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ได้น้อมเกล้าฯถวายเหรียญทอง "International Rice Award" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติให้แด่พระองค์

นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็น "พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย"

และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น "พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย" เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ในส่วนของกรมการข้าว นอกจากจะปฏิบัติภารกิจตามบทบาทหน้าที่ รวมทั้งงานสำคัญ ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรฯและรัฐบาลแล้ว ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือการสานต่อพระราชปณิธานในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว และส่งเสริมพัฒนาข้าวครบวงจร

"ไม่มีอาชีพใดสำคัญกว่าปลูกข้าว"


จริง ๆ แล้วเรื่องข้าวถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของไทย ตั้งแต่วันที่พระองค์ท่านทรงขึ้นครองราชย์ได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกรถิ่นทุรกันดาร และพสกนิกรของพระองค์ท่านส่วนใหญ่นั้นคือชาวนา

ดังนั้นพระองค์ท่านได้ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าว ได้ทุ่มเทพระวรกาย สร้างแหล่งทดลองวิจัยพันธุ์ข้าว คือ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ก่อตั้งขึ้นในปี 2504 ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ มุ่งเน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้พึ่งพาตนเองได้

มีนาข้าวทดลองเพื่อใช้เป็นที่ศึกษาทดสอบพันธุ์ข้าว การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและถั่วพันธุ์ดี ซึ่งกรมการข้าวได้สนองงานของพระองค์ท่านมาตลอด

โดยแปลงนาแห่งนี้พระองค์ท่านได้ทรงไถนาเอง หว่านข้าวเอง และทรงเก็บเกี่ยวเอง และได้รวบรวมพันธุ์ข้าวต่าง ๆ นำไปปลูกทดลอง ตอนหลังได้ใช้แปลงทดลองในสวนจิตรลดาทำพันธุ์ข้าวพระราชทาน ใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พันธุ์ข้าวมงคลที่ใช้ในพิธีแรกนาขวัญ รวมไปถึงหลาย ๆ ศูนย์ศึกษาพัฒนา


อนันต์ สุวรรณรัตน์

นายอนันต์กล่าวว่า พระองค์ท่านได้ทรงมีโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับข้าว ทุกส่วนจะมีเรื่องข้าวเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ และเกี่ยวข้องกับประชาชนชาวไทย

ทรงให้ความสำคัญต่ออาชีพการทำนาและปัญหาขาดแคลนข้าวในถิ่นทุรกันดารกระทั่งทรงเคยมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า อาชีพของเกษตรกรไทยไม่มีอาชีพใดสำคัญกว่าการปลูกข้าวหรือการทำนา

ก่อกำเนิด "ธนาคารข้าว"


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯในท้องถิ่นชนบทของประเทศอย่างสม่ำเสมอ พระองค์จึงทรงเห็นสภาพความยากจน เดือดร้อน และเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งถึงสาเหตุแห่งปัญหา จึงทรงริเริ่มและพระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาในระดับต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้ประชาชนพึ่งตนเอง ให้พึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด ในบางเรื่องทรงเห็นว่าการจัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้าว ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีข้าวพอกิน จึงเกิดเป็น "ธนาคารข้าว" โดยพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งทำให้ธนาคารข้าวกลายเป็นแนวคิดที่แพร่หลาย เป็นนโยบายของรัฐ และเป็นแผนงานสำคัญแผนหนึ่งของการพัฒนาชนบทยากจนที่ผ่านมา

กระทั่งการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร ทรงพบว่าข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาข้าวไร่

และได้ตรัสว่า อนาคตข้าวไร่จะมีบทบาทมาก และใช้น้ำน้อย จึงมีการก่อตั้งสถานีวิจัยข้าวที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นสถานที่พัฒนาและวิจัยเกี่ยวกับข้าวไร่โดยเฉพาะ

รวมไปถึงพืชเมืองหนาว ธัญพืชเมืองหนาว เพื่อที่จะนำมาให้ชาวเขา นอกจากนี้ยังมีโครงการเมล็ดพันธุ์ข้าว และโครงการฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งในหลาย ๆ ส่วนที่พระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชดำริมา กรมการข้าวพร้อมสานต่อพระราชปณิธาน และจริง ๆ แล้วภารกิจหลักของกรมการข้าวมีมานาน มีการก่อตั้งแล้วยุบเลิกไป

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้มีหน่วยงานดูแลเรื่องข้าวอย่างครบวงจร โดยเฉพาะงานวิจัยและงานส่งเสริมต่าง ๆ เพื่อที่จะพัฒนาข้าวให้อยู่คู่กับประเทศไทย จึงได้ตั้งกรมการข้าวขึ้นมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาส่วนพระองค์เกี่ยวกับข้าว ประกอบด้วย 3 โครงการ

ได้แก่ 1.โครงการข้าวครบวงจร
เนื่องจากปัญหาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรใช้ปลูกไม่ดีพอ และเป็นที่มาของโครงการธนาคารข้าว 2.โครงการสาธิตการทำการเกษตรแบบผสมผสาน 3.โครงการตลาดเพื่อชุมชน เป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ 6 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกองทุนตลาดชุมชน จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ ปัจจัยการผลิต โรงสีข้าว มาจำหน่ายส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ในราคาถูก


"วิจัยพันธุ์ข้าว" ความท้าทาย

นายอนันต์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมการข้าวได้สานต่อทำงานวิจัยข้าวทุกด้าน แต่ในระยะหลังเน้นเรื่องการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งมีทั้งการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมาเป็นข้าวบริสุทธิ์ มาทำเป็นพันธุ์ที่ได้รับการรับรอง และพันธุ์ที่ต้องมาผสมคัดเลือกพันธุ์ที่ดีออกมา เพื่อส่งเสริมให้ชาวนานำเอาไปเป็นพันธุ์ที่ใช้กันอย่างมาก

และเน้นพัฒนาพันธุ์ที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกทั้งพัฒนาพันธุ์ข้าวทนโรค ทนแมลง ทนน้ำท่วม

การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้มีผลผลิตต่อไร่สูง และต้นทุนต่ำ รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่สำคัญคือกรมเองได้สนองงานของพระองค์ท่านเรื่องของการพัฒนาพันธุ์พื้นเมือง ข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษ

แต่เดิมพันธุ์ข้าวบ้านเราจะมีลักษณะมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์ข้าวหลายหมื่นพันธุ์ โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมือง ที่ปลูกมากที่สุดเป็นพันธุ์หลัก ๆ คือ ข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งถือว่าเป็นข้าวคุณภาพดี

โซนปลูกข้าวหอมมะลิที่มากที่สุด คือ ภาคอีสานตอนล่างและภาคเหนือตอนล่าง และยังมีข้าวเหนียว กข 6 เป็นผลงานการพัฒนาพันธุ์ของกรมการข้าว รวมถึงข้าวเหนียว ข้าวขาว ซึ่งตอนนี้พัฒนาถึง กข 69

และการวิจัยพัฒนาพันธุ์ที่ออกมาใหม่ คือ กข 61 62 และ 63 ซึ่ง กข 63 จะไปรองรับเฉพาะด้านแปรรูปข้าวเป็นหลัก ส่วน กข 57 เป็นพันธุ์ข้าวที่ทนหนาว ก็จะใช้ปลูกในช่วงนาปรังฤดูหนาว

นับว่าข้าวมีความหลากหลายทั้งกายภาพและชีวภาพ ซึ่งนักวิจัยและชาวนาต้องปรับตัวให้สอดรับกับมิติดังกล่าวไปพร้อม ๆ กัน

"ข้าว" พืช ศก.-สังคม-วัฒนธรรม

"ผมเรียนทุกครั้งว่า ข้าวมีหลายมิติ ไม่เหมือนกับข้าวโพด ยาง ปาล์ม หรือพืชอื่น ๆ คือ มีมิติเดียวเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ข้าวเป็นทั้งพืชวัฒนธรรม พืชสังคม ไม่ใช่เพียงพืชเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น เดิมทีเช่นพื้นที่โซนนิ่งไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวคือ 11 ล้านไร่ ถ้าหากเรามองในแง่เศรษฐกิจ ในจำนวนพื้นที่ทั้งหมดนี้ทั้ง 11 ล้านไร่ ไม่เหมาะสมเลย และควรปลูกพืชอย่างอื่น แต่พอเป็นมิติทางวัฒนธรรม ประชาชนปลูกเพื่อบริโภคต่าง ๆ ก็ยังต้องปลูก"

ดังนั้นบทบาทของกรมการข้าว คือต้องมีงานวิจัยว่า ดินเค็มตรงนั้นไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว แต่เขาปลูกอยู่แล้ว เป็นวิถีชีวิตเชิงสังคม วัฒนธรรม จึงต้องคิดว่าหากจะปลูกต้องใช้พันธุ์ใด อย่างไรจึงจะเหมาะสม

เช่นเดียวกับพันธุ์ข้าวของชาวเขา แน่นอนว่าเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม แต่เราต้องมีการวิจัยคิดค้นพันธุ์ข้าวให้ทนต่อฤดูหนาว หรือพื้นที่ เช่น ที่ จ.ชัยภูมิ ได้ร่วมลงพื้นที่กับท่านรัฐมนตรีแล้วเห็นว่า ที่ดินที่เดียวสามารถทำข้าวหอมมะลิและข้าวอินทรีย์ได้ด้วย ซึ่งต้องดูมิติใหม่ด้วย

วันนี้เราได้ปรับโซนนิ่ง โดยปรับบทบาทกรมการข้าว บทบาททางสังคม เข้าร่วมกัน อย่างหน่วยงานรัฐ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ใช้แผนที่ดิน กรมชลประทานดูแผนที่น้ำต่าง ๆ แล้วเอาความต้องการเรื่องข้าวเข้ามา พระราชดำริของพระองค์ท่านเข้ามา

ดังนั้นบทบาท ณ วันนี้ ต้องเอาทุกมิติมาดู ปรับปรุงแผนที่ปลูกข้าว (Agri-map) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดังที่พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสเอาไว้ ในเรื่องของแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่สู่การดำรงชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

งาน "มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวมงคล"

เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ระหว่างวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2559 กรมการข้าว ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรภาคเอกชน และ บมจ.มติชน โดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จะจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน งาน "มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวมงคล พืชผลของพ่อ" ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ

ถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ในฐานะพระบิดาแห่งงานวิจัยและพัฒนาข้าวไทย ภายในงานจะมีการแสดงพันธุ์ข้าวพระราชทาน ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่กรมการข้าวรับรองพันธุ์ เช่น พันธุ์หอมมะลินิลสุรินทร์ ข้าวซีบูกันตัง ของภาคใต้ ข้าวขาวเจ๊กคลองชัยนาท รวมทั้งโครงการหลวง และร่วมแสดงความไว้อาลัย และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อเกษตรกรและชาวนาไทย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มหาภูมิพล มิ่งขวัญชาวนา พระบิดาแห่งงานวิจัยและพัฒนาข้าวไทย

view