สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 9 ธ สถิตในดวงใจ 3 องคมนตรี

จากประชาชาติธุรกิจ

ตำแหน่งองคมนตรีมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่เดิมเรียกว่า "ปรีวิเคาน์ซิล" หรือ "ที่ปรึกษาในพระองค์" ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑ วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้น ๒ ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖

ตำแหน่งองคมนตรีมีเรื่อยมาแม้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติเรื่ององคมนตรีไว้ในมาตรา 12 ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาและมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

ดังนั้น กว่า 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ มีองคมนตรีหลายคนที่ทำหน้าที่ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท จึงปรากฏความประทับใจที่องคมนตรีมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9



เช่น 3 องคมนตรี ที่เคยเป็นอดีตนายกฯ ได้เล่าถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ต่อองคมนตรีไว้ ดังนี้

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นถือมั่นในพระปฐมบรมราชโองการในการทรงครองแผ่นดิน"เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"เป็นผลประจักษ์ชัดว่า ประชาชนของพระองค์มีความปลื้มปีติโสมนัสอย่างยิ่ง ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความผาสุกมากขึ้น คนในชนบทมีความรู้ความเข้าใจในการทำมาหาเลี้ยงชีพดีขึ้นมีรายได้เพิ่มขึ้น เข้าใจใช้ชีวิตอย่าง "พอเพียง"

ไม่เพียง "คน" เท่านั้น ที่ได้รับพระราชทานพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณและน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "สัตว์ ภูเขา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ" ก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยในทุกเรื่อง ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ที่มีผลกระทบต่อประเทศ ได้พระราชทานพระราชดำริ และพระราชดำรัสแนะนำเจ้าหน้าที่ให้ลองไปปฏิบัติ ทรงรับความคิดเห็น ข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ ทรงร่วมพิจารณา และมีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขให้นำไปใช้ได้ ทั้งทรงใส่พระราชหฤทัยและทรงติดตามผลงานเป็นเนืองนิจ

น้ำพระราชหฤทัยปกเกล้าฯ ทั่วหล้า

เมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ไม่สามารถอ้างอิงวันเดือนได้ แต่เป็นปลายปี 2517 พล.ต.เทียนชัย จันมุกดา หัวหน้านายทหารรักษาความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปตรวจภูมิประเทศเพื่อวางแผนในการถวายอารักขาเรานัดพบกันบนภูผาเหล็กเวลา10.30 น. พอถึงเวลาอาหารกลางวัน ผู้เขียนชวนคุณเทียนชัยให้รับประทานข้าวห่อที่กองทัพเตรียมไป คุณเทียนชัยบอกว่า เตรียมข้าวห่อมาจากกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว คุณเทียนชัยเล่าต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เตรียมข้าวห่อไปด้วย จะได้ไม่เป็นภาระของกองทัพ กองทัพมีภาระมากอยู่แล้ว นี่คือน้ำพระราชหฤทัยสุดประเสริฐของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ 13-16 ตุลาคม 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคอีสาน ประทับแรมที่เขื่อนอูนของกรมชลประทาน ขณะนั้นยังไม่มีพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ก่อนเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงานและรับเสด็จ ผู้เขียนได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ประทับต่อไปอีก 2-3 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า "ฉันมีความจำเป็นต้องกลับ แต่ถ้าแม่ทัพอยากให้ฉันมาอีกเมื่อใด ให้บอกไป ฉันจะมา" เป็นพระราชดำรัสที่ผู้เขียนจะไม่มีวันลืม และไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายถึงสิ่งที่มีอยู่ในพระราชหฤทัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวสยาม

และเมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรีในบางประเทศมีการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือเป็นจารีตประเพณีว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีหน้าที่ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอย่างไร รัฐธรรมนูญเรามิได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลายอย่างที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผ่านรัฐบาลนายกรัฐมนตรีของประเทศเราจะขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเฝ้าฯตามระยะเวลา เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานการปฏิบัติหน้าที่ และหรือ เรื่องอื่น ๆ เช่น ขอพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำ ขอพระราชทานพระราชดำริ ฯลฯ



ผู้เขียนก็ปฏิบัติหน้าที่เช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณทุกครั้งอย่างเต็มพระราชหฤทัย ในบางครั้งจะทรงเตือนในเรื่องต่าง ๆ ที่ทรงเห็นว่า จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล เพื่อความผาสุกของราษฎร อันเป็นผลให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบแนวทางบริหารราชการแผ่นดินจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกทางหนึ่ง

ธานินทร์ กรัยวิเชียร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเป็นนักกฎหมายโดยวิชาชีพ แต่ทรงเข้าถึงแก่นแท้และจิตวิญญาณของกฎหมายอย่างแท้จริง พระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ผมอยู่เสมอ จากพระบรมราชวินิจฉัยฎีกาพระราชทานอภัยโทษในคดีต่าง ๆ หรือ จากพระราชกระแสเกี่ยวกับปัญหาทางด้านกฎหมาย ที่พระราชทานให้คณะองคมนตรีพิจารณา นอกจากนี้ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานหลายโอกาส ยังแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่นักกฎหมายและบุคคลทั่วไปถึงพระอัจฉริยภาพทางกฎหมายอันลึกซึ้งยิ่งนัก

พระอัจฉริยภาพทางกฎหมายเรื่องหนึ่งที่ประทับอยู่ในดวงใจผมตลอดมาคือ พระราชดำริในเรื่องความยุติธรรม อันความยุติธรรมนี้นักกฎหมายทุกคนทราบดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นสุดยอดแห่งความยากที่จะวินิจฉัยว่าสิ่งใดยุติธรรมสิ่งใดไม่ยุติธรรมในหมู่นักกฎหมายด้วยกันเองยังมีข้อถกเถียงกันได้อย่างไม่จบสิ้น

อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญในระบบกฎหมายไทยตั้งแต่ได้มีการปฏิรูประบบกฎหมายในครั้งรัชกาลที่5มาจนถึงปัจจุบัน คือ เราถือตามหลักระบบกฎหมายอังกฤษที่ว่า "ตัวกฎหมายนั่นแหละคือความยุติธรรม" ดังนั้น แม้จะเห็นกันทั่วไปว่ากฎหมายบทนั้นบทนี้ไม่ยุติธรรม ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม จนกว่าจะได้แก้ไขกฎหมายนั้นเสียก่อน

กฎหมายไม่สำคัญเท่าความยุติธรรม

สำหรับในเรื่องนี้พระบรมราโชวาทองค์หนึ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมกับกฎหมายซึ่งให้แง่คิดที่ควรใคร่ครวญและศึกษาอย่างลึกซึ้งคือ

"...กฎหมายทั้งปวงนั้นเราบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ใช้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่ง กับใช้เป็นแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้น ๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงอีกสถานหนึ่ง"



"โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าวจึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรมหากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมาย และได้ผลที่ควรจะได้"

ทรงไม่ถือโทษ-โกรธเคือง
ผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


ผมยังพิศวงใจในสิ่งหนึ่งซึ่งเฝ้าสังเกตมานานปีด้วยว่า ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะวิกฤตสักปานใดพระองค์ไม่เคยทรงหวั่นไหว และมีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองตามกรอบแห่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้คลี่คลายผ่านพ้นไปด้วยดีเสมอมา อีกทั้งเมื่อมีผู้ใดจาบจ้วงล่วงละเมิดพระองค์ ไม่ว่าจะโดยบิดเบือนสถานการณ์ หรือ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ หรือโดยการปั้นน้ำเป็นตัว จะเห็นเป็นที่ประจักษ์แจ้งทั่วกันว่าไม่เคยทรงตอบโต้หรือทรงมีปฏิกิริยาในทางใด ๆ ทั้งสิ้น

พระองค์ทรงสงบนิ่ง เสมือนหนึ่งไม่เคยทรงมีเรื่องเหล่านี้มาแผ้วพานให้ทรงระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเลย พระองค์ทรงปฏิบัติได้อย่างไร? เรื่องนี้จะคิดเห็นเป็นอื่นคงจะยาก นอกจากพระองค์ทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรม ประการที่ 7 "อักโกธ" หรือ "ความไม่โกรธ" และทรงบำเพ็ญ "อภัยทาน" ได้อย่างบริสุทธิ์และบริบูรณ์ ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงดำรงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมและทรงแน่วแน่ในอันที่จะทรงบำเพ็ญระหว่างพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการสมดังพระราชปณิธานในพระปฐมบรมราชโองการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยพระพลังแห่งพระจิตอันหนักแน่น เด็ดเดี่ยว มั่นคง และด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการส่งเสริมพระบารมีในพระองค์ ซึ่งสูงส่งและสดใสอยู่แล้วให้ยั่งยืนต่อไปชั่วกาลนาน

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ภารกิจในฐานะนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะเรียกได้ว่าผมได้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านไม่ว่าจะเป็น การนำบุคคลสำคัญจากต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ หรือว่าเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงาน การดำเนินการต่าง ๆ ทำให้ผมได้ประจักษ์แจ้งชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ ในทุก ๆ ด้านอย่างแท้จริง สิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานมาให้นั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวทางพระราชดำริ พระราชดำรัสเตือน หรือว่าพระราชดำรัสชมเชย กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายกฯ อย่างผมมีความเชื่อมั่นที่จะทำงานอย่างต่อเนื่องไปได้

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ท่านพระราชทานพระราชดำรัส แนะนำให้ทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่เป็นลักษณะที่ถือว่าพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำอย่างจริง ๆ เช่น ปีที่สหพันธรัฐรัสเซียมีความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทยครบหนึ่งร้อยปี ผมได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งท่านประธานาธิบดีได้ยืนยันที่จะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย ในวาระอันเป็นมงคลนี้และผมรับปากว่า จะนำเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ปรากฏว่า เมื่อผมนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสแนะนำว่า

พระมหากษัตริย์ "ผู้ให้"

"การที่จะรักษาความสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสัมพันธ์กับเรามาเป็นเวลานานนั้น เป็นสิ่งที่ดี" นั่นคือพระองค์ท่านทรงเห็นด้วย แต่มีพระราชดำรัสต่อไปว่า พระองค์ท่านเสด็จฯไปไม่ได้ แต่อยากจะให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ซึ่งเป็นที่มาของการเสด็จฯ เยือนสหพันธรัฐรัสเซียของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งครบรอบความสัมพันธ์ หนึ่งร้อยปีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สหพันธรัฐรัสเซีย พ.ศ. 2550

พระราชประสงค์ข้อนี้ ผมคิดว่า คนไทยทุกคนน่าจะพอทราบอยู่แล้วบ้าง หากได้ติดตามพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี พระองค์ท่านมักพระราชทานแนวทางกว้าง ๆ แก่ประชาชน มีทั้งพระราชดำรัสแนะนำ ตักเตือน และพระราชทาน กำลังใจ ซึ่งทั้งสามประการนี้ ถ้าใครได้ย้อนกลับไปอ่านพระราชดำรัสที่มีคนตีพิมพ์ให้ดี จะเห็นว่า ล้วนเป็นพระราชดำรัสที่ไม่ได้ทรงเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่หลั่งไหล ออกมาจากน้ำพระราชหฤทัยจริง ๆ

หมายเหตุ เรียบเรียงจากหนังสือ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี" จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : น้ำพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 9 ธ สถิตในดวงใจ องคมนตรี

view