สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กษัตริย์นักอนุรักษ์ดินดีเด่นโลก สร้างสมดุลระบบนิเวศแก้ดินเสื่อมโทรม

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
กษัตริย์นักอนุรักษ์ดินดีเด่นโลก สร้างสมดุลระบบนิเวศแก้ดินเสื่อมโทรม

กษัตริย์นักอนุรักษ์ดินดีเด่นโลก สร้างสมดุลระบบนิเวศแก้ดินเสื่อมโทรม

      เดินหน้าบริหารจัดการทรัพยากรดิน
       แก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมทั่วประเทศ
       ปรับปรุงดิน ทั้งดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม โดยไม่ใช้สารเคมี
       วิจัยและวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ
       
       ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพโดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดินมานาน แผ่นดินจึงเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ด้วยพระปรีชาญาณอันยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน อันเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็นดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม และบางแห่งก็ไม่มีดินเลย ซึ่งทรงเรียกดินเหล่านี้ว่า "ดินแร้นแค้น" นอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของดินยังเกิดจากการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้พื้นที่โดยขาดการอนุรักษ์ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่เกษตรกรทั่วประเทศ

กษัตริย์นักอนุรักษ์ดินดีเด่นโลก สร้างสมดุลระบบนิเวศแก้ดินเสื่อมโทรม

กษัตริย์นักอนุรักษ์ดินดีเด่นโลก สร้างสมดุลระบบนิเวศแก้ดินเสื่อมโทรม

       หลังจากการจัดสรรที่ดินทำกินในระยะแรกแล้ว แนวพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ขยายขอบเขตไปสู่เรื่องการพัฒนาและอนุรักษ์ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้นหรือรักษาไว้ไม่ให้ตกต่ำ เช่น การวิจัยและการวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับลักษณะสภาพดิน การศึกษาเพื่ออนุรักษ์บำรุงรักษาและฟื้นฟูดิน วิธีส่วนใหญ่เป็นวีธีการตามธรรมชาติที่พยายามสร้างความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้น เช่น ให้มีการปลูกไม้ใช้สอยร่วมกับการปลูกพืชไร่เพื่อประโยชน์ให้ได้ร่มเงาและรักษาความชุ่มชื้น หรือการปลูกพืชบางชนิดในพื้นที่ซึ่งดินไม่ดี แต่พืชชนิดนั้นให้ประโยชน์ในการบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนใช้ปุ๋ยเคมี พื้นที่บางแห่งไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชผล ทรงแนะนำให้ใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ฟื้นฟูเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
       
       ในระยะต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญมากขึ้นในงานอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ดินที่มีสภาพธรรมชาติและปัญหาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เน้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทรายในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงงานในการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่าง ๆ
       
       ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลาย สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก พระราชดำริและพระราชกรณียกิจในการดำเนินงานด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ดินที่สำคัญ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
       
       ก) แบบจำลองการพัฒนาพื้นที่ที่มีสภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ การจัดการทรัพยากรดินโดยการอนุรักษ์บำรุงรักษาดินที่มีสภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินปนทราย และมีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินมีแบบจำลองอยู่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา
       
       ข) การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวด้วยวิธี "การแกล้งดิน" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบความเดือดร้อนของพสกนิกรในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรในจังหวัดนราธิวาสที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาดินพรุเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส
       
       ค) "หญ้าแฝก" กับการอนุรักษ์ดินและฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมสภาพ พื้นที่ดินในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความลาดชัน เช่นพื้นที่เชิงเขาอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเนื่องมาจากการชะล้างพังทลายของดิน ทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารในดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการป้องกันการเสื่อมโทรมและการพังทลายของดินโดยใช้วิถีธรรมชาติ คือ การใช้หญ้าแฝก

กษัตริย์นักอนุรักษ์ดินดีเด่นโลก สร้างสมดุลระบบนิเวศแก้ดินเสื่อมโทรม

        ศูนย์ศึกษาตัวอย่างสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตร
       
       เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินหมู่ที่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ พระองค์ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรที่ดินดังกล่าว และทรงมีพระราชดำริกับอำเภอ จังหวัดและหน่วยราชการต่างๆ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ ให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาตัวอย่าง สาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ เพื่อเป็นแหล่งให้เกษตรกรตลอดจนผู้สนใจได้เข้าชมศึกษา ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมได้
       
       จากพระราชดำริข้างต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชนได้ประชุมปรึกษาหารือกันมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าของเรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารและกรรมการที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา" คณะกรรมการบริหารฯ ได้ทำหนังสือในนามของกรมพัฒนาที่ดิน กส. 0801/109 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2523 ถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานชื่อของศูนย์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การดำเนินโครงการสนองพระราชดำริสืบไป และทางสำนักราชเลขาธิการได้แจ้งให้ทราบตามหนังสือ ที่ รล.0002/3041 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2523ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา"
       
       30 เมษายน 2524 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้แต่งตั้งเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงคณะกรรมการบริหารของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนใหม่เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน" ประกอบด้วยหม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรีเป็นองค์ประธาน และหน่วยงานต่างๆ หลายกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งภาคเอกชนเป็นกรรมการและเลขานุการ และทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ จังหวัดฉะเชิงเทรารับผิดชอบต่อพื้นที่ศูนย์ศึกษาฯ ดูแลให้ความปลอดภัยแก่บุคคลและสนับสนุนการดำเนินงานที่ร่วมดำเนินการอยู่ โดยคณะกรรมการบริหารฯ ได้พิจารณาจำแนกพื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาฯ ตามความเหมาะสม พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่รับผิดชอบและเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น
       
       นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินที่ราษฎรอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี น้อมเกล้าฯถวายให้เป็นที่ดินส่วนพระองค์ เนื้อที่ 86 ไร่ และกรมพัฒนาที่ดินได้รับแจ้งจากสำนักราชเลขาธิการ ตามหนังสือที่ รล.0007/9937 ลงวันที่ 11 กันยายน 2524 ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สถานที่ดังกล่าวจัดตั้งเป็นสาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และโปรดเกล้าฯ ให้กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมประมงฯ ร่วมกันพิจารณาดำเนินการ
       ดังนั้น นับแต่เริ่มตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้มีราษฎรที่มีจิตศรัทธาน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก497 ไร่ ผนวกกับที่ดินบริเวณสวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน 1,227 ไร่เศษ
       
       นอกจากนี้ ราษฎรตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินรวม 3 แปลง จำนวน145 ไร่ ดำเนินการจัดทำในลักษณะ "ศูนย์บริการพัฒนาฯ" คือ ทำทั้งการสาธิตเพื่อเป็นตัวอย่าง และให้บริการพัฒนาแก่ราษฎรด้วย โดยใช้ชื่อว่า "ศูนย์บริการพัฒนาบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี" ซึ่งอยู่ในข่ายความรับผิดชอบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอีกประการหนึ่ง นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพื้นที่ส่วนที่ติดกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนประมาณ 642 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ทำการศึกษาวิจัยและทดสอบการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แน่นอนขึ้น เป็นการสนับสนุนศูนย์ศึกษาฯ อีกด้านหนึ่งด้วย
       
       คณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ได้กำหนดนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชดำริที่ได้รับพระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ และได้แบ่งพื้นที่หลักเป็นจำนวน 4 พื้นที่ กล่าวคือ
       
       1.พื้นที่แห่งแรก คือพื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 1,227 ไร่เศษ ผนวกกับพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ประมาณ 642ไร่ ให้เป็นพื้นที่ที่ทำการศึกษาวิจัย และทดสอบการพัฒนาด้านการเกษตรกรรม รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,869 ไร่
       
       2. พื้นที่แห่งที่สอง คือ ที่ตำบลบ้านซ่องและตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ ๘๔ ไร่
       
       3.พื้นที่แห่งที่สาม คือ พื้นที่ราษฎรรอบนอกศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำโจนเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับศูนย์โครงการฯ จำนวน 14หมู่บ้าน ในเขตตำบลเขาหินซ้อนและตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 56,000 ไร่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริวาร
       
       4.พื้นที่แห่งที่สี่ คือ ที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ประมาณ 145ไร่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการพัฒนาในเขตจังหวัดปราจีนบุรี เป็นศูนย์บริวารของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
       
       นอกจากนี้ พื้นที่หลักดังกล่าวแล้ว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนยังทำหน้าที่ในการถ่ายทอดวิชาการแผนใหม่ทั้งด้านการเพาะปลูกพืช การปศุสัตว์ การประมง การพัฒนาที่ดิน รวมทั้งด้านศิลปาชีพให้แก่เกษตรกร หรือประชาชนที่สนใจ ทั้งในจังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกและภาคกลางด้วย

กษัตริย์นักอนุรักษ์ดินดีเด่นโลก สร้างสมดุลระบบนิเวศแก้ดินเสื่อมโทรม

       ตัวอย่างโครงการในพระราชดำริ
       1.โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา
       2.โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี
       3.โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่
       4.โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จังหวัดลำพูน
       5.โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี
       6.โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว จังหวัดนครนายก
       7.โครงการหญ้าแฝก


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กษัตริย์นักอนุรักษ์ดินดีเด่นโลก สร้างสมดุลระบบนิเวศ แก้ดินเสื่อมโทรม

view