สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ ประพิศ มานะธัญญา ถูกฟ้องซื้อข้าวรัฐติดบ่วงทุจริต G to G

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์

ชื่อของ บริษัทเจียเม้ง กลับมาโด่งดังอีกครั้ง หลังจากที่เป็น 1 ใน 6 รายที่อัยการสูงสุดยื่นดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อกล่าวหาเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ในรัฐบาลชุดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยล่าสุดบริษัทเจียเม้งได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการจากปัญหาหนี้ 4,480 ล้านบาท "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "นางประพิศ มานะธัญญา" กรรมการ บริษัทเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตส่งออกข้าวและผู้ผลิตข้าวถุงแบรนด์ "คิวไรซ์" ถึงกรณีดังกล่าว

- ความคืบหน้า ป.ป.ช.

ณ ปัจจุบันนี้ที่เรื่องไปถึงอัยการ-ศาลเทียบกับตอนที่ ป.ป.ช.ชี้มูลใหม่ ๆ ก็ต้องบอกว่า กังวลใจมากเพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายผิดถูกอย่างไร แต่หลังจากฟังการให้การของพยานโจทก์แล้วก็ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวได้มากขึ้นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องนโยบายทางการเมืองที่พยายามจะช่วยระบายข้าว แต่ผิดถูกอย่างไรยังไม่บอกไม่ได้ ณ ขณะนั้นจนกว่าศาลจะพิจารณาเพราะดูแล้วพยานโจทก์ก็มีเหตุมีผลว่า ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมทำอย่างนั้น

แต่สิ่งที่เรามองเห็นในฐานะคนที่อยู่ข้างนอก เราก็รู้สึกว่าข้าวทั้งหมด (จากโครงการรับจำนำข้าว) รัฐบาลฝากไว้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) ซึ่งมีระเบียบที่เคร่งครัดว่า ในการปล่อยข้าวออกจากคลังจะต้องมีวิธีการอย่างไร มีเอกสารใดประกอบ จะต้องได้รับการอนุมัติ-อนุญาตจากใคร แต่จากการที่ได้ฟังการกล่าวถึงการปล่อยข้าวก็ได้รับทราบว่า ทางเจ้าหน้าที่ อคส. อ.ต.ก.รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเอกสารที่ให้ปล่อยข้าวออกจากคลังมันเป็นเอกสารที่ไม่ครบถ้วนอย่างที่เคยได้รับ กระทั่งคนซื้อข้าวเองก็ซื้อแค่นิดหน่อยเพื่อจะดูว่าซื้อแล้วเอาข้าวออกได้หรือเปล่า

- วิธีซื้อปกติทำอย่างไร

ก็ไม่ต่างกันมากคือ คณะกรรมการระบายข้าวจะเปิดระบาย 5 วิธี เช่น ประมูล ซื้อแบบมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ การซื้อแบบ G to G (รัฐบาลต่อรัฐบาล) เป็นต้น ซึ่งกระบวนการปกติก็คือ คนที่มีออร์เดอร์ก็เข้ามาประมูลหรือซื้อขายทั่วไป แต่ทั้งหมดนี้เรามีความเห็นว่า ข้าวเหล่านี้ไม่ควรจะเอาออกมาจากคลังสินค้าเพราะ เอกสารไม่ถูกต้อง ฉะนั้นคนที่ถือกุญแจคลังไม่สมควรจะปล่อยข้าวออกมาเพราะถ้าไม่ปล่อยความเสียหายมากมายก็จะไม่เกิดขึ้นและต้องมีการแย้งกันหาข้อยุติกันว่าการซื้อขายวิธีการนี้สามารถออกข้าวจากคลังได้หรือไม่แต่เมื่อทางผู้ดูแลสินค้าปล่อยสินค้าออกมาก็เลยดูเหมือนว่าทุกอย่างทำได้ จนเกิดการซื้อข้าวกันมากมายแล้วการทำแบบนี้ทำให้เกิดความเสียหายกับรัฐ

- เจียเม้งเข้าไปซื้อข้าวได้อย่างไร

เมื่อผู้ซื้อไปตกลงกับผู้ขาย เราแจ้งกับศาลไปแล้วขั้นตอนก็คือ เมื่อเราตกลงซื้อขายข้าวกันแล้วต้องนำแคชเชียร์เช็คไปให้กรมการค้าต่างประเทศ เพราะกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ระบายข้าว แล้วกรมการค้าต่างประเทศก็จะรวบรวมคำสั่งซื้อทั้งหมด ว่าเป็นข้าวชนิดอะไร คลังไหน จำนวนเท่าไร และแจ้งไปยังหน่วยงานที่เก็บข้าวเพื่อให้ปล่อยสินค้า (ข้าว) ซึ่งจะมีเอกสารคำสั่งซื้อไปให้ ทาง อคส-อ.ต.ก.ก็จะออกใบรับมอบสินค้า ใบเสร็จรับเงินให้ แต่ในรายละเอียดของใบเสร็จนั้นมันไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่ได้ระบุราคาและผู้ซื้อเป็นกรมการค้าต่างประเทศ แต่ผู้รับมอบข้าวเป็นผู้รับมอบอำนาจมาอีกที แล้วก็เป็นการมอบอำนาจกันมา 2-3 ทอด ซึ่งมันเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลคลังสินค้าก็ไม่น่าปล่อยข้าวออกมาให้

- แล้วทำไมเจียเม้งยังซื้อ

เราไม่ได้เอะใจเพราะเราไม่รู้ เพราะสัญญาทำกันมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เราไปซื้อเดือนมกราคม 2556 ผ่านมา 2 ปีแล้ว ฉะนั้นเรื่องตรงนี้เราเห็นคนอื่นเค้าทำกัน แล้วเราก็ขาดข้าว เราจะต้องส่งมอบข้าวลงเรือไปต่างประเทศ มีสัญญาลูกค้ารออยู่จึงเข้าไปซื้อปริมาณ 10,000 ตัน มูลค่า 163 ล้านบาท จากคลังบางม่วง จ.นครสวรรค์ พอเราไปรับมอบข้าวมา เราก็ปรับปรุงส่งออกทั้งหมดเลย ส่งไปแอฟริกา ซึ่งตรงนี้เป็นการผ่านขั้นตอนการออกข้าวมาหมดแล้ว ทุกคนก็มองว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะแต่ละคนก็ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางอย่างไร ว่าข้าวที่ไปซื้อมานั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร

- ทำไมถึงรู้ว่าต้องซื้อแบบนี้

พอเราขาดของ (ข้าว) เราก็ถามเจ้าอื่น ๆ ว่า เราขาดของจะต้องทำอย่างไรบ้าง เค้าก็บอกต่อ ๆ กันว่า มีคนนี้ ๆ เป็นนายหน้ามาซื้อขายข้าว เราก็ซื้อผ่านเค้าไป เพราะเค้าเป็นนายหน้ามาขาย แล้วจ่ายเงินเป็นแคชเชียร์เช็คไปให้กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นกระบวนการซื้อขายตามปกติที่ผ่านนายหน้าหรือพ่อค้าคนกลาง

- รู้ไหมว่าเป็นข้าว G to G

ณ ขณะนั้นเราไม่รู้เพราะเป็นการซื้อขายผ่านนายหน้า-พ่อค้าคนกลาง ต้องขอบอกว่าสิ่งที่เรารู้ก็คือ บริษัทสยามอินดิก้ามีข้าวเป็นจำนวนมากแล้วก็เอามาซื้อขายกันแบบปกติ ซึ่งเราไม่รู้ที่มาของข้าวอย่างแท้จริง เราเข้าใจว่าสยามอินดิก้าไปประมูลข้าวมาแล้ว แล้วมันเหลือก็จะมีบายโปรดักต์ เราก็ไปซื้อข้าวเก่าจากสยามอินดิก้าเป็นข้าวปี 2552-2553 ในราคาใกล้ราคาตลาด และเราต้องไปรับข้าวที่คลัง มีค่าขนส่ง ค่าปรับปรุง ข้าวนี้เป็นข้าวเก่า 2 ปีมาแล้วก็สูญเสียพอสมควร เท่าที่เรามาทำรายละเอียดเรามีกำไรประมาณ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น ฉะนั้นถ้าจะบอกว่า เราทำให้รัฐเสียหาย เราก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยใช่ เพราะเราซื้อมาปกติวิสัยของการค้า มาปรับปรุงแล้วก็ไปส่งออก มีกำไรนิดหน่อย

- การเรียกร้องค่าเสียหาย

การเรียกค่าเสียหายเป็นอะไรที่ดูแล้วตลกมากอ่ะ เพราะการเรียกค่าเสียหายไปเรียกกันย้อนหลังตั้งแต่ทำสัญญา โดยที่ไม่ได้แยกแยะว่า ใครเป็นคนไปทำสัญญา แล้วทำให้เกิดความเสียหายเมื่อไร อย่างไร มันก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ เราโดนเรียกเท่ากับมูลค่าที่เราซื้อข้าวไปคือ 163 ล้านบาท และคิดดอกเบี้ยตั้งแต่ทำสัญญาตอนเราไปซื้อข้าว เริ่มทำสัญญาตุลาคม 2554 แต่เราซื้อข้าวในเดือนมกราคม 2556 เราก็มองว่า เรื่องพวกนี้มีอะไรที่ต้องชี้แจงแก้ไขอยู่เยอะว่า อะไรคือถูก คือผิด ตอนเรารับทราบข้อกล่าวหาและชี้มูลขณะนั้นเราก็ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุเพราะเราคิดว่าเราซื้อขายข้าวตามปกติ จนเราไปนั่งฟังคำให้การของพยานโจทก์เราถึงรู้ว่ามีอะไรหลาย ๆ เรื่องที่เราไม่รู้และเพิ่งมารู้ตอนนี้ เท่าที่ถามจากทนายได้รับคำอธิบายเรื่องค่าเสียหาย เช่น มูลค่าข้าว 150 ล้าน ซึ่งเป็นค่าเสียหายจากราคาตลาดที่รัฐควรได้ แล้วเราซื้อไป 136 ล้านบาท ความเสียหายที่เราต้องจ่ายคือ 14 ล้านบาท แต่เผอิญว่าเรียกค่าเสียหายเท่ามูลค่าซื้อ แปลว่าเราไม่ต้องจ่ายเพราะเราซื้อไปแล้ว



เจียเม้งหาผู้ร่วมทุนรายใหม่

การร่วมโครงการกับภาครัฐหลายโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรับจำนำข้าว จนกระทั่งถึงโครงการข้าวถุง ที่ถูกสั่งให้ยุติการดำเนินการกลางคัน ล้วนแล้วแต่มีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท โดยนางประพิศ มานะธัญญา กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาบริษัทเจียเม้งขาดเงินหมุนเวียนและมีปัญหากับธนาคารหลังจากที่บริษัทตกเป็นคดีกับรัฐบาล ส่งผลให้บริษัทต้องยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการและศาลไต่สวนนัดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้ 12 ราย จาก 30-40 รายที่ยื่นขอคัดค้านแผนฟื้นฟู คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าหนี้ โดยในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่จากธนาคารอิสลาม กับ CIMB มายื่นคัดค้าน ขณะที่เจ้าหนี้รายใหญ่ 5 ธนาคารไม่มายื่นค้าน ซึ่งหมายถึง "ยอมรับแผนฟื้นฟูได้"

สำหรับสถานะบริษัทเจียเม้งขณะนี้ "ยังดำเนินการต่อไปได้ มีการผลิตสัก 20-30%" บริษัทคาดว่ายอดขายทั้งปีจะมีมูลค่า 2,000 ล้านบาท ในลักษณะของการทำธุรกิจโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร ยังไม่ต้องคืนต้นให้เจ้าหนี้ โดยที่ปรึกษาทางการเงิน (บริษัท ซีเจ มอร์แกน) แนะนำว่า บริษัทสามารถทำธุรกิจด้วยการเอายอดหนี้ตั้งแล้วทำธุรกิจหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ซึ่งเจ้าหนี้ 4-5 รายยอมให้เอาหนี้มาหมุนเวียนทำธุรกิจ "ชำระหนี้ใหม่ตัดหนี้เก่าโดยกลายเป็นหนี้ปัจจุบัน"

โดยศาลนัดไต่สวนวันที่ 24-26 มกราคม 2560 และ "เราอาจจะมีข่าวดี" เนื่องจากมีแหล่งทุนจากธุรกิจอื่นสนใจจะร่วมทุนกับบริษัท ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด คาดว่าจะสรุปได้หลังจากจบเรื่องการฟื้นฟู ด้านนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทเจียเม้งเพราะได้พิจารณาปัจจัยและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องแล้ว "ไม่มีความมั่นใจและเชื่อมั่นว่าเจียเม้งจะสามารถฟื้นฟูกิจการขึ้นมาได้ภายในเวลาที่กำหนด" และบริษัทไม่มีความสามารถที่จะคืนเงินที่ติดค้างกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คำต่อคำ ประพิศ มานะธัญญา ถูกฟ้อง ซื้อข้าวรัฐ ติดบ่วงทุจริต G to G

view