สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิรไท ชี้จุดเสี่ยงศก.ปี60 ตั้งรับ ทรัมป์โนมิกส์

จากประชาชาติธุรกิจ

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจปี 2560 หนุนใช้ "นโยบายการคลัง" นำนโยบายการเงิน เตือนเอกชนตั้งรับบริหารความเสี่ยง เอฟเฟ็กต์ "ทรัมป์โนมิกส์-เฟดขึ้นดอกเบี้ย" หวั่นกระชากต้นทุนหุ้นกู้พุ่ง ยอมรับสถานการณ์ "เอ็นพีแอล"ยังโตต่อเนื่อง เหตุเศรษฐกิจไทยฟื้นแบบกระจุกตัว ขณะที่ภาคชนบทยังมีปัญหา

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ "นายวิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2560 ฉายภาพถึงจุดอ่อนจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยในการรับมือความผันผวนของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก หลังสหรัฐอเมริกาได้ "โดนัลด์ ทรัมป์" เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่

วิเคราะห์ ศก.ไทยปี 2560

นายวิรไทกล่าวถึงภาพทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2560 ว่า ถ้ามองภาพใหญ่ช่วงที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้าความผันผวนยังอยู่ แต่จะมาจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ อย่างล่าสุดเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ก็คงจบแล้ว แต่มาตรฐานการค้าที่เจรจากันไว้ใน TPP คงเป็นมาตรฐานการค้าโลกที่เราคงต้องปรับตัวเข้ากับมาตรฐานแบบนั้น

แม้ว่าการยุติ TPP จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย แต่ถ้านายทรัมป์ทำนโยบายเศรษฐกิจตามที่หาเสียงไว้ ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากเช่นกัน โดยเรื่องแรก คือ นโยบายปกป้องการค้า ซึ่งจะกระทบการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด ต้องพึ่งเศรษฐกิจโลกมาก และถ้าสหรัฐกีดกันการค้าก็คงมีประเทศอื่น ๆ ตามมาด้วย ซึ่งหากมีการตอบโต้ทางการค้าก็ย่อมจะกระทบต่อการค้าโลก และไทยก็จะได้รับผลกระทบด้วย แต่ยังโชคดีที่ไทยไม่ได้พึ่งตลาดสหรัฐมาก

"สำหรับประเทศไทยในเรื่องการปกป้องการค้า ก็น่ากลัว เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แล้วก็โดนกันทั่วโลก ในเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี หลายประเทศก็เริ่มมีมาตรการเหล่านี้ออกมา ข้อดีคือ สิ่งที่เราเคยกลัวว่าจะตกขบวน TPP ก็ดูเหมือนขบวนนี้ไม่วิ่งแล้ว และอาจทำให้ขบวนใหม่อย่าง RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) มาแทน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จะตอบโจทย์ของประเทศเรามากกว่า" นายวิรไทกล่าว

ผลกระทบที่สอง ที่หลายประเทศเป็นห่วง คือ ถ้านายทรัมป์ทำนโยบายขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น หมายความว่า การก่อหนี้ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น และวันนี้ทำให้เห็นผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (ยีลด์) กระโดดขึ้นมากและเร็ว ซึ่งได้ลากยีลด์พันธบัตรประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นจากก่อนหน้านี้ที่สภาพคล่องเยอะ ๆ คนคาดหวังว่าดอกเบี้ยระยะยาวจะต่ำไปอีกนานนั้น ตอนนี้ก็อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีต่างชาติถือพันธบัตรรัฐบาลรวมทั้งของรัฐวิสาหกิจยังไม่ถึง 10% ถ้าเทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีต่างชาติถืออยู่ 50% และ 40% ตามลำดับ ซึ่งทำให้ค่าเงินของ 2 ประเทศอ่อนค่าไปไกล และดอกเบี้ยก็กระโดดขึ้น เพราะเงินไหลออกกลับไปสหรัฐ

กระทบลงทุนโดยตรงสะดุด

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ผลกระทบที่สาม ที่ไทยน่าจะได้รับผลกระทบด้วย คือ การลงทุน เพราะในภาวะที่ไม่แน่นอน จะส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ชะลอลง เพราะแม้แต่ในสหรัฐ ที่บริษัทต่าง ๆ ยังรอการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ ก็ทำให้โครงการลงทุนต่าง ๆ ชะลอ ซึ่งก่อนหน้าในกรณีของ Brexit (อังกฤษออกจากอียู) เห็นชัดเจนว่าตอนนี้กิจกรรมการลงทุนในอังกฤษหยุดเลย ซึ่งเรื่องนี้ก็จะกระทบกับสิ่งที่รัฐบาลไทยที่กำลังทำเรื่องการลงทุนใหม่ และช่วงนี้ค่าเงินเยนแกว่งแรง ๆ ก็จะกระทบบริษัทญี่ปุ่นต่าง ๆ ทำให้การตัดสินใจลงทุนอาจถูกชะลอไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีกันชนดีและมีอยู่ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง ขณะที่การพึ่งเงินตราต่างประเทศค่อนข้างน้อย สภาพคล่องในประเทศสูง ทำให้รัฐบาลสามารถจะใช้เงินในการลงทุนโครงการต่าง ๆ สถานการณ์อย่างนี้ยิ่งทำให้เราต้องเห็นความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นรวมถึงนโยบายการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น RCEP และ AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ด้วย เพราะถ้าดูถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจ ถ้าดูทั้งโลก ภูมิภาคเอเชียก็ยังเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงอยู่

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า ในเวลาที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูว่า ทรัมป์จะทำในสิ่งที่พูดไว้ได้มากน้อยแค่ไหน ทีมเศรษฐกิจ และการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของฝ่ายบริหารสหรัฐจะเป็นอย่างไร เราก็ประเมินว่า ถ้านายทรัมป์ทำอย่างที่พูด ก็คาดว่าเศรษฐกิจภายในสหรัฐจะฟื้นตัวได้ดี ซึ่งช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การส่งออกไทยไปสหรัฐก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่หลายโครงการที่หาเสียง เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคงไม่เกิดเร็ว เพราะยังต้องมีกระบวนการ หรือการจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 45% ก็จะทำให้คนอเมริกันเสียประโยชน์เพราะราคาสินค้าจะแพงขึ้นทันที

ในสถานการณ์ที่คาดเดายากนี้ ประเทศไทยอาจอยู่ในสถานะที่ดีกว่าคนอื่น ตรงที่เราไม่มีจุดเปราะบาง อย่างไรก็ตามในการทำนโยบาย ระหว่างทางย่อมมีความผันผวนเกิดขึ้น

รับมือ "เฟด" ขึ้นดอกเบี้ย

นอกจากนี้ นายวิรไทกล่าวถึงการเตรียมรับมือผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือน ธ.ค.นี้ว่า เรื่องนี้อยู่ในปัจจัยการประเมินเศรษฐกิจมานานแล้ว และเฟดก็เตรียมตลาดมานาน ความน่าจะเป็นที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยก็มากขึ้น ทำให้วันนี้ดอกเบี้ยในพันธบัตรระยะยาวก็ปรับขึ้นไปแล้ว สำหรับประเทศไทย เราต้องรักษาเสถียรภาพด้านต่าง ๆ ให้ดี ให้มีกันชน ไม่มีจุดเปราะบางในระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ธปท.จึงได้ตั้งสายงานใหม่ขึ้นมาดูแลเสถียรภาพทางการเงิน โดยได้ยกระดับขึ้นมาเป็นกลุ่มงานที่สำคัญ และกลุ่มงานนี้ก็มีหน้าที่ตามสโลแกนที่พูดกันง่าย ๆ ในแบงก์ชาติ คือ "จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน" ป้องกันอย่าให้ลาม

นายวิรไทกล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินต้องมองในองค์รวม และหน้าที่สำคัญที่สุดของธนาคารกลางคือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา ดังนั้นในเวลาที่ไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็ทำให้สามารถมองด้านอื่น ๆ ได้ เช่น ความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สำหรับระยะข้างหน้า เงินเฟ้อทั่วไป (Head Line Inflation) ควรจะขึ้น เพราะ 1-2 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งราคาน้ำมัน 1-2 ปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากฐานสูง เมื่อคิดเทียบปีต่อปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อติดลบ แต่วันนี้ก็จะเห็นว่าเริ่มกลับมาเป็นบวกแล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 0.7-0.8% มาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อราคาน้ำมันอยู่ในระดับทรงตัว ปัจจัยที่มาทำให้ฐานสูงแบบเดิมก็ลดไป ปี 2560 ก็จะทำให้เงินเฟ้อเริ่มปรับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ตอนนี้กรอบเงินเฟ้อทั่วไปที่เราใช้อยู่ที่ 2.5% (+/-)1.5% และคาดว่าจะเข้าสู่ขอบล่างประมาณ 1% ในช่วงต้นปี 2560 จากเดิมเราคาดว่าจะเข้ามาปลายปีนี้

นายวิรไทกล่าวว่า อีกทั้งในเวลาที่มีความผันผวนในตลาดทุนตลาดเงินโลก และปัจจัยทางการเมืองโลกมากขึ้น การรักษาความสามารถในการทำนโยบาย (Policy Space) จะเป็นการกันชนที่สำคัญในเวลาที่โลกผันผวน เพราะหากเกิดสถานการณ์ที่โลกไม่พึงประสงค์ขึ้นแรง ๆ มากระทบ เราก็จะต้องมีเครื่องมือที่มาใช้ได้ ดังนั้น ธปท.จึงไม่รีบใช้นโยบายการเงินจนหมดหน้าตัก จึงเลือกเก็บไว้เป็น Policy Space รักษาไว้ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ดีกว่า เช่น มีความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกแรง ๆ

ชี้ดอกเบี้ยต่ำนานกระทบมุมกลับ

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ขณะเดียวกันการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนาน ๆ ก็สร้างความกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน เรื่องการออมของประชาชนได้รับผลกระทบ ยิ่งเราเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ก็ยิ่งทำให้น่าห่วง เพราะอย่างกรณีญี่ปุ่นที่ดอกเบี้ยติดลบกลับพบว่า ประชาชนยิ่งออมมากขึ้น แทนที่จะใช้จ่าย เพราะเขาหวังพึ่งรายได้จากการออมเมื่อสูงอายุ ดังนั้นนโยบายที่หวังว่าลดอัตราดอกเบี้ยจะไปกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น อาจเกิดผลตรงกันข้ามได้ โดยเฉพาะในประเทศที่โครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็มีลักษณะแบบนั้น แม้ดีกรีอาจไม่รุนแรงเท่ายุโรปหรือญี่ปุ่น

อีกอย่างคือเวลาที่มองนโยบาย ไม่อยากให้มองแยกส่วน ต้องประสานนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นกลไกการทำงานของนโยบายการคลังเกิดผล สามารถเร่งรัดให้เกิดการเบิกจ่ายได้ และถ้ามองไปในปีหน้า ก็มีโครงการลงทุนระยะยาวอยู่มากพอสมควรที่กำลังเข้าสู่กระบวนการประมูลแล้ว ซึ่งน่าจะเข้าสู่การเบิกจ่ายชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในสภาวะแบบนี้การทำนโยบายต้องมี Trade off ต้องชั่งน้ำหนักผลดีผลเสีย แล้วในสภาวะที่นโยบายการคลังกำลังทำงาน ถ้าฝั่งนโยบายการเงินทำมากเกินไปก็มีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่ต้องระมัดระวัง

วิเคราะห์เทรนด์สินเชื่อปี60

นายวิรไทกล่าวถึงการขยายตัวของสินเชื่อในปี 2560 ว่า มี 2-3 ปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อ 1) คือถ้าการลงทุนเห็นผล สินเชื่อน่าจะเริ่มขยับขึ้นได้บ้าง ซึ่งวันนี้ก็เริ่มเห็นในบางธุรกิจมีการลงทุนมากขึ้น 2) ถ้าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเริ่มขยับ ตามตลาดการเงินโลก ธุรกิจที่เคยพึ่งพาตลาดตราสารหนี้ (หุ้นกู้) ก็อาจมีต้นทุนสูงขึ้น ก็อาจกลับมาใช้สินเชื่อจากแบงก์มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาธุรกิจไปออกหุ้นกู้กันค่อนข้างเยอะ และ 3) สินเชื่อบางอย่าง เช่น สินเชื่อรถยนต์ ที่ตอนนี้โครงการรถคันแรกครบ 5 ปีแล้ว ก็เริ่มเห็นตลาดรถยนต์เข้าสู่ภาวะปกติ กลับมามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้เพิ่มมากขึ้น

"แต่ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจคงไม่โตอย่างก้าวกระโดด เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้สินเชื่ออยู่ในระดับต่ำ เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าเดิมมาก ทั้งราคาข้าว น้ำมัน ยาง ดังนั้นสินเชื่อหมุนเวียนสำหรับการสต๊อกข้าว ยาง เหล่านี้ก็น่าจะลดลง แต่มีตัวเลขหนึ่งที่เราพยายามตามคือการใช้สินเชื่อของวงเงินที่เขามีอยู่แล้ว ซึ่งอันนี้สะท้อนฝั่งดีมานด์ ที่พบว่าลดลงทั้งในฝั่งเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะดีมานด์สินเชื่อลดลงมา ตอนนี้อยู่ประมาณ 40% ปลายของวงเงินที่ธุรกิจได้รับ และวงเงินเหล่านี้เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็จะเริ่มเห็นการใช้วงเงินสินเชื่อนี้เพิ่มขึ้น"

NPL โตต่อ-ศก.ชนบทมีปัญหา

สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ผู้ว่าการ ธปท.ให้ความเห็นว่า ยังจะได้เห็นเอ็นพีแอลขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเอ็นพีแอลเป็นดัชนีตามหลัง คือเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจนถึงจุดหนึ่งแล้ว จึงจะเห็นเอ็นพีแอลค่อย ๆ ลดลง ซึ่งการที่เอ็นพีแอลขยับขึ้นนี้ ก็สะท้อนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่กระจายตัว มีภาคเศรษฐกิจที่ทรง ๆ หรือถูกกระทบ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในชนบท ภาคพาณิชยกรรม ที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องอาศัยภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องสักระยะหนึ่งจึงจะเห็นเอ็นพีแอลลดลง

ขณะเดียวกันก็ยังมีเอ็นพีแอลบางส่วนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสถานการณ์ชั่วคราว เช่น การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งจะมีผลกระทบและได้เห็นเอ็นพีแอลขยับขึ้นบ้างในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งธุรกิจโรงแรม รถบัส ศูนย์การค้า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถาบันการเงินยังมีความแข็งแกร่งพอ เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินไทยก็เป็นอีกกันชนที่ดี ถ้าดูจากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงถึง 18% และการตั้งสำรองก็ยังสูงประมาณ 160% ของการกันสำรองตามเกณฑ์แบงก์ชาติ ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรยังใช้ได้ รองรับกับภาระหากเกิดเอ็นพีแอลได้ คิดว่าไม่ต้องกังวลเรื่องสถาบันการเงิน" นายวิรไทกล่าว

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้มีการให้ธนาคารพาณิชย์ทำการทดสอบในภาวะวิกฤต (Stress Test) เพื่อวัดความสามารถในการรองรับปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเรื่องคุณภาพสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ โดยให้ทำบนสมมติฐานจีดีพีติดลบ ซึ่งแบงก์เพิ่งส่งผลการทดสอบออกมาก็ค่อนข้างบวก

ปรับตัวลด "ธุรกรรมเงินสด"

นายวิรไทกล่าวว่า อีกด้านหนึ่งปัจจุบันแบงก์ก็มีความท้าทายจากการเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยพบว่าต้นทุนทางการเงินของแบงก์ไทยค่อนข้างสูง เพราะบิสซิเนสโมเดลที่ใช้กันปัจจุบันเป็นเรื่องการขยายสาขา ขยายพนักงาน ซึ่งต้นทุนการทำธุรกรรมที่ใช้คนเป็นต้นทุนที่สูงมาก เช่น การถอนเงินที่สาขา แบงก์มีต้นทุน 75 บาท การถอนเงินที่เอทีเอ็ม ต้นทุน 20-27 บาทต่อรายการ ซึ่งเป็นธุรกรรมฟรีสำหรับผู้บริโภค ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่แบงก์ปิดสาขามากกว่าเปิดสาขา เพราะแบงก์ต้องปรับรูปแบบธุรกิจและโครงสร้างต้นทุนให้สอดคล้องกับสภาวะทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป และในระหว่างทางของการปรับเปลี่ยนก็อาจกระทบความสามารถในการทำกำไรของแบงก์บ้าง เพราะรายได้อาจกระทบเร็วกว่าด้านรายจ่าย

อย่างไรก็ตามคาดว่า ในปี 2560 จะเห็นการแข่งขันของแบงก์มากขึ้น เห็นการปรับรูปแบบธุรกิจมากขึ้น และจะเห็นชัดขึ้น เมื่อพร้อมเพย์เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น เรื่องค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ที่น่าจะลดได้จริง ๆ หรือการทำธุรกรรมเงินสดที่ต้นทุนแพงก็น่าจะลดลง ดังนั้นในระยะข้างหน้า ตามแผนพัฒนาสถาบันการเงินของ ธปท. จึงให้ความสำคัญมากกับเรื่อง Digitization เพราะอันนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบการเงินไทย ที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ลดต้นทุนของสถาบันการเงิน และทำให้การบริการดีขึ้น คุณภาพสูงขึ้น นำเสนอบริการใหม่ที่ค่าธรรมเนียมถูกลงให้กับประชาชน และฟินเทคจะมีส่วนช่วยเยอะ โดยเฉพาะเข้ามาช่วยเรื่องหลังบ้าน ลดธุรกรรมหลังบ้าน ลดต้นทุนได้เยอะ

"เราส่งเสริมเรื่องนี้เยอะ เพราะต้องการให้ต้นทุนของระบบสถาบันการเงินลดลง เพื่อประชาชนและธุรกิจไทยได้ประโยชน์ บวกกับทำให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย" นายวิรไทกล่าว


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิรไท จุดเสี่ยงศก.ปี60 ตั้งรับ ทรัมป์โนมิกส์

view