สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ : จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย มองเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์หมุนกลับ และอนาคต ไทยแลนด์ 4.0 จากปาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

คำต่อคำ : จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย มองเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์หมุนกลับ และอนาคต ไทยแลนด์ 4.0 จากปาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากเฟซบุ๊ก @ThaiChamber)
        จากกรณีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้เดินทางไปเป็นประธานรับมอบสมุดปกขาวผลสรุปการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 34 ที่อยุธยาซิตี้พาร์ค จ.พระนครศรีอยุธยา และได้ขึ้นแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นวัตกรรม ทำจริง สู่การขับเคลื่อนประเทศไทย ที่กล่าวถึงแนวนโยบาย รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมจากทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือของโลก

       
       ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจการเมืองไทยและโลกในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลต่อภูมิศาสตร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกอย่างไร รองนายกฯ สมคิดที่กุมบังเหียนเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช.กล่าววิเคราะห์ไว้อย่างละเอียดดังนี้
       
       
คำต่อคำ : ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร่วมงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 34

       
       แทบทุกประเด็นที่นำเสนอ แม้ในบางประเด็นนั้นมันยากที่จะสื่อความให้ประชาชนโดยทั่วไปได้เข้าใจในภาพรวมว่ามันสำคัญอย่างไรต่อประเทศไทย ว่าประเทศไทยนั้นไม่ใช่แค่มีจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) มีเงินเฟ้อ มีส่งออกเติบโต มันไม่ใช่แค่นั้น สิ่งเหล่านี้มันเป็นเพียงปลายเหตุทั้งสิ้น เป็นผลลัพธ์ที่เราจะต้องวางยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนไปข้างหน้า และผมก็โชคดีที่มีพวกท่าน เป็นภาคเอกชนที่พยายามตอบสนอง ร่วมมือขับเคลื่อน เท่าที่พวกท่านจะช่วยผมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบที่สองที่ได้มีโอกาสกลับมาทำงานครั้งนี้ ซึ่งเวลาเรามีจำกัด และสิ่งที่เราวางไว้นั้นก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นการวางอนาคตให้กับประเทศ
       
       ผมอยากจะนำท่านกลับไปสู่เมื่อปีที่แล้วที่ผมมาร่วมกับท่านในงาน วันนั้นผมบอกพวกเราว่าภารกิจที่เข้ามาในครั้งนี้มีอยู่ 2 ประการ ประการที่ 1 ก็คือว่า จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลงไปกว่าเดิม เพราะก่อนเข้ามานั้นมันมีสัญญาณว่ามันจะทรุด แต่ภารกิจนี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับภารกิจที่ 2 คือ การที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ผมเรียนเมื่อครั้งที่แล้วว่า เราอย่ามัวสนใจในเรื่องของจีดีพีเฉพาะหน้า เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของเราในขณะนั้นมันเป็นโครงสร้างซึ่งมันถึงจุดอิ่มแล้ว และเริ่มถดถอยโดยลำดับ
       
       ทำไมเราถึงมีจีดีพี ไม่สามารถทำให้มันเกิน 4 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ เหมือนในอดีตได้ ทั้งนี้ ก็เพราะว่าโครงสร้างที่มีอยู่มันเริ่มใช้ไม่ได้แล้ว ผมไปเยี่ยมและประชุมที่เวียดนามมา เราก็เห็นว่า สิ่งที่จีดีพีเขาเติบโต ไม่ว่าเวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า ก้าวกระโดด 6-7 เปอร์เซ็นต์นั้น มันก็คือสิ่งที่เคยช่วยเราเติบโตมาในอดีตสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ รองเท้า เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ แม้กระทั่งเครื่องจักรเครื่องยนต์ขนาดย่อม แต่วันนี้ค่าแรงของเขาถูกกว่าเราครึ่งต่อครึ่ง ศักยภาพเขามีอยู่สูงมาก ในขณะที่เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ในระดับนั้นได้ ถ้าเราไม่ปฏิรูปตัวเราเอง เราก็ยากจะแข่งขันได้
       
       ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่ทำในสิ่งใหม่ๆ ที่จะทำให้เราเป็นที่น่าสนใจ เราก็ไม่สามารถที่จะแข่งกับประเทศอย่างเช่นเวียดนามได้ แม้ว่าขณะนี้เรากับเขายังห่างกันมากก็ตาม
       
       ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เป็นอย่างนี้ จีน เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ คือประเทศทั้งหลายที่เคยเป็น track ของประเทศไทยมาก่อนทั้งนั้น แต่เขาสามารถผ่านเข้าไปอยู่ในอีก S-Curve หนึ่งได้ ละทิ้ง S-Curve เดิมซึ่งเขาเริ่มแข่งขันไม่ได้ วันนี้เขาจึงมีเศรษฐกิจระดับนี้ ถ้าเรามัวแต่นิ่งอยู่กับที่ พอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่สนใจว่าโลกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร วันหนึ่งข้างหน้าเราจะไม่มีที่ยืน
       
       ผมจึงพอใจมากกับสิ่งที่ถามตัวเองว่า กล้าไหม ถ้ากล้าก็ต้องเปลี่ยนแปลง วันนั้นเราประกาศว่า ในการที่เราจะปฏิรูปนั้นมันไม่ใช่แค่อิงอยู่กับปัจจัยภายนอก เพราะการอิงอยู่กับการส่งออก จนกระทั่งส่งออกไปถึงร้อยละ 60-70 ของจีดีพี มันเป็นจุดอ่อน มันไม่ใช่จุดแข็ง ถ้าเราคิดสบายๆ อันนี้เป็นจุดแข็งแน่นอน แต่ดูวันนี้ สิงคโปร์ อัตราเติบโตควอเตอร์แรก 2% ควอเตอร์ที่สอง 2% ควอเตอร์ที่สามเหลือ 0.6% นี่คือตัวอย่างของประเทศซึ่งเขาต้องพยายามปรับทิศทางของเขา ไม่อย่างนั้นเขาก็จะลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ขณะนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป 

คำต่อคำ : จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย มองเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์หมุนกลับ และอนาคต ไทยแลนด์ 4.0 จากปาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”
ภาพจากเฟซบุ๊ก @ThaiChamber
        • สร้างสมดุล “อิงภายนอก สร้างภายในเข้มแข็ง” 
       
       ฉะนั้นแทนที่เราจะอิงอยู่กับเศรษฐกิจภายนอกอย่างเดียว เราต้องสร้างภายในของเราให้เข้มแข็ง เติบโตจากภายในอย่างแท้จริง และเศรษฐกิจภายในไม่ใช่แค่ข้าว ส่งออกข้าว จำนำข้าว อันนั้นไม่ใช่ นโยบายปีที่ผ่านมา ว่าในการสร้างดุล ที่เรียกว่า Growth ที่มี balance มีดุลยภาพของการเติบโต ในด้านของปัจจัยภายนอกนั้น สิ่งที่เราทำตั้งแต่ต้นก็คือว่า ทำอย่างไรที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจของเรานั้นไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่า 4.0
       
       เศรษฐกิจดั้งเดิมที่เรามีอยู่ ทำยังไงจะยกระดับมันขึ้นมาให้ได้ เป็นผลผลิต ภาคการผลิตที่ตั้งอยู่บนฐานของสิ่งที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา ทำอย่างไรถึงจะหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็น S-Curve ต่อยอดได้ในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน ถ้าเราต้องการเปลี่ยนผ่านในสิ่งเหล่านี้ การเตรียมตัวในเรื่องของแรงงาน ทรัพยากรมนุษย์ มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ในอเมริกาที่มันวุ่นวายขณะนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่ามันเกิดการเปลี่ยนผ่านในเชิงอุตสาหกรรมทั้งหลาย จนกระทั่งคนกลุ่มหนึ่งมีปัญหามาก และกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง นำไปสู่ชัยชนะของการเลือกตั้ง
       
       ในขณะเดียวกัน เราก็บอกประชาชนว่า ครั้งหนึ่งเราเคยมีแหลมฉบัง มาบตาพุด เคยมียุคโชติช่วงชัชวาล เติบโตต่อเนื่อง 20 กว่าปี หรือ 30 ปี แต่วันนี้สิ่งเหล่านั้นไม่มีเหลือ โครงสร้างพื้นฐานที่เรามีอยู่มันเริ่มเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งอดีต เราจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทั้งแบบที่เราเรียกว่า Hard infrastructure (สาธารณูปโภคพื้นฐานเชิงกายภาพ) ถนนหนทาง รถยนต์ รถไฟ อะไรต่างๆ เหล่านี้ทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการมี infrastructure ที่เรียกว่า Soft infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบและมาตรฐาน) นั่นคือ ดิจิตอล อินเทอร์เน็ต เทเลคอม ทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา เหล่านี้เป็นต้น
       
       การผลักดันให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ รวมตลอดไปถึงโครงการในลักษณะที่เราเรียกว่า eastern dedicated corridor คืออะไร คือเรากำลังยกระดับอีสเทิร์นซีบอร์ดไปสู่อีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีเพียงแค่แหล่งอุตสาหกรรม ไม่เพียงมีการพัฒนายกระดับในเรื่องของท่าเรือ สนามบิน หรือเส้นทางคมนาคม แต่เราต้องการพัฒนาไปสู่จุดซึ่งจะทำให้พอร์ตแถบนั้นเป็นจุดที่จะสามารถซัปพอร์ตการเติบโตของ CLMV ได้ เราต้องการให้ท่าเรือแถวนั้น ไม่ว่าจะเป็นแหลมฉบัง หรือที่อื่น สามารถเป็นพอร์ตที่เป็น transshipment port เป็นทางเปิดเข้าสู่ CLMV และเป็นทางออก CLMV ไปสู่โลก ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เรากล้าคิด แม้กระทั่งเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ที่เราถูกโจมตีบ่อยครั้งว่าทำทำไม คุ้มหรือไม่คุ้ม ทำแล้วไม่คุ้มแล้วทำทำไม แต่มันเป็นเรื่องของไก่กับไข่
       
       • ยืนยันไม่ทิ้งเศรษฐกิจฐานราก หนุนเกษตรกรไปแล้วกว่า 3 แสนล้าน
       
       ในการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงนั้น ตัววัดเคยมีมันก่อให้เกิดในอนาคตข้างหน้า มันเป็นผลตอบแทนเศรษฐกิจในระยะ 30-40 ปีข้างหน้า ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้มันนานาจิตตัง มีความคิดทั้งสิ้น ผมเคยเรียนพวกเราแล้วว่า เมื่อเราขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศ ผมไม่ทำตามกระแส แต่ผมรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ผมจะทำในสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์สูงสุดของประเทศ แล้ววันหนึ่งข้างหน้า ประวัติศาสตร์จะเป็นตัวตัดสิน เราจะไม่มัวนั่งนิ่ง ไม่มาตอบคำถามว่า ทำไมถึงไม่ทำอย่างนั้น ทำไมถึงไม่ทำอย่างนี้ ทำไมถึงละทิ้งชาวนา ทำไมละทิ้งเรื่องเกษตร เราไม่เคยละทิ้งเลย แต่เราต้องการยกระดับเขาให้เป็นกำลังสำคัญต่อไปในอนาคตข้างหน้า ปีที่ผ่านมาทั้งปีเราช่วยเหลือเกษตรกร เราช่วยเหลือผู้ยากไร้ เราช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้าน แต่ในอนาคต ทุกอย่างที่ลงไปต้องเป็นระบบมากขึ้น และสักครู่หนึ่งผมจะกล่าวออกมา
       
       ฉะนั้น ในสิ่งเหล่านี้นั้น คือการพยายามสร้างให้ไทยสามารถแข่งขันได้ ให้เราส่งออกได้ ให้มีแรงจูงใจต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย สิ่งสำคัญที่ท่านพรีเซ็นต์เมื่อสักครู่นี้ เรื่องของ CLMV ตัวนั้นสำคัญมาก มันถึงเวลาที่คนไทยต้องกล้าออกไปใน CLMV เรามีสิ่งพิเศษอยู่ข้างๆ ตามพรมแดน แต่บางอุตสาหกรรมถึงเวลาแล้วที่ท่านต้องก้าวออกไป อย่ามัวแต่ยืนอยู่ขอบรั้วรอให้อะไรเข้ามาหาเรา เราต้องกล้ารุกเข้าไป ท่านมีประธานหอการค้า มีกรรมการหอการค้า มีตัวอย่างผู้นำหลายๆ คน ที่ช่วยแนะนำท่านได้ ถึงเวลาต้องก้าวออกไป และถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า การส่งออก การลงทุนของเราจึงจะเติบโตได้ดังเช่นในอดีต
       
       ขณะเดียวกัน เราบอกว่าการสร้างเศรษฐกิจฐานรากคือตัวสำคัญ ต้องเติบโตจากภายใน หมายความว่าเศรษฐกิจของเรานั้น การเกษตรของเรานั้นต้องเป็นเกษตรซึ่งมีมูลค่า เป็นเกษตรที่มีความรู้ ต้องสามารถยกระดับมูลค่า ต้องสามารถสร้างพื้นฐานที่ทำให้มันทันสมัย แปรรูปได้ การท่องเที่ยวไม่ใช่เอามาท่องเที่ยวแล้วอยู่แค่นี้ ต้องเดินท่องเที่ยวเข้ามาสู่ชุมชน หมายความว่าต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน สร้างให้เกิด
       
       เมื่อสักครู่นี้ก่อนเข้ามา ผมบอกอยุธยานั้นเป็นแหล่งอารยธรรม เป็นแหล่งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์เป็น 100 ปี ทำไมถึงไม่ทำในสิ่งซึ่งเป็นเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม ทำไมปล่อยให้คนรู้จักอยุธยาจากโรตีสายไหม ผมว่าสิ่งเหล่านี้ ภาคเอกชนในอยุธยาต้องยืนขึ้นมา คิดว่าจะทำอย่างไรในการสร้างเศรษฐกิจภายในขึ้นมานั้น มันต้องมีแผน มียุทธศาสตร์ และในที่สุดเรากำลังจะลงทุนในอินเทอร์เน็ตไปสู่ อี-คอมเมิร์ช หมายความว่าทุกๆ จุดในประเทศไทยจะต้องสามารถค้าขายถึงจุดที่มีการผลิต มีการท่องเที่ยว สามารถมาร์เกตมันออกไปได้ ไปทั่วทั้งโลก อย่าคิดว่ามันฝันไกลเกินความจริง ใน 5 ปีข้างหน้าผมเชื่อว่าทุกประเทศจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่รีบลงทุนและขยับเขยื้อนตั้งแต่บัดนี้ เราจะหลุดโลก เราจะสู้เขาไม่ได้
       
       • รู้เขารู้เรา ไม่บ้าตามต่างประเทศ
       
       สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราประกาศมาโดยตลอดว่า ครั้งนี้แหละที่เราพยายามจะยกระดับขึ้นมา เราจะต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ทำมันให้พอเหมาะพอดี พอควร ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งนี้นี่แหละคือสิ่งที่เราจะเรียกว่าประเทศไทย ไม่ใช่บ้าตามต่างประเทศ จะต้องไฮเทคอย่างเดียว เราต้องรู้ว่าเรามีรากจากอะไร และอะไรที่เราสร้างได้ในอนาคตข้างหน้า ฉะนั้น สิ่งที่เราประกาศออกไป มีหลายคนบอกว่าคิดผิดแล้วต้องคิดใหม่ วันนี้ผมยิ่งมั่นใจว่าผมคิดถูก ที่สำคัญอย่างยิ่ง เรามองรอบตัวเราออกไปข้างหน้า ขณะนี้หลายสิ่งกำลังเกิดขึ้น และกำลังจะคอนเฟิร์มกับเราว่า ถ้าเราไม่รีบสานต่อในสิ่งที่ทำ เราจะลำบาก เราจะเผชิญความท้าทาย
       
       ประการแรก ท่านเห็นไหม ธนาคารกลางสหรัฐฯ มาพูดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บอกว่าถึงเวลาประเทศในเอเชียที่เคยส่งออกเป็นบ้าเป็นหลังอย่างเดียว จะต้องเริ่มพึ่งตัวเอง สร้างความเติบโตจากภายใน สร้างอุปสงค์จากภายใน เขามาทีหลังเรา เรารู้ตัวล่วงหน้า รู้ว่าถ้าเราไปตาม track นั้น เราตายแน่ เป็นเหมือนกับคนที่ขาข้างหนึ่งใหญ่ ขาข้างหนึ่งลีบ แล้วถ้าวันนี้เป็นอย่างนี้ แล้วได้ข่าวว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะยิ่งแย่ เราจะยิ่งหนัก เราจะถอนตัวไม่ขึ้น ฉะนั้นนี่คือประการที่ 1 ว่าทำไมเราจึงต้องมี balance growth การเติบโตที่มีดุลยภาพจากสองข้าง 

คำต่อคำ : จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย มองเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์หมุนกลับ และอนาคต ไทยแลนด์ 4.0 จากปาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”
โดนัลด์ ทรัมป์ (ภาพเอพี)
        ในขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่ง ที่กำลังเกิดขึ้น ผมเรียกมันว่า ปรากฏการณ์ทรัมป์ สิ่งที่ทรัมป์ได้มาเป็นประธานาธิบดี มันได้ก่อให้เกิดสองสิ่งขึ้นมา หนึ่งคือความกลัวจากคำพูดหลายๆ อย่างของเขาในช่วงที่เขาหาเสียง สอง คือความไม่แน่นอนว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นยังไงกับการค้าของโลก กับการเงินของโลก และที่สำคัญที่สุด คือ การเมืองระดับโลก
       
       เราจะไม่พูดถึงสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเขาจะตั้งกำแพง สร้างกำแพง จะอย่างโน้นอย่างนี้ เราไม่พูดถึง ผมเชื่อว่าคนที่ชาญฉลาดอย่างนั้น ถึงเวลาหลายๆ สิ่งคือสิ่งที่เขารู้ว่าไม่ควรกระทำ และทำไม่ได้ แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจหลักๆ ของเขา เราต้องดู เราต้องเตรียมตัว มันมีทั้งโอกาส และมีทั้งความเสี่ยง
       
       ขณะนี้ตะวันตกยังกลัวมาก เพราะความไม่แน่นนอนนั้นเป็นความเสี่ยงอย่างมหันต์ของตะวันตก แต่มันอาจจะมีโอกาสต่อประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ถ้าเรารู้จักมองในโอกาส
       
       • วิเคราะห์นโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์” 
       
       นโยบายอะไรของเขาที่หลักๆ บ้าง เขาต้องการที่จะลดภาษีของบริษัทประกอบการทั้งหลาย เขาต้องการทุ่มเงินลงไป 1 trillion dollars (หนึ่งล้านล้านดอลลาร์) ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายที่เขาประกาศจะลดภาษี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มันก็คือการมุ่งเน้นในการใช้งบประมาณ นโยบายทางการคลัง ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของเขา
       
       ในด้านหนึ่งก็มองว่า วิธีคิดของเขานั้นมันจะเป็นตัวที่ทำให้อเมริกานั้นเขยิบเติบโตขึ้นมา จากการที่แต่เดิมนั้นเน้นแต่นโยบายการเงิน เน้นแต่เรื่องของ QE (มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) ฉีดเงินเข้าไป โดยที่ไม่มีการปรับปรุงโครงสร้าง ไม่เคยมีการปฏิรูปเลย แต่การขยับของโดนัลด์ ทรัมป์ ครั้งนี้มองออกเลยว่าเขาเป็นคนที่คิดอย่างนักธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ความคิดของเขานั้นก็มาต่อด้วยเรื่องของการค้า เขาบอกว่าเขาต้องการดึงตัวเองออกมาจาก TPP ไม่เพียงเท่านั้น เขายังยกเลิก TTIP - The Transatlantic Trade and Investment Partnership สองตัวนี้มันกระเทือนยุโรปอย่างรุนแรง และไม่เพียงเท่านั้น ยังประกาศว่าจะเจรจาใหม่กับนาฟตา ซึ่งเขาบอกว่านั่นคือตัวที่ทำให้มีการโยกการผลิตไปสู่เม็กซิโก ทุกอย่างไปอยู่ที่นั่น ทำให้คนอเมริกันตกงาน จะขึ้นภาษี ป้องกันไม่ให้การนำเข้าขึ้นมาได้สะดวก ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่มันเป็นเรื่องใหญ่เพราะอะไร เพราะเขามองว่าสิ่งเหล่านี้มันคือการ reverse globalization โลกาภิวัตน์มันหมุนกลับ
       

       30 ปีที่แล้ว ผมเริ่มบรรยาย ผมมีแผ่นใสอยู่แผ่นหนึ่ง บอกว่า globalization มันกำลังจะเกิด ด้วยการขนส่งโทรคมนาคมที่มันใกล้ชิด ฉะนั้นมันจะมีความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างขึ้นมา แต่ตลอดเวลา 30 ปีผ่านมา globalization นั้นมันผ่านการจัดระเบียบสองด้าน ด้านหนึ่งคือการค้า ผ่านทาง WTO จัดระเบียบการค้าให้มีการค้าเสรี ให้มี free flow ไม่ว่าเงินทุน สินค้า แรงงาน และทุน
       
       ฉะนั้นวิธีการนี้ที่ว่าสนับสนุนการค้าเสรีให้ไปสู่การผลิตในจุดที่มีต้นทุนต่ำที่สุด Efficient ที่สุด แล้วไปขายในประเทศซึ่งไม่มีในสิ่งเหล่านี้เป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีประโยชน์ที่สุดตามทฤษฎีเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้มีการจัดระเบียบการเงินผ่านไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ลดอุปสรรคทางการเงินทุกอย่างให้มีเสรีทางการเงินโดยเร็วที่สุด สมัยที่ผมเป็นเลขานุการรัฐมนตรีคลัง เมื่อเราเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมยังจำขณะนั้นได้เลยว่าเราถูกผู้แทนของอเมริกาโขยกทุกวันให้เปิดแบงก์ให้เขาเข้ามาทำธุรกรรมทางด้านธนาคารอยู่ทุกวัน โดยอ้างเรื่องของการทำเสรีทางการเงิน สิ่งเหล่านี้เราไม่ว่ากัน เพราะมันเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์นำไปสู่จุดที่เป็น Efficient สูงสุด แต่ในทางปฏิบัติหลักการมันจะต้องสานต่อว่า เมื่อมันเกิดสิ่งเหล่านี้แล้ว มันมีทั้งคนได้และคนเสีย
       
       คนได้คือส่วนใหญ่ของอเมริกา ในกรณีของอเมริกานั้น คนที่ได้คือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สามารถรุกไปสู่ต่างประเทศ แล้วใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้ดี ในขณะเดียวกันประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศในเอเชียก็ได้ประโยชน์ มีการลงทุนในประเทศเหล่านี้ไม่ว่าจีนไม่ว่าไทยทุกประเทศ ทำให้จีดีพีมันเติบใหญ่ขึ้นมา เติบโตขึ้นมา การค้าโลกมันก็ดี แต่ขณะเดียวกันมันมีผู้เสียประโยชน์ แต่มันไม่มีการสานต่อ นโยบายการกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่งสู่คนที่เสียโอกาส มันเป็นสิ่งที่ต้องสานต่อ โชคดีที่ประเทศอย่างไทย คนจนตกงานมีโอกาสกลับไปสู่เกษตร รัฐบาลยังพยายามช่วยเหลือชาวนา แต่ในประเทศอย่างตะวันตกหรืออเมริกานั้น เวลามันจนมันตัวใครตัวมันเลย
       
       • เมื่อโลกาภิวัตน์หมุนกลับ
       
       ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้คือสิ่งซึ่งทางการเมืองจับประเด็นได้ แล้วยิ่งทรัมป์ชนะ ปีหน้าคือสิ่งที่ตะวันตกกลัวที่สุด มันจะมีการเลือกตั้งในยุโรป เบร็กซิต (Brexit) ไปแล้ว ถ้ามันทยอยเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ อียูจะปล่อยมันไปเรื่อยๆ ฉะนั้นอาณาจักรของอียูที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะว่าทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่อียูที่ผ่านมานั้นมันกลายเป็นเครื่องมือของประเทศที่พัฒนาแล้ว รังแกประเทศอย่างประเทศไทยพอสมควรทีเดียว
       
       ฉะนั้นในสิ่งเหล่านี้พร้อมประกาศจะดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาหมด ทีพีพีออกมาท่านก็จะเห็น หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ โดยคอลัมนิสต์ชื่อดัง มาร์ติน วูลฟ์ เขียนออกมาเลยว่า จะนำไปสู่ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของตะวันตก ทางการค้าจะทำให้การค้าตกต่ำ ทางการเงินจะทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเงินขนานแท้ เพราะว่ามันจะมีการผ่อนคลายทางการเงิน ระเบียบวินัยจะไม่มี นี่คือความหวั่นเกรงของชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทั้งหลายในโลก ซึ่งถูกครอบงำด้วยความคิดของ WTO กับ IMF นั้นตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
       
       ฉะนั้นพอคิดในทางตรงกันข้าม โลกาภิวัตน์หมุนกลับมันก็เกิดภาวะแทบจะช็อก ญี่ปุ่นวิ่งไปถึงอเมริกาไปหาทรัมป์เพราะกระเทือนโดยตรง โดยทรัมป์บอกว่าไม่เอาทีพีพี ถ้าไม่มีทีพีพีมันก็เหลือแค่อาเซป (การเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค; RCEP) จีน ญี่ปุ่นไม่อยากจะลงทุนกับจีน ญี่ปุ่นจะทำอย่างไร เมื่อทรัมป์บอกว่า ต่อจากนี้ไปความมั่นคงในเอเชีย ถ้าคุณอยากมีความมั่นคงคุณต้องจ่ายบ้าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นจะทำยังไง สิงคโปร์จะทำยังไงเพราะตลอดเวลา 30 ปีนั้น สิงคโปร์สร้างตัวขึ้นมาจากจุดที่อยู่ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก จากจุดนี้เป็นตัวได้เปรียบในการสร้างสิทธิของเขา สิงคโปร์จะทำยังไงถ้าไม่มีบริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
       
       นี่คือ Geopolitics ที่มันกำลังจะเกิดขึ้น ประเด็นนี้ผมอยากให้พวกเราตั้งสติ ไม่ต้องไปอ่านข่าวมาก แต่คิด แน่นอนที่สุดถ้าหากว่ามันเกิดผลกระทบกับการค้า เราต้องเตรียมการว่า การเติบโตจากภายในของเราจะมาถูกดึงตรงนี้ได้อย่างไร ถ้าหากว่ามีผลต่อการลงทุนสิ่งที่เราต้องมองก็คือว่า ถ้าอเมริกาเศรษฐกิจมันโตขึ้น ต่อให้เกิดเงินเฟ้อแต่ในช่วงระยะสั้นเขาก็ต้องการอิมพอร์ตจากเรามากขึ้น ถ้าเขากีดกันการค้าจากจีนมันก็จะมีส่วนแบ่งการค้าของเรามาสู่ประเทศในเอเชีย ในขณะเดียวกันการลงทุนอเมริกามันก็ทำได้ถ้าเรากล้าเพียงพอ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดอเมริกากล้าพอที่จะดึงสิ่งเหล่านี้ออกไปหมด โดยไม่คิดว่าจะมีตัวแทนอะไรบางอย่างในเอเชีย แต่ผมคิดว่าเขาต้องมี ถ้าไม่มีทีพีพีเขาต้องคิดอะไรบางอย่างแน่นอน เพราะเขาทิ้งเอเชียไม่ได้
       
       แต่ถ้าเขาทำอย่างนั้น มันจะมีจังหวะที่ Asia Rising มันจะเกิดขึ้นมาจริงๆ เพราะคุณดูที่เวทีเอเปกที่ผ่านมา เป็นเวทีซึ่งผู้นำสหรัฐฯ กระอักกระอ่วนมากเพราะกำลังจะก้าวลง แต่ผู้นำจีนใช้เวทีนั้นประกาศเลยว่า เขาจะดันอาเซป จะดันไทยเรื่องของฟรีเทรดแอเรีย (เขตการค้าเสรี) ของเอเชียแปซิฟิก 21 ประเทศ นอกเหนือจากอาเซป อาเซปก็คือ อาเซียน+6 นั่นเอง ก็คือ 16 ประเทศ ฉะนั้นเวทีมาสู่จีน จีนประกาศว่าต้องการสนับสนุนอาเซป และต้องการผลักดันเรื่องของเอฟทีเอ เอเชียแปซิฟิก ซึ่งดึงเอารัสเซียเข้ามารวมอยู่ในนั้นด้วย รวมทั้งอเมริกา 

คำต่อคำ : จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย มองเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์หมุนกลับ และอนาคต ไทยแลนด์ 4.0 จากปาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”
ภาพจากเฟซบุ๊ก @ThaiChamber
        • “ไทย” ศูนย์กลางอาเซียนตัวจริง
       
       นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิด แต่เอเชียทั้งเอเชียมันจะใกล้กันมากขึ้น พึ่งพิงกันมากขึ้น แต่หัวใจของเอเชียนั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่าข้างหนึ่งยังอยู่ที่ประเทศจีน ขาอีกข้างหนึ่งอยู่ที่อาเซียน ยังไงก็ทิ้งอาเซียนไม่ได้ เพราะอาเซียนนั้นมี 10 ประเทศ เป็นซัปพลายเชน (ห่วงโซ่อุปทาน) สำคัญของโลก และอาเซียนนั้นกึ่งกลางของมันก็คือ CLMV จริงๆ แล้วไทยคือจุดศูนย์กลางอยู่แล้ว ไทยเป็นผู้นำโดยปริยายอยู่แล้ว แต่เราไม่ต้องไปพูด แต่เราต้องมียุทธศาสตร์ซึ่งทำให้ CLMV นั้นต้องมาร่วมกับเรา
       
       ฉะนั้นในขณะที่จีนก็ดี เข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องของโครงการล้านช้าง ญี่ปุ่นเข้ามาในเรื่องของจีเอ็มเอส เกาหลีก็เข้ามา อินเดียก็เข้ามา เราต้องใช้จุดนี้ที่ประเทศไทยเป็นจุดกึ่งกลาง สร้างนโยบายที่ดึงกลุ่ม CLMV นั้นมาเข้ากลุ่มกันให้มีพลังที่เข้มแข็ง ประเทศไทยจึงจะมีบทบาทการนำที่ชัดเจน ประเทศที่มีจุดการนำที่ชัดเจนจะเป็นประเทศที่ได้เปรียบสูงสุดเมื่อมีการลงทุนจากต่างประเทศ หรือที่บอกว่าไอ้บทบาทนำนี่แหละคือหัวใจ สิงคโปร์พยายามใช้บทบาทนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว ต่อจากนี้ไปถ้าเราทำได้ดี เราจะขึ้นมาฐานะตรงนี้ได้
       
       ถ้าเราทำอย่างนี้หมายความว่าเรากำลังจะพยายามทำให้ประเทศไทยนั้นเป็นเพชรเม็ดหนึ่งของ CLMV วิธีนั้นก็คือว่า ทำยังไงให้เรานั้นสามารถเป็นแหล่งจูงใจการลงทุนที่เหมาะที่สุด อุปสรรคทั้งหลายทางการค้าการลงทุนขจัดให้หมด คอร์รัปชันให้มันน้อยที่สุด อะไรทั้งหลายที่ทำให้คนอื่นเขาไม่อยากจะเข้ามา เราจะต้องขจัดมันออกไป ถ้าเราทำได้อย่างนั้น กลุ่มธุรกิจของเราคงจะสามารถร่วมกับกลุ่มธุรกิจในประเทศ CLMV สร้างเศรษฐกิจขยายออกไป และสามารถก้าวกระโดดไปสู่โลกข้างหน้า
       
       อย่าลืมว่าใน 5 ปี ข้างหน้าอินเทอร์เน็ตจะมีที่เมืองไทย กับเวียดนามแน่นอน แต่ประเทศอื่นยังช้าอยู่ ฉะนั้นถ้าเราสามารถลงทุนในเรื่องของเออีซีได้เร็ว เราลงทุนเรื่องอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ได้เร็ว เรากับเวียดนามจะชิงธงกัน ผมไปประชุมแอคเมคส์ (การประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มน้ำอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง; ACMECS) ที่เวียดนาม สิ่งที่เห็นชัดคือว่า โอกาสนี้เป็นโอกาสดีมากที่เราจะร่วมมือกันได้ ผู้นำเวียดนามคนนี้เป็นคนที่มีน้ำใจ เป็นคนที่รู้จักการผ่อนปรน อะไรที่เราเสนอไปว่าธุรกิจไทยเดือดร้อน มีปัญหา เขารับเข้ามาอย่างกระตือรือร้น ผู้นำอย่างฮุน เซน ไม่ว่าพม่า ไม่ว่าลาว ทุกคนใกล้ชิดกัน ฉะนั้นเป็นโอกาสที่ซีแอลเอ็มวีจะเป็นปึกแผ่น และแข็งตัวขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องเตรียมพร้อม ฉะนั้นการที่ท่านพรีเซ็นต์ในวันนี้ผมดีใจ แล้วก็มีกำลังใจ เพราะท่านเข้าใจ ต่อไปข้างหน้า ปีหน้าโอกาสท่านจะมีมากกว่านี้อีกผมจะบอกให้
       
       • การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบกลุ่มจังหวัด 20 กลุ่ม 70 กว่าจังหวัด
       
       สิ่งหนึ่งที่ท่านนายกฯ หารือกับทีมงานผมก็คือว่า ปีหน้าเราจะใช้ในเรื่องของงบประมาณเป็นตัวขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ไม่ว่าการศึกษา หรืออื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนโดยใช้พื้นที่ 10 กว่าปีที่แล้วผมพยายามนำเสนอแนวความคิด ทุกท่านคงทราบดี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้พื้นที่กลุ่มจังหวัด เราเห็นตัวอย่างจากจีน เขาก้าวกระโดดมา 20 ปี เขาไม่ได้มาจากส่วนกลาง เขามาจากพื้นที่ วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ส่วนการลงทุนในสิ่งที่จำเป็นนั่นเป็นโครงการใหญ่ร่วมกันทั้งประเทศ ฉะนั้นแนวความคิดนี้ทางการเมืองเนี่ยลำบาก เพราะ ส.ส.ก็ดี นักการเมืองก็ดี ต้องการคอนโทรลงบประมาณของส่วนกลาง แต่ถ้าเราทำได้ว่าให้กลุ่มจังหวัดเป็นตัวขับเคลื่อน นั่นหมายความว่าคุณจะมีเครื่องปั๊มเศรษฐกิจ 70 กว่าจังหวัด 20 กว่ากลุ่มจังหวัด แผนการยุทธศาสตร์มันไม่ได้มาจากส่วนกลาง คุณไม่ต้องมานั่งลงคิวให้ตรงกับในส่วนกลางจัดสรรงบประมาณออกไป แต่คุณสามารถคิดได้ ณ จุดนี้ว่าคุณจะทำอะไรเพื่อให้คลัสเตอร์จังหวัดของคุณสามารถเป็นพลังที่แท้จริงในการขับเคลื่อนให้ได้
       
       ฉะนั้น งบประมาณปี 61 ออกมาที่จะออกตุลาคมนี้ แทนที่จะมีงบประมาณแค่ 20,000 ล้าน สำหรับกลุ่มจังหวัดได้มาแล้วจังหวัดละ 400-500 ล้าน เราจะพยายามแบ่งให้ได้งบประมาณ 40,000 ล้าน และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกัน งบประมาณที่จ่ายไม่หมดก่อน 31 ธันวาคม เรียกคืนมาหมด ตัดเป็นการลงทุนขนาดย่อยกระจายไปสู่กลุ่มจังหวัด จะทำตั้งแต่บัดนี้ หมายความว่า 31 ธันวาคม งบประมาณที่เกินพันล้านทำไม่ได้ถูกซิวกลับคืนแล้วไปเสริมงบประมาณจังหวัดในปีต่อไป
       
       ในขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาตั้งแต่มกราคม กุมภาพันธ์ ถึงกันยายน ก่อนที่งบประมาณปี 61 จะเริ่มใช้ เราจะไม่เสียเวลากับการรอคอย เราจะจัดหางบประมาณเพิ่มขึ้นมาก้อนหนึ่งเพื่อขับเคลื่อน 4.0 ให้มีการเติบโตจากภายใน และการสร้าง 4.0 วิธีทันสมัยควบคู่กันไป และจะทำการขับเคลื่อนงบประมาณก้อนนี้โดยกลุ่มจังหวัดเพื่อให้งบประมาณที่เราจะปรับปรุงจากที่ใช้ไม่ทันช่วงสิ้นปี บวกกับที่จะเข้ามาใหม่ บวกกับปี 61 ทุกอย่างจะต่อท่อตรงกันไปสู่อนาคตเป็นแผน 4-5 ปีข้างหน้าเพื่อให้รัฐบาลใหม่นั้นสามารถจะสานต่อ และสิ่งที่จะทำนั้นจะต้องไม่กระทบฐานะการคลังจนเกินไป วันนี้เรามีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพียงแค่ร้อยละ 42 กว่า สิ่งเหล่านี้ถ้าเราใช้เงินเพิ่มขึ้น ยังไงเสียก็ทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเงินเหล่านั้นจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหนี้ต่อจีดีพีนั้นจะต้องไม่ให้เกินร้อยละ 45 โดยสากลมีได้ถึงร้อยละ 60 แต่เราไม่มีทางทำอย่างนั้น แต่เราจะเอาเงินเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถามว่าเอาเงินเหล่านั้นมาจำนำข้าวมั้ย ก็คิดง่ายๆ ไม่ต้องมีแรงกดดัน ไม่ต้องกลัวคนด่า ไม่ต้องกลัวชาวนาน้อยใจ ทำไม่ยากหรอก จีดีพีมันก็ขึ้น ถ้าทำอย่างนั้นแล้ว ชาวนาก็จนลงในอนาคตข้างหน้า คอร์รัปชันก็เกิด ภาระต่อรัฐบาลข้างหน้าอีกมหาศาล
       
       ที่ผมกล่าวมานี้ ผมไม่ได้บอกว่านโยบายจำนำข้าวนั้นไม่ดี ผมบอกว่าไม่ว่านโยบายจำนำข้าวหรือหนี้อะไรก็แล้วแต่ที่ทำมา ถ้ามันถูกเอาไปใช้ในทางที่มิชอบบิดเบือนเพื่อผลทางการเมืองอันนี้อันตรายมาก ไม่เพียงก่อให้เกิดจุดแห่งการทุจริต ซึ่งมันมีช่องว่างเต็มไปหมด พวกท่านก็รู้ ท่านมาจากหอการค้าแต่ละจังหวัด ท่านก็รู้ในจังหวัดของท่านโรงสีไหนเป็นอย่างไร รู้อยู่กับตัวอยู่แล้ว รู้อยู่กับใจอยู่แล้ว ฉะนั้นเราไม่เลือกเส้นทางง่าย เราจะเอาเส้นทางที่ปฏิรูปทำให้ดี แล้ววางรากฐานให้รัฐบาลหน้าทำต่อ
       
       ฉะนั้นสิ่งที่ผมขอพวกท่านคือว่า ถ้าในการเพิ่มงบประมาณขับเคลื่อนโดยกลุ่มจังหวัด สิ่งสำคัญก็คือว่า เราจะให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดจะต้องหารือกับภาคเอกชน ภาคประชาชน มหาวิทยาลัยในพื้นที่ เราจะให้เวลาท่านประมาณเดือนหรือสองเดือนเพื่อไปประชุมร่วมกัน ว่าจะทำอะไร สานต่อ แต่ขอร้องอย่างเดียวอย่ามัวคิดว่าจังหวัดผมจะได้อะไร อย่าทะเลาะกันด้วยเรื่องนี้ โอกาสนี้เป็นของทุกท่านแล้ว ดูว่าอะไรเกิดประโยชน์สูงสุด (เสียงปรบมือ) เช่น ภาคเหนือตอนบน ตรงไหนต้องเสริมต้องสร้าง ภาคกลางจะทำอะไร ภาคใต้จะทำอะไร งานนี้ต้องสามัคคี ต้องเอาหมวกจังหวัดท่านทิ้งไปเลย ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ร่วมกันทุกภาคส่วนได้ ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ถ้าทำได้ดีอนาคตความเชื่อมั่นรัฐบาลต่อพวกท่านก็มีมากขึ้น งบประมาณก็สามารถจัดสรรให้พวกท่านได้ และถ้าท่านทำอย่างนี้ ผมบอกท่านเลยว่าจีดีพีมันจะตามมาเอง และมันจะอยู่อย่างยั่งยืน แล้วอนาคตข้างหน้าเราจะภูมิใจว่าเราทำเพื่อลูกหลานของเรา
       
       วันนี้ผมและทีมงานของผมยอมแบก ยอมโดนด่า แต่ต้องการทำในสิ่งเหล่านี้ บางเรื่องสิ่งเหล่านี้เราอธิบายชาวนาไม่ได้ ไม่มีเวลา พวกท่านก็ต้องเป็นคนที่ช่วยอธิบาย ช่วยให้เกิดเป็นจริงอย่างที่ท่านเสนอมา เพราะสิ่งเหล่านี้คุณอธิบายยังไงระยะสั้นยังไงไม่เข้าใจ นี่คือแนวคิดที่บอกว่า รัฐบาลทำอะไร 4.0 คืออะไร และเราจะใช้อะไรเป็นตัวขับเคลื่อนงบประมาณนั้น เราเริ่มมาจากเรื่องของฟังก์ชัน มาสู่ Agenda จากวันนี้จะแบ่งส่วนเหล่านี้มาขับเคลื่อนในพื้นที่
       
       ก็หวังอย่างยิ่งว่าพวกท่านจะเป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล ฉะนั้นผมใช้เวลาอธิบายภาพรวมให้ท่านฟังเพื่อให้เข้าใจร่วมกันอย่างถ่องแท้ สื่อมวลชนก็เหมือนกัน อย่ามัวถามว่าสิ้นปีมีอะไรแปลกมั้ย อันนี้จะมีนโยบายแปลกใหม่มั้ย อันนี้จีดีพีจะกระตุ้นมั้ย เลิกคำถามง่ายๆ เสียที สิ่งเหล่านี้เรามีเวลาเพียงปีหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าเราทำดี เราสามารถเป็นเกมเชนเจอร์ เป็นตัวเปลี่ยนเกมของการแข่งขันที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของ Geopolitics แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่ดีก็ตาม ฉะนั้นตรงนี้ถามท่านในตอนต้นว่า “ใจสู้หรือเปล่า ไหวไม่ไหว มีศรัทธามั้ย” มีก็ปรบมือหน่อย

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คำต่อคำ จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย มองเศรษฐกิจโลก ยุคโลกาภิวัตน์หมุนกลับ อนาคต ไทยแลนด์ 4.0 จากปาก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

view