สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 10 องคมนตรี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 10 องคมนตรี

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีประกาศแต่งตั้งองคมนตรี ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่คณะองคมนตรีได้กราบบังคมลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีและทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ดังนี้ 1.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นองคมนตรี 2.นายเกษม วัฒนชัย เป็นองคมนตรี 3.นายพลากร สุวรรณรัฐ เป็นองคมนตรี 4.นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ เป็นองคมนตรี 5.นายศุภชัย ภู่งาม เป็นองคมนตรี 6.นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ เป็นองคมนตรี 7.พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็นองคมนตรี 8.พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นองคมนตรี 9.พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นองคมนตรี 10.พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นองคมนตรี

ประกาศ ณ วันที่ 6 ธ.ค.2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี


‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ทรงขอบคุณ พล.อ.เปรม-คณะองคมนตรี เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อเวลา 18.49 น. วันที่ 7 ธันวาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นำคณะองคมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จำนวน 10 คน เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

การนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณว่า “ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน ทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำรัสกับคณะองคมนตรีที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า

“ขอบใจ และแสดงความยินดี ก็ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน คิดว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ปัจจุบันนี้ ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาส หรือหน้าที่ ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงของสถาบันและประเทศชาติ ตลอดจนมีการแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่า ใครทำอะไร ในบางเรื่องในความชำนาญก็จะขอคำแนะนำ ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและ เกี่ยวกับประเทศชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดิน เพราะว่ามีเรื่องต่างๆ ที่จะมอบให้ก็มาก อย่างที่เคยคุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณและได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยปฏิบัติหน้าที่ถวายในรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน และคิดจะทำให้ประเทศเรามีความสุข จะได้ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ”


เผยประวัติ 10 องคมนตรี ประจำรัชกาลที่ 10

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี ให้ประกาศว่า โดยที่คณะองคมนตรีได้กราบบังคมลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีและทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ประกอบกับมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดังต่อไปนี้

1.พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาดำรงตำแหน่ง องคมนตรี เป็นครั้งที่สาม ย้อนไปเมื่อครั้งที่สอง โปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 และครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 

เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ในภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่ง ภายหลังนายอารีย์ วงศ์อารยะ ลาออกจากตำแหน่ง

เป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 1 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12 (จปร.) เป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นราชองครักษ์เวร พ.ศ. 2526 ตำแหน่งข้าราชการสูงสุดก่อนเกษียณอายุราชการ คือ อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด

เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรของพันโทพโยม จุลานนท์ แกนนำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บุตรของพันเอกพระยาวิเศษสิงหนาถ (ยิ่ง จุลานนท์) ต้นตระกูลจุลานนท์ กับมารดาชื่ออัมโภช จุลานนท์ (สกุลเดิม ท่าราบ) บุตรพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)

สมรสครั้งแรกกับนางสาวดวงพร รัตนกรี มีบุตรชาย 1 คนคือ พันตรีนนท์ จุลานนท์ ผู้บังคับกองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยาที่ 1 กองทัพภาคที่ 1 สมรสครั้งที่สองกับ พันเอกหญิง ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ (สันทัดเวช) มีบุตรชาย 2 คน คือ นายสันต์ จุลานนท์ (ข้าว) และนายจุล จุลานนท์ (น้ำ)

2.นายแพทย์เกษม วัฒนชัย

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 ก่อนที่จะลาออกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2544 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ครั้งแรก วันที่ 18 กรกฎาคมของปีเดียวกัน

ดำรงตำแหน่งทางด้านการศึกษาหลายตำแหน่ง อาทิ ปัจจุบันเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย สมาชิกวุฒิสภา 22 มีนาคม 2535 เกิดวันที่ 28 เมษายน 2484 สมรสกับคุณหญิง รัชนีวรรณ วัฒนชัย

3.นายพลากร สุวรรณรัฐ ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นองคมนตรี ครั้งแรก 18 กรกฎาคม 2544 เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในมูลนิธิหลายตำแหน่ง อาทิ มูลนิธิอานันทมหิดล กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา กรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย กรรมการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช รองประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ประวัติส่วนตัว เกิดเมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นบุตรของนายพ่วง สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและหม่อมราชวงศ์ประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ (ราชสกุลเดิมทองแถม บุตรีหม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม) สมรสกับท่านผู้หญิงทัศนียา สุวรรณรัฐ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา กับท่านผู้หญิงพรรณวดี จุฑารัตนกุล นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และนายพระนาย สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยอดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

4.นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ

ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2550 อดีตประธานศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นประธานสมาคมกฎหมายอาเซียน กรรมการกฤษฎีกา

เริ่มเข้าศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2500 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย (สอบได้อันดับที่ 3 ของสมัยที่ 18) ปี 2508 และจบปริญญาโทด้านกฎหมาย จาก Harvard Law School ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังสำเร็จการศึกษาสอบเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2513 เริ่มต้นเป็นผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดภูเขียว (ชัยภูมิ) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2514 และได้เป็นผู้พิพากษาประจำจังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2515 และได้เข้ามาเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2517 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2520 ได้เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2529 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการศาลฎีกา

กระทั่งปี 2530 ได้เป็นเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ ซึ่งเป็นงานด้านบริหาร จากนั้นเมื่อเดือน ต.ค.ปี 2535 ก็ได้กลับไปดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง และเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี ปี 2542 และในเดือน ต.ค.ปีเดียวกัน ได้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2544 ได้ขึ้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์

ขณะนั้นเป็นตำแหน่งสำคัญที่จะได้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานศาลฎีกา โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2545 จึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลฎีกา คนที่ 34 ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลฎีกานานถึง 2 ปี เกษียณราชการวันที่ 30 ก.ย. 2547 ภายหลังเกษียณราชการแล้ว ปฏิบัติงานด้านกฎหมาย เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5.นายศุภชัย ภู่งาม

ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ครั้งแรก เดือนเมษายน พ.ศ. 2551 เป็นอดีตประธานศาลฎีกา จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย วปอ.รุ่น 39 เคยรับราชการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา นนทบุรี ก่อนเข้ามาเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวง ช่วยงานศาลแพ่ง หัวหน้าศาลประจำกระทรวง หัวหน้าศาลจังหวัดหนองคาย หัวหน้าศาลชลบุรี ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ผู้พิพากษาศาลแพ่ง หัวหน้าคณะในศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ฝ่ายวิชาการ) รองอธิบดีศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 3 หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 ประธานศาลฎีกาในปี 2547

6.นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ

ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 พร้อมกับ พล.อ.สุรยุทธ์ และนายศุภชัย เป็นอดีตประธานศาลฎีกา


เกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2489 จบการศึกษา ป.กศ. วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เริ่มรับราชการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงราย หัวหน้าศาลแขวงนครสวรรค์ หัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรี หัวหน้าศาลประจำกระทรวง หัวหน้าศาลจังหวัดกระบี่ หัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบุรี ผู้พิพากษาศาลแพ่ง หัวหน้าคณะในศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รองอธิบดีศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาศาลฎีกา หัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 รองประธานศาลฎีกา

7.พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข

ได้รับโปรดเกล้าฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และอดีตรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในปี พ.ศ. 2550 เมื่อพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้เกษียณอายุราชการไป พล.อ.อ.ชลิต จึงรับตำแหน่งเป็นรักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต่อไป

เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2491 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนโยธินบูรณะ ตท.รุ่น 6 โรงเรียนนายเรืออากาศ รุ่นที่ 13 โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง รุ่นที่ 40 โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ 27 วิทยาลัยการทัพอากาศ รุ่นที่ 25 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 41

เริ่มรับราชการในตำแหน่งสำคัญ คือ ผู้บังคับฝูงบิน 103 กองบิน 1 และผู้บังคับฝูงบิน 231 กองบิน 23 เสนาธิการกองบิน 23 รองผู้บังคับการกองบิน 1 ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ ผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทยประจำกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย รองเจ้ากรมกำลังพลทหารอากาศ ผู้บัญชาการกองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ เจ้ากรมกำลังพลทหารอากาศ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศ ฝ่ายกำลังพล รองเสนาธิการทหารอากาศ ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ ราชองครักษ์เวรในปี 2531 และราชองครักษ์พิเศษในปี 2546

8.พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่ปรึกษาและเลขานุการคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นอดีตรองผู้บัญชาการทหารบก

จบการศึกษาจาก ตท.12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ จปร.23 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เริ่มต้นชีวิตราชการทหารครั้งแรกกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) จนกระทั่งได้เป็นถึงผู้บังคับการกรม ในปี พ.ศ. 2530 ได้เป็นราชองครักษ์เวร จากนั้นได้เป็นฐานะผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) ซึ่งมีอำนาจในการควบคุมกำลังรบหลักของกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาค 1 ก่อนที่ในปีถัดมาจะได้เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และได้เลื่อนขึ้นมาเป็นรองเสนาธิการทหารบก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการทหารบกในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

9.พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเป็นราชองครักษ์พิเศษ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 1 อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และอดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนอู่ทอง ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ และจบจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 15 (ตท.15) และ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 26 (จปร.26) รุ่นเดียวกับพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลเอกปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม

เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2498 ที่ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายลออ คุ้มฉายา กับนางจันทร์ คุ้มฉายา สมรสกับนางพจนี คุ้มฉายา โดยมีบุตรสาว 1 คน คือ นางอิงฆ์พลัฏฐ์ อำไพวิทย์ ปัจจุบันได้สมรสกับนายพีรพล อำไพวิทย์

10.พลเอกธีรชัย นาควานิช

สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ การประปาส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2559
 อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายทหารพิเศษประจำ หน่วยทหารรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์

จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน รุ่นที่ 15 รุ่นเดียวกับ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14 รุ่นเดียวกับ พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ นาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยะศริน และเข้ารับการศึกษาต่อเนื่องที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25 รุ่นเดียวกับ พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอกประสูตร รัศมีแพทย์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 เป็นบุตรของพลตรี ธวัชชัย นาควานิช กับหม่อมราชวงศ์พิศวาส ดิศกุล นาควานิช มีพี่น้อง 4 คน คือ พลตรีหญิง มนัสสวาสดิ์ อานุภาพ ข้าราชการบำนาญ สังกัดกระทรวงกลาโหม พลเอกธีรชัย นาควานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลตรี วุฒิชัย นาควานิช ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9

ทั้งนี้ ในรัชกาลที่ 9 มีองคมนตรีปฏิบัติหน้าที่ทั้งสิ้น 18 คน เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นประธานองคมนตรี มีองคมนตรีกลับเข้ารับราชการในรัชกาลที่ 10 จำนวน 7 คน และมีองคมนตรีใหม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ครั้งแรก จำนวน 3 คน คือลำดับที่ 8, 9, 10


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯแต่งตั้งองคมนตรี

view