สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้มลิงกู้วิกฤต น้ำท่วมกรุงเทพฯ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

แก้มลิงกู้วิกฤต น้ำท่วมกรุงเทพฯ
        โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นทฤษฎีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood management) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 
       
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงภัยที่ร้ายแรงของวิกฤติน้ำท่วมกรุงเทพฯ และทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาด้วยกันหลายประการ อาทิ การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลผ่านแนวคลองทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อกันการขยายตัวของเมืองและแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม รวมถึงการสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือ “แก้มลิง” เพื่อเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวก่อนระบายลงสู่ทางระบายน้ำหลัก 

แก้มลิงกู้วิกฤต น้ำท่วมกรุงเทพฯ
        แนวคิดของโครงการแก้มลิง เกิดจากการที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ จึงมีพระราชกระแสอธิบายว่า "ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง" ด้วยแนวพระราชดำรินี้จึงเกิดเป็นโครงการแก้มลิงขึ้น
       
       โครงการแก้มลิง คือ การจัดให้มีสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นบึงพักน้ำในหน้าน้ำ โดยจะทำหน้าที่รองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว ก่อนจะระบายลงทางระบายน้ำสาธารณะ ฉะนั้นยามฝนตก น้ำฝนจึงไม่ไหลลงสู่ทางระบายน้ำในทันที แต่จะถูกขังไว้ในพื้นที่พักน้ำ รอเวลาให้คลองต่างๆ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำหลักพร่องน้ำพอจะรับน้ำได้เสียก่อน จึงค่อยๆ ระบายน้ำลง เป็นการช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังได้ในระดับหนึ่ง นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อการระบายน้ำแล้ว แนวพระราชดำริแก้มลิงยังผสานแนวคิดในการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย กล่าวคือ เมื่อน้ำที่ถูกเก็บกักไว้ถูกส่งเข้าไปในคลองต่างๆ ก็จะเข้าไปเจือจางน้ำเน่าเสียในคลองเหล่านี้ให้จางลง แล้วในที่สุดก็จะผลักน้ำเสียที่เจือจางแล้วลงสู่ทะเล หรือแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป 

แก้มลิงกู้วิกฤต น้ำท่วมกรุงเทพฯ
        การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามพระราชดำริ "แก้มลิง" เมื่อเกิดน้ำท่วมก็ขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง
       
       ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง
       
       1) ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ลงคลอง พักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล เช่น คลองชายทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ แก้มลิง ต่อไป
       
       2) เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
       
       3) สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิงนี้ ให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลาส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
       
       4) เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันมิให้น้ำย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว(One Way Flow)
       
       หลักการ 3 ประเด็น ที่โครงการแก้มลิงจะมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริ คือ 1) การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพักและวิธีการชักน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ 2) เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ 3) การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง
       
       จากหลักการข้างต้น การสนองพระราชดำริจึงดำเนินการพิจารณาจากการใช้ลำคลองหนองบึงธรรมชาติ หรือพื้นที่ว่างเปล่านำมาใช้เป็นบ่อพักน้ำ แหล่งน้ำที่จะนำน้ำเข้าบ่อพักและระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งผลการดำเนินการศึกษาและพิจารณากำหนดรูปแบบของโครงการแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ
       
       1) โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 
       
       ทำการรับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา นับตั้งแต่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มาตามคลองสายต่างๆ โดยใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือรับน้ำและพิจารณาหนองบึงหรือพื้นที่ว่างเปล่าตามความเหมาะสม เป็นบ่อพักน้ำเพิ่มเติมโดยใช้คลองธรรมชาติในแนวเหนือ-ใต้ เช่น คลองพระองค์ไชยนุชิต คลองบางปลา คลองด่าน คลองบางปิ้ง คลองตำหรุ คลองชายทะเล เป็นแหล่งระบายน้ำเข้าและออกจากบ่อพักน้ำ
       
       2) โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
       
       ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่เจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพมหานครและสมุทรสาคร ไปคลองมหาชัย-สนามชัยและแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร
       
       การจัดหาและการออกแบบแก้มลิง ในการพิจารณาออกแบบพื้นที่ชะลอน้ำหรือพื้นที่เก็บกักน้ำ จะต้องทราบปริมาตรน้ำผิวดินที่จะเก็บกักและอัตราการไหลผิวดินที่มากที่สุด ที่จะยอมให้ปล่อยออกได้ในช่วงฝนตก ปริมาตรที่เก็บกักควรจะเป็นปริมาตรน้ำที่เพิ่มขึ้นเมื่อพื้นที่ระบายน้ำได้รับการพัฒนาแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดหาพื้นที่แก้มลิง คือ การจัดหาพื้นที่ชะลอน้ำ (พื้นที่เก็บกักน้ำ) โดยจะต้องจัดหาพื้นที่เก็บกักให้พอเพียง เพื่อจะได้ควบคุมอัตราการไหลออกจากพื้นที่ชะลอน้ำเหนือพื้นที่เก็บกักน้ำไม่ให้เกินอัตราการไหลออกที่มากที่สุดที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการท่วมขังในระบบระบายน้ำสาธารณะหรือพื้นที่ต่ำ
       
       สำนักการระบายน้ำกทม. ได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม (แก้มลิง) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายในการจัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำปริมาตร 13 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงได้จัดหาพื้นที่แก้มลิงได้จำนวน 20 แห่ง ที่มีความสามารถในการเก็บกักน้ำได้ 10,062,525 ลบ.ม. ส่วนในพื้นที่ทางด้านฝั่งธนบุรีนั้น มีคลองเป็นจำนวนมาก โดยคลองส่วนใหญ่วางตัวอยู่ตามแนวตะวันออก ตะวันตก ซึ่งระบายน้ำออกทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในช่วงฤดูน้ำหลากจากทางเหนือน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีระดับสูงขึ้น จึงควรใช้คลองหลักที่มีอยู่นั้นเป็นแก้มลิง โดยทำการสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการเก็บกักและระบายน้ำออกสู่ทะเล
       
       ประเภทและขนาดของแก้มลิง
       
       1. แก้มลิงขนาดใหญ่ คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆ โดยจะกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ การจัดสร้างพื้นที่ชะลอน้ำ หรือพื้นที่เก็บกักน้ำจะมีหลายประเภท คือ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น ซึ่งลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์อื่นประกอบด้วย เช่น เพื่อการชลประทาน เพื่อการประมง เป็นต้น
       
       2. แก้มลิงขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าแก้มลิงขนาดใหญ่ ซึ่งได้มีการก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น
       
       3. แก้มลิงขนาดเล็ก คือ แก้มลิงที่มีขนาดเล็ก อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ อย่างสนามเด็กเล่น ลานจอดรถหรือสนามในบ้านซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง
       
       ที่มา - มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งดำเนินโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริมีพันธกิจตามมติคณะรัฐมนตรี คือ เพื่อฉลองพระชนมายุครบ 80 และ 84 พรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้ประชาชนสามารถเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ตรงจากแนวทางโครงการพระราชดำริและน้อมนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมการเรียนรู้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่และส่งเสริมอาชีพประชาชน รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมไทย 

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้มลิงกู้วิกฤต น้ำท่วมกรุงเทพฯ

view