สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระอัจฉริยภาพ วิชาทหาร ชีวิตในต่างแดนของ รัชกาลที่ 10

จากประชาชาติธุรกิจ

สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการทหาร และทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาทหารทั้งในอังกฤษ และออสเตรเลียลำดับการทรงศึกษาวิชาทหาร

ในพระราชประวัติการศึกษา วิชาการทหารของพระองค์ท่านนั้นมีบันทึกไว้ว่า ในปี 2509 พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ต แคว้นชัสเชกส์ แล้วต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ทรงย้ายไปเข้าศึกษาในโรงเรียนมิลฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นชอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ

ในเดือนกันยายน 2513 เสด็จจากประเทศอังกฤษ ไปทรงศึกษาในโรงเรียนคิงส์ ที่ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหารด้วย ต่อมาในเดือนมกราคม 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน กรุงแคนแบร์รา ประเทศออสเตรเลีย จนจบหลักสูตรการศึกษาซึ่งมีกำหนด 4 ปี ประกอบด้วย การฝึกหัดอบรมทางวิชาการทหาร และการศึกษาทางวิชาการระดับอุดมศึกษาตามหลักสูตรมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์

ธันวาคม 2518 ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน แล้วได้เสด็จฯกลับประเทศไทย เพื่อทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำการในกรมข่าวทหารบก

ทรงประทับอยู่ออสเตรเลีย 6 ปี

มกราคม 2519 ได้เสด็จฯจากประเทศไทย ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเพิ่มเติมและทรงดูงานในประเทศออสเตรเลียอีก จนกระทั่งปลายปี จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย รวมเวลาที่ประทับอยู่ในออสเตรเลียถึง 6 ปีเศษ ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับพระราชทานยศทหาร และพระราชอิสริยยศเป็นลำดับ

พฤศจิกายน 2508 ได้รับพระราชทานยศร้อยตรีเหล่าทหารราบ เรือตรีพรรคนาวิน และเรืออากาศตรีเหล่านักบิน นอกจากนี้ยังทรงเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ และนายทหารพิเศษประจำโรงเรียนนายเรืออากาศ

พฤษภาคม 2518 ทรงได้รับการฝึกภาคปฏิบัติตามหลักสูตรการโดดร่มภาคพื้นดิน ณ ค่ายนเรศวร และได้รับพระราชทานปีกนักโดดร่มชั้นที่ 1 กิตติมศักดิ์ และได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศเป็นร้อยโท เรือโท และเรืออากาศโท

9 มกราคม 2519 ในพิธีสวนสนามของวิทยาลัยการทหารดันทรูน ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับกระบี่และปริญญาบัตร พร้อมกับผู้สำเร็จการศึกษาได้รับการถวายพระยศร้อยเอกเซอร์ จอห์น เคอร์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่ 2 ในฐานะประธานในพิธี ได้ถวายพระยศร้อยเอกแห่งกองทัพบกไทยแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย และต่อมาในขณะที่กำลังปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพิ่มเติมอยู่ในประเทศ ออสเตรเลีย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงดำรงตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ 1 ศูนย์สงครามพิเศษด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง

ต่อมา พ.ศ. 2520-2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ทรงรับการฝึกหลักสูตร หนักที่สุดในชีวิต

โดยในขั้นแรก ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหารคิงสกูล ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ก่อน ณ ที่นี้ทรงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าบ้านเมคอาเธอร์เฮาส์ ทรงปฏิบัติพระองค์ตามระเบียบข้อบังคับของโรงเรียนต่าง ๆ เหมือนอย่างนักเรียนทั่วไป และทรงปฏิบัติพระองค์อย่างดีเด่น โดยเฉพาะในการฝึกหัด ทรงผ่านการทดสอบและการฝึกทหารอย่างหนัก ซึ่งกินเวลาถึง 5 สัปดาห์ ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยการทหารชั้นสูงขึ้น และในภาคแรกแห่งปีการศึกษา 2515 ก็ได้เสด็จเข้าทรงศึกษาในวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน กรุงแคนแบร์รา หลักสูตรในการฝึกหัดที่ต้องทรงทดสอบในชั้นต้นของวิทยาลัยการทหาร ซึ่งเรียกว่าโรงเรียนนายร้อยดันทรูนนั้น มีปรากฏดังนี้

หลังจากทรง เข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารดันทรูนแล้ว ทรงต้องผ่านการทดสอบและการฝึกหัดชั้นต้นใน 5 สัปดาห์แรก ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่หนักที่สุดในชีวิตของนักเรียนนายร้อย หรือที่บรรดานักเรียนนายร้อยดันทรูนนิยมเรียกว่า "สัปดาห์นรก"

ทางโรงเรียนนายร้อยดันทรูนได้กำหนดหลักสูตรพิเศษสำหรับนักเรียนใหม่ เฉพาะ 5 สัปดาห์แรก คือต้องตื่นนอนตั้งแต่เวลา 05.00 น. ออกวิ่งและออกกำลังกายโดยกำหนดให้มีกิจกรรมตลอดเวลาเพื่อไม่ให้มีเวลาเป็น ของตนเอง มีกฎเกณฑ์มากมาย หากเผลอจะถูกทำโทษ อาทิ ยึดพื้น วิ่ง ทำงานต่าง ๆ แม้กระทั่งการรับประทานอาหารก็มีกฎเกณฑ์ เวลา และข้อปลีกย่อยจุกจิกกวดขันหนักไปในทางระเบียบวินัย การทดสอบทางร่างกาย ให้เล่นกีฬาทุกประเภท และพื้นฐานของการเคลื่อนไหวต่าง ๆ มี

เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนดูแลกวดขันโดยใกล้ชิด คอยบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาไม่ให้คลาดสายตาห้ามเยี่ยมและไม่มีการออกนอกโรงเรียน แม้บริเวณโรงเรียนก็มีเขตกำหนด หากออกไปนอกเขตก็ต้องถูกลงโทษ การเคลื่อนจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หากพ้นชายคาแล้วจะต้องวิ่ง เดินไม่ได้ ทางโรงเรียนมีวิธีการทดสอบด้านสุขภาพจิต เช่น ความกล้าหาญ ความรักหมู่คณะ ความรู้สึกกับเพื่อนทั้งชายและหญิง การอยู่ร่วมกับคนอื่น ความเห็นแก่ตัว ความพยายาม ฯลฯ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องสามารถช่วยตัวเองได้ทุกวิถีทาง เพราะถือหลักว่าหากช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว จะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร เพราะนายทหารจะต้องช่วยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและรับผิดชอบอยู่เสมอ ฉะนั้นหากปฏิบัติไม่ได้ต้องออกจากโรงเรียน

ทรงผ่านการทดสอบ "อันดับดี"

20 มีนาคม 2515 มีการวิ่ง Cross Country นักเรียนนายร้อยทุกคนต้องวิ่งเป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ขึ้นเขา ลงห้วย เหวลึก และทุกคนต้องทำเวลาต่ำกว่า 40 นาที พระองค์ทรงวิ่งได้ดี ทำเวลาได้ 38 นาที ทรงมาในอันดับดี มีนักเรียนนายร้อยหลายคนวิ่งไม่ได้ตามเวลา บ้างตกเขาหัวแตกอาบเลือด และข้อเท้าแพลง

หลังจากครบ 5 สัปดาห์แล้ว หลักสูตรของนักเรียนนายร้อยทุกชั้นในเทอมที่หนึ่งมีหนักไปทางวิชาการทหาร

ต้องตื่นนอนเวลา 05.30 น. มีการตรวจห้อง เตียง เครื่องแต่งกาย ผ้าปูที่นอนต้องตึง รองเท้าต้องขัดมัน กระดุมต้องกลัดทุกเม็ด เครื่องหมายหัวเข็มขัดต้องมัน หนวดเคราต้องโกนให้เรียบร้อย แม้หมึกเปื้อนที่มือก็ไม่ได้ การจัดของภายในห้องตลอดถึงการวางเสื้อผ้าของใช้ต่าง ๆ ต้องวางอยู่ตามที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งการตรวจสภาพห้องนั้นจะรวมถึงการใช้มือลูบหาฝุ่นตามโต๊ะ หรือมุมห้องนอนด้วย

หากมีข้อบกพร่องก็จะมีการจดชื่อและกำหนดรายการทำโทษ โดยการทำโทษปกติจะตื่นนอนก่อน 30 นาที ซึ่งผู้ถูกทำโทษต้องแต่งชุดสนามมีปืนและเครื่องหลัง 

พร้อมด้วยจอบ เสียม รวมหนัก 16-20 กิโลกรัม ออกยืนทนหนาวนอกบริเวณสนาม จะมีการสั่งแถวอยู่ตลอดเวลาไม่ให้หยุดหรือให้กลิ้งไปตามพื้นดินที่แฉะ บางครั้งก็เปลี่ยนเป็นให้ล้างส้วม กวาดพื้น ถางหญ้า ฯลฯ

เวลา 07.00 น. รับประทานอาหารเช้า ขณะรับประทานอาหารจะต้องคอยระมัดระวัง เพราะจะมีนักเรียนนายร้อยรุ่นพี่คอยชักแกล้ง หรือแกล้งจุกจิกอยู่เสมอ และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วต้องเก็บถ้วยชามของนักเรียนรุ่นพี่ทั้งหมด

เวลา 08.00 น. เข้าแถวรวม ตรวจแถวความเรียบร้อย เวลา 08.30 น. เข้าเรียน (แบ่งชั่วโมงพลศึกษา วิชาทหาร ฝึกแถว อาวุธ ฯลฯ) 12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน เวลา 13.00-16.00 น. เข้าเรียนต่อ กระทั่งถึงเวลา 16.00-17.00 น. เป็นชั่วโมงกีฬา และรับประทานอาหารในเวลา 18.00 น.

เวลา 19.00 น. ประชุม หลังจากนั้นอนุญาตให้นักเรียนชั้นสูงเข้าศึกษาค้นคว้าในห้องสมุด สำหรับนักเรียนใหม่มีการฉายภาพยนตร์ อบรมระเบียบวินัย

การนอน สำหรับนักเรียนชั้นสูงไม่กำหนดเวลา แต่นักเรียนใหม่ต้องเข้านอนเวลา 22.00 น. แต่ละวันทางโรงเรียนจะกำหนดเวลาว่างทบทวนให้วันละ 2 ชั่วโมง

ส่วน การฝึกภาคสนาม ในเทอมที่ 1 มี 3 ครั้ง ต้องไปนอนพักแรมครั้งละ 7 วัน ในป่าบริเวณเขาที่ติดทะเลห่างจากโรงเรียน 75-90 ไมล์ การนอนพักแรมในป่าต้องกางเต็นท์นอน หุงอาหารรับประทานเอง มีการฝึกตามสถานการณ์ที่สมมติและมุ่งไปในทางการฝึกในฤดูฝน คือสถานที่ฝนตกทั้งวัน

ทรงซักรีดฉลองพระองค์เอง

การขออนุญาตออกนอกบริเวณโรงเรียน หลังจากหลักสูตรพิเศษ 5 สัปดาห์แล้ว อนุญาตให้นักเรียนออกได้ในตอนเย็นวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 15.30-24.00 น. ในวันเสาร์มีการฝึกในตอนเช้า ตอนบ่ายมีการแข่งขันกีฬา ทั้งนี้ทุกคนจะต้องลงแข่งขันโดยมีการเล่นรักบี้และฟุตบอล แล้วจึงจะอนุญาตให้ออกนอกโรงเรียนได้ ตั้งแต่เวลา 17.30-02.00 น. 

นักเรียนที่ติดเวรยามจะออกไม่ได้ การค้างแรมนอกโรงเรียนอนุญาตเพียงเดือนละ 1 ครั้ง แต่ต้องเขียนรายงาน ห้ามออกไปไกลเกินรัศมี 60 ไมล์

โดยพระองค์ทรงได้รับอนุญาตให้ออกนอกบริเวณโรงเรียนเป็นครั้งแรก วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 โดยปกติจะเสด็จไปประทับที่บ้านพักของ พ.ต.สำเริง ไชยยงค์ บ้านเลขที่ 47 กิลโมร์ เครสเธนต์ กาแรน กรุงแคนแบร์รา ทรงซักรีดฉลองพระองค์เอง ทรงพระสำราญกับการฟังแผ่นเสียงหรือเทปเพลงไทย ทรงการบ้าน ทรงร้องเพลง ต่อโมเดลรถถัง เรือรบและเครื่องบินทหารแบบต่าง ๆ ทรงกีฬา ทรงขับรถยนต์โฟล์คสวาเกนแบบ 1600 ทอดพระเนตรภาพยนตร์บ้างเป็นครั้งคราว และเสด็จกลับเข้าวิทยาลัยก่อนเวลา 22.00 น.เสมอ

ทรงระมัดระวังในเรื่องพระกระยาหารและพระอนามัย เพราะมีการทดสอบทางร่างกายเป็นประจำ เช่น การวิ่งตามภูมิประเทศ 4 ไมล์ หรือ 8 ไมล์ โดยกำหนดเวลา การข้ามสิ่งกีดขวางแบบต่าง ๆ จำนวน 9-12 สถานี และการว่ายน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ วิทยาลัยที่พระองค์ทรงศึกษา กำหนดการศึกษา 4 ปี แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย ซึ่งนักเรียนสำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท

ทรงสนพระทัย

วิชาประวัติศาสตร์-เศรษฐศาสตร์


ส่วน อีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาภาควิชาสามัญ หลักสูตรชั้นปริญญาตรี ซึ่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์รับผิดชอบในการวางหลักสูตรการศึกษา นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีสาขาวิชาที่ตน เลือกศึกษาด้วย และทางวิทยาลัยการทหารฯได้แทรกหลักสูตรทั้งสองภาคนี้เข้าไว้ในระยะเวลา 4 ปี

โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ และทรงสนพระทัยในวิชาประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์

จากวันนั้นจนบัดนี้ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักการทหารอย่างแท้จริง 

หมายเหตุ - ข้อมูลมาจากหนังสือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระอัจฉริยภาพ วิชาทหาร ชีวิตในต่างแดน รัชกาลที่ 10

view