สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สตาร์ทอัพรุ่นเดอะ ยุค Aging 4.0

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ใครว่าสตาร์ทอัพเป็นแค่เรื่องวัยหนุ่มสาวเมื่อ“เถ้าแก่สูงวัย”เริ่มธุรกิจวัย50อัพกำลังมาแรง พลาดน้อย-สำเร็จสูง โลกกำลังเดินสู่เศรษฐกิจอายุวัฒน์

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Duke ในสหรัฐอเมริกา สำรวจผู้ประกอบการเทคโนโลยีจำนวน 539 ราย พบว่าผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ที่อายุเกิน 50 ปี มีมากกว่าผู้ประกอบการที่อายุน้อยกว่า 25 ปี ถึงกว่า 2 เท่า! (http://www.high50.com/)

ข้อมูลจาก AARP ระบุว่า วันนี้ธุรกิจ 1 ใน 3 ของอเมริกา ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการที่มีอายุ 50 อัพ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมากให้สหรัฐ

มีตัวอย่างผู้ประกอบการหลายรายที่มีชื่อเสียง และเริ่มธุรกิจตอนอายุเข้าหลัก 5 เข้าไปแล้ว เช่น ผู้ก่อตั้ง Coca-Cola ซึ่งก่อตั้งบริษัท ด้วยสูตรเครื่องดื่มที่ทำจากหัวเชื้อน้ำหวาน เมื่อตอนเขาอายุได้ 55 ปี

Ray Kroc ซื้อแฟรนไชส์แมคโดนัลด์มาจากพี่น้องแมคโดนัลด์ เมื่อเขาอายุ 59 ปี

Arianna Huffington เริ่มต้นทำ Huffington Post เมื่อตอนอายุได้ 54 ปี

หรือจะเคสคลาสสิกอย่าง “ฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอส์” หรือ ผู้พันแซนเดอร์ส ราชาแห่งไก่ทอด KFC ที่ผ่านความล้มเหลวมาแทบจะทั้งชีวิต เขาเริ่มธุรกิจไก่ในวัย 65 ปี พอตอนอายุ 85 ปี ก็กลายเป็นเศรษฐีพันล้านที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก!

ไม่มีตัวอย่างไหนบอกว่า “อายุ” เป็นอุปสรรคกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่เลยสักนิด

“วันนี้โลกพูดถึงเศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity economy) เป็นยุคของ Aging 4.0 ที่ไม่ได้มองผู้สูงอายุเป็นภาระ แต่มองว่า เป็นตลาด และโอกาส อย่างในสหรัฐอเมริกาและยุโรป พอ 50 ปี เขาจะออกจากงานมาเป็นผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ก็จะทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ และการท่องเที่ยว ซึ่งเฉพาะที่สหรัฐพบว่า 54% ของจีดีพี มาจากธุรกิจที่สตาร์ทโดยคนอายุมากกว่า 50 ปีอัพ”

คำบอกเล่าจาก “ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน” รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ และหัวหน้าโครงการ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ยืนยันความน่าสนใจของ “เถ้าแก่สูงวัย” ที่กำลังจุติขึ้นบนโลก

ในยุคที่ “พลเมืองสูงวัย” มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก และประเทศไทยก็กำลังจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยเต็มขั้น” ในอีกไม่กี่ปี

และจะมีผู้ประกอบการสูงวัยที่เริ่มต้นธุรกิจตัวเองในวัย 50+ เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

“คนใช้เวลาทำงานแค่ประมาณ 30 ปี พอจบก็เกษียณ ซึ่งถ้าไม่เตรียมความพร้อม ไม่มีเงินออมที่เพียงพอ ไม่พัฒนาตัวเอง และไม่เตรียมอาชีพเสริมมารองรับ ตอนนั้นเขาจะลำบาก นั่นทำให้คนที่อายุ 50 ปี เริ่มคิดออกมาตั้งบริษัทของตัวเองโดยไม่รอจนเกษียณ ซึ่งเทรนด์นี้เกิดในบ้านเราแน่นอน และตอนนี้ก็เริ่มเกิดให้เห็นแล้ว” เขาย้ำ

คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า ผู้สูงวัยกลัวความเสี่ยง ไม่กล้าลงทุน ไม่มีเวลาล้มและพลาดเหมือนคนหนุ่มอายุน้อย นั่นทำให้โอกาสจะมาเป็นสตาร์ทอัพรุ่นเดอะ ก็ยิ่งยากเย็นตามไปด้วย แต่จุดแข็งของคนสูงวัย ที่อาจารย์เกื้อ ฉายให้เห็นภาพ คือ มีเงินเก็บ มีประสบการณ์ มีคอนเนคชั่น และมีเพื่อนฝูง กลายเป็น “แต้มต่อ” สำคัญ ที่จะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จมีมากกว่าคนอายุน้อย

“สตาร์ทอัพอายุน้อย สัดส่วนความสำเร็จจะน้อย เพราะว่าขาดทั้งเงินทุนและประสบการณ์ แต่ถ้าอายุ 50 ปีขึ้นไปมาทำ อย่างน้อยคุณก็มีเงินเก็บเยอะ มีเพื่อนฝูง และมีประสบการณ์ ฉะนั้นโอกาสสำเร็จจึงมากขึ้นตามไปด้วย”

ด้าน ผศ.ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา (SMC) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ กล่าวเสริมว่า สำหรับการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะทำอะไร หรือคนวัยไหนมาทำก็ล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น 

ฉะนั้นการทำด้วย “ความรู้” เป็นกุญแจสำคัญที่สุด

“คนอายุเยอะอาจจะล้มไม่ได้บ่อยๆ เหมือนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ แต่ข้อดีของคนกลุ่มนี้ คือ ประสบการณ์เขาเยอะ ฉะนั้นการที่เขาจะไปเสี่ยงกับอะไรมากๆ เขาไม่เสี่ยงแล้ว ซึ่งการทำธุรกิจถ้าทำด้วยความรู้ ความเสี่ยงก็จะลดลงไปด้วย”

ใครที่ไม่อยากวิ่งวนในทุ่งลาเวนเดอร์ เห็นแต่โลกสีชมพู แล้วผลีผลามไปเอาเงินเก็บก้อนสุดท้าย มาละลายไปกับธุรกิจที่เสี่ยงเหลือเกินว่า อาจจะ “เจ๊ง!” ผู้เชี่ยวชาญแห่ง ศศินทร์ เสนอทางเลือกใหม่ในการลงทุน กับแนวคิดการรวมเงินทุนของผู้สูงวัย ใน “กองทุนเพื่อความยั่งยืนทางประชากร” ที่ผู้สูงวัย นักลงทุนทั่วไป หรือภาครัฐสามารถใส่เงินเข้าไปในกองทุนนี้ แล้วบริหารโดยผู้บริหารมืออาชีพ ซึ่งนอกจากเม็ดเงินจะเอาไปสนับสนุนด้านการศึกษาเด็ก เพื่อผลิตประชากรที่มีคุณภาพแล้ว ส่วนหนึ่งจะใช้สนับสนุนธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีอนาคต

แน่นอนว่า รวมถึง “ธุรกิจของผู้สูงวัย” ด้วย

“ผู้สูงวัย ที่มีความพร้อมทั้ง เงิน ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และความเก๋า ถ้าอยากเปิดธุรกิจของตัวเอง แต่ไม่พร้อมจะรับความเสี่ยงนำเงินออมมาทำธุรกิจ เพราะถ้าไม่สำเร็จ หรือขาดทุนขึ้นมา กลัวว่าเงินออมที่มีอยู่จะไม่เหลือไว้ใช้ยามเกษียณ ก็สามารถนำเสนอแผนธุรกิจกับกองทุนนี้ หรือระดมทุนผ่านระบบคราวด์ฟันดิง  (Crowdfunding) หรือ การระดมทุนจากมวลชน ซึ่งพวกผู้จัดการกองทุน และนักลงทุน จะพิจารณาเองว่า มีศักยภาพพอที่เขาจะให้เงินทุนหรือไม่”

หากธุรกิจประสบความสำเร็จก็แบ่งกำไรกลับคืนสู่กองทุน แม้แต่หากขาดทุนขึ้นมาก็ไม่เจ็บตัวมากนัก เพราะเป็นการร่วมลงทุน ไม่ใช่ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้คนเดียวทั้งหมด

การเริ่มธุรกิจในวัย 50 ปี แบบไทยๆ ประเทศที่คนส่วนใหญ่ ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่อยากเสียหน้า และไม่ได้มีสปิริทที่จะล้มแล้วลุกได้บ่อยๆ ครั้ง กูรูผู้สูงวัย แนะนำว่า ให้เริ่มจากการรวมตัวทำเป็นกลุ่ม หรือรูปแบบ สหกรณ์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยง และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น

ที่สำคัญต้องเป็นคนที่ “เรียนรู้ไม่รู้จบ” โดยที่ผ่านมาพบว่า มีหน่วยงานต่างๆ ลุกมาสนับสนุนสตาร์ทอัพกันเยอะมาก ดังนั้นแม้สูงวัย แต่ก็ต้องมีใจใฝ่เรียนรู้ และเปิดตัวเองอยู่เสมอ โดยลองเข้าไปอบรม ไปศึกษาหาความรู้ หรือแม้แต่ไปเรียนวิชาเพื่อเอามาต่อยอดธุรกิจ เช่น บางคนไปอบรมวิธีการปลูกผักออแกนิกส์ ที่กำลังเป็นที่ต้องการมากในตลาดเวลานี้ ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะได้อาชีพ เรายังจะได้ เพื่อน ได้ตลาด มาสร้างโอกาสให้ธุรกิจในอนาคตด้วย

ส่วนใครที่ยังกังวลเรื่อง “ความยั่งยืน” ในธุรกิจผู้สูงวัย ก็ถ้าคนทำล้มหายตายจากไป กิจการจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไรเล่า ทีมนักวิจัยผู้สูงวัยแห่งศศินทร์ บอกเราว่า นอกจากจะแก้ปัญหาโดยการรวมกลุ่มกันทำธุรกิจแล้ว ยังควรดึงเอาคนรุ่นใหม่ หรือมืออาชีพ เข้ามาทำงานร่วมกันด้วย เพื่อวันที่เราไม่อยู่ ธุรกิจก็จะยังมีคนรันต่อไปได้

เพราะสิ่งที่จะทำให้คนประสบความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่อายุ แต่คือ “ความคิด” นั่นคือเหตุผลที่ “เถ้าแก่รุ่นเดอะ” ยังคงพร้อมฉกฉวยโอกาสทองในโลกของ “เศรษฐกิจอายุวัฒน์”

“”””””””””””””””””””””

สูตรสำเร็จ“สูงวัย”พันธุ์ไทย

ไม่ได้มีเพียงตัวอย่างความสำเร็จในต่างประเทศเท่านั้น แต่วันนี้เรามีเหล่าเถ้าแก่สูงวัยสัญชาติไทยแท้ ที่สตาร์ทธุรกิจของตัวเองในวันที่อายุล่วงเลยวัยหนุ่มสาว และประสบความสำเร็จเอามากๆ เมื่อยามที่เข้าสู่วัยเกษียณ

เช่น “ป้าปุ้ม-อาภา ปรีชากูลย์” ประธานเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้แพทย์พื้นบ้าน วิสาหกิจชุมชนอาภานวดแผนไทย เจ้าของ “แบรนด์ป้าปุ้ม” ที่เริ่มต้นธุรกิจเมื่อชีวิตเข้าหลัก 5 จนวันนี้ ล่วงสู่วัย 68 ปี มีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ สามารถส่งขายไปทั้งในและต่างประเทศ แถมยังมีลูกชายและสะใภ้ มาช่วยแตกแบรนด์สู่ PINYA HERB ส่งออกไปทั่วโลก

ความสำเร็จของป้าปุ้ม มาจากการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง แม้จะอายุมากขึ้น แต่ป้าปุ้มก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ แถมยังเลือกที่จะแบ่งปันความรู้ไปสู่ผู้อื่นด้วย เลยต่อยอดความสำเร็จของตัวเองออกไปได้เรื่อยๆ 

ขนมจีนอบแห้ง “ป้าเพ็ญศรี” ก็เป็นผลงานของหญิงวัยเกษียณ “เพ็ญศรี แก้วสมบัติ” ที่ทำเงินล้านและส่งขายไปได้ทั่วโลก

ความสำเร็จของ ป้าเพ็ญศรี มาจากการมองเห็นโอกาสในตลาด ความใฝ่รู้ของผู้ประกอบการที่ลงไปเรียนผิดลองถูกด้วยตัวเองจนได้สูตรเฉพาะตัว ที่สำคัญคือขยันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมอยู่เสมอ เช่น ต่อยอดจากขนมจีนอบแห้ง มาทำ ผงน้ำยาสำเร็จรูป ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานต่างๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง จนปัจจุบันสินค้าของเถ้าแก่สูงวัย สามารถส่งออกไปขายในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ทำเงินล้านได้สวยๆ ชนิดที่คนหนุ่มสาวยังต้องอิจฉา

แม้จะเริ่มธุรกิจในวัยย่างหลัก 4 แต่วันที่ผู้คนได้รู้จัก “วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์ เทรด จำกัด เจ้าของธุรกิจกระเป๋า “แบรนด์นารายา” ก็วันที่เธออายุไม่ใช่น้อย โดยปัจจุบันวาสนาอายุ 63 ปี เป็นเจ้าของแบรนด์ “นารายา” “นารา บาย นารายา” และ “ลาลามะ บาย นารายา” สยายปีกนารายาจนมามี 23 สาขาในไทย และอีก 13 สาขาในต่างประเทศ

เธอว่า อายุ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการทำธุรกิจ โดยความเป็นเด็กอาจมีพลังมากกว่าก็จริง แต่คนสูงวัยก็มีประสบการณ์ที่มากกว่าด้วย

“การทำธุรกิจไม่ได้อยู่ที่อายุ แต่อยู่ที่ว่า เรารู้จักธุรกิจของเราดีมากแค่ไหน รู้ลึกรู้จริง รู้ทางหนีทีไล่ และพร้อมที่จะทำไหม ซึ่งอายุเท่าไร ไม่ใช่ประเด็น” เธอย้ำ

บางคนอาจมีความสุขกับการลุกมาทำธุรกิจ แต่กับบางคนก็ขอสุขกับชีวิตแบบคนเกษียณ ซึ่งวาสนาบอกว่า ขึ้นกับความสุขของแต่ละคน ว่าพอใจกับจุดไหน ทว่าถ้าใครคิดจะทำธุรกิจจริงๆ ก็ขอให้ทำด้วยความระมัดระวัง โดยควรใช้หลักธรรมะ และศีลธรรม มานำทางธุรกิจ และการดำรงชีวิต แล้วเราก็จะเป็นผู้ประกอบการสูงวัยที่มีความสุขกับเขาได้

“สมเกียรติ ชินธรรมมิตร์” ก่อตั้ง บริษัทเว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟแวร์ทางการเงิน และ บริหารความเสี่ยง ในตอนอายุ 36 ปี เมื่อสองปีที่แล้วเขาอายุ 55 ปี ยังได้ก่อตั้ง เว็ลธ์ เมจิก (Wealth Magik) เครื่องมือบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth) ออนไลน์ ตัวช่วยนักลงทุนมือใหม่ ให้เริ่มต้นการลงทุนที่ถูกต้องได้เพียงปลายนิ้วคลิก!

ในวัยที่สูงขึ้น เขาและเพื่อนๆ มารวมตัวกันโดยใช้ประสบการณ์ที่แต่ละคนสั่งสมมานาน มาทำงานเป็นทีมปรึกษาอาวุโสให้กับ เว็ลธ์ เมจิก บางคนหลังจากเกษียณก็ยังได้เริ่มธุรกิจของตัวเองไปด้วย เขายกตัวอย่าง เอมี่ ยิป (Amy Yip) หนึ่งในผู้ร่วมทีม ที่เป็นถึงหนึ่งใน 50 นักการเงินหญิงของโลก ก็เพิ่งตั้งธุรกิจของตัวเองเมื่อสองปีก่อน โดยใช้ประสบการณ์ ความรู้จากการทำงานเฉพาะทางมาเป็น 30-40 ปี เป็นข้อได้เปรียบในการเริ่มต้นธุรกิจ “รุ่นเดอะ” ของพวกเขา 

“คนรุ่นใหม่ เขามี Imagination (จินตนาการ) แต่ผมเตือนว่า คุณต้องมี Craftsmanship (ความเป็นช่างฝีมือ) ด้วย โดยต้องใช้ความรู้ทั้งสองด้านถึงจะประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นคนอายุน้อยๆ ที่ยังขาดทักษะฝีมือ ก็ต้องหาคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเข้ามาร่วมงานด้วย เขาถึงจะซัคเซส”

ส่วนปัจจัยสู่ความสำเร็จ ของธุรกิจคนสูงวัย เขาย้ำว่า ขึ้นอยู่ที่ความคิด และจิตใจของเราเอง เพราะต่อให้มีความรู้ความสามารถมากแค่ไหน แต่ถ้า ท้อง่าย แล้วไม่มีจิตใจเป็นนักกีฬา คือ ใจไม่สู้ ก็คงไม่มีทางประสบความสำเร็จได้

แต่ถ้าผ่านพ้นโจทย์หินเหล่านี้ไปได้ ก็มีพร้อมเป็นเถ้าแก่สูงวัยที่ “ซัคเซส” ได้เหมือนกับพวกเขา

+++++++++++++++++++++

วิกฤติทายาท

สืบทอดกิจการ 

ปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นกับธุรกิจครอบครัวทั้งในไทยและระดับโลก คือ ทายาทไม่อยากสืบทอดกิจการ หาคนในสายเลือดเดียวกันมาสายต่อธุรกิจไม่ได้ ทำให้ธุรกิจครอบครัวหลายรายต้องล้มหายตายจากไป เช่นเดียวกับวิกฤติที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นมาแล้วก่อนหน้านี้ 

“ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล” ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยอมรับว่า ปัญหาขาดทายาทสืบทอดกิจการ ยังเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับหลายธุรกิจครอบครัว ซึ่งเหตุผลไม่ใช่แค่ ทายาทไม่อยากสืบทอดกิจการ ทว่ายังรวมถึงการที่คนยุคนี้มีลูกน้อยลง เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รวมถึงการที่ทายาทมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น อย่างบางคนไม่อยากสานต่อธุรกิจครอบครัว เพราะอยากสตาร์ทอัพธุรกิจของตัวเอง

ซึ่งหนึ่งในทางออกกรณีที่ทายาทอยากทำอะไรใหม่ๆ ที่บางครอบครัวใช้ คือ การแบ่งกำไรจากผลประกอบการในธุรกิจครอบครัว มาตั้งเป็นกองทุน หรือเงินกองกลาง โดยส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับดูแลครอบครัว อีกส่วนเป็นเงินทุนสำหรับให้ทายาทนำไปลงทุนในอะไรใหม่ๆ รวมถึงลองสตาร์ทอัพธุรกิจของตัวเอง วิธีนี้นอกจากจะทำให้ทายาทไม่ต้องออกไปจากธุรกิจครอบครัวแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ครอบครัวจะได้ไอเดียใหม่ๆ มาสร้างรายได้เข้ากงสีอีกทาง

กรณีไม่มีทายาท หรือทายาทไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของธุรกิจอย่างรวดเร็ว ถ้าหาสมาชิกครอบครัวมาดูแลในบางตำแหน่งไม่ได้ เขาว่า ก็ต้องหามืออาชีพเข้ามาแทนที่

“ช่วงหลังตระกูลดังๆอย่าง ครอบครัวจิราธิวัฒน์ ก็เริ่มเอาคนนอกสกุลมาทำงานด้วยเยอะขึ้น เพราะการที่เขาจะขยายธุรกิจซึ่งมีหลายบริษัทให้เติบโตพร้อมกันได้นั้น การใช้เฉพาะคนในครอบครัวไม่มีทางโตได้ทัน ดังนั้นเขาถึงปรับตัวให้มีระบบ และดึงมืออาชีพเข้ามาช่วย แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีทรัพยากรที่สำคัญ คือคนในครอบครัว ที่พร้อมหยิบใช้ได้ตลอด”

ด้าน ผศ.ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา(SMC) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ บอกว่า เทรนด์วันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เด็กยุคใหม่อยากหาธุรกิจของตัวเอง ซึ่งแต่ละครอบครัว ควรศึกษาคาแรคเตอร์ของบุตรหลาน และวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าแน่ชัดว่าทายาทไม่อยากมาสานต่อแน่ๆ ก็ต้องหามืออาชีพเข้ามารับช่วงแทน โดยต้องทำธุรกิจครอบครัวให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น

“ลูกหลานถ้าเขาไม่มีความต้องการที่จะทำ ให้รันธุรกิจไปก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นต้องปล่อยเขาไป แล้วมาหาวิธีสร้างธุรกิจครอบครัวให้เป็นโปรเฟสชั่นนอลมากขึ้น”


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สตาร์ทอัพรุ่นเดอะ ยุค Aging 4.0

view