สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหามาตรการบัญชีชุดเดียว

ปัญหามาตรการบัญชีชุดเดียว (1)

โดย : 

ขอนำประเด็นปัญหาการยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร

สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้ 

ปุจฉา   คิดว่า มาตรการนี้จะสามารถทำให้ธุรกิจทำบัญชีชุดเดียวได้จริงหรือ

วิสัชนา ต่อประเด็นนี้ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง มาตรการนี้ไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการทุกรายจัดทำบัญชีชุดเดียวได้เบ็ดเสร็จครบถ้วนทุกราย แต่อย่างน้อยสำหรับรายที่รู้สึกเบื่อหน่ายเกมส์ “วิ่งไล่จับ” เสือกับวัว หรือโปลิศจับขโมย หลายท่านที่ผมได้สัมผัสก็รู้สึกว่าดีที่จะได้เลิกเล่นเกมส์ที่ไม่รู้จักจบสิ้นนี้ แค่เพียงตั้งต้นจัดทำบัญชีชุดเดียว ด้วยหลักฐานที่ครบถ้วนทั้งหมดของตน ที่ทั้งเรียกรับ (ต้นฉบับ - รายจ่าย/ทรัพย์สิน) หรือที่ต้องออกให้ลูกค้า (สำเนา - รายได้/การรับเงิน) และที่ออกเพื่อใช้ภายใน กลุ่มนี้ ก็จะกลายเป็นคนดีที่น่ายกย่องทันที แต่จะมีมากมีน้อยไม่ว่ากัน ค่อยๆ สะสมเดี๋ยวก็เพิ่มมากขึ้นเอง ด้วยการคบค้าสมาคมกับสำนักงานบัญชีที่ดีมีคุณภาพ ทั้งบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย จึงต้องสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ให้พัฒนาเจริญก้าวหน้าขึ้นไปแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ

แต่เท่าที่รับฟัง รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการเดียวที่จะผลักดันให้มีการจัดทำบัญชีชุดเดียว เพียงเสกมนต์ “พ.ร.ก. ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558” เพื่อยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร รวมทั้ง “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558” เพื่อลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMES เท่านั้น แต่ยังจะมีมาตรการเสริม โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในการกำกับดูแล ใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้ เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการฯ)

อีกทั้งยังกำหนดให้นำ e-Payment e-Tax Invioce มาใช้เสริมทัพ เพื่อการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่งด้วย โดยจะกำหนดให้ใช้การจ่ายเงินผ่านระบบ E-PAYMENT สำหรับจำนวนเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปทุก TRANSACTIONS มองเห็นเหมือนเป็นแหอวนที่ล้อมรอบประเทศนี้ไว้จากผู้ที่ไม่จริงใจต่อการจัดทำบัญชีชุดเดียวได้อย่างมีมนต์คลัง เรียกว่า เจ้าหน้าที่นั่งเฉยๆ เงินภาษีก็ไหลมาเทมา เพียงแต่หาทางอุดรูรั่วหรือช่องโหว่ให้ดี ให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากรมากขึ้น โฉมหน้าการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรจะเปลี่ยนไปจากเดิมมากมาย

นอกจากนี้ ยังต้องใช้ความร่วมมือจากเจ้าของเม็ดเงินภาษีอากร ให้มีส่วนร่วมในการจัดเก็บภาษีอากรกัน โดยเรียกรับใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งของ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ปัญหามาตรการบัญชีชุดเดียว (2)

โดย : 

ขอนำประเด็นปัญหาการยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร

และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้ 

ปุจฉา เพราะองค์ประกอบที่ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องทำบัญชีมากกว่า 1 ชุด มาจากกรมสรรพากรเองก็มีส่วนอย่างยิ่ง การตรวจสอบแต่ละครั้ง มาตรฐานในการตรวจแต่ละครั้ง ล้วนหาความแน่นอนใดๆไม่ได้ งบการเงินจะปรากฏการขาดทุนไม่ได้เลย ปีนี้กำไรสัดส่วนเท่านี้ ปีหน้าต้องเป็นสัดส่วนที่เท่ากัน เรื่องเหล่านี้เจ้าของธุรกิจพบเจอมาไม่น้อยกว่า 30 ปี และมีหลายๆ กิจการ กลัวที่จะจดทะเบียน (ตาม พ.ร.ก. ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558) มากกว่า แถมมีสรรพากรบางท้องที่โทรไปบ่นว่าจะมาจดทำไม

วิสัชนา ต่อประเด็นนี้ ไม่คล้อยตามความเห็นดังกล่าว ในฐานะอดีตสรรพากร ผู้ประกอบการที่ทำบัญชีตามใจสรรพากรเสียขนาดนั้น เชื่อมั่นได้ว่า มีวาระแอบแฝงซ่อนเร้นอะไรไว้ อย่างแน่นอน (HIDDEN AGENDA) หาใช่ตั้งใจจะตามใจสรรพากรโดยตนเองไม่มีผลประโยชน์ในการทำบัญชีชุดที่สองเพื่อให้เสียภาษีอากรมากขึ้น เพื่อเอาอกเอาใจเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ “พ่อ” สักหน่อย ทำนอง “ขนม (จีน) พอสมน้ำยา” หรือ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” (ซึ่งไม่มีให้เห็นทั้งคู่) เจ้าหน้าที่สรรพากรมีสมมติฐานว่า ตรวจ 100 ราย ก็ผิดทั้ง 200 ราย นั่นเอง จึงเรียกเอา รีดเอา ข่มขู่เอา (ดังจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากรฯ อย่างออกนอกหน้า ด้วยเกรงว่า หากผู้ประกอบการเสียภาษีอากรถูกต้องแล้วตนเองจะไม่มีงาน (ผิดๆ) ทำ จะไม่ได้รับเงินจากการทำงาน (ผิดๆ) นั้น)

        ดังนั้น ตามความเชื่อของผม ใครมาว่าสรรพากรให้ฟัง ผมก็ต้องเหลียวกับไปมองคนที่ว่าสรรพากรว่า พอๆ กันหรือเปล่า เล่นกีฬาเข้าขากันดีทั้งสองฝ่าย เหมือนคู่ต่อสู้ที่ไม่ใช่คู่ต่อสู้อย่างแท้จริง อาจมีเจ้าหน้าที่ประเภทต่อไปนี้อยู่ในสารบบสรรพากรได้ กล่าวคือ...

1. เป็นคนที่ไม่เข้าใจข้อกฎหมายดังกล่าวว่า มีขึ้นเพื่อการใด มีไว้ทำไม ซึ่งหากขยับตัวสักนิดก็เป็นอันว่ารู้เรื่องแล้ว แต่ไม่ยอมทำ

2. กลัวเสียประโยชน์อันตนเคยมีรายได้จากระบบเก่าที่ผู้เสียภาษีทำไม่ถูกต้องไว้ และคิดว่าตนเองจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากการที่ผู้เสียภาษีปฏิบัติการทางภาษีอากรโดยถูกต้อง

3. ไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปของสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่แคร์กับคำสั่งผู้บังคับบัญชา

       ดังนั้น หากทางกิจการเข้าใจข้อกฎหมายที่ออกมา ก็ได้เวลาเป็นไทแก่ตัวเองแล้ว ไม่ต้องไปขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ “ปลิง-ทาก” กลุ่มนี้กันอีกต่อไป โดยจดแจ้งการขอใช้สิทธิยกเว้นการไต่สวน ตรวจสอบ ต่อกรมสรรพากร และจัดทำบัญชีชุดเดียวสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งชำระและนำส่งภาษีอากรสำหรับระยะเวลาดังกล่าวให้ถูกต้อง เพียงเท่านี้ ก็รู้สึกถึงความเป็นคนดีของสังคมได้แล้ว

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ปัญหามาตรการบัญชีชุดเดียว (3)

โดย : 

ขอนำประเด็นปัญหาการยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร

และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 มาปุจฉา -วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้ 

ปุจฉา การออกนโยบายนี้ กรมให้เวลาที่สั้นมาก เพียงแค่ 60 วัน เจ้าของธุรกิจที่ระแวงกรมสรรพากรอยู่แล้ว ก็ลังเลกันมาก ข้อมูลที่ได้จากกรมล้วนแต่เป็นข้อดี เอาแค่ข้อแรกยกเว้นการตรวจสอบก็กลับยิ่งทำให้ลังเลกันมากกว่าเดิม แถมเมื่อมีการสอบถามกับเจ้าหน้าที่กรมว่า..หลังจากเข้าร่วมนโยบายนี้แล้วต้องเจอกับอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ก็ได้แต่บอกเหมือนกันหมดว่า...เราจะจับมือเดินไปด้วยกัน...ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาล้วนแต่วิ่งไปคนละทิศละทาง

วิสัชนา กำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 ถึง 15 มีนาคม 2559 ในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจัดทำบัญชีชุดเดียว ไม่ใช่ระยะเวลาสั้นๆ แต่อย่างใดๆ หากผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจใช้ดุลพินิจเพิ่มสักนิด ก็จะเห็นซึ้งถึงเจตนาของการตราพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้

1. ไม่เคยมีรัฐบาลใดกล้ากระทำการเยี่ยงนี้มาก่อน ออกกฎหมายคุ้มครองผู้ประกอบการที่ประกอบการต่อเนื่องมาก่อนปี 2558 ให้ได้รับการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรืออากรแสตมป์ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข

2. นี่ไม่ใช่คำพูดของเด็กอมมือ หากแต่เป็น “นายกขวัญใจปวงชน” ในการปฏิรูปประเทศไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม ที่นักการ (กวน) เมืองกลุ่มใดๆ ก็ไม่อาจที่จะกระทำได้ จึงไม่มีวันที่จะมาเสียคำพูดโดยการตราเป็นกฎหมายเช่นนี้ โดยเด็ดขาด

3. ผมเคยตั้งคำถามว่า “ข้อเสียอยู่ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เข้าร่วมจะมีระบบบัญชีที่เข้มแข็งอย่างแท้จริงหรือไม่ จะทำบัญชีที่ถูกต้อง (มีบัญชีเพียงชุดเดียว) จริงหรือไม่ เพราะจะเป็นต้นเหตุที่จะทำให้ถูกเพิกถอนสิทธิการได้รับยกเว้นการตรวจสอบไต่สวนฯ จากกรมสรรพากร หากคำตอบว่าจริงว่าใช่ก็เหลือแต่เพียงข้อดีเท่านั้นครับ

ปุจฉา เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว สิ่งที่ต้องพบเจอแน่นอนคือ บทลงโทษที่รุนแรงและหนักหน่วงกว่าเดิมใช่หรือไม่

วิสัชนา ภาษีอากรที่กรมสรรพากรจัดเก็บ ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ล้วนแล้วแต่เป็น “ภาษีอากรประเมิน” ซึ่งประกอบด้วยการยื่นรายการประเมินตนเองของต้องเสียหรือนำส่งภาษี และการประเมินความถูกต้อง และครบถ้วนของจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องเสียหรือนำส่ง และการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากร หากผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีอากรไว้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว อำนาจเจ้าพนักงานประเมินก็จะหายวับลงไปเลย ไม่อาจกระทำกระไรต่อผู้ประกอบการรายนั้นๆ ได้เลย นอกจากบริการที่ดีที่ต้องพึงให้ด้วยความเคารพรักเท่านั้น

ดังนั้น หากผู้ประกอบการจัดทำบัญชีชุดเดียวตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป โดยมีเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีโดยถูกต้องและครบถ้วนแล้ว อย่างอื่นไม่ต้องไปสนใจใคร (มันผู้ใด) จนตลอดทั้งสิ้นแล ลงมือทำโลดเลยพี่ครับ ผมหนับหนุน ต่อไปจะได้มีชีวิตใหม่ทางภาษีอากรให้ถูกต้องและมีความสุขกันเสียที 

มาร่วมมือกันทำให้อำนาจเจ้าพนักงานสรรพากรฝ่อ โดยกระทำในส่วนที่ถูกต้อง ตามมาตรการบัญชีชุดเดียวกันเถิดครับ 

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


,ทำบัญชี,สอบบัญชี,#สอบบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สำนักงานบัญชี,#ที่ปรึกษาบัญชี,#วางระบบบัญชี,#วางแผนภาษี,บริษัท สอบบัญชี พี แอนด์ อี จำกัด,บริษัท สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล. จำกัด

Tags : ปัญหามาตรการบัญชีชุดเดียว

view