สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล: SMEs

ราภาษีเงินได้นิติบุคคล: SMEs (1)

โดย : 

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ตามที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 603) พ.ศ. 2559

ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 583) พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระภาษีและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและจูงใจให้เกิดการลงทุน อันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้นำมาบรรจุไว้ในแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2558 แล้ว นั้น 

ขอนำข้อความเดิมและข้อความใหม่ใน (3) ของมาตรา 6 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 มาแสดงเพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบต่อไป ดังนี้

“ข้อความเดิม”

(3) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ 
(ก) ร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกิน สามล้านบาท 
(ข) ร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามล้านบาท”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 583 (พ.ศ. 2558) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป)

“ข้อความใหม่”

(3) กำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ 
(ก) ร้อยละสิบของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 
(ข) ร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกินสามล้านบาทและร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามล้านบาทขึ้นไป สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 603) พ.ศ. 2559) 

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล: SMEs (2)

โดย : 

ขอนำประเด็นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ที่ไม่เคยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีเกินกว่า 5 ล้านบาท และหรือไม่เคยมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการเกินกว่า 30 ล้านบาท ทั้งนี้ นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เป็นต้นมา ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 583 (พ.ศ. 2558) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ 

ปุจฉา ขอทราบว่า คำว่า “ขายสินค้า” และ “ให้บริการ” มีความหมายในทางกว้างหรือแคบอย่างไร

วิสัชนา คำว่า “ขายสินค้า” และ “ให้บริการ” มีความหมายในทางแคบ ตามที่กำหนดในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ดังนี้

         “ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

         “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

         “บริการ” หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า “ขายสินค้า” ดังกล่าว จึงมีความหมายในทางแคบ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคำว่า “ขายสินค้า” ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉะนั้น หากเป็นการขายทรัพย์สินเก่าหรือเศษซากวัสดุ การขายที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่นใดที่มิได้มีไว้เพื่อขาย เช่น เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ เป็นต้น ก็ไม่นับรวมอยู่ในยอด 30 ล้านบาท แต่อย่างใด

แต่สำหรับคำว่า “ให้บริการ” นั้น กลับมีความหมายในทางกว้างกว่าการบริการให้บริการโดยทั่วไป รวมทั้งในทางภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย กล่าวคือ หากเป็นการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า ย่อมถือเป็น “บริการ” ทั้งสิ้น อาทิ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากการลงทุนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือกองทุนรวม รวมทั้งกิจการร่วมค้า รางวัลจากการประกวดแข่งขันชิงโชค

นอกจากนี้ การพิจารณาจำนวนรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการดังกล่าว นั้น ท่านให้นับรวมทั้งรายได้ที่ได้รับยกเว้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อการพิจารณาสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น แต่ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อไปตามปกติ

สำหรับรายได้ที่มิใช่รายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการ มีอาทิ ค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญา ค่าสินไหมทดแทน เงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากการส่งเสริมการขาย

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล: SMEs (3)

โดย : 

ขอนำประเด็นการแก้ไขอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 603) พ.ศ. 2559 ยกเลิกความใน มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้ 

ปุจฉา หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไร

วิสัชนา หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ดังต่อไปนี้

1. “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม” ในที่นี้ หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ทั้งนี้ โดยมีขนาดของทุนและรายได้ตามจำนวนดังกล่าว ติดต่อต่อเนื่องกันมานับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เป็นต้นมา

เหตุที่นำหลักเกณฑ์ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม” มาใช้ก็เพราะหากในรอบระยะเวลาบัญชีใดกิจการมีรายได้หรือทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว กิจการนั้นก็ย่อมสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงทันทีในรอบระยะเวลานั้น

2. ให้ลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม” และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้

      (1) ร้อยละสิบของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

      (2) ร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกินสามล้านบาทและร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามล้านบาทขึ้นไป สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

3. อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม ซึ่งได้ยื่นแบบแจ้งขอเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรต่อกรมสรรพากรนั้น นอกจากจะได้รับการยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวนฯ แล้ว ยังได้รับยกเว้นและลดอัตราภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ดังนี้

      (1) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2560

      (2) ได้รับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล: SMEs

view