คำสอนจากร่องรอยแห่งรถยนต์พระที่นั่ง
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กว่า 15 ปีมาแล้ว อู่ทำสีรถยนต์เล็กๆ แห่งหนึ่งได้รับคัดเลือกให้มาดูแลสีรถยนต์พระที่นั่ง ตามกระแสพระราชดำริเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง”
ด้วยคุณสมบัติและความสามารถที่พร้อมสรรพ นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ อนันต์ ร่มรื่นวานิชกิจ ได้เข้ามาดูแลรถยนต์พระที่นั่ง แต่เป็นปณิธานที่เขาตั้งมั่นมาตั้งแต่ยังเป็นช่างสีหนุ่ม
ช่างทำสีรถยนต์พระที่นั่ง
ย้อนไปราวปี 2517 – 2518 อนันต์ได้เข้าชมการแข่งขันช่างฝีมือที่สวนอัมพร ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อันเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นโดยพระราชดำริในปี 2513 เมื่อเขาได้เห็นการแข่งขันครั้งนั้น เขาก็ตั้งปณิธานว่าจะต้องชนะรางวัลนี้ให้ได้ เพื่อที่จะมีคุณสมบัติเพียงพอได้เข้าไปดูแลรถยนต์พระที่นั่งสักวันหนึ่ง อนันต์จึงตั้งใจฝึกฝนฝีมือตนเองเรื่อยมา จนคว้ารางวัลชนะเลิศในปี 2530 ท่ามกลางช่างสีที่มีประสบการณ์สูง แล้วยังได้ทุนไปศึกษาดูงานทำสีรถยนต์ที่ญี่ปุ่นในปีเดียวกันนั้น ต่อมาก็เปิดอู่ทำสีรถยนต์ของตัวเองเมื่อปี 2533
หลังจากปี 2540 ที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานแนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” แก่ประชาชน พระราชดำรัสนี้มิได้มีขึ้นเพื่อให้พสกนิกรปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ยังทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างอีกด้วย ทางสำนักพระราชวังและกรมกองที่ดูแลด้านต่างๆ ส่วนพระองค์ก็น้อมนำหลักปรัชญานี้มาใช้เช่นกัน ในส่วนของกองพระราชพาหนะ ได้จัดการดูแลรถยนต์พระที่นั่งเป็นการภายใน แต่งานด้านสีรถต้องอาศัยการลงทุนสูงเรื่องโรงอบ สีรถยนต์ และอุปกรณ์ต่างๆ นับหลายล้านบาท กองพระราชพาหนะจึงเลือกใช้อู่ทำสีจากภายนอก แต่ครั้นจะนำเข้าศูนย์ใหญ่ๆ ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์เกินไป จึงเลือกอู่ทำสีรถยนต์เล็กๆ แทน โดยตั้งคุณสมบัติไว้ว่า ต้องเป็นช่างชนะเลิศที่ 1 ของประเทศ ต้องยังคงประกอบอาชีพนี้อยู่ หากมีอู่เป็นของตัวเองก็จะยิ่งดี
“ส่วนกองพระราชพาหนะเขามาดูอู่ผม แต่มาเป็นแบบส่วนตัวนะครับ ตอนแรกผมไม่รู้เลย เขาก็มาถามว่าอู่ผมทำอะไรได้บ้าง ผมก็ให้ข้อมูลไปว่าผมสามารถดูแลรถยนต์ได้ถึงระดับไหน เขามาหลายครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่งก็ได้ให้ผมเข้าวังไปพบท่านรองราชเลขาธิการ พร้อมทั้งทำโพรไฟล์อู่ไปเพื่อจะได้คัดเลือกเข้าไปทำสีรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งผมมารู้ภายหลังว่ากว่าเขาจะติดต่อมา เขาได้คัดเลือกมาแล้ว”
ประทับในดวงใจของนายช่าง
ในปี 2543 รถยนต์พระที่นั่งคันแรกก็ได้ถูกส่งมาทำสีที่อู่ของเขา
“ผมทราบความก็ก้มกราบรถพระที่นั่ง แล้วพูดว่า ‘ข้าพเจ้านายอนันต์ เป็นช่างที่ชนะเลิศในโครงการพระองค์ท่านขอทำงานถวายพระองค์ยิ่งชีพ จะดูแลรถยนต์พระที่นั่งของพระองค์ท่านให้ดีที่สุด’ หลังจากนั้นอีกวันหนึ่งผมไม่สามารถทำอะไรได้เลย ตกตะลึง ดีใจ และคิดว่าจะทำอย่างไรกับรถยนต์พระที่นั่งคันนี้บ้าง เพราะสิ่งที่เราเรียนรู้มาคือเราต้องดูสีที่ตัวรถว่าเม็ดเขาพริ้วแบบไหน เนื้อขุ่นแบบไหน ความหนาบางของการพ่นมีอยู่ขนาดไหน ประเด็นนั้นทำให้เราต้องตรวจสอบอย่างหนักก่อนลงมือทำ”
รถยนต์พระที่นั่งคันนั้นคือรถยนต์โรลส์-รอยซ์ ซึ่งทรงโปรดให้ใช้ในงานพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีสวนสนาม ในวันนั้นรถยนต์พระที่นั่งมาถึงอู่ด้วยร่องรอยทั่วทั้งคัน ที่กันชนก็มีรอยแตก
“รถยนต์พระที่นั่งนั้นเสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ ทำให้เราได้เห็นว่าพระองค์ทรงงานหนักแค่ไหน ปกติเวลาเราเฝ้ารับเสด็จ เราอาจมองไม่รู้ เมื่อเรามาดูใกล้ๆ จะเห็นร่องรอย ผมสำรวจอย่างละเอียดทุกจุด รับรู้ทุกหน่วยที่เราต้องทำงาน ไม่ว่าการถอดรื้อ ขัด พ่นสี ผมทำงานแบบถวายชีวิตเลย”
รถยนต์พระที่นั่งโรลส์-รอยซ์สีครีมถูกทำสีใหม่ทั้งคัน ตามพระราชประสงค์ให้คงสีตามเดิม สมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีอ่านสีอัตโนมัติ อนันต์ต้องอ่านค่าสีด้วยตาเปล่า และคำนวณเองว่าในเนื้อสีนั้นผสมด้วยสีอะไรน้ำหนักเท่าไหร่ แล้วทำเป็นแผ่นเพลทตัวอย่างสี ถวายผ่านกองงานเข้าไปเพื่อให้ทอดพระเนตรและทรงเลือก อนันต์ห่อหุ้มขอบเพลทซึ่งทำจากสังกะสีอ้อมไปถึงด้านหลังอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันไม่ให้มีคมระคายพระหัตถ์เมื่อทรงหยิบจับ เจ้าหน้าที่กองพระราชพาหนะเล่าให้เขาฟังว่า ทรงแกะตัวหุ้มนั้นออกเพื่อทอดพระเนตรสูตรสีที่อยู่ด้านหลัง แล้วตรัสว่า
“นายช่างคนนี้นี่ เก็บสูตรไว้ข้างหลังไม่ให้เห็นเลยนะ”
เมื่อทอดพระเนตรและทรงเลือกสีมาแล้ว หลังจากนั้นสีครีมนั้นก็ได้เป็นต้นแบบให้รถยนต์พระที่นั่งสีครีมอีกหลายคันต่อมา ไม่เพียงแต่อนันต์จะได้ดูแลรถยนต์พระที่นั่งในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกหลายคัน เขายังได้รับพระเมตตาให้ดูแลรถยนต์พระที่นั่งของพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สิ่งหนึ่งที่สายตานายช่างอย่างเขาสังเกตเห็นเหมือนกันก็คือ ความเรียบง่ายของรถยนต์พระที่นั่ง
“รถยนต์พระที่นั่งจะไม่มีการตกแต่งเสริมอะไรเลย ไม่มีล้อแม็กราคาแพง พรมหนานุ่มกันฝุ่น หรือเบาะรุ่นพิเศษ ทุกอย่างเดิมๆ ทั้งหมดครับ แม้แต่วิทยุติดรถยนต์ มีอย่างมากที่สุดคือโต๊ะพับสำหรับทรงงานเท่านั้น รถยนต์พระที่นั่งของพระบรมวงศานุวงศ์ก็เช่นกัน ไม่ทรงโปรดที่จะแต่งรถอะไรเลย เดิมๆ ทั้งหมดครับ”
รถยนต์สะท้อนพระราชจริยาวัตร
อนันต์ยอมรับว่างานดูแลรถยนต์พระที่นั่งไม่ใช่งานสนุก เพราะต้องระวังยิ่งชีพ ต้องติดกล้องวงจรปิด มีตำรวจคอยอารักขา ตัวเขาเองก็ต้องนอนเฝ้าตลอดเวลา
“แต่ทำแล้วมีความสุข ด้วยความจงรักภักดีอย่างสูงสุด และที่หาค่ามิได้คือล้นเกล้าล้นกระหม่อมได้ทรงมีพระเมตตาแก่ครอบครัวผม นี่ต่างหากที่ทำให้ผมไม่รู้สึกเสียดายชีวิตเลย ที่เกิดมาชาติหนึ่งได้อยู่ในรัชสมัยของพระองค์ท่าน”
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ อู่ทำสีรถยนต์เล็กๆ ซึ่งเริ่มต้นด้วยเนื้อที่ 200 ตารางวากับหนี้สินที่กู้มาตั้งต้นนับสิบล้าน วันนี้ อนันต์สามารถปลดหนี้และขยายกิจการได้ แต่คำสอนจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชคือสิ่งที่เขาซาบซึ้งยิ่งกว่า เมื่อทรงสอนให้เขารู้จักประมาณตน หลังจากที่ถวายค่าทำสีรถยนต์พระที่นั่ง 7 คัน ตามคำขอของมารดา รวมทั้งสิ่งที่เขาเรียนรู้จากรถยนต์พระที่นั่งที่เขาสัมผัสและพิจารณาได้
“ผมได้เห็นการทรงงานจากรถยนต์พระที่นั่ง ทุกครั้งที่เห็นน้ำตาแทบไหล ขนาดรถยนต์ยังมีร่องรอยขนาดนี้ ยิ่งถ้าเป็นรถทรงงาน ไม่ใช่รถในพระราชพิธี รถทรงงานทุกคันไม่ว่ายี่ห้ออะไรก็ตามที่สำหรับบุกป่าได้ รถพวกนั้นไม่นิ่มนะครับ ผมคิดว่าขนาดรถยังบอบช้ำขนาดนั้น แล้วพระองค์ท่านซึ่งทรงงานให้พสกนิกรจะทรงเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน
“บางคันพรมเปียกชุ่ม เพราะไปลุยน้ำมา พระองค์ก็ทรงใช้จนนาทีสุดท้ายจนทรงงานเสร็จ หรือจบโครงการ รถจึงจะถูกส่งกลับมาดูแลแก้ไขที่กรุงเทพ ไม่เคยมีรับสั่งให้เปลี่ยนพรม หรือเปลี่ยนอะไรให้ดีขึ้นในระหว่างนั้นเลย นี่คือสิ่งที่ทรงทำให้เห็นตลอดเวลา ผมโชคดีที่ได้ดูแลเรื่องรถ คนซ่อมรถจะเห็นว่าการใช้งานหนักไม่หนักอย่างไร เพราะเราต้องเข้าไปดูแต่ละจุดว่าต้องแก้ไขอย่างไร ยิ่งเราพิจารณาเราก็ยิ่งเห็นถึงพระราชจริยาวัตรของพระองค์ท่านครับ”
อนันต์ดูแลรถยนต์พระที่นั่งมาหลายคัน แต่สำหรับรถยนต์ “เจมส์ บอนด์” รถยนต์พระที่นั่งอัญเชิญพระบรมศพนั้น เขาไม่ได้ดูแล แต่พลันที่เห็นรถยนต์พระที่นั่งที่เรียบง่ายคันนั้น เขาก็ระลึกขึ้นมาว่า
“ผมรู้สึกว่าทรงมีพระราชประสงค์ให้ทุกคนที่เห็นได้ทราบว่าถึงแม้พระองค์เป็นกษัตริย์ แต่นาทีสุดท้ายกับพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง การเคลื่อนพระบรมศพก็ไม่จำเป็นต้องใช้โรลส์-รอยซ์ หรือรถยนต์หรูหรา ไม่มีการยิงสลุต ไม่มีเสียงแห่ เสด็จไปเงียบๆ ผมเชื่อว่าทรงทำให้เราดูเป็นแบบอย่างจนนาทีสุดท้าย ไม่มีอะไรเลยที่ทรงรับสั่งแล้วไม่ทำให้เห็นด้วยพระองค์เอง”
ภาพข่าว
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน