สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อสอบ PISA โดย วีรพงษ์ รามางกูร

จากประชาชาติธุรกิจ

โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA (Program for International Student Assessment) สำหรับเด็กนักเรียนประเทศต่างๆ ในอาเซียน ปรากฏว่าเด็กไทยได้คะแนนรั้งท้ายในทุกกลุ่มวิชา ซึ่งมีอยู่ 3 วิชาคือ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาการอ่าน

การทดสอบทั้ง 3 กลุ่มวิชา เป็นวิชาที่นักเรียนมัธยมของทุกประเทศทั่วโลกต้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ไม่เฉพาะแต่นักเรียนในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ต้องเรียนทั้งนั้น

แต่ข้อสอบ PISA ไม่ได้ออกแบบมาให้ตรวจสอบความจำ แต่จะทดสอบว่าเด็กที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวอย่างว่ามีความรู้หรือไม่ สามารถนำเอาความรู้เช่นว่านั้นมาคิดต่อยอดได้อย่างไร จากคำถามที่ตัวไม่เคยคิดเคยเห็นมาก่อน ซึ่งเมื่อได้อ่านคำถามแล้วก็เป็นคำถามที่แปลกๆ จนไม่แน่นักว่าพวกที่ทำงานมาจนแก่ มีประสบการณ์ต่างๆ มามากจะตอบได้ดีกว่าเด็กมัธยม

เมื่อคะแนนของเด็กไทยออกมารั้งท้าย ทั้งๆ ที่คำถามคำตอบก็เป็นภาษาไทย ภาษาจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่เด็กไทยจะได้คะแนนรั้งท้าย ผู้คนทั่วไปรวมทั้งสื่อมวลชนก็ทึกทักโจมตีระบบการเรียนการสอน รวมทั้งหลักสูตรและโรงเรียนมัธยมของกระทรวงศึกษาธิการของเราว่าใช้ไม่ได้ สอนให้เด็กท่องจำมากกว่าจะสอนให้เด็กคิดเอาเอง คะแนนการสอบ PISA จึงออกมารั้งท้ายเด็กประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ส่วนประเทศที่คะแนนนำคือสิงคโปร์และเวียดนาม

ผู้ที่วิจารณ์ทั้งหลายส่วนมากก็ได้รับการศึกษาอบรมมาจากโรงเรียนมัธยมในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งจากโรงเรียนกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งจากโรงเรียนของศาสนาคริสต์ เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญ เซนต์คาเบรียล มาแตร์เดอี โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนราษฎร์ของเอกชน การเรียนการสอน หลักสูตรและตำรับตำรา ก็เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่

เด็กที่จบออกมาก็มีทั้งที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศได้และที่สอบเข้าไม่ได้ โดยเด็กที่จบชั้นมัธยมในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลฯ อุดรธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สอบเข้าได้มากกว่าเด็กมัธยมในเขตจังหวัดที่เป็นจังหวัดเล็ก

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสถิติดังกล่าวก็ไม่สามารถบอกอะไรได้มาก เพราะเด็กชั้นประถมศึกษาที่หัวดีเรียนเก่งก็มักจะเข้ามาสมัครสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ตัวอย่างเช่นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบ สามเสนวิทยาลัย บดินทรเดชา พ่อแม่ผู้ปกครองก็นิยมพามาสมัครสอบเข้ากันมาก โรงเรียนเหล่านี้จึงได้นักเรียนดีๆ เก่งๆ มาเป็นนักเรียน

หลักสูตรตำราและคุณภาพของครูก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่ผลการทำข้อสอบ PISA ที่ออกมาแสดงถึงความแตกต่างกันระหว่างเด็กมัธยมจากโรงเรียนในกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด เด็กมัธยมโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนของศาสนาคริสต์ โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนราษฎร์ของเอกชน

จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นเพราะคุณภาพของเด็กนักเรียนหรือคุณภาพของโรงเรียน

เช่นเดียวกัน เมื่อเราขยายวงกว้างขึ้นเป็นการเปรียบเทียบระหว่างประเทศ ในการทดสอบด้วยข้อสอบที่อ้างว่าไม่ได้ทดสอบความจำ แต่ทดสอบความสามารถเด็กนักเรียนในการใช้ความสามารถและทักษะในการตอบปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งต้องใช้ความคิด ใช้ตรรกะ ใช้ความสามารถในการอ่านวิเคราะห์ ปรากฏว่าเด็กไทยอยู่รั้งท้ายชาติอื่น ทั้งๆ ที่หลักสูตรตำรับตำราที่กระทรวงศึกษาใช้ให้เด็กไทยอ่าน เขียน ก็เหมือนกับเด็กมัธยมในประเทศอื่นๆ วิธีการสอนก็เหมือนกัน มีทั้งจำและคิดเอง ของไทยเราสมัยนี้ก็เป็นอย่างนั้นแม้ว่าสมัยก่อนเน้นไปทางจำ

เคยไปเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เป็น Ivy League เก่าแก่ สถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1748 ก่อนประกาศเอกราชจากอังกฤษ มีอาจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ก็หลายคน

การเรียนการสอนในห้องเรียน ก็ไม่แตกต่างจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไทยเท่าไหร่ คือมีรายชื่อหนังสือและบทความทางวิชาการที่ต้องอ่าน แล้วก็มีการบรรยายหรือเล็กเชอร์ในห้องเรียน พอจบการบรรยายอาจารย์ก็ตั้งคำถามแล้วชี้ให้นักศึกษาตอบ ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะยังไม่ได้อ่านมา จะเร่งอ่านกันจริงๆ จังๆ ก็สัก 4-5 สัปดาห์ก่อนสอบ เหมือนๆ กับที่เรียนที่สอนกันอยู่ในเมืองไทย ตอนเรียนก็จำเอาไว้สอบเพื่อให้ผ่านให้ได้ก่อน มาเข้าใจเรื่องที่เรียนจริงๆ ก็ตอนกลับมาสอนในมหาวิทยาลัยในเมืองไทย ต่อมาก็เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อได้เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายการเงินการคลัง การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ข้าราชการที่ธนาคารโลกก็ดี ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ดี ที่กระทรวงการคลังสหรัฐก็ดี มักจะมองอาจารย์มหาวิทยาลัยว่ารู้แต่ทฤษฎี ไม่รู้การปฏิบัติ เหมือนๆ กับเมืองไทยที่มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยรู้ทฤษฎีและยังขาดประสบการณ์ในการตัดสินใจจากการปฏิบัติจริง แต่ก็ยังดีขอให้แม่นทฤษฎีไว้ก่อนก็แล้วกัน

สำหรับชาติไทยคนไทยโดยเฉลี่ยอ่านหนังสือน้อยที่สุด ไม่เฉพาะแต่ในอาเซียนเท่านั้น แต่อาจจะน้อยที่สุดในเอเชีย หรือในโลกก็ว่าได้ ไม่เหมือนคนญี่ปุ่น คนจีนและฝรั่ง

การที่คนจะคิดได้เองนั้น ต้องฝึกมาตั้งแต่การอ่านและการจำ อ่านอย่างเดียวก็ไม่ได้ต้องจำด้วย เพราะจะต้องอยู่ในหัวไว้เพื่อเป็นฐานในการคิด จำอย่างเดียวโดยไม่อ่านก็ไม่ได้ เพราะเมื่อไม่อ่านก็ไม่มีอะไรจะจำ การอ่านการจำเป็นของคู่กัน การท่องอาขยาน การท่องสูตรคูณ การท่องมาตรา ชั่ง ตวง วัด ของไทยของอังกฤษ เป็นการฝึกสมองของเด็กในส่วนที่เป็นที่เก็บความจำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น การไม่ฝึกท่องจำทำให้สมองเด็กไม่พัฒนาจากการจำไปสู่การคิดการวิเคราะห์ การใช้ตรรกะ และการใช้ข้อมูล ในที่สุดสมัยนี้เด็กไม่ต้องท่องอาขยาน ไม่ต้องท้องสูตรคูณ ไม่ต้องท่องมาตราชั่ง ตวง วัด ก็เลยคูณหารเลขในใจไม่เป็น จำอะไรไม่ได้เพราะสมองไม่พัฒนา

ในสังคมชั้นสูงของไทยไม่มีความแตกต่างระหว่างการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีพื้นฐานการศึกษาสูงหรือต่ำกว่าระดับมหาวิทยาลัย หรือเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศหรือในประเทศ เพราะคนเหล่านี้ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล ความรู้สึกเช่นว่านั้นมีพื้นฐานมาจากชนชั้นที่ตนสังกัดและหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ยึดโยงอยู่กับโครงสร้างทางสังคมของสังคมไทย ที่ไม่อาจจะอธิบายได้ด้วยเหตุผล ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบของการเห็นดีเห็นงามไปกับระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ที่ตนเองไม่อาจจะมีส่วนร่วมในการปกครองในรูปแบบนี้เลย ในขณะเดียวกันปฏิเสธระบอบการปกครองของประชาธิปไตย ทั้งในเรื่องหลักการเหตุผล ศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของตน

ทั้งนี้ เพราะใช้อารมณ์รักโลภโกรธหลงมากกว่าใช้ตรรกะและข้อเท็จจริง

ด้วยเหตุที่คนไทยหรือสังคมไทยไม่ใช่สังคมอ่าน แต่เป็นสังคมที่นิยม "คนพูดเก่ง" ไม่ใช่ "คนเขียนเก่ง" ดูถูกนักประพันธ์นักเขียนจนมีคำพังเพยว่าเป็น "นักประพันธ์ไส้แห้ง" แต่จะเคลิ้มฝันไปกับนักพูดและนักการเมืองที่พูดเก่ง หรือพรรคการเมืองที่เต็มไปด้วยคนพูดเก่ง ทั้งๆ ที่เนื้อหาที่พูดอาจจะเป็นเท็จหรือบิดเบือนจากความจริงแต่ก็พร้อมจะเชื่อ แม้ต่อมาภายหลังเมื่อความจริงปรากฏแล้วว่าเป็นเท็จก็ไม่เปลี่ยนความคิดความเชื่อ เป็นสังคมที่ไม่เชื่อข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เชื่อ "ข่าวลือ" ที่ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ขึ้นต้นด้วย "เขาว่า" หลายครั้งที่ "ทางการ" ปล่อยข่าวลือเพื่อที่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามและสามารถทำได้ผล เพราะเชื่อข่าวลือมากกว่าข้อเท็จจริง

การที่ข่าวลือไม่ทำเป็นหนังสือก็เพราะคนไทยไม่ชอบอ่าน แต่ชอบฟัง ไม่ชอบเรื่องที่มีสาระ ชอบเรื่องที่ไม่เป็นสาระ รายการยอดนิยมทางโทรทัศน์จึงเป็นละครน้ำเน่า เวลาที่ดีที่สุดคือ 19.00-22.00 น. จึงเป็นเวลาของละครน้ำเน่าสำหรับโทรทัศน์ช่องพื้นฐาน แทนที่จะเป็นรายการสารคดี หรือรายการเพิ่มพูนความรู้หรือให้ทักษะที่เป็นประโยชน์ ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย ที่วัฒนธรรมการอ่านถูกปลูกฝังโดยชาติตะวันตกที่เคยมาปกครอง

ในกรณีประเทศต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีน เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม จะเป็นสังคมที่อ่านมากกว่าพูด เพราะสังคมจีนเป็นสังคมอ่านและเขียนหนังสือซึ่งเป็นเช่นนั้นมาเป็นเวลากว่า 2,000 ปีแล้ว เป็นสังคมยกย่องคนรู้หนังสือ สนับสนุนให้คนเรียนหนังสือ การอ่านการเขียนจึงถูกปลูกฝังอยู่ในวัฒนธรรมของจีน จีนมีความภูมิใจทั้งในตัวอักษรและหนังสือจีน เราจึงเห็นวรรณกรรมและเรื่องราวของจีนที่เป็นหนังสือจีนปรากฏอยู่ทุกแห่งที่มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศอาเซียนเท่านั้น ซึ่งต่างกับคนไทยไม่ค่อยภูมิใจกับตัวหนังสือไทยเท่าใดนัก หนังสือที่ถือว่าเป็นวรรณกรรมจึงมีน้อยและมีอายุไม่นานมานี้

คนไทยเชื้อสายเวียดนามและคนไทยเชื้อสายจีนจะเรียนเก่งกว่าคนไทยแท้ๆ หรือคนไทยเชื้อสายลาว มอญ เขมรและมาเลย์ อาชีพอิสระต่างๆ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ผู้พิพากษา บัญชี การเงินการธนาคาร อาจารย์มหาวิทยาลัย ระดับบริหารส่วนมากหรือทั้งหมดเป็นคนไทยเชื้อสายจีนเกือบทั้งสิ้น คนไทยเชื้อสายเวียดนามจะไม่ค่อยแสดงตัว อีกทั้งชื่อและสกุลก็ไม่คงไว้ให้เห็นว่าเป็นเวียดนามได้เลย คนไทยแท้ๆ จึงนิยมเป็นชาวนาชาวสวนและลูกจ้างระดับล่าง เพราะไม่ชอบเรียนหนังสือ

เมื่อไม่ใช่สังคมอ่านหนังสือ ความจำก็สั้น ความรู้ทางประวัติศาสตร์จึงน้อย ก็ไม่มีอะไรในความทรงจำไม่ว่าจะเป็นตรรกะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะการอ่าน เมื่อต้องถูกทดสอบจากข้อสอบที่ไม่ได้จำมาจากชั้นเรียนจึงทำไม่ได้ คะแนนสอบจึงรั้งท้ายประเทศอื่นๆ

อย่าไปโทษกระทรวงศึกษาธิการเลย เราเป็นอย่างนี้มานานแล้ว





ที่มา : นสพ.มติชน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อสอบ PISA วีรพงษ์ รามางกูร

view