สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จาก กรีซ ถึง อิตาลี ปัญหาที่ยังไม่จบของ ยูโรโซน

จากประชาชาติธุรกิจ

ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปและยูโรโซนตกอยู่ในสภาพไม่สู้ดีนักในหลาย ๆ ทาง รวมทั้งเศรษฐกิจ ปัญหาหลาย ๆ เรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไขให้สะเด็ดน้ำ ขณะที่มีปัญหาใหม่ปัญหาใหญ่ที่สั่นคลอนลงไปถึงฐานราก อย่างกรณีที่ชาวอังกฤษลงประชามติถอนตัวออกจากสมาชิกของอียูหรือเบร็กซิต ก็ตามเข้ามาสมทบซ้ำ และในตอนที่ทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจมีความสุขกับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ก็เกิดข่าวร้ายขึ้นกับระบบธนาคารของอิตาลีขึ้นมา

ภาคธุรกิจการเงินของอิตาลีมีปัญหา ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ธนาคารแทบทุกแห่งในอิตาลีแบกหนี้เสียอยู่บานเบอะ หนี้เสียในระบบธนาคารของอิตาลีรวมกันสูงถึง 360,000 ล้านยูโร

องค์การกำกับดูแลธนาคารแห่งยุโรป (อีบีเอ) ตรวจสอบ "สุขภาพ" ของธนาคารในสหภาพยุโรปทั้งหมด 51 ธนาคารเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ธนาคารที่อยู่ในสภาพแย่ที่สุด คือ ธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศอิตาลี อย่างธนาคาร "มอนเต เดอี ปาสคี ดิ เซียนา" หรือ "เอ็มพีเอส"นั่นเอง



"เอ็มพีเอส"
 อยู่ในสภาพแย่ขนาดที่ว่า อีบีเอเชื่อว่าถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกหยุดชะงักหรือเกิดปัญหาภาวะตึงตัวขึ้นในระบบการเงินโลกเมื่อใด เอ็มพีเอสเป็นอันล้มเมื่อนั้น เพราะเงินทุนเท่าที่หลงเหลืออยู่เล็กน้อยจะหายวับไปทันที คำสั่งของอีบีเอ ก็คือ ต้องจัดการเพิ่มทุนสร้างความเข้มแข็งให้กับธนาคารแห่งนี้


ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) เป็นผู้กำหนด "เส้นตาย" ให้กับเอ็มพีเอส "เพิ่มทุน" ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอิตาลีก็ต้องดำเนินการ "เพิ่มทุนเพื่อการป้องกันล่วงหน้า" ตามข้อกำหนดของอียู

ว่ากันว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินเพื่ออุ้มเอ็มพีเอส และธนาคารอีก 2-3 ธนาคารที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ที่สุดทั้งสิ้นราว 20,000 ล้านยูโร

อย่างไรก็ตาม เอ็มพีเอสดิ้นรนเพื่อไม่ให้ต้องตกอยู่ในความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขของทางการ ด้วยการดึง "เจพี มอร์แกน" เข้ามาเป็นหัวหอกในการดำเนินความพยายามเพื่อเพิ่มทุนจากภาคเอกชน ด้วยการแยกหนี้เสียจำนวนหนึ่งออก และพยายามระดมทุนให้ได้อย่างน้อย 5,000 ล้านยูโร

กระบวนการนี้แม้ต้องแข่งกับเวลา แต่ก็น่าจะได้ผล เพราะ "อิตาลี" ไม่ได้ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ในทุก ๆ ภาคส่วนเหมือนที่ "กรีซ" เคยเป็นก่อนหน้านี้ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอิตาลีก็ยังอยู่ดีมีกำไรอยู่

แต่เอาเข้าจริงแผนระดมทุนจากนักลงทุนเอกชนของเอ็มพีเอสก็ล้มไม่เป็นท่าเมื่อ"มัตเทโอเรนซี" นายกรัฐมนตรีอิตาลี ผู้ที่เป็นตัวจักรสำคัญในการ "ทำความสะอาด" ระบบธนาคารของอิตาลี พ่ายประชามติ และประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อต้นธันวาคมที่ผ่านมา ยิ่งทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อระบบธนาคารอิตาลี ซึ่งหลงเหลืออยู่น้อยให้หายวับไป

นักลงทุนต่างชาติมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การลงทุนครั้งนี้ไม่ว่าผลตอบแทนจะดีเพียงใด แต่ก็เป็นการลงทุนที่ "เสี่ยงสูงเกินไป" นั่นนำไปสู่การ "เพิ่มทุนเพื่อการป้องกันล่วงหน้า" ซึ่งตามเงื่อนไขที่อียูกำหนดขึ้นมาใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รัฐบาลต้องนำเงินภาษีประชาชนมาใช้อุ้มธนาคารและผู้ถือหุ้นระดับเศรษฐีทั้งหลายเหมือนครั้งที่เกิดวิกฤตซับไพรมปี2551ทำให้บรรดาผู้ถือหุ้นและพันธบัตรของธนาคารต้องยอมรับการขาดทุนก่อน รัฐบาลจึงอัดฉีดเงินเข้ามาช่วยเหลือได้

ปัญหาท้าทายในกรณี "เอ็มพีเอส" ก็คือ ธนาคารแห่งนี้ไม่ได้มีผู้ถือหุ้นหรือผู้ถือพันธบัตรเป็นนักลงทุนรายใหญ่หรือสถาบันเพียงอย่างเดียว แต่พันธบัตรของเอ็มพีเอสมูลค่าถึง 2,100 ล้านยูโร อยู่ในมือของนักลงทุนรายย่อย หรือประชาชนทั่วไป

นี่เป็นบททดสอบครั้งใหญ่ครั้งแรกของกฎใหม่ที่อียูนำมาใช้ในการอุ้มธนาคาร กรณีของเอ็มพีเอสจึงผูกพันและส่งผลสะเทือนถึงอียูตามไปด้วย

ถ้าหากอียูยินยอมให้อิตาลี "ละเมิด" หรือ "เบี่ยงเบน" กฎได้อีกครั้ง ก็อาจทำให้ปั่นป่วนไปทั้งระบบอีกครั้ง


แต่ถ้าหาทางออกให้กับเอ็มพีเอสไม่ได้ ก็ยากที่จะบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับระบบธนาคารอิตาลี ที่อาจไม่เหลือเสถียรภาพอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อธนาคารอีกแห่ง "ยูนิเครดิต" ที่ได้ชื่อว่าเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ กำลังตามรอย "เอ็มพีเอส" ต้องระดมทุนให้ได้ 12,000 ล้านยูโรภายในเดือนมกราคมปีหน้า

โดยที่ต้องไม่ลืมว่า ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น "ยูโรโซน" ยังมีทั้งปัญหากรีซและปัญหาเบร็กซิตค้ำคออยู่ตลอดเวลาอีกด้วย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กรีซ อิตาลี ปัญหาที่ยังไม่จบ ยูโรโซน

view