สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การประยุกต์หลักเศรษฐกิจพอเพียงกับการลงทุน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ จับช่องลงทุน
โดย นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด



หลายปีก่อนเมื่อผมได้อ่านและฟังเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรก ผมยังมีความไม่เข้าใจนัก เพราะตอนนั้นยังเป็นเด็กดื้อมัวแต่ยึดติดกับหลักเศรษฐศาสตร์ตามตำราฝรั่งที่ เรียนมา หลักวิชาเศรษฐศาสตร์ของฝรั่งในเรื่องความต้องการหรือความพอใจ บอกว่าความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด 


ยิ่งได้มากเท่าไหร่ก็ ยิ่งดี ส่วนเรื่องการผลิตนั้นก็เช่นเดียวกัน ใครผลิตของได้ถูกกว่า หรือในปริมาณมากกว่าก็ถือว่ายอดเยี่ยม หนำซ้ำหลักการ Division of Labour หรือการแบ่งแรงงานกัน ให้แต่ละคนทำแต่งานที่ตนถนัดเท่านั้น จะได้ผลผลิตรวมสูงสุด ดูเหมือนหลักการทุกอย่างจะเน้นคำว่า "มากที่สุด" หรือ Maximum เพียงอย่างเดียว ซึ่งดูจะแตกต่างจากหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านทรงสอน

แต่เมื่อกระผมได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มเติม ทั้งตัวอย่างและการใช้หลักดังกล่าวเกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่ทางการเกษตร ผมจึงเริ่มจะเข้าใจว่าที่จริงแล้ว พระองค์ท่านมิได้มองโลกมุมเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว หากได้ผสมผสานหลักสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาเข้ากับเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือเป็นการมองโลกแบบเหมาะสมพอดี (Optimum) มากกว่าจะเป็นการแข่งกันเพื่อทำให้ได้มากที่สุด (Maximum) 

เช่น ตัวอย่างการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงกับการแบ่งพื้นที่ทางการเกษตร นั้น ท่านได้ทรงแนะนำไม่ให้เกษตรกรปลูกพืชแต่เพียงชนิดเดียว แต่ได้พระราชทานตัวอย่างการแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ส่วนหนึ่งขุดสระกักเก็บน้ำ (30%) เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดปี ส่วนที่สองปลูกข้าว (30%) ส่วนที่สามปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น พืชไร่ ผัก ไว้เป็นอาหาร (30%) และส่วนที่สี่ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และยุ้งฉางเพื่อเก็บผลิตผล 

หลักการนี้คล้ายคลึงกับการทำ Asset Allocation หรือการจัดสรรเงินลงทุนเป็นอย่างมาก ผู้แนะนำการลงทุนจะเน้นยํ้ากับท่านนักลงทุนเสมอว่า อย่าลงเงินทั้งหมดในหลักทรัพย์เดียว ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือพันธบัตร/ตราสารหนี้เพียงตัวเดียวไม่ว่าจะดีขนาดไหน ก็ตาม เพราะจะเกิดการกระจุกตัวของความเสี่ยง หลักการจัดพอร์ตกระจายสินทรัพย์เน้นให้แบ่งการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย อาจเปรียบเทียบได้ว่าให้แบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วนเช่นกัน ส่วนที่หนึ่งเป็นสระเก็บน้ำอาจเปรียบได้กับการลงทุนในตราสารหนี้ จะได้มีดอกไว้ใช้ตลอดปี 

ส่วนที่สองเป็นที่ปลูกข้าวนั้น ก็เปรียบได้กับการลงทุนในหุ้น ผลผลิตและราคาอาจแปรผันตามตลาด ส่วนที่สามเป็นที่ปลูกไม้ยืนต้น พืชไร่ ผักผลไม้ ก็คล้ายกับกองทุนผสมหรือกองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะมีดอกผลที่ได้หมุนเวียนกันไป ส่วนที่สี่ที่เป็นที่อยู่อาศัยยุ้งฉางก็ไม่ต่างจากเงินสดที่ต้องมีจับจ่าย ใช้สอย

การนำเสนอหรือออกกองทุนใหม่ก็เช่นกัน ในอดีตเราจะเห็นหลาย บลจ. ต่างแข่งกันออกกองหุ้นต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ฯลฯ แต่หุ้นต่างประเทศเหล่านั้นเวลาดีก็ดีใจหาย เวลาร้ายก็ร่วงไม่เป็นท่า บางปีกำไร 20-30% พอขาดทุนก็ติดลบ 30% ได้เช่นกัน แต่เมื่อเราหันมาเข้าใจความต้องการของนักลงทุนไทยส่วนใหญ่ ที่ลึก ๆ อาจจะมีทัศนคติเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและทางสายกลางในพุทธศาสนาอยู่ เราก็พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า 

ผลตอบแทนระดับ 5-7% ก็ยอมรับได้ แต่ขอให้ความผันผวนของกองทุนไม่มาก เวลาไม่ดีติดลบสักไม่เกิน 3-4% และอาจตอบโจทย์ความต้องการได้ดีกว่ากองหุ้น ที่คาดหวังผลตอบแทน 12-15% แต่สามารถติดลบได้ถึง 30% ในช่วงเวลาที่ไม่ดีบลจ.ไทยพาณิชย์เองก็ได้นำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ กับการออกกองทุนใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลอินคัมพลัส (SCBGPLUS) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชีย แปซิฟิค อินคัมพลัส 

(SCBAPLUS) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ อินคัมพลัส (SCBPLUS) ซึ่งทั้ง 3 กองทุนนี้จะสะท้อนให้เห็นว่ามีการออกผลิตภัณฑ์ที่ต่างจากในอดีต โดยเน้นการผสมสินทรัพย์ที่หลากหลาย แม้ผลตอบแทนจะไม่สูงเหมือนกองหุ้นล้วน ๆ แต่อยู่ในระดับที่ดีพอสมควร และที่สำคัญไม่ผันผวนรุนแรง จนนักลงทุนถึงขั้นนอนไม่หลับกันเช่นในอดีต ท้ายนี้ก็ขอให้นักลงทุนทุกท่านลองพิจารณาและศึกษาหลักการจัดสรรเงินลงทุน 

โดยอย่าลืมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับการลงทุนของท่านนะครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การประยุกต์ หลักเศรษฐกิจพอเพียง การลงทุน

view