สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

2017 สึนามิ ผู้นำตะวันตก เมื่อโลกเปลี่ยนทิศ หันขวา

จากประชาชาติธุรกิจ

ปี 2560 จะเป็นปีที่พลิกโฉมประวัติศาสตร์โลกตะวันตกอีกครั้ง จากที่บรรดาผู้นำประเทศยักษ์ใหญ่หลายคนกำลังจะหมดวาระลง โดยมาพร้อมกับสัญญาณการเมืองในทิศทางใหม่

ซึ่งจากกระแสปกป้องตัวเอง กีดกันการค้าเสรี หรือแอนตี้โลกาภิวัตน์ ต่อต้านผู้อพยพ ที่ก่อหวอดชัดเจนในปี 2559 ที่ผ่านมา ทำให้ดูจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกของเรากำลัง "เอียงขวา" หันเข็มทิศกลับสู่ความ "อนุรักษนิยม" และ "ความรักชาติ" แทนที่คุณค่าแห่ง "เสรีนิยม" เสาหลักที่โลกยึดถือมานาน 

"ทรัมป์" นำทีมผู้นำขวาจัด

เริ่มต้นปี 2560 จะเป็นการมาถึงที่แท้จริงของ "นายโดนัลด์ ทรัมป์" มหาเศรษฐีผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ชนิด "ช็อกโลก" ด้วยการนำเสนอนโยบาย "ขวาจัด" ตกขอบ ไม่เอาผู้อพยพ-ไม่เอาการค้าเสรี "อเมริกาต้องมาก่อน" 

โดยในวันที่ 20 มกราคม จะเป็นวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตาพอสมควรว่าประเทศแห่งเสรีภาพภายใต้การนำของทรัมป์จะมาในรูปแบบไหน

แต่ก็ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาที่สร้างความลือลั่นไปทั่วโลกจากการมีผู้นำคนใหม่"ขวาจัด" เช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้การโหวตแยกตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายน2559 ก็ช็อกโลกไปแล้วครั้งหนึ่ง ประเด็นสำคัญหนึ่งในการโหวตออกจากอียู ก็คือเรื่อง "ผู้อพยพและคนเข้าเมือง" 

ทั้งผู้อพยพจากตะวันออกกลางโดยเฉพาะซีเรีย ร่วมกับกฎหมายที่เปิดให้พลเมือง อียูสามารถเข้านอกออกในทุกประเทศในสหภาพ ทำให้ประชากรในอังกฤษราว 13% เป็นคนชาติอื่น ทำให้คนอังกฤษรู้สึกว่าพวกเขาถูกช่วงชิงสวัสดิการต่าง ๆ ถูกแย่งงาน และทำให้ค่าจ้างถูกลง เป็นที่มาของการ "เบร็กซิต" นั่นเอง



วินาศกรรมปารีส สู่กีดกันผู้อพยพ

การเปลี่ยนแปลงของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ส่งผลให้ยักษ์เศรษฐกิจอีกหลายชาติในอียูเริ่มหันกลับมาพิจารณาตนเอง เพื่อกำหนดทิศทางในอนาคต หลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 และการไหลบ่าของผู้อพยพจากตะวันออกกลางสร้างความถดถอยให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ชีพจรของฝรั่งเศสก็มีความน่าสนใจ หลังจาก "ฟรองซัวส์ ออลลองด์" ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน ประกาศจะไม่ลงสมัครเลือกตั้งสมัยที่ 2 หลังคะแนนนิยมที่ลดฮวบเหลือ 4% จาก 63% เมื่อครั้งได้รับเลือกตั้งในปี 2555 จึงต้องมาลุ้นว่าใครจะได้ขึ้นมาแทนที่ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งฝรั่งเศสจะมี 2 รอบ รอบแรกในวันที่ 30 เมษายน 2560 เพื่อหา 2 ผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุดไปแข่งขันกันในวันที่ 7 พฤษภาคม 2560

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า พรรคสังคมนิยมของนายออลลองด์ไม่น่าจะผ่านการเลือกตั้งรอบแรก ผู้ที่จะเข้าชิงชัยน่าจะเป็น "นายฟรองซัวส์ ฟีญง" จากพรรครีพับลิกัน ฝ่ายกลาง-ขวา และ "นางมารีน เลอ แปน" จากพรรคแนวหน้าแห่งชาติ ฝ่ายขวาจัดซึ่งต่อต้านผู้อพยพและสนับสนุนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยพรรคของนางเลอ แปน ได้ความนิยมเพิ่มขึ้นหลังเหตุการณ์วินาศกรรมกลางกรุงปารีส เมื่อปี 2558 ดังนั้นแม้ผลสำรวจปัจจุบันจะชี้ว่า พรรคของนายฟีญงมีคะแนนนำอยู่ แต่ก็ไม่อาจประมาทนางเลอ แปน ได้เช่นกัน และที่สำคัญ ไม่ว่า 1 ใน 2 นี้ใครจะชนะ เราก็คงจะได้เห็นโฉมหน้าฝรั่งเศสที่เปลี่ยนไปแน่นอน

ชัยชนะสมัยที่ 4 ของแมร์เคิล ?

ขณะที่ "พี่ใหญ่" แห่งอียูอย่างเยอรมนี จะมีการจัดการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ราวปลายปี 2560 ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นวันที่ 22 ตุลาคม 2560 

"นางแองเกล่า แมร์เคิล" นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กคนปัจจุบัน ซึ่งเคยได้รับการยกย่องเป็นบุคคลแห่งปีจาก "ไทม์" และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการบริหารนโยบายสร้างงานที่ทำให้อัตราว่างงานลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ รวมถึงได้นำประเทศผ่านวิกฤตยูโร 

ล่าสุดได้ออกมาประกาศว่าจะลงเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 แม้ว่าคะแนนนิยมในตัวเธอจะตกลงจากการที่ปีที่แล้ว เธอเปิดรับผู้อพยพเข้าประเทศถึง 900,000 คนก็ตาม 

ความน่าสนใจอยู่ที่การเลือกตั้ง "สภาเบอร์ลิน" เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน หรือ CDU ของนางแมร์เคิลแพ้ยับเยิน ได้คะแนนเพียง 17.6% ขณะที่ประชาชนหันไปเทคะแนนให้ "พรรคสังคมประชาธิปไตย" ฝ่ายกลาง-ซ้ายที่ 22.6% ด้าน "พรรคทางเลือกเยอรมนี" หรือ AfD ฝ่ายขวาจัดซึ่งต่อต้านการรับผู้อพยพ ได้คะแนนเสียงแบ่งไปถึง 14.2% จึงได้เก้าอี้ในสภาเบอร์ลินเป็นครั้งแรก โดยนางแมร์เคิลเองก็ยอมรับว่า ที่เธอแพ้ครั้งนี้เป็นเพราะนโยบายเปิดรับผู้อพยพสัญญาณดังกล่าวได้ "สั่นคลอน" ความเชื่อมั่นที่ว่า นางแมร์เคิลจะได้กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่ 4

ItalyExit ? หลังพ่ายประชามติ

"อิตาลี" เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ จากที่เดิมมีกำหนดการเลือกตั้ง "นายกรัฐมนตรี" คนใหม่ในช่วงพฤษภาคม 2561 แต่ผลการลงประชามติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 ที่เดิมพันด้วยเก้าอี้นายกฯของ "นายมัตเตโอ เรนซี" ก็ได้ส่อเค้าความยุ่งเหยิงเสียแล้ว เมื่อนายเรนซีพ่ายประชามติจนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง ทำให้การเลือกตั้งคงต้องร่นเวลาเข้ามาเร็วขึ้น

เบื้องหลังการต่อต้านประชามตินั้น มีพรรค "ไฟฟ์ สตาร์ มูฟเมนต์" หรือ M5S เป็นหัวขบวนสำคัญ ในช่วงเวลาที่อิตาลีเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย หนี้เสียภาคธนาคารพุ่ง ปัญหาคอร์รัปชั่น รวมถึงปัญหาสำคัญที่เผชิญหน้าร่วมกับประเทศอื่น ๆ อย่างผู้อพยพ 

ทั้งนี้ พรรค M5S จัดตั้งขึ้นมาราว 7 ปีก่อน จากกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ได้เป็นทั้งฝ่ายซ้ายหรือขวา แต่มีอุดมการณ์ชาตินิยมชัดเจน ต่อต้านสถาบันปกครองประเทศแบบดั้งเดิม และต้องการให้อิตาลีออกจากอียู 

การแพ้ประชามติของนายเรนซี มีนักวิเคราะห์มองว่าอาจจะมีโอกาสที่พรรค M5S จะได้ที่นั่งในสภามากสุด และเป็นหัวหอกจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งประชามติถอนตัวออกจากอียู (ItalyExit) สร้างความเสี่ยงครั้งยิ่งใหญ่ด้านเสถียรภาพต่อสหภาพยุโรปในกาลถัดมา

ยุคสมัยแห่ง "โดดเดี่ยวนิยม" 


การเปลี่ยนแปลงช็อกโลกในปี 2559 ที่ผ่านมา อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและนับถอยหลังสำหรับระเบิดเวลาลูกใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมในปี 2560 นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า ปี 2560 มหาอำนาจโลกหลายประเทศที่เคยสวมบทบาท "พี่ใหญ่" คอยดูแลประเทศเล็ก ๆ อื่นมาเป็นเวลานาน จะดำเนินตามรอยเท้าของทรัมป์ สู่การโดดเดี่ยวนิยม หันกลับมารักษาผลประโยชน์ของตนเอง 

ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นการกระชับชายแดนประเทศ ลดข้อตกลงการค้าเสรี หรือการทยอยถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของสังคมโลก ที่ต่างจะต้องดิ้นรนและปรับตัวสู่ยุคสมัยใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 2017 สึนามิ ผู้นำตะวันตก โลกเปลี่ยนทิศ หันขวา

view