สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พาณิชย์ เผยเตรียมสอบวินัยเอาผิดรองอธิบดีฉกรูปโรงแรมญี่ปุ่น แต่ขอให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน

พาณิชย์” เผยเตรียมสอบวินัยเอาผิดรองอธิบดีฉกรูปโรงแรมญี่ปุ่น แต่ขอให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“พาณิชย์” เผยเตรียมสอบวินัยเอาผิดรองอธิบดีฉกรูปโรงแรมญี่ปุ่น แต่ขอให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน

        “พาณิชย์” ยอมรับข้าราชการฉกภาพวาดที่โรงแรมญี่ปุ่นเป็นข้าราชการของพาณิชย์จริง สั่งทูตพาณิชย์ที่โอซากาประสานขอเข้าพบ 26 ม.ค.นี้ พร้อมทำงานร่วมกับสถานทูตไทยและสถานกงสุลไทยในโอซากา เพื่อให้ความช่วยเหลือ ยันต้องได้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อน ถึงจะดำเนินการเอาผิดทางวินัยได้ “ปลัดพาณิชย์” มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งกรรมการสอบวินัยเอง วงในเผยล่าสุดยอมจ่ายค่าปรับให้โรงแรมแล้วกลับบ้าน
       
       นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีข่าวรองอธิบดีถูกจับขโมยภาพในโรงแรมที่ญี่ปุ่น ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชายไทย และเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์จริงตามที่ปรากฏเป็นข่าว หลังจากได้ขโมยภาพวาดในโรงแรมที่พัก โดยหลังจากรับทราบกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโอซากา ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น และสถานกงสุลไทยในโอซากาในการให้ความช่วยเหลือ และจะประสานกับทางการญี่ปุ่นขอเข้าพบข้าราชการคนดังกล่าวในวันที่ 26 ม.ค.นี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะให้เข้าพบได้หรือไม่
       
       ทั้งนี้ ตนซึ่งเป็นผู้บริหารโดยตรงยังไม่สามารถติดต่อกับข้าราชการคนดังกล่าวได้ จึงไม่รู้ว่าทำผิดจริงหรือไม่ ทำไปเพราะเหตุใด และขโมยภาพวาดอะไร แต่หากขั้นตอนทางกฎหมายของญี่ปุ่นได้ข้อยุติ และข้าราชการคนดังกล่าวเดินทางกลับมาประเทศไทยก็น่าจะได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด และจะดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนของกฎระเบียบของข้าราชการต่อไป
       
       สำหรับขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมายของญี่ปุ่น ทราบว่ามีระยะเวลาอยู่พอสมควร เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยแล้วจะทำสำนวนคดีและส่งตัวผู้ต้องสงสัยให้อัยการภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นอัยการจะทำเรื่องก่อนส่งฟ้องศาลภายใน 24 ชั่วโมง และอัยการดำเนินการส่งฟ้องศาลภายใน 20 วัน เป็นต้น

       “เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนของกฎหมายญี่ปุ่น และไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินนานเท่าไหร่ แต่ตามกฎระเบียบข้าราชการ เวลาข้าราชการไปประชุมต่างประเทศจะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองเหมือนข้าราชการที่ไปประจำในต่างประเทศ และข้าราชการคนดังกล่าว ได้ไปญี่ปุ่นด้วย 2 ภารกิจ คือ เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุมงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของภาครัฐ และมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นเชิญไปร่วมประชุมเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของภาครัฐ ระหว่างวันที่ 20-25 ม.ค. 2560 โดยมีกำหนดเดินทางกลับไทยวันที่ 25 ม.ค. 2560 แต่ได้เลื่อนการเดินทางกลับอย่างไม่มีกำหนด”
       
       นายทศพลกล่าวว่า การดำเนินการขั้นต่อไปของกรมฯ หากมีการพิจารณาตามกฎหมายของญี่ปุ่นแล้วเสร็จ และได้ข้อมูลชัดเจนแล้วว่าข้าราชการคนดังกล่าวกระทำความผิดจริงหรือไม่ ผิดข้อหาอะไรก็จะพิจารณาดำเนินการเอาผิดต่อไป ซึ่งโทษทางวินัยมีตั้งแต่เบาไปหาหนัก เช่น ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน ปลดออก และให้ออก แต่ขณะนี้ยังไม่อยากพูดไปก่อนว่ากรณีนี้จะผิดโทษวินัยร้ายแรงจนถึงขั้นต้องให้ออกหรือไม่
       
       ด้าน น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีนี้คงต้องรอทางการญี่ปุ่นสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หลังจากนั้นจะมอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบตรงสอบสวนข้อเท็จจริงอีกครั้งเพื่อดำเนินการตามระเบียบวินัยของข้าราชการกระทรวง โดยต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการคนดังกล่าว เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบถึงเหตุผลที่แท้จริงของข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น
       
       “กระทรวงฯ มีขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว โดยได้มอบให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเป็นหน่วยงานบังคับบัญชาของข้าราชการคนนั้นโดยตรง ส่วนจะมีโทษวินัยอย่างไร ต้องรอผลของทางการญี่ปุ่นออกมาก่อน ส่วนที่ว่าจะเสื่อมเสียภาพลักษณ์ของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล และเป็นเวลานอกราชการ อีกทั้งข้าราชการคนดังกล่าวก็เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ประวัติการทำงานดีมาโดยตลอด ดังนั้นจึงอยากให้รอสาเหตุของการสอบสวนออกมาก่อน” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว
       
       รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ได้รับประสานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ขณะนี้ข้าราชการคนดังกล่าวได้มีการยอมรับผิดกับทางการญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งตามกระบวนการน่าจะจ่ายค่าปรับให้กับทางโรงแรมเจ้าของภาพวาดที่ขโมยมา และเดินทางกลับประเทศไทยได้ในเร็วๆ นี้
       
       สำหรับข้าราชการที่ถูกจับกุมดังกล่าว ตามข่าวระบุว่า คือ นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา


ตัวจริงน่ารักติดดิน! เผยประวัติ “สุภัฒ สงวนดีกุล” อยู่ญี่ปุ่นตั้งแต่เด็ก คุ้นเคยแดนปลาดิบเป็นอย่างดี

โดย MGR Online

       เผยประวัติ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ถูกจับในข้อหาขโมยภาพวาด 3 ภาพของโรงแรม คุ้นเคยกับญี่ปุ่นเป็นอย่างดี เรียนตั้งแต่ไฮสคูล ส่วนตัวเพื่อนข้าราชการ ระบุ นิสัยดี ติดดิน
       
       จากกรณีที่สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่น รายงานว่า นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถูกจับในข้อหาขโมยภาพวาด 3 ภาพ มูลค่า 15,000 เยน ที่ติดอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น โดยรายงานข่าวระบุว่า รองอธิบดีสุภัฒ ส่วนตัวเป็นคนน่ารัก นิสัยดี ติดดิน เป็นคนตรงๆ ทำงานจริงจัง นึกถึงผลประโยชน์ของหลวงเป็นสำคัญ
       
       ขณะที่ประวัติการศึกษาและการทำงาน จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา High School attached to Gakugei University กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น และ ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น

       ประสบการณ์การทำงาน เริ่มจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขานุการเอก สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา, เลขานุการเอก สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, ที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย, อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม, ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และผู้อำนวยการ สำนักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้ามาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558

       ล่าสุด น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ญี่ปุ่นทำการตรวจสอบและติดตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว และให้ประสานกับสถานทูตไทยในญี่ปุ่น โดยตอนนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายของญี่ปุ่น คงจะได้ทราบข้อเท็จจริงเมื่อท่านเดินทางกลับมา ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบ มีรองอธิบดีของกระทรวงพาณิชย์ คือ นายสุภัฒ สงวนดีกุล รองกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพียงคนเดียวที่ได้เดินทางไปญี่ปุ่น โดยเป็นการเดินทางไปอบรมเรื่องสิทธิบัตรกับรัฐบาลญี่ปุ่น และตามกำหนดการเดิม มีกำหนดที่จะเดินทางกลับในวันนี้ (25 ม.ค.) แต่ได้มีการแจ้งมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่า จะเลื่อนการเดินทางกลับโดยไม่มีกำหนด และไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปรับ นอกจากนี้ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังได้มีการหารือกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และเตรียมการที่จะหาทางช่วยเหลือต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัว นายสุภัฒ ข้าราการในกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า โดยส่วนตัวแล้ว เป็นคนน่ารัก นิสัยดี ติดดิน ส่วนในเรื่องการทำงาน เป็นคนตรงๆ ทำงานจริงจัง นึกถึงผลประโยชน์ของหลวงเป็นสำคัญ แต่บางครั้งอารมณ์ร้อน อาจทำให้ลูกน้องไม่ชอบบ้าง 


พลิกกฎหมายญี่ปุ่น รองอธิบดีฯ ส่อนอนคุก ไม่ซ้ำรอย “คำรณวิทย์”

โดย MGR Online

       “สุภัฒ สงวนดีกุล” รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ก่อเหตุขโมยภาพเขียนมูลค่า 15,000 เยนจากโรงแรมในนครเกียวโต อาจต้องโทษจำคุกที่ญี่ปุ่นสูงสุด 10ปี เนื่องจากคดีลักทรัพย์เป็นคดีอาญา ยอมความไม่ได้
       
       ตามกฎหมายของญี่ปุ่น ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 235 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับเงินไม่เกิน 5แสนเยน โดยถือเป็นความผิดอันยอมความมิได้
       
       ขั้นตอนหลังจากถูกควบคุมตัว ผู้ต้องสงสัยจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด เพื่อรออัยการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล และหากศาลรับฟ้องก็ต้องถูกคุมขังเพื่อรอวันนัดไต่สวนคดี ขั้นตอนแรกนี้จะใช้เวลาตั้งแต่ 45-90วันจึงจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล ซึ่งหมายความว่าในช่วงนี้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาผู้นี้จะยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ 

พลิกกฎหมายญี่ปุ่น รองอธิบดีฯ ส่อนอนคุก ไม่ซ้ำรอย “คำรณวิทย์”
แฟ้มภาพ
        ความผิดของข้าราชการไทยรายนี้ถือว่าแตกต่างจากกรณีของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่เคยถูกควบคุมตัวในกรณีพกปืนเข้าไปในสนามบินนาริตะ แต่สุดท้ายอัยการญี่ปุ่นสั่งไม่ฟ้อง และเนรเทศพล.ต.ท.คำรณวิทย์กลับประเทศไทย พร้อมขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่น
       
       กรณีของนายสุภัฒ สงวนดีกุล ถือเป็นคดีอาญาที่มีผู้เสียหาย คือเจ้าของทรัพย์ ดังนั้นโอกาสที่จะถูกส่งฟ้องต่อศาลมีสูงมาก 

พลิกกฎหมายญี่ปุ่น รองอธิบดีฯ ส่อนอนคุก ไม่ซ้ำรอย “คำรณวิทย์”
ภาพจากเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา
        ทั้งนี้กฎหมายเรื่องลักทรัพย์ของญี่ปุ่นมีการแก้ไขในปี 2006 โดยเพิ่มโทษปรับเงิน ด้วยเหตุผลว่า ในอดีตคดีลักทรัพย์มักเกิดขึ้นเพราะความขัดสน การปรับเงินจึงไม่มีประโยชน์อันใด แต่ในระยะหลัง การลักขโมยโดยผู้ที่มีอันจะกิน หรือขโมยเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัวเพิ่มขึ้นมาก จึงให้เพิ่มโทษปรับเงินด้วย
       
       จากการตรวจสอบจากสื่อมวลชนของญี่ปุ่น พบว่า ปกติแล้วคดีลักทรัพย์ที่ไม่ร้ายแรงมักจะถูกตัดสินลงโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี นอกจากนี้กฎหมายญี่ปุ่นยังเปิดทางให้คดีลหุโทษที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1เดือนสามารถจ่ายค่าปรับแทนโทษจำคุกได้
       
       อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโทษของศาลญี่ปุ่นจะดูจากเจตนากระทำผิด, พฤติกรรมขณะก่อเหตุว่ามีการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ ขัดขืนเจ้าหน้าที่ หรือมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ และจะพิจารณาประวัติของผู้ถูกกล่าวหาประกอบด้วย. 

จิตแพทย์เผย ‘โรคคลีฟโทมาเนีย’ ขโมยโดยไม่ตั้งใจมีจริง! ไม่ชัวร์’รองอธิบดี’ป่วยหรือไม่

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีข่าวว่า รองอธิบดีในกระทรวงพาณิชย์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากขโมยภาพวาด 3 ภาพภายในโรงแรม ว่า เรื่องนี้คงไม่สามารถเจาะจงว่า ข้าราชการระดับสูงท่านนั้นมีสภาพจิตใจ หรือป่วยทางด้านโรคจิตเวชหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการประเมินหรือวินิจฉัยโดยตรง แต่หากพูดในหลักการแล้ว ภาวะที่เกิดขึ้นต้องแยกจากการขโมยของทั่วไป เนื่องจากการขโมยของทั่วไปนั้น ผู้ขโมยจะไม่ค่อยรู้ผิดชอบ แต่หากในบางกลุ่มที่มีอาการป่วย ก็ต้องพิจารณาอีกว่าช่วงอายุอย่างไร หากเป็นเด็กก็อาจจะยังไม่ทราบว่า อะไรควรไม่ควร แต่หากเป็นในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจมีภาวะทางสมองเสื่อม ซึ่งอาจมาจากความผิดปกติของสารในสมองได้ ซึ่งสาเหตุก็ยังไม่ทราบแน่ชัด

“โรคกลุ่มนี้เรียกว่า โรคคลีฟโทมาเนีย (Kleptomania) เป็นกลุ่มที่มีปัญหาการยับยั้งพฤติกรรมการขโมย โดยชีวิตประจำวันแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ต้องการของบางอย่าง จะมีความรู้สึกขัดกันขึ้นมา อยากได้มากถึงมากที่สุด แม้ของเหล่านี้อาจไม่ได้มีมูลค่ามากพอ โดยบางกลุ่มขโมยเสร็จแล้ว อาจจำไม่ได้ หรือบางกลุ่มจำได้ และจะรู้สึกผิดมากๆ บางรายรับสิ่งที่ตัวเองกระทำไม่ได้ ถึงขนาดเป็นภาวะซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขของผู้ป่วยกลุ่มนี้ทั่วโลกไม่มีตัวเลขแน่ชัด ในประเทศไทยส่วนใหญ่มาหาด้วยอาการซึมเศร้า แต่มาพบภายหลัง เรียกว่าหลายคนไม่รู้ตัวเลย ดังนั้น หากรู้สึกว่า อยากขโมย อยากได้ ไม่ต้องรอลงมือทำ แค่มีความคิด ก็ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ทันที” นพ.อภิชาติ กล่าว

นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่า กรณีของข้าราชการระดับสูงท่านนี้ ในส่วนของความผิดก็ว่ากันไปตามผิด ก็เป็นเรื่องของคดีไป แต่ในส่วนว่า เขาจะป่วยหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบก็ต้องไปตรวจวินิจฉัย แต่หากป่วยก็ควรรักษา ซึ่งในสังคมมีลักษณะนี้อยู่จริง แต่หลายคนก็ไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม วิธีการสังเกต และป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมลักขโมย สิ่งของผู้อื่น สามารถสังเกตอาการของตัวเองได้ หากเพียงแค่มีความคิด อยากได้ ของผู้อื่น มาครอบครองโดยเจ้าของไม่รับรู้เพียงแค่ครั้งเดียว ต้องห้ามมอง ข้ามสัญญาณเตือนนี้ และ ต้องไม่ลงกระทำ เพราะ หากปล่อยไปและเกิดการลงมือกระทำแล้ว อาจทำให้กลายเป็นบุคคลที่มีนิสัย และ พฤติกรรมการลักขโมย ได้ในที่สุด ทั้งนี้ หากป่วยด้วยโรคนี้จริง การรักษาในปัจจุบันจะเป็นการให้ยา เพื่อยับยั้งความผิดปกติของสมอง แต่อย่างไรก็ตามที่สำคัญควรปลูกฝังสอนตั้งแต่เด็กว่า การขโมยเป็นสิ่งไม่ควรทำ


ที่มา : มติชนออนไลน์


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พาณิชย์เผย เตรียมสอบวินัยเอาผิด รองอธิบดี ฉกรูป โรงแรมญี่ปุ่น ขอให้ได้ข้อเท็จจริง

view