สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ป.ป.ช. แจงยิบ! เหตุทำไทยสอบตกความโปร่งใส ปี 59 -ตะลึง! ปัจจัยธุรกิจเสี่ยงโกง ตก 20คะแนน สินบนฉุด 1 คะแนน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ป.ป.ช. แจงยิบ! เหตุทำไทยสอบตกความโปร่งใส ปี 59 -ตะลึง! ปัจจัยธุรกิจเสี่ยงโกง ตก 20คะแนน สินบนฉุด 1 คะแนน

        ป.ป.ช. แจงยิบ! เหตุทำไทยสอบตกดัชนีความโปร่งใส เปิดตัวเลขอื่น ค่าความโปร่งใสตามหลักนิติรัฐ เพิ่มขึ้น 11 คะแนน ความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงเพิ่มจากปีก่อน 6 คะแนน ระบุดัชนีความเสี่ยงการเมือง “เรียกรับสินบน” ฉุดลง 1 คะแนน ปัจจัยธุรกิจเกี่ยวกับคอร์รัปชัน สอบตก 20 คะแนนเสี่ยงกระทบนักลงทุนต่างชาติ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศลด 1 คะแนน ผลสำรวจนักธุรกิจท้องถิ่นและชาวต่างชาติ ลด 4 คะแนน
       
       วันนี้ (28 ม.ค.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันปละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ภายหลังองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2016 ปรากฎว่า 2 ใน 3 จาก 176 ประเทศ ทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน สำหรับประเทศที่ได้อันดับ 1 ยังคงเป็นประเทศเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ 90 คะแนนเท่ากัน
       
       ขณะที่ประเทศจากทวีปเอเชียอย่างสิงคโปร์รั้งอันดับที่ 7 ได้ 84 คะแนน ในส่วนของประเทศ ไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลง 3 คะแนน และได้ลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ ในการให้ค่าคะแนน CPI ปี 2016 นี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนนและจัดอันดับ ประเทศไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล (ปี 2015 ใช้ 8 แหล่งข้อมูล) โดยใน 8 แหล่งข้อมูล ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 3 แหล่งข้อมูล คะแนนเท่าเดิม 1 แหล่งข้อมูล และคะแนนลดลง 4 แหล่งข้อมูล ขณะที่ แหล่งข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ในปีนี้ 1 แหล่งข้อมูล วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย ทั้งนี้ สามารถสรุป แต่ละแหล่งข้อมูลได้ ดังนี้
       
       
       ค่าความโปร่งใสโดยใช้หลักนิติรัฐ นโยบายค้ามนุษย์เพิ่ม 11 คะแนน
       
       1.แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มี 3 แหล่งข้อมูล คือ
       
       1.1 World Justice Project (WJP) : Rule of Law Index ได้คะแนน 37 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อน 11 คะแนน โดย WJP ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้หลักนิติรัฐ ซึ่งมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ1.รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและถูกตรวจสอบได้ 2.กฎหมายต้องเปิดเผย ชัดเจน มั่นคง ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3.กระบวนการทางกฎหมายมีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ 4.การตัดสินคดี ต้องมีความเป็นธรรม มีจริยธรรม มีความเป็นกลาง
       
       ทั้งนี้ WJP มีการเก็บข้อมูลระหว่างเดือน พฤษภาคม - กันยายน 2016 การที่ได้คะแนนสูงขึ้น น่าจะมีองค์ประกอบที่ช่วยเสริม ได้แก่ การมีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะ รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 กันยายน 2559 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบาง ประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งมีเนื้อหาโดยรวมคือให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารแล้วย้ายไป อยู่ในศาลยุติธรรมปกติ,จุดยืนของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในการดำเนินการตาม roadmap เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งและความเป็นประชาธิปไตย,การมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะช่วยในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมี ประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น,การแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยได้รับการ เลื่อนชั้นในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของสหรัฐอเมริกา จาก“เทียร์ 3” คือ ประเทศที่ไม่มี ความก้าวหน้า และความพยายามที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ขึ้นไปอยู่ใน “เทียร์ 2” คือ บัญชีรายชื่อ ประเทศที่ต้องจับตามอง,กระทรวงยุติธรรมแถลงผลการรายงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council : HRC) รอบที่ 2 ต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 25 ซึ่งในภาพรวมประเทศไทยได้รับ ข้อเสนอแนะจากประเทศสมาชิก จำนวน 249 ข้อ พร้อมตอบรับทันที จำนวน181 ข้อ รวมทั้งนำข้อเสนอแนะ ที่เหลืออีก 68 ข้อ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
       
       
       ความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไทยคะแนนเพิ่มจากปีก่อน 6 คะแนน
       
       1.2 International Institute Management Development (IMD) : World Competitiveness Yearbook ได้ 44 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6 คะแนน โดย IMD นำข้อมูลสถิติทุติยภูมิ และผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไทยและพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1.สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2.ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3.ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ 4.โครงสร้างพื้นฐาน
       
       ทั้งนี้ IMD จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี การที่ได้คะแนนสูงขึ้น น่าจะมีองค์ประกอบที่ช่วยเสริม ได้แก่ ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยภาพรวมมีการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะด้าน ประสิทธิภาพของภาครัฐ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริตอย่าง จริงจัง รวมทั้งมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้มีความทันสมัยและเป็นสากล มีมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐ ดำเนินการเพื่อส่งเสริมด้านการลงทุน รวมถึงความคล่องตัวในแต่ละนโยบาย มีการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลในด้าน ดีต่อประชาชน เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
       
       ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง “เรียกรับสินบน” ฉุดลง 1 คะแนน
       
       1.3 International Country Risk Guide (ICRG) : Political Risk services ได้ 32 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 คะแนน โดย ICRG เป็นองค์กรแสวงหากำไร ให้บริการวิเคราะห์วิจัยและจัดอันดับสภาวะ ความเสี่ยงระดับประเทศ ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงิน ซึ่งองค์กรเพื่อความ โปร่งใสนานาชาติ ใช้ข้อมูลรายงานความเสี่ยงด้านการเมือง มาประกอบการพิจารณาให้ค่าคะแนน
       
       ทั้งนี้ การคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง ICRG มุ่งประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง โดยเฉพาะรูปแบบ ทุจริตที่นักธุรกิจมีประสบการณ์ตรงและพบมากที่สุด นั่นคือการเรียกรับสินบน การเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความ สะดวกในการนำเข้า/ส่งออก การประเมินภาษี รวมถึงระบบอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางธุรกิจกับการเมือง ทั้งนี้ ICRG มีการประเมินและเผยแพร่ผลทุก 1 ปี ครั้งล่าสุดประเมินช่วงเดือนสิงหาคม 2015 - สิงหาคม 2016
       


       การที่ได้คะแนนสูงขึ้น น่าจะมีองค์ประกอบที่ช่วยเสริม ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างเห็นความตั้งใจจริงของ รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน,สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับเรื่องระบบอุปถัมภ์ โดยมีการศึกษาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม” ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการ รับรู้ต่อกลุ่มตัวอย่างในทางที่ดี,การออกกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/5 ซึ่งทำให้ภาคเอกชนเห็นว่าหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังในเรื่องการรับสินบน และมีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว, การดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 มาตรา 103 ได้ผล สังคมได้ตระหนักรู้เรื่องการขัดกันระหว่าง ประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น
       
       2. แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนเท่ากับปีก่อน มี 1 แหล่งข้อมูล คือ Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-BTI) ได้ 40 คะแนนเท่าปีก่อน โดย BF-BTI ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมิน กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1.ด้านการเมือง 2.ด้านเศรษฐกิจ 3.ด้านการจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ BF-BTI จะมีการเผยแพร่ผลทุก 2 ปี และ ข้อมูลที่เผยแพร่ครั้งล่าสุด คือ 1 กุมภาพันธ์ 2013 - 31มกราคม 2015 น่าจะใช้ข้อมูลเดิม
       
       
       ปัจจัยธุรกิจเกี่ยวกับคอร์รัปชัน สอบตก 20 คะแนน กระทบนักลงทุนต่างชาติ
       
       มีรายงานว่า ป.ป.ช. ได้ระบุถึง แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทย ได้คะแนนลดลงกว่าปีก่อนมี 4 แหล่งข้อมูล ประกอบด้วย 3.1 Global Insight Country Risk Rating (GI) ได้ 22 คะแนนลดลงจากปีที่ผ่านมา 20 คะแนน โดย GI ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการ ดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญา และขอใบอนุญาต ทั้งนี้ TI ได้เปลี่ยนแปลงการใช้ข้อมูลในการประเมินจากเดิมที่ใช้ข้อมูลของ IHS Global Insight แต่ในปีนี้ใช้ข้อมูลของธนาคารโลก (World Governance Indicators : WGI) แทน ซึ่งอาจจะทำให้ค่าคะแนน เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ทำสัญญากับภาครัฐ อาจมองว่าการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ยังมี อุปสรรคการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับการพิจารณาสัญญา และการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ภาคธุรกิจมีการรับรู้ในเชิงลบ
       
       3.2 World Economic Forum (WEF) : Executive Opinion Servey ได้ 37 คะแนนลดลง จากปีก่อน 6 คะแนน โดย WEF สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็น อุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1.การคอร์รัปชัน 2.ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3.ความไม่แน่นอน ด้านนโยบาย 4.ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5.โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอว่าแต่ละ ปัจจัยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นหรือลดลง ทั้งนี้ WEF จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม - มิถุนายนของทุกปี การที่ค่าคะแนนลดลง น่าจะเป็นผลมาจากข่าวสารการทุจริต การรับ-จ่ายสินบนที่มีมาอย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งข่าวดังกล่าวมีผลต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก
       
       
       ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศลด 1 คะแนน
       
       3.3 Economist intelligence Unit (EIU) : Country Risk Rating ได้ 37 คะแนนลดลงจาก ปีก่อน 1 คะแนน โดย EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม การแต่งตั้ง ข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรมตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทาน จากหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ EIU มีการสำรวจเก็บข้อมูลเดือนกันยายน 2016 การที่ค่าคะแนนลดลง น่าจะเป็นผลมาจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวให้ความสำคัญกับการแต่งตั้ง ข้าราชการระดับสูงที่ไม่เป็นธรรม การใช้จ่ายงบประมาณ ความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบความโปร่งใส ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ
       
       
       ผลสำรวจนักธุรกิจท้องถิ่นและชาวต่างชาติ ลด 4 คะแนน
       
       3.4 Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 38 คะแนนลดลงจากปีก่อน 4 คะแนน โดย PERC สำรวจนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติในแต่ละประเทศ เพื่อให้คะแนนเกี่ยวกับ ระดับปัญหาการทุจริตในประเทศที่เข้าไปทำงานหรือประกอบธุรกิจว่าลดลง เพิ่มขึ้น หรือเท่าเดิม เมื่อเทียบกับปีที่ ผ่านมา ทั้งนี้ PERC สำรวจข้อมูลช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2016 และตีพิมพ์วารสารในเดือนมีนาคม 2016 การที่ค่าคะแนนลดลง น่าจะเป็นผลมาจากมุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามสะท้อนว่า การทุจริตยังมีอยู่อย่างแพร่หลายในหน่วยงานของรัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมยังติดตามและตรวจสอบการ ทุจริตได้ไม่ดีเท่าที่ควร การมีข่าวต่างๆ เกี่ยวกับการทุจริตที่เปิดเผยออกมานั้นไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะปัญหา ที่แท้จริงอยู่ที่กระบวนการในการจัดการกับสถานการณ์การทุจริตที่เกิดขึ้น เนื่องจากบุคคลที่กระทำการทุจริต ส่วนใหญ่กลับไม่ถูกลงโทษ สะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ การให้สินบนเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง แพร่หลาย และคนในประเทศยังมีทัศนคติต่อการให้สินบนว่าเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้
       
       
       ความหลากหลายของประชาธิปไตย แหล่งข้อมูลใหม่ในปีแรก 
       
       สำนักงาน ปปช. ระบุท้ายสุดว่า แหล่งข้อมูล คือ Varieties of Democracy Project ที่วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสรีภาพ เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย นอกจากนี้ ยังดูพฤติกรรมการคอร์รัปชันในระบบการเมืองในระดับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการด้วย และในอาเซียนมีการวัดเพียง 4 ประเทศคือ เมียนมาร์ ได้ 50 คะแนน ฟิลิปปินส์ 36 คะแนน ไทย 24 คะแนน และกัมพูชา 17 คะแนน
       
       สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการจ่ายสินบนให้หน่วยงานของรัฐในประเทศไทยในช่วงนี้ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมาก่อนรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่อย่างน้อยได้แสดงให้เห็นอย่างมีนัยยะ สำคัญประการหนึ่งว่าสังคมมีความมั่นใจในองค์กรตรวจสอบและรัฐบาลมากขึ้น จึงได้มีการส่งข้อมูลมาให้ ดำเนินการตรวจสอบมากขึ้น
       
       อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย เดียวกัน “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต”. 


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ป.ป.ช. แจงยิบ ทำไทยสอบตก ความโปร่งใส ปี 59 ตะลึง ปัจจัยธุรกิจเสี่ยงโกง ตก 20คะแนน สินบนฉุด 1 คะแนน

view