สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เป็นบุญของชีวิต...เปิดใจ พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์ ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

        “พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์” อดีตแม่ทัพภาคที่ ๒ หนึ่งในบุคคลที่มีโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี เปิดใจเล่าความทรงจำประทับใจ เมื่อครั้งได้ถวายงาน
       ____________________________________________________________________
       กล่าวได้ว่า เกือบทั้งชีวิตของการรับราชการทหาร พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์ ได้มีโอกาสถวายงานใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 9 มากที่สุดอีกท่านหนึ่ง จากนายทหารที่ประจำการอยู่เขตแดนภาคอีสานในยุคที่ถูกรุกคืบด้วยภัยคอมมิวนิสต์ กระทั่งถึงวันที่พระองค์ท่านตรัสรับสั่งให้เข้าเฝ้าเป็นการพิเศษเมื่อราวปี พ.ศ.2522 นับแต่นั้นมา พลเอกสนั่นก็ได้ติดตามเสด็จพระองค์ท่านไปทั่วสารทิศ ขณะที่ความรับผิดชอบหลักๆ ยังปักมั่นที่แผ่นดินอีสาน
       
       จากตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 23 จนถึงสถานะแม่ทัพภาคที่ 2 และจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก จนถึงตำแหน่งมหาดเล็กรักษาพระองค์...ชีวิตและความทรงจำของพลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์ เปี่ยมล้นด้วยเรื่องราวที่ผูกพันใกล้ชิดกับพระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และล้วนเป็นเรื่องราวที่ไม่เพียงได้ยินได้ฟังแล้ว ให้รู้สึกปลื้มปีติกับการได้เกิดมาอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร หากยังเป็นเสมือนหนึ่งบทเรียนที่ผ่านประสบการณ์จริง ให้คนไทยเราได้ซึมซับเรียนรู้...ไม่รู้จบ... 

เป็นบุญของชีวิต...เปิดใจ “พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์” ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี
        

          • เป็นทหารที่ได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นเวลากว่า 30 ปี 
       
       ส่วนใหญ่ผมจะติดตามงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เป็นหลัก ส่วนงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มีบ้าง ผมจะช่วยทุกพระองค์ แต่ว่าหลักๆ แล้วผมจะรับผิดชอบติดตามและปฏิบัติงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เป็นหลัก ซึ่งหลังจากเกษียณแล้วก็มีโอกาสได้ทำงานอยู่ เพราะท่านก็ยังรับสั่งให้ดูงานเก่าๆ ที่ทำไว้แถวชายแดน ไปตรวจงาน เป็นกรรมการโครงการนั้นโครงการนี้ของกระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ไปช่วยดูแลชาวบ้าน ปัจจุบันผมก็ยังทำตรงนี้อยู่ ก็ได้ไปช่วยโครงการพิเศษในสำนักราชเลขาธิการ แต่ว่าไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำนะ จะเป็นโครงการพิเศษ ตรงนี้เลยทำให้ผมได้ติดพันงานของพระองค์ท่านเรื่อยมา (ยิ้ม)
       
         • จุดเริ่มต้นการถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
       
       เรียกได้ว่าผมอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ตอนนั้นหลังปี พ.ศ.2518 อยู่ในช่วงที่มีการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างหนัก รอบบ้านเรามันเป็นคอมมิวนิสต์กันหมดแล้ว เวียดนามแตกปี พ.ศ.2516 ลาวแตกปี พ.ศ.2517 เขมรแตกปี พ.ศ.2518 ทุกประเทศเป็นคอมมิวนิสต์กันหมด ทีนี้ ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ขยายเข้ามาก็พุ่งเข้าสู่ประเทศไทย เป็นเป้าหมายสุดท้าย ทำให้การต่อสู้หลังปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา มันรุนแรงอย่างมาก รุนแรงไปทุกภาคของประเทศไทย เพราะเริ่มต่อสู้กันด้วยอาวุธ
       
       ตอนนั้นผมทำงานที่อีสานเหนืออยู่ 3 ปี อีสานเหนือคือทางจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย อะไรแถวๆ นั้น ผมดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้พันทหารราบอยู่ จนถึงปี พ.ศ.2520 ซึ่งทางที่ผมอยู่ ก็เริ่มต่อสู้กันหนักเหมือนกัน ส่วนทางด้านอีสานใต้ที่ติดกับประเทศกัมพูชามันได้เกิดวิกฤตขึ้นมา คือเขมรแดงเริ่มอาละวาด กวาดต้อน จับกุมราษฎรไทยลงไปเพื่อที่จะไปอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์แล้วส่งกลับเข้ามาก่อการร้าย กองทัพภาคที่ 2 เขาก็เลยย้ายหน่วยกองพันที่ผมอยู่ลงมาทางใต้แทน เพื่อจะมาระงับยับยั้งสถานการณ์ทางด้านกัมพูชา
       
       ตอนที่ผมย้ายลงมา เริ่มมีการต่อสู้กันที่ค่อนข้างหนักแล้ว ตอนนั้น พ.ศ.2521 ผมก็ได้เป็นผู้บังคับกองพันแล้ว ซึ่งกองพันจะรับผิดชอบปฏิบัติการณ์อยู่ชายแดนบุรีรัมย์ อำเภอละหานทราย มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ภายในจังหวัดนครราชสีมาด้วย ซึ่งคอมมิวนิสต์ขึ้นจากเขมรมาทางซีกบุรีรัมย์ นี่คือพื้นที่ที่ใกล้ที่สุดแล้วที่จะเข้าประเทศไทย ซึ่งเราก็ไปตัดเส้นทางตรงนั้น พอดีช่วงนั้นก็มีการก่อสร้างเส้นทางสายละหานทราย บุรีรัมย์ ลงมาตาพระยา ปราจีนบุรี เขาเรียกว่าเส้นทางยุทธศาสตร์ แต่ผมขอเรียกว่าเส้นทางนรก เพราะระหว่างก่อสร้าง มีการต่อสู้กันอย่างหนัก ทหารก็ดี เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ร่วมงาน แม้แต่ชาวบ้านบาดเจ็บล้มตายกันเยอะมาก เราก็ได้มาระงับยับยั้งสถานการณ์ในพื้นที่นี้
       
       การสูญเสียเจ้าหน้าที่มันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะตอนนั้น ที่ไหนเขาก็สูญเสียด้วยกันทั้งนั้นในภาวการณ์ต่อสู้ แต่ว่าทางซีกที่ผมอยู่ ประชาชนได้รับผลกระทบเยอะกว่าเพื่อน บาดเจ็บล้มตายจากกับระเบิดบ้าง ถูกจับกุมกวาดต้อนลงไปในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง สถานการณ์ดูค่อนข้างจะวิกฤตและรุนแรงที่สุด จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ท่านทรงสนพระทัยว่าทำไมการต่อสู้ตรงนี้ชาวบ้านถึงบ้านเจ็บล้มตายและเดือดร้อนกันมาก ท่านก็เลยเริ่มติดตามสถานการณ์ ติดตามข่าว แล้วประจวบกับว่า เป็นช่วงที่พระองค์ท่านมีรับสั่งก่อนหน้านั้นสัก 2-3 ปี ประมาณปี พ.ศ.2518 แล้วว่าให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ที่จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นที่พัก เป็นฐานปฏิบัติการณ์เวลาที่พระองค์ท่านจะมาเยี่ยมชาวบ้าน มาช่วยเหลือประชาชนในภาคอีสาน
       
       พอพระตำหนักหลังใหญ่สร้างเสร็จ ทุกพระองค์ก็เสด็จมาประทับยังที่แห่งนี้ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ที่พระตำหนักใหญ่ที่ภูพานราชนิเวศน์เป็นครั้งแรก สมัยนั้นแม่ทัพซึ่งก็คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้สั่งให้ผู้บังคับกองพันที่รับผิดชอบอยู่ชายแดนไปเฝ้าฯ รับเสด็จเพื่อที่จะถวายพระเกียรติ ทีนี้ ผู้พันก็ไปเฝ้าฯ รับเสด็จกัน ผมก็ไปด้วย ไปเข้าแถวยืนเรียงตามลำดับจากอาวุโส ซึ่งผมยืนเป็นคนสุดท้าย เพราะผมเป็นผู้พันที่มีอาวุโสน้อยสุด
       
       พอพระองค์ท่านเสด็จฯ มาอาคารที่ประทับแล้วท่านก็ทักทายผู้บังคับหน่วยทหารตั้งแต่คนแรกลงมาเรื่อยจนถึงคนสุดท้ายนั่นก็คือผม ท่านก็รับสั่งถามว่าทำงานที่ไหน ปฏิบัติการพื้นที่ไหน อะไรยังไง ซึ่งพอพระองค์ท่านทรงทราบว่าผมทำงานรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนบุรีรัมย์กับพื้นที่นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ท่านสนพระทัยอยู่ก่อนแล้ว เพราะว่ามีการต่อสู้กันรุนแรงกว่าทุกพื้นที่ในภาคอีสาน พระองค์ท่านสนพระทัยจึงซักถามอะไรเพิ่มเติมนิดหน่อยแล้วก็รับสั่งให้เข้าเฝ้าเป็นกรณีพิเศษในคืนวันนั้น
       
       หลังจากที่เสวยพระกระยาหาร และเลี้ยงข้าราชบริพารแม่ทัพนายกองทั้งหลาย รวมถึงผู้ว่าราชการเสร็จแล้ว พระองค์ท่านก็มีรับสั่งให้ผมไปเฝ้าเป็นกรณีพิเศษที่ห้องทรงงานส่วนพระองค์ (ยิ้ม) 

เป็นบุญของชีวิต...เปิดใจ “พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์” ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี
        

          • เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดครั้งแรกในชีวิต
       
       ตอนนั้นผมเข้าเฝ้าคนเดียวในห้องทำงานของท่าน ซึ่งพระองค์ท่านทรงซักถามรายละเอียดเพิ่มเติมด้วย ทรงแนะนำอะไรต่างๆ ด้วย และพระองค์ท่านก็ได้มอบหมายงานให้ทำเลย เพราะไหนๆ ก็ปฏิบัติงานอยู่จังหวัดบุรีรัมย์และนครราชสีมาอยู่แล้ว พระองค์ท่านรับสั่งให้ผมไปช่วยชลประทาน มีหน้าที่ดูแลให้ประชาชนมีความปลอดภัย ให้ชลประทานไปสร้างอ่างเก็บน้ำ ช่วยชาวบ้านที่โนนดินแดง อำเภอละหานทราย กับสร้างอ่างเก็บน้ำช่วยชาวบ้านที่บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ที่พระองค์ท่านทรงมอบหมายงานนี้เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างอ่างเก็บน้ำให้ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเขาเดือดร้อน ออกไปทำมาหากินไม่ได้ ถูกผู้ก่อการร้ายจับกุมบ้าง เหยียบกับระเบิดบาดเจ็บบ้าง ซึ่งงานนี้เป็นงานแรกที่ท่านมอบหมายงานให้ผมไปช่วย (ยิ้ม) 
       
         • หลังจากที่ได้รับมอบหมายงานในครั้งนั้นแล้ว ไม่ทราบว่าได้ไปตามเสด็จพระองค์ท่านอย่างไรบ้างคะ
       
       หลังจากนั้นมา ผมก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอีกบ้าง เวลาที่พระองค์ท่านสั่งให้ทำงานเพิ่มเติมจากที่ได้มอบหมายมาครั้งแรก พระองค์ก็จะคอยซักถามว่ามีปัญหาอะไรไหม ทำได้ไหม ก็เลยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและถวายงานพระองค์ท่านในช่วงปีแรกๆ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2522 พระองค์ท่านก็ได้เสด็จฯ มายังพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์อีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนเหมือนเดิม คราวนี้ท่านรับสั่งให้ผมไปตามเสด็จฯ เพื่อถวายอารักขาท่านด้วย เป็นการถวายอารักขาการเสด็จฯ ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในภาคอีสานด้วย ในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย ซึ่งพระองค์ท่านจะให้ผมไปถวายอารักขาเฉพาะช่วงที่ท่านเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับในภูมิภาคต่างๆ อย่างภาคเหนืออาจจะประมาณหนึ่งเดือน ภาคใต้ 2-3 อาทิตย์ อะไรทำนองนี้ ท่านรับสั่งว่า เพื่อที่จะให้ผมไปดูการปฏิบัติงานในพื้นที่อื่นๆ ว่าเขาทำกันอย่างไรบ้าง แล้วเราจะได้นำงานนั้นกลับมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ตั้งแต่นั้นมา ผมก็เลยได้ทำทั้งสองอย่าง คือทำหน้าที่ถวายอารักขาด้วย และถวายงานด้วย 

เป็นบุญของชีวิต...เปิดใจ “พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์” ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี
        

          • ในการถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เรียนรู้อะไรบ้าง แล้วนำมาปรับใช้ในการทำงานอย่างไรบ้างคะ
       
       ในเรื่องการทำงาน พระองค์ท่านทรงสอนหลายอย่างมาก ส่วนตัวผมมีอาชีพเป็นทหาร ทำอาชีพทหารเป็นหลัก เราไม่เคยได้เรียนรู้วิชาการอะไรของคนอื่นมาทั้งนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของการเกษตร การทำมาหากินช่วยชาวบ้านไม่เคยได้เล่าเรียน ไม่เคยศึกษามาก่อนเลย แต่พระองค์ท่านจะสอนผมเสมอว่า ไม่เป็นไร ถึงไม่ได้เรียนรู้มาก่อน ก็ขอให้สนใจในวิชาการของคนอื่น เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น แต่ว่าเราก็พอจะรู้ได้ ซึ่งพระองค์ท่านก็สอนแบบนี้มาตลอด เราก็เลยยึดแนวคำสอนนั้นในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ผมจะเรียนรู้จากหน่วยงานอื่นมาเรื่อยๆ นานไปเราก็จะเรียนรู้ได้เองอย่างที่พระองค์ท่านว่าจริงๆ
       
       ผมจะยึดแนวคำสอนของพระองค์ท่านเป็นหลัก เพราะพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ท่านสอนงานเก่ง เป็นครูที่สุดยอด ท่านจะทรงแนะนำวิธีการต่างๆ พระองค์ท่านทรงมีกลยุทธ์การทำงานให้สำเร็จได้โดยที่ไม่มีการบีบบังคับ ให้เราเป็นไปโดยธรรมชาติ โดยความพึงพอใจ พระองค์ท่านมีกลยุทธ์เยอะ
       
       ผมขอยกตัวอย่างจากเรื่องเล็กๆ ที่กลายมาเป็นเรื่องใหญ่ได้นะ อย่างเรื่องน้ำ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเชี่ยวชาญในเรื่องน้ำ และหัวใจสำคัญที่พระองค์ท่านทรงช่วยเหลือประชาชนนั่นก็คือเรื่องน้ำเป็นหลัก ท่านจะจัดหาน้ำให้ชาวบ้าน เพราะถ้ามีน้ำก็จะเพาะปลูกได้ ถ้ามีน้ำ การอยู่การกินก็จะดีขึ้น จะเห็นว่างานของพระองค์ท่านจะพระราชทานแหล่งน้ำเป็นหลัก แต่ว่างานที่พระราชทานบางเรื่องก็ไปขัดกับกระแสบ้างอะไรบ้าง
       
       อย่างเรื่องจริงเลยในภาคอีสาน สมัยเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับแรก พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ก็จะมีการสร้างเขื่อนใหญ่ๆ หลายเขื่อนในภาคอีสาน ในภาคอื่นก็เหมือนกัน รัฐบาลในยุคนั้นก็จะสร้างเขื่อนเป็นหลัก ก็จะเห็นเขื่อนที่มีพระนามาภิไธยเยอะแยะมากมาย อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ ตามพระราชนามของโอรสและพระราชธิดา ทีนี้ในภาคอีสานก็มีเขื่อน มีโครงการชลประทานใหญ่อยู่สองอันที่ทำไม่สำเร็จ เขาเรียกว่าโครงการมูลบนและโครงการชีบน โครงการสองอันนี้สาเหตุเกิดจากเราทำช้าไป ทำให้ถูกคัดค้านในยุคที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟูแล้ว มีความสมบูรณ์แล้ว
       
       เมื่อเกิดการคันค้าน รัฐบาลก็เลยสั่งยกเลิกโครงการ ซึ่งเขื่อนสองเขื่อนนี้สำคัญมาก เพราะภาคอีสานถ้าทำเขื่อนมูลบนและชีบนสำเร็จ จะสามารถช่วย 2 ใน 3 ของพื้นที่ภาคอีสานได้ แต่ว่ารัฐบาลสั่งยกเลิกไปแล้ว ซึ่งพระองค์ท่านก็คงเสียดายเพราะว่าจุดมุ่งหมายของท่านที่เสด็จประพาสภาคอีสานครั้งแรกปี พ.ศ.2498 ท่านตั้งพระทัยไว้ว่าภาคอีสานยากจนกว่าเพื่อน สิ่งแรกที่ท่านจะช่วยก็คือต้องหาน้ำให้ช่วยในการเพาะปลูก เมื่อเขื่อนสร้างไม่ได้ ก็แก้ปัญหาไม่ได้ พระองค์ท่านจึงดำเนินกลยุทธ์หาทางที่จะสร้าง ถึงสร้างไม่ได้หมด ก็พยายามทำให้ได้มากที่สุด พระองค์ท่านก็ไม่ได้ไปบีบบังคับใคร ไม่ได้บีบบังคับรัฐบาล แต่พระองค์ท่านทำของพระองค์เอง
       
       วิธีการของพระองค์ท่านคือให้ทำจากเล็กๆ ที่รับสั่งให้ผมไปทำโครงการแรกทั้งของจังหวัดบุรีรัมย์ และนครราชสีมา เป็นจุดเล็กๆ เป็นน้ำหยดแรกที่พระราชทานให้ทำ และจากหยดแรกท่านก็ค่อยๆ ขยายทำโครงการขนาดเล็ก เขื่อนอันแรกสำเร็จ ให้ทำอันที่สอง อันที่สามต่อเนื่อง มันก็สำเร็จหมด ไม่เห็นมีปัญหาอะไร พอทำจากเล็กๆ ได้สำเร็จ ชาวบ้านก็มีน้ำ เขาก็ชอบ พระองค์ท่านก็เริ่มขยับให้มาทำโครงการขนาดกลาง พอทำโครงการขนาดกลางก็สำเร็จอีก ชาวบ้านเห็นประโยชน์ก็ขยับมาทำโครงการใหญ่ นั่นก็คือโครงการที่รัฐบาลสมัยนั้นสั่งยกเลิกไปแล้ว คือโครงการมูลบน เราสามารถหยิบเอาโครงการมูลบนที่รัฐบาลสั่งยกเลิกกลับขึ้นมาทำใหม่แล้วสำเร็จ ซึ่งมันทำให้โครงการมูลบนสามารถขยายเป็นการพัฒนาลุ่มน้ำมูลทั้งลุ่มมูลบนของนครราชสีมาจังหวัดเดียวจะมีสองเขื่อน ทั้งสองเขื่อนสามารถบรรจุน้ำได้ถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับโครงการขนาดกลางที่ให้ทำก่อนหน้านี้แล้วสำเร็จอีก 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะนครราชสีมาสามารถบรรจุน้ำได้ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นในเวลา 5-6 ปี
       
       จาก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร พระองค์ท่านก็ขยายไปที่อื่นๆ อย่างสุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ซึ่งบุรีรัมย์ทำตรงนี้อยู่แล้ว เป็นการพัฒนาลุ่มน้ำมูลทั้งลุ่ม ทำต่อเนื่องเรื่อยมา ใช้เวลา 20 ปี จากปี พ.ศ.2521 มาเสร็จสมบูรณ์ปี พ.ศ.2541 จากที่ผมเป็นผู้พัน จนผมได้เป็นแม่ทัพ ที่พัฒนาลุ่มน้ำมูลสำเร็จ เขื่อน 200 กว่าโครงการเสร็จหมด ซึ่งทำให้เพิ่มน้ำแถวชายแดน เดิมที เราเก็บน้ำของเก่าได้ประมาณสัก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่พระองค์ท่านทำเสร็จสามารถเก็บน้ำเพิ่มขึ้นได้ถึง 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มน้ำขึ้นมาได้เป็นเท่าตัว ซึ่งมันก็สามารถแก้ปัญหาในอีสานใต้ ทำให้ทั้ง 5 จังหวัดนี้มีน้ำช่วยชาวนา ส่งผลไปถึงลุ่มน้ำมูลทางซีกทุ่งกุลาร้องไห้ทางจังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม ทางซีกนู้น
       
       ทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งเป็นความแห้งแล้ง เดี๋ยวนี้กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาลุ่มน้ำมูลตามแผนของพระองค์ท่าน ทำให้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยและโด่งดังที่สุดในโลกก็จากผลการพัฒนาตรงนี้ ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่า จากโครงการที่ยกเลิกไปแล้ว พระองค์ท่านสามารถนำกลับมาทำได้ใหม่ นี่คือตัวอย่างแค่อันเดียวนะ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีอีกเยอะที่ท่านได้ทำไว้ จะเห็นว่าพระองค์ท่านมีกลยุทธ์ในการทำงานโดยไม่ได้ฝืน แล้วก็เกิดความสงบเรียบร้อย ประชาชนก็ได้รับประโยชน์ (ยิ้ม) 

เป็นบุญของชีวิต...เปิดใจ “พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์” ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี
        

          • แสดงว่าพลเอกสนั่นได้ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ไปทุกพื้นที่ในประเทศไทยเลยใช่ไหมคะ
       
       ผมมีโอกาสไปศึกษางานทุกพื้นที่ ได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกันนะแต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละภูมิภาคก็แตกต่างกัน แต่งานส่วนใหญ่ที่ท่านมอบหมายให้ผมดูแลจริงๆ ก็จะเป็นงานในภาคอีสาน ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ ก็ได้ไปรู้ไปเห็น เพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนให้เรานำกลับมาทำ
       
       ผมจะไปทุกภาค อย่างภาคอีสานผมจะไปครบหมดทุกจังหวัดแล้ว ภาคเหนือพื้นที่ห่างไกล ผมก็ไปมาครบหมดแล้ว เพราะพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ท่านโปรดเสด็จฯไปภาคเหนือจะเป็นภาคที่มีปัญหาก่อนเพื่อน ปัญหาจากยาเสพติดสมัยก่อนปลูกฝิ่นจนมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก สามเหลี่ยมทองคำ ชาวเขาเขาปลูก ท่านก็เสด็จฯไปเยี่ยมชาวเขา พระองค์ท่านไม่ได้เยี่ยมชาวเขาบนดอยที่อยู่ใกล้ๆ นะ แต่ไปสุดชายแดนสุดเขตประเทศไทยเลย ก็ไปเจอชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติ พวกพลัดถิ่น 
       

       คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในแผ่นดินใหญ่ประเทศจีนมีการต่อสู้กันจนกระทั่งเหมาเจ๋อตุงมีอำนาจเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งประเทศ พวกที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ก็จะถอยร่นลงมาส่วนหนึ่งไปอยู่ที่ไต้หวัน ส่วนหนึ่งหนีมาที่ชายแดนประเทศไทย เขาเรียกก๊กมินตั๋ง จีนฮ่อ มาอยู่ชายแดนไทยเต็มไปหมด ชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ทั้งจังหวัด ชายแดนเชียงรายทั้งจังหวัด พะเยาทั้งจังหวัดมีแต่จีนฮ่อแล้วไม่มีสัญชาติ พระองค์ท่านจะไปเขตนี้ก่อน เพราะทรงเชี่ยวชาญเรื่องแผนที่ ท่านทรงอัจฉริยะเรื่องแผนที่ ท่านทรงดูแผนที่แล้วรู้ได้เลยว่าเขาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว
       
       อย่างที่ดอยอ่างขางที่ดังที่สุด จีนฮ่อเต็มเลย เมื่อเสด็จฯไปถึงก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่คนไทย แต่พระองค์ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร นอกจากตรัสบอกว่าที่นี่ให้ตั้งบ้าน สอนวิธีการทำมาหากิน ให้การศึกษาเล่าเรียน ให้ทหารตามเข้าไปดู ก็คือไปคุมไว้นั่นแหละ เพราะฉะนั้นมันคือการหมายพรมแดนว่าทุกพระบาทที่ย่างไปประทับไว้ มันคือหมายแนวผืนดินประเทศไทย ก็มีตั้งแต่ดอยอ่างขาง ถ้าดังๆ ก็มีบ้านอรุโณทัย เขตเชียงรายก็ดอยตุง ที่สมเด็จย่าไปสร้างที่ประทับอยู่บนเส้นเขตแดนเลย หลังอาคารดอยตุงไปไม่กี่ร้อยเมตรเป็นเส้นแบ่งเขตแดนกับพม่า เราก็ไปยึดไว้ ดอยอะไรต่อมิอะไรท่านจะเสด็จฯไปหมด
       
       เสด็จฯไป ก็ไม่ได้เสด็จไปธรรมดา พระราชทานโครงการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำเป็นการยึดหมายแนวไว้ ดอยแม่สะรอง ดอยผาจิ ภูพิทักษ์ที่ไปประทับพระบาทปูนปลาสเตอร์ไว้ ดอยชี้ฟ้า ดอยชี้ดาว ที่อยู่ของคนไร้สัญชาติคือจีนฮ่อ พระองค์ท่านไปมาหมด ไปพระราชทานโครงการ ไปพระราชทานความช่วยเหลือ ไม่เลือกศาสนา ไม่เลือกเชื้อชาติ โดยให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปดูแล คุมไว้ก่อน จะเห็นได้ว่าคนที่พระองค์ท่านพระราชทานให้ดูแล เดี๋ยวนี้จะเป็นหมู่บ้านชายแดน ให้เขาเป็นยามเป็นหมู่บ้านยามชายแดน คอยเฝ้าตรวจชายแดนให้ และคนพวกนี้เขาก็ช่วยเราในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แล้วก็ทำความดี เพราะฉะนั้น ชาวเขาพวกนี้เขาถึงรักพระเจ้าอยู่หัว รักพ่อหลวงแม่หลวงมากๆ ตอนหลังรัฐบาลก็ตอบแทนให้สัญชาติเกือบหมดแล้วมั้งนะเดี๋ยวนี้ เป็นคนไทยหมดแล้ว
       
       พระองค์ท่านไปช่วยเหลือประชาชน ในแง่ทางทหารมันเป็นการหมายแนวพรมแดนให้เพราะภาคเหนือเจ้าหน้าที่เข้าไม่ถึงหรอกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ใครจะไปสมัยนั้น เส้นทางก็ไม่มี ต่างชาติก็มาอยู่ชายแดนเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา มาจนจรดจังหวัดน่าน เต็มไปหมด เดี๋ยวนี้ก็ยังเข้าถึงไม่หมดเลย เพราะเส้นทางเข้าไปมันไปยาก แต่พระองค์ท่านไปมาแล้วทุกจุด ซึ่งอันนี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งภาคอื่นๆ ที่มีคล้ายกันก็มี 

เป็นบุญของชีวิต...เปิดใจ “พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์” ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี
        

          • ถวายงานตามพระองค์ท่านมาเป็นเวลากว่า 30 ปี มีสิ่งใดในการทำงานของพระองค์ท่านที่ท่านจดจำเป็นภาพประทับใจไม่ลืม
       
       ความพิเศษของพระองค์ท่านก็คือทรงมีพระวิริยอุตสาหะ มุ่งมั่น จะทำอะไร พระองค์ท่านจะต้องทำให้สำเร็จ จะช้าหรือเร็วไม่เป็นไร ขอให้สำเร็จ ทำทางตรงไม่ได้ก็ทำทางอ้อม อ้อมไปอ้อมมาแล้วสำเร็จก็ได้ พระองค์ท่านทรงมีความเพียรมาก เหมือนพระมหาชนกที่ว่ายน้ำอยู่ในทะเลโดยไม่รู้ว่าจะถึงฝั่งเมื่อไหร่ พระองค์ท่านจะทำอย่างนี้ตลอด นี่คือความพิเศษของพระองค์ท่าน
       
       ผมได้เห็นความมุ่งมั่นของพระองค์ท่านที่หาไม่พบในคนอื่น ท่านจะมุ่งมั่นมาก จะทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ จะเป็นงานใหญ่หรือแม้แต่งานเล็กๆ บางทีมีปัญหา ท่านก็จะไปอีกทางหนึ่งจนกระทั่งทำสำเร็จจนได้ มีตัวอย่างของจริงเยอะมาก
       
         • การไปตามพื้นที่ถิ่นทุรกันดารแน่นอนว่าจะต้องมีความยากลำบาก ในฐานะคนถวายงานที่ได้เห็นการทรงงานที่ทุ่มเทของพระองค์ท่าน อยากให้ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ ว่ามีเหตุการณ์ไหน หรือสถานที่ไหนที่เข้าไปยากลำบากหรืออันตรายมากๆ แต่พระองค์ท่านก็ไม่ทรงคิดย่อท้อที่จะเข้าไปหาประชาชนบ้าง
       
       ท่านจะทรงหาข่าวด้วยพระองค์เองในการเยี่ยมราษฎรแต่ละพื้นที่ที่ท่านเสด็จฯไป จะไปยกช่อฟ้า ไปเททอง ไปอะไรก็แล้วแต่ พระองค์ท่านจะไปเยี่ยมประชาชนเหมือนที่เราได้เห็นผ่านทางหน้าจอทีวีเลย พระองค์ท่านจะเดินเยี่ยมประชาชน ทักทายประชาชน ทรงคุยกับประชาชนในพื้นที่ที่ท่านทรงหาข่าว ประชาชนจะกราบบังคมทูลท่านว่าตรงไหนเป็นยังไงบ้าง มาจากบ้านไหน
       
       พระองค์ท่านโปรดที่จะเสด็จฯไปในพื้นที่ที่มีปัญหา เพราะจะไปช่วยแก้ปัญหาด้วยการพระราชทานโครงการต่างๆ ให้ เห็นว่าพระองค์ท่านซักถามชาวบ้านว่าทำอะไร ชาวบ้านก็จะตอบว่าทำนา ได้ข้าวพอกินไหม ชาวบ้านก็จะตอบว่าไม่พอ พระองค์ท่านก็จะหาปัญหาว่าเป็นเพราะอะไร ชาวบ้านก็ตอบมาว่าขาดน้ำ พระองค์ท่านก็จะรู้ว่าต้องหาน้ำช่วยนะ ให้เขามีน้ำ จะได้ทำนา ได้ข้าวพอกิน พระองค์ท่านจะทรงหาข่าวของพระองค์เองในลักษณะนี้ ยิ่งทรงทราบว่าตรงไหนมีความเดือดร้อน มีความทุกข์ ห่างไกล ขาดแคลน หรือยิ่งอันตรายท่านจะยิ่งชอบ ยิ่งอยากเสด็จฯไป มักจะเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง
       
       หนทางที่ไปก็มีทั้งยากลำบากบ้าง มีสบายบ้าง บางทีพระองค์ท่านริเริ่มเองก็มี แต่เรื่องอันตรายจากข้าศึกศัตรูจะไม่ค่อยพบ เพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยค่อนข้างเยอะ ทหาร ตำรวจจะดูแลอยู่แล้ว แต่บางเรื่องที่หวาดเสียว เกิดอันตรายจากธรรมชาติมันก็มี มีตัวอย่างเล่าให้ฟัง
       
       ครั้งหนึ่ง พระองค์ท่านไม่ได้บอกใครว่าจะเสด็จฯไปไหน ซึ่งจริงๆ พระองค์ท่านจะไปทรงงานที่จังหวัดสกลนคร น่าจะประมาณปี พ.ศ.2522 ตอนปลายปีท่านเสด็จฯไปเยี่ยมบ้านคนที่เป็นโรคเรื้อน สมัยก่อนหลัง พ.ศ.2500 คนที่เป็นโรคเรื้อนค่อนข้างมีเยอะ ในแต่ละภูมิภาคเขาจะรวมเอาคนที่เป็นโรคเรื้อนแยกไปอยู่รวมกันในพื้นที่ที่ห่างไกลเพราะไม่อยากให้โรคเรื้อนกระจาย และที่จังหวัดสกลนครจะมีจุดหนึ่งที่เขาจะแยกคนที่เป็นโรคเรื้อนไปอยู่ที่บ้านห้วยโหด อยู่บนภูเขา สมัยก่อนที่นี่จะอยู่ในเขตอำเภอเมือง ตำบลเต่างอย จังหวัดสกลนคร ท่านจัดขบวนเสด็จฯไป ทรงขับรถพระที่นั่งเอง ไม่ได้บอกว่าจะไปทำอะไร ซึ่งมารู้กันทีหลังว่าพระองค์ท่านจะไปเยี่ยมบ้านคนโรคเรื้อน
       
       เส้นทางไปที่นี่เรียกได้ว่าไม่มีเส้นทางไป มันเป็นทางลูกรังแล้วต้องข้ามห้วย ซึ่งที่นี่ไม่มีใครอยากไปติดต่ออยู่แล้ว เขาก็เลยไม่ได้สร้างถนน ไม่ได้สร้างสะพาน แต่จะมีขอนไม้วางพาด พอให้รถผ่านไปได้ ซึ่งพระองค์ท่านอาสาขับรถพระที่นั่งเอง ตอนขับไปไม่มีปัญหาอะไร ไปเยี่ยมประชาชนบ้านโรคเรื้อน ไปพระราชทานของให้นักเรียนเสร็จ พอขากลับใกล้ค่ำ โพล้เพล้ พระองค์ท่านก็ทรงขับรถพระที่นั่งเองเช่นเดิม จู่ๆ ก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เพราะตอนที่จะข้ามขอนไม้กลับล้อรถด้านหน้าได้ตกลงไป ทำให้รถเอียงไปครึ่งคัน ทำท่าจะคว่ำอยู่บนกลางลำห้วย
       
       ตอนนั้น ผมเองก็อยู่ในรถพระที่นั่งกับท่านด้วย แล้วก็มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริประทับนั่งอยู่ด้วย ผมก็นั่งติดกับพระองค์ แล้วก็มีองครักษ์ ทุกคนก็ตกใจหมดกลัวว่ารถจะพลิกคว่ำ ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงดับเครื่องแล้วก็นั่งเฉยๆ ทุกคนในรถไม่กล้าขยับเพราะกลัวว่ารถจะพลิกเพราะถ้าตกลงไปในห้วยจะยุ่ง ระหว่างที่ดับเครื่องเสร็จ พระองค์ท่านก็นั่งเฉยๆ ควักแผนที่ขึ้นมา ทอดพระเนตรแผนที่ ดูแผนที่อย่างเดียว จากนั้นก็มีหน่วยที่กู้ภัย เขาเรียกว่าหน่วยวิศวะจากข้างหลังวิ่งเข้ามาใช้เครื่องไม้เครื่องมือมายกรถเอาล้อขึ้นซึ่งใช้เวลาน่าจะประมาณครึ่งชั่วโมงเห็นจะได้ ซึ่งขณะนั้นพระองค์ท่านก็ยังคงนั่งทอดพระเนตรแผนที่เหมือนเดิม ทุกคนในรถ ก็ได้แต่นั่งนิ่งจนกระทั่งกู้รถเสร็จ
       
       เชื่อไหมว่าจุดนั้นแหละ จุดที่รถทำท่าจะตก ท่านได้วางโครงการต่อมา ก็คือให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหวด เป็นอ่างเก็บน้ำของจังหวัดสกลนครที่ตั้งอยู่ในพื้นราบเชิงเขาที่สวยมาก จุน้ำได้หลายล้านลูกบาศก์เมตรเลย เอามาช่วยชาวนาในเขตอำเภอเต่างอยได้เป็นหมื่นๆ ไร่ ซึ่งเดี๋ยวนี้เต่างอยก็มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการเกษตรไปแล้ว หลังจากนั้น พระองค์ท่านรับสั่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปสร้างโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปที่เต่างอยโดยใช้น้ำจากห้วยโหด ที่ที่รถเกือบคว่ำนั่นแหละ เป็นโรงงาน 1 ใน 4 โรงงานของผลิตภัณฑ์ตราดอยคำ
       
       เห็นไหมว่าในสถานการณ์ที่วิกฤตท่านสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส วางโครงการโดยที่ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าจะเกิดงาน โดยลักษณะนี้ที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ท่านทรงงานแล้วก็เกิดงานตามโอกาสที่ท่านเสด็จฯไปแต่ละพื้นที่โดยไม่มีการวางแผนอะไรล่วงหน้าไว้ก่อนซึ่งมันจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญเยอะมาก มีตัวอย่างอีกเยอะแยะที่เสด็จฯไปแล้วไปไม่ถึง หลงทางบ้างแต่ในระหว่างหลงทาง พระองค์ท่านก็สามารถที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสร้างงาน ดำริเพื่อพระราชทานโครงการต่างๆ สร้างอ่างเก็บน้ำบ้าง สร้างฝายบ้าง ซึ่งสามารถช่วยชาวบ้านได้ทั้งหมด
       
       งานพระราชดำริปลีกย่อยที่ช่วยชาวบ้านส่วนใหญ่ พระองค์ท่านจะทรงงาน ทรงขับรถเอง ไปโดยไม่มีหมาย ไม่บอกให้ใครรู้ พระองค์ท่านจะทรงขับรถซึ่งปกติจะมีรถตำรวจนำ ซึ่งตำรวจนำ ต้องมีตำรวจคนหนึ่งนั่งหันหลังดูรถพระที่นั่งที่ตามมา พระองค์ท่านจะยกไฟเลี้ยวว่าจะไปซ้ายหรือขวา ตำรวจจะต้องทำตามแล้วพระองค์ท่านก็ไปถึงที่หมายของพระองค์เอง พระองค์ไม่บอกล่วงหน้าว่าจะไปที่ไหนอย่างไรบ่อยๆ เพราะเหตุผลของพระองค์ท่านที่ท่านรับสั่งไว้ก็คือถ้าบอกแล้วมันจะติดด่าน จะมีประชาชนมารอเฝ้า มารอรับเสด็จฯ บางครั้งอาจจะทำให้ไปไม่ถึง งานของพระองค์ท่านไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น พระองค์ท่านจะไปโดยไม่บอก แต่ถ้าเสร็จงานแล้วไม่เป็นไร มักจะเป็นแบบนี้ พระองค์ท่านจะทรงงานในลักษณะนี้
       
       แต่ละภาคก็จะแตกต่างกันนะ อย่างภาคเหนือ พื้นที่จะค่อนข้างยากลำบาก พระองค์ท่านขับรถไปเองไม่ได้ ก็จะต้องเดินทางไปอีกอย่าง ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นหลักเพราะจะต้องไปเยี่ยมชาวเขา อยู่ในพื้นที่สูง จะเอารถยนต์ไปก็ไม่ได้อยู่แล้ว แตกต่างไปแต่ละภาค
       
       ภาคใต้ก็จะค่อนข้างอันตรายกว่า เพราะสมัยก่อน สถานการณ์แย่ มักจะไม่ค่อยบอกว่าไปไหน แต่จะมีนายทหารที่ทรงใช้สอยเป็นพิเศษที่เรียกว่าทหารเสือราชินี เป็นนายทหารเสริมกำลังพิเศษที่ถูกคัดเลือกไปจากหน่วยต่างๆ ไปช่วยงานท่าน ท่านจะใช้ทหารเหล่านี้ให้ไปสำรวจเส้นทางมาก่อน ทำแผนที่มาให้โดยไม่ให้บอกใคร เป็นความลับระหว่างพระองค์ท่านกับทหารเสือที่ท่านใช้สอย เพราะถ้าบอกจะอันตราย ไปแล้วก็จะเจอปัญหาต่างๆ ระหว่างเดินทางก็มีข้ามห้วย ข้ามไม่ได้ขับลุยน้ำก็มี
       
       มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นขับลุยน้ำครั้งแรกที่จังหวัดนราธิวาส ผมก็อยู่ในรถพระที่นั่ง ก็ไม่รู้ว่าพระองค์ท่านจะลุย ลุยจมไปครึ่งคัน ค่อนคัน แต่รถของพระองค์ท่านชั้นหนึ่งอยู่แล้ว น้ำไม่เข้า (หัวเราะ) ขับๆ ไป เส้นทางสำรวจไว้แล้วก็จริง แต่ว่าหลังสำรวจแล้วต้นไม้ใหญ่ล้มขวางก็มี ให้วิศวะเข้ามาแก้ไขให้เรื่อย ให้พระองค์ท่านได้ไปต่อ แต่ว่าเจอปัญหา พระองค์ท่านก็ไม่หวั่นเลยนะ พระองค์ท่านก็จะทรงงาน อ่านแผนที่เพื่อนำมาแก้ไข แล้วก็จะไปจนถึงที่ที่อยากจะไปให้ได้ งานก็เกิดขึ้น พระราชทานโครงการช่วยเหลือชาวบ้าน ลักษณะนี้จะมีบ่อยมาก 

เป็นบุญของชีวิต...เปิดใจ “พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์” ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี
        

          • อยากถามถึงความประทับใจในการตามถวายงานในหลวง รัชกาลที่ ๙ หน่อยค่ะ 
       
       ส่วนตัวผมประทับใจทุกครั้งที่ได้ตามเสด็จพระองค์ท่าน อย่างเรื่องคำสอนของพระเจ้าอยู่หัวท่านสุดยอดมากครับ ทั้งหลักการอะไรต่างๆ ซึ่งนักวิชาการก็เอามารวบรวมไว้เยอะแยะ สามารถเรียนรู้ได้ทั่วๆ ไป แต่ผมไม่ได้จดจำในนั้นหรอก แต่ผมจะจำในสิ่งที่ผมเห็นว่าจะทำให้งานสำเร็จที่พระองค์ท่านย้ำนักหนาคือให้สนใจในวิชาการของคนอื่น เราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น แต่เราพอรู้ได้ อีกอันท่านสอนว่าจะทำโครงการอะไร ต้องทำตั้งแต่ต้น ทำสิ่งที่ใกล้ตัวเราก่อน อย่าคิดให้นาน คิดแล้วต้องทำทันที มัวโอ้เอ้แล้วทำไม่ได้ อันนั้นก็เป็นหลักคำสอนให้ผมได้ยึดถือในการทำงานมาโดยตลอด
       
       ทำงานถวายพระเจ้าอยู่หัวแล้วผมมีความรู้สึกสบายใจ ตั้งแต่ทำงานกับพระองค์ท่านมา ผมไม่เคยเห็นพระองค์ท่านดุใครเลยนะ แต่พระองค์ท่านจะสอนวิธีการทำงานต่างๆ เวลามีเหตุการณ์วิกฤต มีปัญหาอะไรต่างๆ ถ้ามีโอกาสได้เฝ้าแล้วก็ถวายงาน ได้เล่าให้พระองค์ท่านฟัง ท่านก็จะแนะนำ
       
       ผมว่าพระองค์ท่านเป็นยิ่งกว่าพระ มีความนิ่ง พระองค์ท่านอัจฉริยะรอบด้านทุกอย่าง แม้แต่เรื่องการทหาร เพราะพระองค์ท่านจะทรงเชี่ยวชาญในด้านยุทธศาสตร์การทหารมาก ทหารเองบางทียังนึกไม่ถึง พระองค์ท่านรับสั่งแต่ละอัน ทำอย่างหนึ่งผลออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์มาก เช่น การปิดกั้นชายแดนอะไรต่างๆ ที่พระองค์ท่านได้สอนไว้ บางทีเราจะเห็นพระองค์ท่านรับสั่งทางทีวี ในสมัยก่อน ทุกวันที่ 4 ธันวาคม พระองค์ท่านจะออกมาให้ประชาชนได้เข้าเฝ้า พระองค์ท่านก็จะรับสั่งเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง หนึ่งปีก็ได้ฟังทีหนึ่ง ก็รับสั่งสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้เล่าอะไรให้ฟัง
       
       บางครั้ง พระองค์ท่านก็สั่งมาทางทีวี เพราะต้องการให้คนทั่วๆ ไปได้รับทราบ เช่นโครงการทฤษฎีใหม่ พระองค์ท่านก็จะอธิบาย บางเรื่องก็เป็นจิตวิทยาก็มี อย่างสมัยเขมรรบกัน เขายิงปืนเข้ามาในเขตไทย ตกในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็กลัว เพราะมันเป็นปืนรถถัง ชาวบ้านก็กลัวว่ารถถังจะบุกเข้ามา พระองค์ท่านก็รับสั่งทางทีวีเลยว่าให้สร้างอ่างเก็บน้ำดักรถถัง จริงๆ แล้วรถถังมาไม่ได้หรอก แต่เพื่อให้ชาวบ้านสบายใจ ซึ่งอ่างนี้ดักรถถังได้และอ่างที่พระองค์ท่านให้ทำก็เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำนา แต่ว่าก็สามารถดักได้จริงๆ นะ (หัวเราะ) บางทีพระองค์ท่านก็มีวิธีการหลายๆ วิธี
       
       เท่าที่ผมทำมา ผมเห็นว่างานของพระองค์ท่านมีประโยชน์ต่อประชาชนต่อเนื่องยาวนานนะ พระองค์ท่านสร้างอ่างเก็บน้ำไว้เฉพาะภาคอีสาน 700-800 โครงการเลยนะเฉพาะอีสานอย่างเดียว น้ำที่ท่านสร้างไว้อยู่ในเขื่อนในฝายมันใช้ไม่มีหมด ใช้ปีนี้หมด ปีหน้าฝนตกลงมามันก็เก็บกักไว้ ชาวบ้านก็ได้ใช้สอยประปา ทำนา ปลูกพืช มันใช้ไม่มีหมดตราบเท่าชีวิตเรามีเขื่อนเก็บน้ำได้ทุกปี อันนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่เห็นว่าสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้ เป็นการให้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนกับพระองค์ท่านทรงทำบุญไว้ บุญของท่านชาวบ้านก็ได้พึ่งพาอาศัย
       
       ตั้งแต่วันแรกที่ถวายงาน จนถึงวันนี้ ผมถือว่าเป็นบุญ เพราะว่าในชีวิตของผม ผมก็ไม่นึกว่าจะมีโอกาสเล่าเรียนหนังสือเพียรพยายามมาเป็นทหารสำเร็จ จากโรงเรียนนายร้อยก็ได้รับพระราชทานกระบี่ปริญญาบัตร ครั้งนั้นก็ถือว่าสูงสุดแล้วนะในชีวิต แต่พอได้มาทำงาน ได้มีโอกาสถวายงานแก่พระองค์ท่านอีก ก็ถือว่าเป็นเกียรติที่สูงที่สุดในชีวิตแล้ว ซึ่งพระองค์ท่านก็ได้พระราชทานบำเหน็จความชอบตอบแทนในสิ่งที่ผมทำหลายอย่างมาก มากจนประเมินค่าไม่ได้ เป็นเกียรติยศสูงสุด มีความภาคภูมิใจที่มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่าน ก็เหมือนได้ทำบุญ พระองค์ท่านทรงทำบุญทำทานช่วยชาวบ้าน เราก็ได้ช่วยด้วย เราก็ได้บุญไปด้วย 

เป็นบุญของชีวิต...เปิดใจ “พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์” ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี
        

เป็นบุญของชีวิต...เปิดใจ “พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์” ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เป็นบุญของชีวิต เปิดใจ พลเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์ ผู้ถวายงานใกล้ชิด ร.9 นานกว่า 30 ปี

view