สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเงินท้องถิ่น (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Smart SMEs โดย ไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี

คนทำธุรกิจทุกคน ไม่ได้มีโอกาสหาเงินได้จากการกู้ยืมธนาคารได้ทุกคนนะครับ หลายครั้งไม่ใช่ว่าไม่สามารถหาธนาคารได้ แต่เพราะสิ่งที่เราจะขอ มันดูมากกว่าที่เราจะชำระคืนได้ เราไม่เคยมีประวัติการกู้ยืมมาเลย ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน หรือรายได้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ และบางครั้งสิ่งที่เราต้องใช้เงินทุนมันก็มาจากความลำบากส่วนตัวที่เกิดขึ้น เช่น พ่อแม่ ลูกเต้าเจ็บป่วยต้องใช้เงินเพิ่ม เมื่อใช้มากขึ้น ก็ต้องไปกู้ยืมกันมา เมื่อกู้ยืมมาก็ต้องใช้คืนมาก และบางทีก็มากกว่าที่จะหาคืนได้ หรือไม่ต้องการผ่านกระบวนการยุ่งยาก ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่

สิ่งเหล่านี้ทำให้ครั้งหนึ่งในชีวิตของผู้ประกอบการอาจจะได้พบกับ"การเงินท้องถิ่น" หรือที่เราเรียกกันว่า "เงินกู้นอกระบบ" ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยเจอด้วยตัวเอง แต่ก็อาจจะได้เห็นจากข่าวหนังสือพิมพ์บ้าง

เงินกู้นอกระบบ เป็นอย่างไรกันบ้าง มีลักษณะการทำเป็นอย่างไร และทำได้อย่างไร เรามาลองดูกันนะครับ

เงินกู้นอกระบบ เป็นเรื่องของดีมานด์-ซัพพลายนะครับ คือ มีความต้องการกู้เงิน เพราะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ซึ่งทำให้ไม่สามารถกู้ในระบบได้ และมีเจ้าของเงินทุนที่ต้องการให้กู้เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน ก็ทำให้เกิดปัจจัยทั้งด้านดีมานด์และซัพพลายนะครับ (อุปสงค์และอุปทาน)

สมัยก่อน แหล่งเงินกู้นอกระบบ มักมาจากพ่อค้าหรือเศรษฐี ซึ่งมีเงินทุนมากพอ และบางครั้งเงินกู้นั้นก็มาจากความสงสาร หรือการที่ผู้กู้ซื้อของเงินเชื่อและไม่สามารถผ่อนชำระได้ ก็ต้องแปลงเป็นเงินกู้ และเมื่อให้เงินกู้ ก็ต้องขอหลักประกันมาประกันว่าจะได้เงินคืน เช่น ที่ดิน ที่นา ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ก็สามารถยอมรับได้ หรือในรูปแบบสุด ๆ คือ ไม่ต้องมีหลักประกันเลย

แต่ในยุคที่ดีมานด์มีจำนวนมาก และแหล่งเงินกู้เหล่านั้นอาจจะมีไม่มากพอ หรือนำไปลงทุนด้านอื่น ที่อาจจะดีกว่า หรือไม่อยากจะยึดหลักประกันมา เพราะมีที่นามากกันไปหมดแล้ว (ที่นาส่วนใหญ่ที่นายทุนยุคเดิมยึดมา ส่วนใหญ่ขายต่อไม่ได้นะครับ เพราะสภาพคล่องของที่นาต่ำมาก) สุดท้ายนายทุนเหล่านั้นก็กลายเป็นเศรษฐีที่นากันหมด และมีรายได้จากค่าเช่าที่นาจากชาวนาแทน ซึ่งก็ต่ำและขึ้นกับผลผลิตในแต่ละปีอีกนั่นแหละ

ดังนั้นแหล่งเงินทุนในปัจจุบัน เป็นเรื่องของการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนหลายแหล่งเพื่อการปล่อยกู้โดยเฉพาะ หรือพูดง่าย ๆ คือ เครือข่ายของแหล่งเงินกู้ครับ โดยตัวการซึ่งอาจจะมีเงินทุนด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะมี จะเป็นตัวการจัดการให้กับเครือข่ายของผู้มีเงินทุน ซึ่งจะเป็นพ่อค้า เศรษฐี หรือเป็นเพียงผู้มีเงินก้อนเก็บ และอยากหากำไรที่ดีกว่าฝากธนาคาร ซึ่งมีหลายระดับทั้งระดับเงินไม่กี่แสน ไปจนถึงหลาย ๆ ล้านบาท เพื่อรองรับการขอกู้ในแต่ละระดับ และเพื่อ Refinance กันเอง เพราะบางครั้งแหล่งทุนต่าง ๆ มีความต้องการเงินคืนไม่เท่ากัน บางคนอยากได้เงินก้อนกลับเร็ว บางคนอยากได้กลับช้า เครือข่ายยิ่งกว้างยิ่งทำให้ผู้กู้มีสภาพคล่องได้นานขึ้น แต่ก็ทำให้ผู้กู้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามลำดับด้วยครับ

ผลตอบแทนจากการปล่อยเงินกู้ดังกล่าว เป็นหนึ่งในน้ำมันหล่อลื่นให้เกิดการเงินท้องถิ่นขึ้น ในเมืองไทยการเข้าถึงระบบการเงินไม่ใช่เรื่องยาก แต่คุณสมบัติที่จะผ่านเกณฑ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากผู้กู้หลายท่านไม่ได้มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์นัก ทั้งเรื่องรายได้ หรือการจัดการธุรกิจ หรือหลายท่านในอดีตไม่มีวินัยในการรักษาประวัติทางการเงิน ก็ไม่สามารถผ่านคุณสมบัติที่ตัวกลางทางการเงินในระบบจะรับได้

คนเหล่านี้คือกลุ่มใหญ่ของการกู้นอกระบบครับในเมื่อคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีสถานะทางเครดิตรองลงมาย่อมไม่มีใครให้การกู้ยืมหากได้ผลตอบแทนเท่ากับระบบการเงินทั่วไปเพราะไม่คุ้มความเสี่ยงเพราะหลายรายไม่ได้มีความสามารถชำระหนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง การกู้เงินแบบนี้มักจะต้องมีหลักประกันมาให้ด้วย แต่มูลค่าจะเท่าใด และคุ้มความเสี่ยงกับหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นทุกเวลาหรือไม่นั้น เป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่ฝั่งเครือข่ายแหล่งเงินทุนจะต้องพิจารณาว่ารับหรือไม่ครับ

เล่าจบเรื่องปัจจัยของเงินกู้นอกระบบและสภาพที่มีทั้งดีมานด์และซัพพลายไปแล้วนะครับเนื้อที่หมดพอดีเดี๋ยวคราวหน้าจะเล่าให้ฟังว่ามันขับเคลื่อนอย่างไรและมันทำให้เกิดสภาวะหนี้กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทั้งฝั่งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร รวมถึงทำให้ลูกหนี้ประสบปัญหาภาระหนี้ท่วมตัวได้อย่างไร ถ้าหยุดหรือหาทางออกไม่ทันนะครับ

ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไร ทั้งธนาคารชุมชนเอานายทุนเข้าระบบ หรือระบบการเงินกึ่งกลาง (ระหว่างในระบบและนอกระบบ) สุดท้าย การแก้ปัญหาคือการจัดการที่เหมาะสม
ไม่ใช่การปราบปรามครับ เพราะเมื่อมีความเดือดร้อนเรื่องเงิน เมื่อนั้นก็มีเงินทุนเข้ามาหาประโยชน์ครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การเงินท้องถิ่น (1)

view