จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
|
|
พระผู้ทรงเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น, พระผู้ไม่มีรถส่วนตัวใช้, พระผู้ทรงฉันภัตตาหารในบาตรเหมือนพระวัดป่าทั่วๆ ไป, พระผู้ทรงถือพรรษา แต่ไม่ทรงถือสมณศักดิ์สูงใหญ่, พระผู้ทรงละทางโลก-ใฝ่ทางธรรม, พระผู้ทรงนำปัจจัยจากญาติโยมไปสร้างโรงเรียน-หนุนมูลนิธิ, พระผู้ทรงได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “พระแท้-พระจริง” แห่งยุคสมัย
พระผู้ทรงเป็น “ราชาแห่งคณะสงฆ์” องค์ใหม่ “สมเด็จอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)” สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระผู้ทรงพร้อมนำความสงบร่มเย็นมาสู่ผืนแผ่นดินธรรม-ผืนแผ่นดินไทยโดยแท้...
พระสายวัดป่า ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม
“เราได้มีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีโอกาสกราบท่านอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง เวลาทำบุญให้น้องพุ่ม เพราะอัฐิของน้องพุ่มบรรจุอยู่ที่นั่น ท่านเมตตาใจดีมาก สาธุ”
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนพระองค์ @nichax ด้วยภาพของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ แนบสัญลักษณ์ “พนมมือไหว้” เพื่อร่วมแสดงความปลื้มปีติในวาระที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 โดยมีพระราชทินนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”
ผู้ได้เคยมีโอกาสนมัสการหรือนิมนต์สนทนาธรรมต่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงคุณสมบัติเรื่อง “ความสมถะ” ที่ปรากฏเด่นชัดของพระองค์ท่าน เนื่องด้วยสมเด็จพระอริยสงฆ์ผู้นี้ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หลายต่อหลายครั้งจึงต้องเดินทางด้วยแท็กซี่เพื่อไปรับกิจนิมนต์ บางครั้งเดินด้วยเท้าเปล่า และมักจะถือฉันในบาตรเหมือนพระกรรมฐานสายวัดป่าทั่วๆ ไป
เมื่อว่างเว้นจากภาระธุระทางธรรมคราใด พระองค์มักจะเสด็จไปเยือนวัดป่าสายกรรมฐานตามจังหวัดต่างๆ อยู่เสมอๆ ทั้งยังเป็นพระผู้ไม่เคยแบ่งแยกถือตัว สนทนาธรรมได้ทั้งพระสายธรรมยุติและมหานิกาย แม้ในคราวที่ได้ขึ้นเป็น “สมเด็จ” แล้ว ท่านก็ยังคงกราบพระเถระผู้ใหญ่ที่มีอายุพรรษามากกว่าท่านเสมอๆ ด้วยจิตใจที่นอบน้อม จึงเป็นที่มาของคำสรรเสริญที่ว่า พระสมเด็จผู้นี้คือพระผู้ถือพรรษา ไม่ถือสมณศักดิ์ ช่างน่าชื่นชม
“เจ้าพระคุณสมเด็จชอบสนทนาธรรมกับพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในวัยหนุ่ม ท่านเดินทางไปสักการะและสนทนาธรรมกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ดูล อตุโล, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ฯลฯ พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังเป็นประจำ
มีเรื่องเล่าว่า เวลาท่านเดินทางไปภาคอีสาน ท่านจะฉันในบาตรเพียงมื้อเดียว เหมือนสายพระป่า และชอบปฏิบัติกัมมัฏฐาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ ท่านไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ทาง พศ. (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) จะจัดรถยนต์ถวายเวลาท่านเดินทาง เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย” พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) โฆษกและกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) บอกเล่าเอาไว้เช่นนั้น
เช่นเดียวกับ “หลวงปู่อุทัย สิริธโร” เจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่ (เจริญธรรม) ญาณสัมปันโน ที่ย้อนรอยอดีตเอาไว้ ถึงเมื่อครั้งเคยธุดงค์ปฏิบัติธรรมร่วมกันกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระมหามุนีวงศ์” ว่า “ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หมั่นปฏิบัติธรรมเป็นนิจ มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตา ปฏิบัติตนเคร่งครัด”
ศิษย์หลวงปู่ฝั้น “ทำใจให้สบาย”
"...เราไม่มีแม้สักแดงเดียวนะ เราไม่สะสม แม้แต่เหรียญท่านอาจารย์ฝั้น สักเหรียญเรายังไม่มี รถเราก็ไม่มี..."
นี่คือส่วนหนึ่งจากโอวาทธรรมของสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงที่ยังถูกเรียกว่า “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร)” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสมถะเรียบง่ายของพระองค์เป็นอย่างมาก ประชาชนสายธรรมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหมาะสมแล้วที่เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์ที่ประชาชนทั่วทั้งแผ่นดินเคารพศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติโดยแท้
ในฐานะหนึ่งในศิษย์ของหลวงปู่ฝั้น เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช เคยได้กล่าวถึงพระอาจารย์ใหญ่เอาไว้ ระหว่างแสดงพระธรรมเทศนาเนื่องในวันแสดงมุทิตาจิตแด่หลวงปู่อุทัย สิริธโร ณ วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน ต.โป่งตาลอง จ.นครราชสีมา เอาไว้ดังนี้
“...อาตมาได้เคยฟังธรรมจากท่านอาจารย์ใหญ่ฝั้น อาจาโร ตั้งแต่ครั้งที่ได้มากราบท่าน ท่านกล่าวว่า “ทำใจให้สบาย” ซึ่งยังปรากฏติดอยู่ในใจจนป่านนี้ คำว่าทำใจให้สบายในสำเนียงของท่าน รู้สึกว่าจับใจ ฟังแล้วทำให้ใจมันสบายตาม ซึ่งไม่ทราบว่าจะถ่ายทอดคำนี้ออกมาให้ท่านทั้งหลายทราบกันได้อย่างไร
ถ้าเราศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติธรรม เราคงจะได้อย่างที่อาจารย์ใหญ่ท่านบอกให้ฟังว่า ทำใจให้สบายได้ ก็ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ คือความสบายใจ ทำใจให้สบาย”
ไม่ใช่เพียงคำบอกเล่าจากพระสงฆ์องค์เจ้าเท่านั้นที่คอยย้ำถึงคุณงามความดีของสมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ 20 พระองค์นี้ แม้แต่ประชาชนผู้เคยมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับท่านยังบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า พระองค์เหมาะสมกับคำว่า “พระแท้” มากเพียงใด เรื่องราวจาก “ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน” ที่บอกเล่าผ่านแฟนเพจเอาไว้ คืออีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องราวที่เล่าจากประสบการณ์ตรง เมื่อครั้งเคยบวชเณรใหม่ๆ และเคยมี “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” หรือชื่อเรียกในสมัยนั้นคือ “พระมหาอัมพร” มาเป็นพระพี่เลี้ยง
“ผมยังจำครั้งแรกที่ท่านมหาอัมพรพาออกบิณฑบาตได้ หลังจากบวช 2-3 วัน ท่านเห็นว่าเดินไกลๆ แล้วจีวรไม่หลุดลุ่ยแน่ จึงนำวนไปทางวัดสุทัศนฯ มีโยมรายหนึ่งตั้งโต๊ะใหญ่มากหน้าบ้าน พระเณรยืนล้อมวงอยู่ห่างๆ เพื่อผลัดกันเข้าไปรับบาตรทีละองค์
รอสักครู่หนึ่ง พอเมื่อยก็ถึงคิวท่านอัมพร รับบาตรเสร็จ ผมเห็นพี่สองคนรีรออยู่ กลัวจะชักช้าก็เลยก้าวออกไปรับบาตรต่อทันที เสร็จแล้วก็เดินไปสมทบกับท่าน
โดนท่านดุว่าเณรไปตัดคิวพระท่านทำไม พอผมได้สังเกตจึงเห็นว่า พระท่านยืนแยกสายกันตามใครมาซ้ายมาขวา แล้วสลับเข้ารับบาตรซ้ายทีขวาที ผมไปเบิลเป็นขวาๆ ท่านมหาอัมพรเลยต้องเดินไปขอโทษพระองค์นั้น ซึ่งท่านก็ไม่ว่าอะไร...
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน