สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ท่องไปกับคณะราชทูตไทย เที่ยวอังกฤษสมัยควีนวิกตอเรีย! ตื่นตาตื่นใจกับของวิเศษใหม่ๆใน นิราศลอนดอน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย สุวิชชา เพียราษฎร์

ท่องไปกับคณะราชทูตไทย  เที่ยวอังกฤษสมัยควีนวิกตอเรีย! ตื่นตาตื่นใจกับของวิเศษใหม่ๆใน “นิราศลอนดอน”!!
คณะราชทูตไทยชุดแรกที่ไปอังกฤษในปี ๒๔๐๐
        ในพุทธศักราช ๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ส่งคณะราชทูตไทยไปเจริญพระราชไมตรีกับควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม ได้ร่วมโต๊ะเสวยอย่างเป็นทางการและเข้าเฝ้าในห้องน้ำชา ได้รับเชิญเข้าร่วม “งานรำเท้า”ในราชสำนัก และพระราชพิธีใหญ่ๆ ได้ท่องเที่ยวไปเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่เมืองไทยยังไม่มีหลายอย่าง ซึ่ง หม่อมราโชทัย ล่ามของคณะราชทูต ได้เล่าไว้อย่างละเอียดใน “นิราศลอนดอน” ที่หมอบลัดเลย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดพิมพ์ในปี ๒๔๐๔ สร้างประวัติศาสตร์ว่าเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ครั้งแรกในเมืองไทย
       
       ราชทูตคณะนี้ มี พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูต เจ้าหมื่นสรรพเพชญ์ภักดี (เพ็ญ เพ็ญกุล) เป็นอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ด้วง) เป็นตรีทูต จมื่นราชามาตย์ (ท้วม บุนนาค) กับ นายพิจารณ์ สรรพกิจ (ทองอยู่ กัลยาณมิตร) เป็นผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ และหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร ขุนจรทะเล (ฉุน) ขุนปรีชาชาญสมุทร เป็นล่ามหลวง พร้อมเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆรวม ๒๗ คน
       
       คณะราชทูตได้ออกเดินทางจากเมืองสมุทรปราการโดยอังกฤษได้ส่งเรือรบ “เอนกวนเตอ” มารับ เรือลำนี้เป็นเรือกลไฟยาว ๒๑๔ ฟิต มีลูกเรือ ๑๘๖ คน แต่เมื่อเวลาลมดีจะดับเครื่องจักรชักใบขึ้นแทน เป็นการประหยัดชื้อเพลิง
       
       ๙ วันจึงถึงสิงคโปร์ในความปกครองของอังกฤษ กัปตันได้สั่งให้ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นบนเสากระโดงหน้า แล้วทอดสมออยู่หน้าเมือง เจ้าเมืองได้ส่งคนมาต้อนรับถึงในเรือ แล้วบอกว่าเจ้าเมืองรู้ข่าวที่คณะราชทูตไทยออกจากบางกอกมาหลายวันแล้วรอรับอยู่ แต่มาถึงเอาวันอาทิตย์จะจัดทหารตั้งขบวนและยิงสลุตรับยังไม่ได้ ขอให้พักในเรือไปอีกคืน พรุ่งนี้จะจัดพิธีต้อนรับให้สมพระเกียรติพระเจ้ากรุงสยาม
       
       คณะราชทูตพักอยู่สิงคโปร์ ๑ สัปดาห์ มีการเลี้ยงต้อนรับอย่างเอิกเกริก ในคืนสุดท้ายยังมีการจัดงานบอลล์เลี้ยงส่ง มีแขกเหรื่อล้วนแต่ไฮโซประมาณ ๑๕๐ คน มีการเต้นรำด้วย ซึ่งตอนนั้นคนไทยเรียกกันว่า “รำเท้า” คณะราชทูตเลยนั่งดูฝรั่งรำเท้าอยู่จนดึก
       
       ราวเดือนหนึ่งต่อมาเรือได้แวะที่เมืองโกไซ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของตุรกี เพื่อหาซื้อถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เจ้าเมืองทราบว่ามีคณะราชทูตไทยมากับเรืออังกฤษ จึงเชิญขึ้นไปเลี้ยงรับรองและพาชมเมือง ราชทูตสังเกตเห็นว่าผู้ชายเมืองนี้มีคนตาบอดตาเจ็บมาก สอบดูจึงรู้ว่าคนจนในเมืองนี้ ถ้ามีลูกผู้ชายแล้วมักจะหาอะไรมาหยอดตาข้างขวาให้บอด เพื่อจะไม่ให้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เพราะเล็งศูนย์ปืนไม่ได้
       
       จากนั้นอีก ๕ วันถึงเมืองสุเอซ รองกงสุลอังกฤษได้ส่งเรือเล็กมารับคณะราชทูตไทยพร้อมเครื่องราชบรรณาการขึ้นบก เพราะต้องเดินทางต่อโดยรถไฟ แต่ขณะนั้นทางรถไฟเพิ่งสร้างมาจากเมืองอเล็กซานเดรีย ยังห่างอยู่อีก ๒๕ ไมล์ จึงต้องเดินทางด้วยขบวนรถม้า ๖ คันไปขึ้นรถไฟ และต้องเปลี่ยนม้าทุกชั่วโมงหรือราว ๕ ไมล์ ต้องใช้ม้า ๕ ชุดจึงถึง
       
       เมื่อไปถึงไคโร ๕ ทุ่มเศษ มะหะหมัด วาอิดปาชา เจ้าเมืองไคโร คนที่อนุญาตให้ขุดคลองสุเอซ ได้จัดรถม้า ๘ คันคอยรับราชทูต มีคนถือกระบองหุ้มเงินขี่ม้านำหน้ารถ ๑ คน ทหารขัดดาบขี่ม้า ๑ คู่ คนถือคบไฟนำหน้า ๒ คู่ หลัง ๑ คู่ คนถือโคมนำหน้ารถ ๑ คู่ รถคันต่อมามีคนถือคบไฟคันละ ๑ คู่ เข้าไปพักที่โรงแรมชื่อ โอเรียลเตล
       
       รุ่งเช้าเจ้าเมืองให้ขุนนางเอารถเทียมม้าคันละ ๖ ตัวมารับไปชมวัด วัง และอุทยานที่พักผ่อนของเจ้าเมือง ตอนบ่ายจึงให้ไปเฝ้าที่วัง โดยจัดกองทหารเกียรติยศต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ที่ประตูมีทหารขี่ม้าใส่เสื้อเกราะทองเหลือง สะพายปืนถือดาบ ๒ แถวๆละ ๖๐ คน ประตูชั้นในทหารถือปืนปลายหอก ๒ แถวๆละ ๖๐๐ คน แตรวง ๒๔ คน เมื่อรถม้าราชทูตไทยผ่านไปถึงชั้นไหน ทหารก็ทำความเคารพ เมื่อถึงที่ลงจากรถ มีขุนนาง ๓ คนมาเชิญเข้าไปข้างใน เจ้าเมืองนั่งอยู่ในห้องต้อนรับ แล้วเชิญให้นั่งบนที่นั่งเดียวกับเจ้าเมือง เอากาแฟมาเลี้ยง เอากล้องยาสูบมาให้สูบคนละอัน แล้วสวนสนามให้ชม
       
       รุ่งขึ้นอีกวันจึงขึ้นรถไฟจากไคโรไปเมืองท่าอเล็กซานเดรีย ระหว่างทางต้องข้ามแม่น้ำไนล์ซึ่งกว้างถึง ๔๐๐ เมตร ไม่มีสะพานข้าม ใช้สะพานเลื่อนเอารถไฟลงแพเหล็ก ชักรอกข้ามฟากไปตามส่ายโซ่ที่ขึงไว้ เมื่อถึงอีกฟากจึงเลื่อนรถขึ้นจากแพวางบนรางต่อไป
       
       ที่เมืองอเล็กซานเดรีย อังกฤษได้ส่งเรือมารับคณะราชทูตสยาม ๒ ลำ ลำหนึ่งเป็นกำปั่นรบ อีกลำเป็นเรือยอร์ชสำหรับขุนนาง มีห้องพักตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ความเร็วสูงชั่วโมงละ ๑๒ น็อต หรือ ๕๔๐ เส้น ลูกเรือ ๔๕ คน นายนาวาตรีเกลเวอร์ริง เป็นผู้บังคับการเรือ ซึ่งถูกอัธยาศัยกับคณะราชทูตเป็นอย่างมาก ถึงกับมีการขอตัวจากรัฐบาลอังกฤษให้ติดตามคณะราชทูตไทยไปตลอด
       
       เรือได้แวะพักที่มอลต้าและยิบรอลต้า ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และต้องหลบพายุเข้าพักที่เมืองไวโคของปอร์ตุเกส เมื่อเข้าจอดที่เมืองใดเจ้าเมืองรู้ว่ามีคณะราชทูตไทยมา ก็จะยิงสลุต ๑๙ นัดบ้าง ๒๑ นัดบ้าง และลงมาเยี่ยมถึงในเรือ พาขึ้นไปพักที่โฮเตลและพาชมเมือง
       
       ๓ เดือนกับ ๑ สัปดาห์จากวันออกเดินทาง เรือจึงมาถึงเมืองท่าปอร์ตสมัตของอังกฤษในเวลากลางคืน รุ่งเช้ากัปตันจึงให้ชักธงประจำพระองค์ ๒ กษัตริย์สยามขึ้น โดยธงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯขึ้นเสากลาง ธงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯขึ้นเสาหน้า และธงอังกฤษอยู่ท้ายเรือ นายพลเรือเอกเซอร์ยอร์ช ซีมัว ผู้บัญชาการทหารที่ปอร์ตสมัต ได้ลงมาเยี่ยมคณะราชทูตในเรือและกล่าวว่า สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียรับสั่งว่า ถ้าคณะราชทูตไทยมาถึงเมื่อใด ก็ให้จัดการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติพระเจ้ากรุงสยาม “ด้วยพระเจ้ากรุงสยามกับพระเจ้ากรุงลอนดอนนี้ มีพระทัยรักกันเหมือนพระญาติพระวงศ์อันสนิท”
       
       พร้อมกันนี้ นายพลเรือเอกเซอร์ยอร์ช ได้นำ มิสเตอร์เอ็ดเวิร์ด เฟาล์ ซึ่งรู้ธรรมเนียมตะวันออกอย่างดี เพราะอยู่ในพม่ามาถึง ๑๘ ปี ให้มาติดตามคณะราชทูตด้วย ซึ่งต่อมามิสเตอร์เฟาล์ผู้นี้ได้เข้ามารับราชการในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นหลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลสยาม ณ เมืองร่างกุ้ง จนถึงรัชกาลที่ ๕
       
       คณะราชทูตไทยต้องต่อรถไฟขบวนพิเศษจากเมืองปอร์ตสมัตไปที่สถานีวอเตอร์ลู กรุงลอนดอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๙๔ ไมล์เศษ รถที่มารับมีรถม้าพิเศษ ๒ คัน คันหนึ่งมีสักหลาดปักไหมทองเป็นตราพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ อีกคันปักไหมเงินคลุมหน้ารถ ที่ประตูรถเขียนเป็นธงช้างเผือก มีคนแต่งตัวใส่หมวกติดสายแถบทองยืนยืนท้ายรถ คันหนึ่งสำหรับราชทูตกับอุปทูต อีกคันสำหรับตรีทูตกับหม่อมราโชทัย นอกนั้นเป็นรถม้าธรรมดา พาไปพักกลาริชโฮเตล ซึ่งเป็นโฮเตลที่ดีที่สุดของกรุงลอนดอน
       
       รุ่งขึ้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของอังกฤษหลายคนก็เวียนมาเยี่ยมราชทูตถึงโฮเตล และพาไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ตกค่ำก็พาไปดูกายกรรมละครม้า ซึ่งเป็นที่ตื่นตื่นใจของคณะราชทูตมาก
       
       หม่อมราโชทัยได้บันทึกหลังจากที่ตระเวนดูเซอคัสมาหลายแห่งไว้ว่า
       
       “...ที่ในเมืองอิงแลนด์มีละครอยู่หลายแห่ง ล้วนวิเศษต่างๆกัน บางเรื่องมีผู้หญิงรูปร่างงามแต่งตัวเป็นเทวดาฝรั่งเหาะเลื่อนลอยมา แต่ไม่เห็นสิ่งใดจะเป็นสายใยยนต์ที่คนจะอาศัยได้ ดูเลื่อนลอยมาแต่กาย บางทีก็ออกมาจากภูเขา บางทีก็ผุดขึ้นมาจากดิน บรรดาคนที่แต่งเป็นเทวดาล้วนมีรัศมีออกมาจากกายทั้งสิ้น...”
       
       ต่อมาคณะราชทูตได้ไปดูการต่อเรือใหญ่ที่เพิ่งจะแล้วเสร็จ ชื่อ “เกรทอิสเทิร์น” เป็นเรือเหล็กยาวถึง ๖๙๑ ฟิต มีปล่องไฟ ๕ ปล่อง เสากระโดง ๖ เสา จุคนได้ราว ๑๐,๐๐๐ คน
       
       “...แต่กำปั่นนี้มิใช่กำปั่นรบ ต่อไว้รับจ้างคนที่จะไปธุระและเที่ยวเล่นต่างบ้านต่างเมือง เป็นกำปั่นกุมปะนี...”
       
       จากนั้นก็ไปดูอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเทมส์ ยาว ๒,๐๐๐ ฟิต กว้างถึง ๗๖ ฟิต มีทั้งทางรถและทางคนเดิน
       
       “...ตามริมทางขายของเล่นของกินต่างๆ ดูสนุก สว่างจ้าด้วยแสงไฟก๊าด คนเดินไปเดินมามิได้ขาด อนึ่งเรือกลไฟที่ขึ้นล่องอยู่ตามแม่น้ำ ถ้ามาถึงตรงนั้นคนที่อยู่ในอุโมงค์ก็รู้ ด้วยจักรพัดน้ำได้ยินถนัด...”
       
       เผอิญตอนนั้นดัชเชส เดอ นิมัว พระญาติของควีนเกิดเป็นลมสิ้นพระชนม์ หมายกำหนดการที่จะให้ราชทูตไทยเข้าเฝ้าจึงต้องเลื่อนไประยะหนึ่ง ราชทูตทั้ง ๓ พร้อมด้วยผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการและล่าม รวม ๘ คน จึงถูกเชิญขึ้นรถไฟไปเฝ้าที่พระราชวังวินเซอร์ ซึ่งเป็นพระราชวังฤดูหนาว ห่างไป ๒๓ ไมล์
       
       สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียรับสั่งมาว่า ยังไม่เคยมีราชทูตสยามมาอังกฤษเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ทรงยินดีนัก อยากเห็นธรรมเนียมไทยที่เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินนั้นทำประการใด ขอให้ราชทูตเข้าเฝ้าตามธรรมเนียมไทยเถิด
       
       ก่อนเวลาเข้าเฝ้า ราชทูตไทยได้ไปคอยอยู่ที่ห้องหนึ่งในพระราชวัง จนได้ยินเสียงปี่ดนตรีประโคม จึงรู้ว่าควีนเสด็จแล้ว นายพลเซอร์เอ็ดเวิร์ด ดัสต์ เจ้าพนักงานพิธี ได้นำทูตานุทูตไปส่งที่ห้องเฝ้า หน้าประตูมีทหารใส่เสื้อปักทองถือขวานด้ามยาว ปลายเป็นกริช ยืนรักษาอยู่ทั้งสองข้างประตู ราชทูตจึงเชิญพระราชสาส์นและบวรราชสาส์นรวมลงพานเดียวกัน แล้วเดินเข้าไปในที่เฝ้า เมื่อถึงประตูชั้นใน อุปทูต ตรีทูต หม่อมราโชทัย จมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ขุนจรเจนทะเล ขุนปรีชาชาญสมุทร พร้อมกันถวายบังคมแล้วคลานเข้าไปจนถึงที่เฝ้า ราชทูตเชิญพานพระราชสาส์นขึ้นวางบนโต๊ะที่ตั้งอยู่ตรงหน้าราชบัลลังก์ ห่างประมาณ ๘ ศอก แล้วคลานถอยออกมาถึงที่เฝ้าซึ่งไกลจากควีนประมาณ ๑๐ ศอก พร้อมกันถวายบังคม แล้วราชทูตอ่านคำทูลเบิกความเป็นภาษาไทย มีใจความแนะนำบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้า ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการและพระบวรราชโองการเชิญพระราชสาส์นนำเครื่องมงคลราชบรรณาการจากพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ ออกมาเจริญพระราชไมตรีในพระเจ้ากรุงลอนดอน
       
       ครั้นจบ มิสเตอร์เฟาล์จึงอ่านคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วคณะราชทูตถวายบังคมอีกครั้ง ราชทูตคลานไปเชิญพระราชสาส์นซึ่งตั้งไว้บนโต๊ะเดินเข้าไปที่ราชบัลลังก์ แล้วคุกเข่าชูพระราชสาส์นขึ้นถวาย ควีนทรงรับและวางไว้ข้างพระองค์ ราชทูตก็คลานถอยอกมา
       
       ควีนทรงอ่านคำตอบมีใจความว่า เรามีความยินดีที่ได้รับราชทูตซึ่งมาจากพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ เราหมายใจว่าพระองค์จะเป็นที่ยั่งยืน ด้วยเราเห็นว่าราชทูตนั้นเหมือนเป็นของสำคัญแห่งไมตรีของพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ และหมายว่าพระองค์ท่านทั้งสองจะเป็นญาติสัมพันธมิตร รักษาอาณาจักรและราษฎรให้ดียิ่งขึ้นไป
       
       อ่านจบแล้วทรงส่งให้ลอร์ดกาเรนดอนเอามาพระราชทานราชทูต รับสั่งให้บอกด้วยว่า ควินมีพระทัยยินดีที่ได้รับเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ ขอบพระทัยนัก
       
       ราชทูตยังไม่ทันทูลตอบประการใด ลอร์ดกาเรนดอนก็บอกว่า ครั้งนี้เสด็จออกรับเป็นพิธีเท่านั้น ยังโปรดให้เข้าเฝ้าอีก จะพูดจาเพ็ดทูลอย่างไรก็ให้งดไว้ก่อน ค่อยเพ็ดทูลวันหลัง วันนี้เชิญกลับก่อน คณะราชทูตจึงถวายบังคมลา คลานออกจากที่เฝ้า
       
       การเข้าเฝ้าของคณะราชทูตไทยครั้งนี้ หนังสือพิมพ์ของอังกฤษทุกฉบับพากันสรรเสริญว่า ราชทูตไทยมีอัธยาศัยซื่อตรง เคยเคารพนบนอบเจ้านายของตนอย่างไร ก็ถวายความเคารพต่อควีนเช่นกัน แล้วถือโอกาสเหยียดหยามคนอินเดียในปกครองว่า ไม่เย่อหยิ่งเหมือนพวกแขกอินเดียที่ไปเมืองอังกฤษ ซึ่งแสดงความกระด้างกระเดื่องเวลาเข้าเฝ้า จะเอาอย่างฝรั่งก็ไม่ใช่ จะเอาอย่างแบบเดิมของตนก็ไม่เอา ดูไม่เป็นการเคารพโดยบริสุทธิ์ใจ
       
       แต่ก็มีหนังสือพิมพ์ในไอร์แลนด์นั่งเทียนเขียนข่าวว่า หลังจากเข้าเฝ้าแล้วได้เสด็จไปร่วมโต๊ะเสวยกับราชทูตไทย ราชทูตไทยได้นำบุหรี่ออกมาสูบต่อหน้าพระที่นั่ง รัฐบาลอังกฤษจึงได้แถลงแก้ทันทีว่า ข่าวนั้นคลาดเคลื่อน วันนั้นควีนไม่ได้พระราชทานเลี้ยง และทูตไทยก็ไม่ได้เอาบุหรี่ออกมาสูบ
       
       สัปดาห์ต่อมาควีนได้รับสั่งให้รับคณะราชทูตไทยไปพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำที่พระราชวังวินด์เซอร์ มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ตามเสด็จ โดยจัดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ ราชทูต นั่งตรงข้ามโต๊ะกับควีน ต่อไปด้านซ้าย ลอร์ดกาเรนดอนนั่งตรงข้ามกับปรินซ์เฟรดดริก วิลเลี่ยม ถัดไปเจ้าหมื่นสรรพเพชญ์ภักดี อุปทูต นั่งตรงข้ามกับปรินเซสรอยัล ด้านขวา จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ตรีทูต นั่งตรงข้ามกับปรินซ์อัลเบิร์ต พระสวามีของควีน ต่อมา หม่อมราโชทัยนั่งตรงข้ามกับดัชเชสเคนท์ พระราชชนนีของควีน ส่วนขุนจรทะเลให้นั่งอยู่ข้างหลังคอยเป็นล่าม
       
       หม่อมราโชทัยบันทึกไว้ว่า...เมื่อกินโต๊ะนั้น ควีนหาได้รับตรัสประการใดด้วยราชทูตไม่ จนเสวยเสร็จแล้วก็เสด็จจากเก้าอี้กลับไปประทับอยู่ห้องแห่งหนึ่ง แล้วรับสั่งให้ขุนนางมาเชิญราชทูตไปเฝ้าในที่นั้น เมื่อราชทูตไปถึง ควีนได้เสด็จมายืนตรงหน้าราชทูต ตรัสถามว่า ท่านมาตามทางมีความสบายอยู่หรือ ราชทูตทูลว่ามีความสุขสบายมาก ควีนรับสั่งว่า เราได้ยินคำว่าสบายนั้นเรามีความยินดีนัก แล้วเสด็จไปยืนตรงหน้าอุปทูตตรัสถามว่า พระเจ้าอยู่หัวที่หนึ่งในกรุงสยามทรงสบายอยู่หรือ อุปทูตตอบว่าทรงสบายอยู่ แล้วตรัสถามว่าท่านไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ เป็นแต่ได้ทรงเลี้ยงมาหรือ อุปทูตทูลรับ แล้วเสด็จไปยืนหน้าตรีทูตตรัสถามว่า
       
       พระเจ้าอยู่หัวที่สองในสยามทรงสบายอยู่หรือ ตรีทูตก็ทูลว่าทรงสบายอยู่ แล้วเสด็จไปยืนตรงหน้าหม่อมราโชทัย รับสั่งถามว่า ท่านพูดอังกฤษได้หรือ หม่อมราโชทัยทูลว่าได้เล็กน้อย แล้วรับสั่งถามว่าท่านเรียนในเมืองไทยหรือไปเรียนที่อื่น หม่อมราโชทัยทูลว่าเรียนในเมืองไทย แล้วผินพระพักตร์ไปรับสั่งด้วยมิสเตอร์เฟาล์และกัปตันเกลเวอริง แล้วเสด็จไป ปรินซ์อัลเบิร์ตจึงเสด็จมาจับมือราชทูตทั้ง ๓ กับหม่อมราโชทัย แล้วตรัสไถ่ถามถึงทุกข์สุข แล้วเสด็จกลับไป ลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงใหญ่ เจ้าชายรอง เจ้าหญิง ที่ ๓ จึงเข้ามาพูดจาแล้วหลีกออกไป เจ้าชายเฟรดดริก วิลเลี่ยมจึงเข้ามาพูดต่อภายหลัง
       
       ควีนได้เสด็จไปอีกห้องหนึ่ง รับสั่งให้พาราชทูตทั้ง ๓ และหม่อมราโชทัยไปเฝ้า โปรดให้นั่งโต๊ะเดียวกัน พระราชทานน้ำชากาแฟ พูดจาถามไถ่กันไปมาตามธรรมเนียม แล้วรับสั่งให้มโหรีบรรเลงให้ทูตานุทูตฟัง จน ๕ ทุ่มควีนจึงเสด็จขึ้น
       
       คืนนั้นคณะราชทูตได้พักอยู่ในพระราชวังวินเซอร์ รุ่งเช้าเจ้าชายอัลเบิร์ตพระสวามีพร้อมด้วยโอรสธิดาทั้ง ๙ พระองค์ จึงมารับของพระราชทานที่นำไปจากเมืองไทย
       
       นอกจากจะได้รับเชิญไปร่วมงานรื่นเริงสังสรรค์ในพระราชวังบักกิงแฮม ได้เห็นควีนเต้นรำกับพระญาติพระวงศ์ใกล้ชิดแล้ว ยังได้รับเชิญไปในงานแต่งงานของเจ้าหญิงรอยัลกับเจ้าชายเฟรดดริก วิลเลี่ยม ซึ่งต่อมาก็คือพระเจ้าไกเซอร์ที่ ๑ แห่งเยอรมัน งานนี้ขุนนางและเศรษฐีอยากจะมาร่วมงานมาก แม้จะเสียเงินเท่าไหร่ก็ไม่สามารถไปได้ เพราะมีผู้จะเข้าไปร่วมพิธีในโบสถ์ได้เพียง ๒๐๐ คนเท่านั้น แต่ราชทูตไทยได้รับเชิญตั้งแต่การทำพิธีในโบสถ์ งานฉลองสมรสคืนนั้นที่พระราชวังบักกิงแฮม แม้แต่ในวันที่เจ้าชายเจ้าหญิงจะทูลลาควีนไปอยู่ปรัสเซีย ซึ่งจัดที่พระราชวังเซนต์เจมส์ ทูตไทยก็ได้รับเชิญไปร่วม ตลอดเวลาที่อยู่ในกรุงลอนดอน ไม่ว่าจะมีงานราชพิธีใดๆในราชสำนักอังกฤษ คณะราชทูตไทยจะเป็นแขกที่ขาดไม่ได้ทุกงาน
       
       ในวันที่เข้าเฝ้าเพื่อทูลลากลับ ควีนวิกตอเรียโปรดให้ราชทูตไทยเข้าเฝ้าที่ห้องจีนในพระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งตกแต่งด้วยของจีนทั้งสิ้น ควีนรับสั่งให้หม่อมราโชทัยเข้าไปใกล้แล้วตรัสว่า พวกราชทูตมาอยู่กรุงลอนดอนได้ยินว่ามีความสุขอยู่ แต่เสียดายที่มาในฤดูหนาว ราชทูตให้ทูลว่า ความหนาวนั้นไม่สู้เป็นไรนัก ด้วยมาอยู่นานก็เคยไป ควีนจึงรับสั่งว่า เราปรารถนาให้ท่านทั้งปวงจงไปดี มีความสุขตลอดถึงบ้านถึงเมืองเถิด เมื่อท่านทั้งปวงไปถึงแล้วจึงกราบทูลพระเจ้ากรุงสยามด้วยว่า เราขอให้ทรงพระชนมายุยืนยาวอยู่ในราชสมบัติทั้งสองพระองค์ กิจการที่ท่านได้เห็นได้ยิน จงกราบทูลชี้แจงให้ทรงทราบด้วย หม่อมราโชทัยก็บอกราชทูตตามรับสั่ง แล้วจึงทูลว่า ถ้าพวกข้าพเจ้าได้กลับไปถึงกรุงเทพฯแล้ว จะกราบทูลให้ถ้วนถี่ว่าพระองค์ทรงเมตตาโปรดปรานรับรองให้มีความสุขสบายอย่างไร และการอันใดที่พวกข้าพเจ้าได้ยินได้เห็น ก็จะกราบทูลให้สิ้นทุกประการ
       
       ตลอดเวลา ๔ เดือนกับ ๗ วันที่คณะราชทูตไทยอยู่ในกรุงลอนดอน ต่างมีความประทับใจในการต้อนรับเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรงแรมที่ยังไม่มีในเมืองไทยนั้น หม่อมราโชทัยบันทึกไว้ว่า
       
       “...มีที่กินอยู่นั่งนอนเป็นสุขยิ่งกว่าอยู่ในบ้านเรือนของตัว เวลาเช้าตื่นนอนล้างหน้าแต่งการใส่เสื้อเสร็จจึงเปิดประตูห้องออกไว้ พวกผู้หญิงสาวๆก็เอาถ่านศิลาเข้าไปใส่ไฟให้ แล้วเช็ดถูตู้เตียงสิ่งของทั้งปวงให้หมดจด ทั้งที่นั่งที่นอนก็ปูปัด จัดแจ้งน้ำกินน้ำใช้ใส่ที่พร้อมแล้วก็ลากลับไป ถึงเวลาเย็นก็มาทำอีกเหมือนเวลาเช้า และเอาเทียนปักไว้ที่เชิงเทียนสองเล่มพอจุดตลอดรุ่ง เปลี่ยนผ้าเช็ดหน้าใหม่ไว้ เอาผืนเก่าไปซักเสีย ทำดังนั้นเสมอทุกวันมิได้ขาด แล้วก็มีหมอคนหนึ่งมาตรวจตราดูแลทุกวัน ถ้าพวกราชทูตคนใดป่วยไข้หมอก็ให้ยารักษาจนหาย
       
       เมื่อเวลาเช้าก่อนกินข้าว คนที่รับใช้ก็ยกถาดเงินใหญ่ใส่น้ำชา มีน้ำตาลทราย นมโค ขนมปังอ่อน เนยเหลว มาให้ถึงห้อง เวลาสาย ๔ โมงจึงเลี้ยงข้าว เวลาที่เลี้ยงน้ำชามีผลไม้และขนมอีกหลายสิ่ง บ่าย ๓ โมงเลี้ยงข้าวเย็น เวลาค่ำเลี้ยงน้ำชาเหมือนกลางวันอีกครั้ง ในเวลาเลี้ยงหรือเวลาอื่นก็ดี พวกราชทูตปรารถนาจะกินสิ่งใด ผู้รับใช้ก็ไปหาซื้อมาให้ มิได้คิดว่าราคาถูกหรือแพง ถ้าของไม่มีในเมืองหลวง จะมีอยู่หัวเมืองทางไกลกันเหมือนกรุงเทพฯไปพิษณุโลก ผู้รับใช้ก็จะบอกไปทางสายเตลคราฟ ฝ่ายคนที่อยู่ในเมืองโน้นรู้ก็จัดแจงของนั้นฝากมากับรถไฟโดยเร็ว ไม่ทันข้ามวันก็ได้กินสมปรารถนา...”
       
       สำหรับรถไฟที่คณะราชทูตไม่เคยเห็นมาก่อน หม่อมราโชทัยบรรยายไว้ว่า
       
       “...ยังมีรถวิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือรถไฟสำหรับใช้ทางไกล ไปได้ตลอดทุกหัวเมืองที่อยู่บนเกาะเกรทบริเตน ทางรถไฟนั้นทำด้วยเหล็กเป็นทางตรง ถ้าถึงภูเขาก็เจาะเป็นอุโมงตลอดไปจนข้างโน้น ที่เป็นเนินต่ำๆก็ตัดเนินลงเป็นทางราบเสมอดิน ถ้าถึงแม่น้ำหรือคลองก็ก่อตะพานศิลาข้าม ถ้าเป็นที่ลุ่มก็ถมขึ้นให้ดอนเสมอ แล้วทำเป็น ๒ ทางบ้าง ๔ ทางบ้างเคียงกัน ไม่ให้ร่วมทางด้วยกลัวจะโดนกัน ที่ว่ารถไฟนั้นจะเป็นรถไฟทุกรถมิได้ เป็นรถไฟอยู่รถเดียวแต่รถหน้า แล้วลากรถอื่นไปได้ถึง ๒๐ รถเศษ บางทีถ้าจะไปเร็วก็ลากแต่น้อยเพียง ๗ รถ ๘ รถ รถที่เดินเร็วเดินได้ชั่วโมงละ ๖๐ ไมล์ คือ ๒,๗๐๐ เส้นเป็นกำหนด รถเหล่านั้นมีขอเกี่ยวต่อๆกันไป...”
       
       “...ตามข้างทางที่รถไฟไป มีเสายาว ๖ ศอกปักห่างกันประมาณ ๓๐ วา บนปลายเสาใส่ลวดไฟฟ้าล่ามตลอดไปทุกหัวเมืองที่อยู่ในประเทศเกรทบริเตน ไฟฟ้าอย่างนั้นภาษาอังกฤษเรียกเตลคราฟ สำหรับบอกเหตุการณ์กิจธุระสิ่งใดได้โดยรวดเร็ว แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของ ถ้าผู้ซึ่งอยู่ต่างบ้านต่างเมืองทางไกลกัน เหมือนกรุงเทพฯขึ้นไปเมืองนครราชสีมา แม้จะบอกความข้อใดข้อหนึ่งไปให้คนที่อยู่เมืองโน้นรู้แล้ว คนข้างโน้นจะบอกตอบมาได้โดยเร็ว เหมือนเรานั่งพูดกันเล่นในที่ใกล้ แต่เราจะบอกเองไม่ได้ ต้องบอกความแก่ผู้รักษาอยู่ที่ต้นลวด...”
       
       ขากลับ ทางอ่าวบิสเคลมแรงมากในฤหนาว รัฐบาลอังกฤษจึงส่งข้ามช่องแคบโดเวอร์ให้ขึ้นรถไฟไปทางกรุงปารีส และไปลงเรือที่เมืองท่ามาร์เซลส์ โดยอังกฤษได้ส่งเรือยอร์ชลำโก้ที่เคยไปรับที่เมืองอเล็กซานเดรียไปปอร์ตสมัต มารับข้ามไปอเล็กซานเดรียอีก จากนั้นต่อรถไฟไปไคโร แล้วไปลงเรือที่สุเอช กลับไทยตามเส้นทางขามา
       
       การไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษของราชทูตไทยครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับอย่างน่าอบอุ่นประทับใจจากราชสำนักอังกฤษ แต่หลังจากนั้นเพียง ๑๔ ปี คือในปี ๒๔๑๔ อังกฤษก็ยึดเอาเกาะสอง คือเกาะปีนังไปจนทุกวันนี้
       
       ในปี ๒๔๓๕ อังกฤษปักปันเขตแดนของพม่าที่ติดกับภาคเหนือของไทย ผนวชเอา ๑๓ เมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ไปหน้าตาเฉย เพราะอุดมด้วยป่าไม้สัก
       
       ในปี ๒๔๕๒ ไทยต้องเสียดินแดนให้อังกฤษอีก โดยยึดเอา กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปลิศ หลังจากอังกฤษยึดมลายูได้
       
       นี่คือบทเรียนจากประวัติศาสตร์ การทูตก็เป็นเพียงมารยาท เหมือนละครฉากหนึ่งเท่านั้น ไม่มีใครคบค้าสมาคมระหว่างประเทศอย่างมิตรสนิทใจ ทุกประเทศต่างทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติตัวเองทั้งนั้น
       
       คนที่รักประเทศไทย สละให้ได้แม้แต่เลือดเนื้อและชีวิต ก็มีแต่คนไทยเท่านั้น อย่างที่บรรพบุรุษของเราทำมา 

ท่องไปกับคณะราชทูตไทย  เที่ยวอังกฤษสมัยควีนวิกตอเรีย! ตื่นตาตื่นใจกับของวิเศษใหม่ๆใน “นิราศลอนดอน”!!
ควีนวิกตอเรีย
        

ท่องไปกับคณะราชทูตไทย  เที่ยวอังกฤษสมัยควีนวิกตอเรีย! ตื่นตาตื่นใจกับของวิเศษใหม่ๆใน “นิราศลอนดอน”!!
ภาพเขียนคณะราชทูตไทยที่ลอนดอน
        

ท่องไปกับคณะราชทูตไทย  เที่ยวอังกฤษสมัยควีนวิกตอเรีย! ตื่นตาตื่นใจกับของวิเศษใหม่ๆใน “นิราศลอนดอน”!!
หม่อมราโชทัย

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ท่องไปกับคณะราชทูตไทย เที่ยวอังกฤษ สมัยควีนวิกตอเรีย ตื่นตาตื่นใจ ของวิเศษใหม่ๆ นิราศลอนดอน

view