สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การลงทุนใน เมียนมา ต้องรอบคอบระมัดระวัง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ASEAN SECRET โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระหว่างห้วงปลายมกราคมจนถึงปลายกุมภาพันธ์ 2560 "เมียนมา" มีมหกรรมแห่งรัฐอันน่าระทึกใจ นั่นก็คือ กิจกรรมวันชาติของกองกำลังกะเหรี่ยง ไทใหญ่และมอญกับ กิจกรรมวันสหภาพของทางการเมียนมา

กิจกรรมประเภทแรกจัดขึ้นเพื่อรำลึกขบวนการปฏิวัติเฉพาะกลุ่ม และเชิดชูประวัติศาสตร์ฉบับชาติพันธุ์ชาตินิยม ขณะที่กิจกรรมประเภทหลัง จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง "สนธิสัญญาปางโหลง" ที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 จนนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นสหภาพเอกราช ระหว่างดินแดนพม่าแท้กับดินแดนชาติพันธุ์ หากแต่ก็แฝงเร้นไปด้วยพลังจักรวรรดิชาตินิยมพม่าที่แผ่ซ่านครอบคลุมผู้คนและแผ่นดินชาติพันธุ์อื่น ๆ ในระยะเวลาต่อมา


ภาพจาก : B-Search.

การเกิดมหกรรมรัฐแกนกลางกับรัฐชายขอบทำนองนี้ แม้จะเกิดขึ้นเป็นปกติตามวงรอบประวัติศาสตร์ หากแต่การปะทะตีโต้กันไปมา มักมีผลต่อภูมิทัศน์การลงทุนและการจัดระเบียบชายแดนเมียนมาที่ดูจะยุ่งเหยิงซับซ้อนเป็นพัลวัน 

หนึ่งในชนวนปัญหาสำคัญ คือการอ้างเขตแดนหรือเขตอิทธิพลของกองกำลังต่าง ๆ ที่มีลักษณะเหลื่อมล้ำตัดสลับกันเป็นห้วง ๆ ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ กรณีกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและพรรคมอญใหม่ โดยในการประชุมที่มะละแหม่งเมื่อปี ค.ศ. 1947 ตัวแทนขบวนการปฏิวัติกะเหรี่ยง ได้ขอดินแดนรัฐใหม่ที่ต้องประกอบด้วยพื้นที่ภาคตะนาวศรี ภาคเอยาวดี รวมถึงย่านอินเซ่ง ชานเมืองย่างกุ้ง และเขตยุทธศาสตร์อื่น ๆ ที่อยู่แถบเมืองพะโค (หงสาวดี) และเมืองตองอู จนได้รับการตอบโต้ปฏิเสธจากขบวนการชาตินิยมพม่า ซึ่งถือเป็นการวาดภาพดินแดนที่กินลึกทับซ้อนกับถิ่นฐานของชาวพม่าแท้ในหลายส่วน

นอกจากนั้น จินตนาการทางภูมิศาสตร์ของรัฐกะเหรี่ยงยังถือเป็นความพยายามที่จะ "กินทับ" หรือ "ผนวก" ดินแดนรามัญเทศะของอาณาจักรหงสาวดีเดิม ซึ่งก็ทำให้กระบวนการสร้างรัฐกะเหรี่ยงได้รับการคัดค้านจากกลุ่มนักชาตินิยมมอญ

ทว่า ทางฟากมอญเองนั้น ก็มักหวนรำลึกถึงดินแดนรามัญที่เคยสูญเสียไปให้กับจักรวรรดิพม่าโบราณ ใต้รัชสมัยพระเจ้าอลองพญา จนทำให้เกิดการปฏิวัติเรียกร้องดินแดนคืนที่ทับซ้อนเข้าไปในถิ่นฐานของพวกพม่าและพวกกะเหรี่ยงในเขตปากน้ำเอยาวดีเช่นกัน

ต่อกรณีดังกล่าวจินตภาพเรื่องดินแดนที่ขัดฝืนตีปะทะกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจึงเป็นปฐมบทแห่งความขัดแย้งที่ไม่รู้จบโดยเฉพาะการลอบวางกำลังที่มีทั้งการตั้งป้อมอยู่ในพื้นที่ของฝ่ายตนกับการรุกเข้าไปในพื้นที่ของฝ่ายอื่น จนดูเหมือนว่า เมียนมาคือรัฐที่อยู่ในกระบวนการจัดระเบียบดินแดนซึ่งยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ 

โดยมหกรรมวันชาติกองกำลังชาติพันธุ์ มักแสดงให้เห็นถึงการฟื้นคืนดินแดนหรือการวาดภาพเขตแดนตามกระบวนการตีความประวัติศาสตร์ในอดีตของแต่ละฝ่ายซึ่งมักจบลงด้วยการนำกำลังทหารเข้าไปวางในพื้นที่ที่คิดว่าเป็นของฝ่ายตนในอดีตหากแต่กลับตกอยู่ใต้การครอบครองโดยชาติอื่นหรือกองกำลังอื่นในปัจจุบัน

ขณะที่ทางฟากรัฐบาลเมียนมาการเฉลิมฉลองในวันสหภาพเพื่อรำลึกถึงสัญญาปางโหลงพร้อมจัดแสดงระบำชนเผ่าในฐานะนาฏลีลาแห่งรัฐ ที่สื่อถึงความปรองดองสามัคคีของเหล่าพหุชนชาติ ก็มักถูกตีความว่าเป็นพฤติกรรมที่ สร้างภาพลักษณ์ มากกว่า สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่แท้จริงในหมู่ชาติพันธุ์

โดยเฉพาะการเคารพในสารัตถะข้อตกลงปางโหลง ซึ่งนักชาตินิยมและนักการเมืองไทใหญ่ มักยึดถือว่าเป็นข้อตกลงที่ช่วยค้ำประกันอำนาจปกครองอิสระของรัฐชายแดนภูเขา และปูทางไปสู่การรวมตัวกันระหว่างดินแดนชาติพันธุ์ต่าง ๆ จนประกอบสร้างขึ้นมาเป็นสหภาพเมียนมาได้ถึงทุกวันนี้ ทว่า นับแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลกลางเมียนมาก็ไม่เคยยอมกระจายอำนาจปกครองบริหารแบบเที่ยงธรรมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จนทำให้เมียนมามีลักษณะเป็น สหพันธรัฐแบบจอมปลอม ที่ตกอยู่ใต้พลังของกองทัพจักรวรรดินิยมพม่าแท้เสียมากกว่า

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่มหกรรมวันสหภาพและวันชาติของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ผ่านพ้นไป กองทัพเมียนมาก็มักใช้เวทีผ่านวันถือกำเนิดกองทัพเมียนมา คือ วันที่ 27 มีนาคมของทุกปี เป็นวันจัดแสดงการสวนสนามที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรของทัพทหารพม่า พร้อมมีการกล่าวสุนทรพจน์จากผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมักเน้นย้ำไปที่การสร้างเอกภาพชาติ และมีการส่งสัญญาณเตือนให้กองกำลังชาติพันธุ์หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง การทหาร เพื่อปูทางไปสู่การสร้างความสงบเรียบร้อยภายในสหภาพ

ท้ายที่สุด มหกรรมวันชาติและวันสหภาพใต้การทาบทับของจักรวรรดิชาติพันธุ์ และการชิงดินแดนที่เก่าแก่ซับซ้อน ถือเป็นสัญญาณเตือนที่แสดงให้เห็นว่า เมียนมายังคงสภาพเป็นรัฐที่ขาดเสถียรในการจัดอาณาเขตภูมิศาสตร์ชาติพันธุ

ฉะนั้น การลงทุนกับผืนดินและผู้คน ที่ถือกุมทรัพยากรธรรมชาติอันมั่งคั่งแห่งนี้ กลับแฝงเร้นไปด้วยความเปราะบางรุนแรงคลุมเครือ ในเวลาเดียวกัน จึงจำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์ตัดสินใจกันอย่างรอบคอบระมัดระวัง อย่างน้อย การสะกดรอยผ่านนาฏลีลาแห่งรัฐตลอดช่วงต้นปี 2560 คงช่วยเผยให้เห็นถึง "รากลึก" ที่ซ่อนปมชนวนขัดแย้งในเมียนมาระยะเปลี่ยนผ่านได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การลงทุน เมียนมา ต้องรอบคอบระมัดระวัง

view