สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้ไว้! กินไข่ไก่พอดีมีประโยชน์มากกว่าโทษ ช่วยกล้ามเนื้อฟิตปั๋ง แถมป้องกันโรคอัลไซเมอร์

จากประชาชาติธุรกิจ

การรับประทานไข่ไก่มากเกินไปดีหรือไม่ดี,ควรกินไข่ขาวแต่ไม่ควรกินไข่แดงมากเกินไปเพราะไข่แดงมีคอเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือ ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ยังเป็นที่ถกถียงกันอยู่ 

แต่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture : USDA) ได้ถอดคอเลสเตอรอลออกจากสารอาหารที่คนอเมริกันต้องควบคุม ในปี 2558 หลังจากค้นพบว่า คอเลสเตอรอลที่ได้รับจากอาหาร ไม่สัมพันธ์กับปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ขณะเดียวกันยังได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับไข่ไก่ ซึ่งพบว่าเป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ทั้งกรดไขมัน DHA (Docosahexaenoic acid) และ EPA (Eicosapentaenic acid) ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของสมอง สายตา หัวใจ และระบบหลอดเลือด รวมถึงช่วยป้องกันโรคสมาธิสั้นในเด็ก โดยสมองตอบสนองได้ไวขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้บริโภคไข่ไก่ และช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ และโรคหัวใจ


ขณะที่ทั้งหมอคนและหมอสัตว์ของไทย ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไข่ไก่นั้นมีประโยชน์มากมาย ทั้ง ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ อดีตประธานหลักสูตรโภชนศาสตร์ โครงการร่วมรามาธิบดีและสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ น.สพ.ดร.มงคล แก้วสุทัศน์ กรรมการบริหารสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย ยังได้ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆที่ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่รับประทานไข่ไว้อย่างน่าสนใจ


ศ.นพ.สุรัตน์ บอกว่า ถ้าพูดถึงไข่ไก่คนส่วนใหญ่จะกลัวเรื่อง โรคหัวใจ ด้วยคิดว่าเกิดจากคอเลสเตอรอล จึงโทษกันว่า การกินไข่ที่มีคอเลสเตอรอลอยู่ด้วยจะส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ ซึ่งจริงๆแล้วจากการศึกษาทั่วโลก ได้ข้อสรุปว่า “ในคนทุกวัยที่สุขภาพปกติ สามารถรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย ไม่ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจ”


ที่สำคัญการรับประทานไข่ไก่ในผู้สูงอายุ จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ ที่สำคัญไข่ไก่ยังมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบสมอง ซึ่งจะช่วยให้มีสมาธิ ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้ด้วย ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ต้องควบคุมอาหารที่มีไขมัน ควรบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์


น.สพ.ดร.มงคล กล่าวเสริมว่า การที่คนทั่วไปกลัวคอเลสเตอรอลนั้น นับว่าเป็นความเชื่อกันผิดๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วคอเลสเตอรอลแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ คอเลสเตอรอลที่ร่างกายสร้างขึ้นที่ตับ จากพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายต้องการ เช่น การโดยรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไป โดยคอเลสเตอรอลส่วนนี้มีมากถึง 75% ของร่างกาย อีกส่วนคือ สารคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากการรับประทานอาหารโดยตรง ซึ่งมีเพียง 25% เท่านั้น ดังนั้นการลดการกินไข่ ก็ไม่ได้ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลต่ำลงแต่อย่างใด


ขณะที่ อ.นพ.กรภัทร มยุระสาคร หน่วยอณูเวชศาสตร์ สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เล่าถึงผลการศึกษาวิจัย คนวัยทำงานจำนวนประมาณ 200 คน โดยมีอายุระหว่าง 20-55 ปี โดยให้อาสาสมัครรับประทานไข่ไก่ทุกวัน วันละ 1-2 ฟองเป็นเวลา 10-12 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า ระดับคลอเลสเตอรอลตัวไม่ดี (LDL-C) มีค่าลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆที่รับประทานไข่ไก่ทุกวัน ในทางกลับกันคลอเลสเตอรอลตัวที่ดี (HDL-C) มีแนวโน้มที่มากขึ้นเมื่อรับประทานไข่อย่างต่อเนื่อง ทำให้สันนิษฐานว่าการที่ระดับ HDL-C มีค่าสูงขึ้นน่าจะเกิดจากผลของสาร “เลซิติน” ที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในไข่แดง (เลซิตินเป็นสารชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะในไข่แดง และไม่พบในไข่ขาว เป็นส่วนประกอบในกลุ่มเดียวกับพวกไขมัน, น้ำมัน, ไข และเป็นสารจำพวก phospholipids ที่รู้จักกันในนาม phosphatidyl choline)


ผู้เขียนจึงดำเนินโครงการวิจัยต่อไป โดยได้ลงไปศึกษาภาวะโปรตีนและไขมันในกลุ่มเด็กประถมกว่า 400 คนในเขตชนบท ด้วยการให้เด็กทั้งหมดได้รับประทานไข่เป็นอาหารเสริมไปจากอาหารกลางวันปกติที่โรงเรียนจัดให้ ซึ่งให้เด็กทุกคนรับประทานไม่ว่าจะขาดโปรตีนหรือไม่ นอกจากนี้ยังได้ทดลองเปรียบเทียบระหว่างการให้รับประทาน 3 ฟอง และรับประทาน 10 ฟองต่อสัปดาห์ด้วย เพื่อเปรียบเทียบดูว่าการแก้ไขการขาดโปรตีนนั้น ต้องให้เด็กได้รับโปรตีนมากแค่ไหน


ผลการศึกษาเป็นไปตามความคาดหมายที่ว่า การรับประทานไข่ 3 ฟองต่อสัปดาห์ ก็เพียงพอกับการแก้ไขปัญหาขาดโปรตีนในเลือดได้เกือบ 100% นอกจากนี้ ในเด็กที่มีโปรตีนในเลือดปกติอยู่แล้ว เมื่อรับประทานไข่เสริมไปอีก ก็จะยิ่งทำให้ระดับโปรตีนในเลือดสูงขึ้นไปอีก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีเนื่องจากในวัยเด็กต้องการสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต


ขณะที่การรับประทานไข่ไก่นั้น ยังทำให้เด็กส่วนใหญ่มีระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดลดลง โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่มีระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดขั้นต้นมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ที่มีถึงร้อยละ 24 หลังจากจบโครงการพบว่าเหลือเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ที่ระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดยังมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งน่าจะมาจากการที่เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนมากขึ้น ทำให้การเผาผลาญพลังงานในร่างกายดีขึ้น ยังทำให้ระดับ HDL-C ซึ่งเป็นคลอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์มีค่าสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของผู้วิจัยในโครงการที่ผ่าน ๆ มา โดยหลังจากจบโครงการ ไม่มีเด็กคนใดเลยที่มีระดับ HDL-C ต่ำกว่า 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ปกติค่าไขมันตัวนี้ควรจะสูงเข้าไว้ถึงจะดี)


“จากการศึกษาเหล่านี้ผมไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนที่อ่าน รับประทานไข่ปริมาณมากอย่างวันละ 2-3 ฟองต่อวัน แต่ต้องการจะสื่อให้เห็นว่าการรับประทานไข่ไก่นั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คนทั่วไปคิด ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายสิ่งที่วงการแพทย์ยังไม่ได้พิสูจน์ หรือแม้กระทั่งการศึกษาในระยะเวลายาว ๆ เกี่ยวกับการรับประทานไข่ ดังนั้นแม้ว่างานวิจัยนี้จะชี้ให้เห็นว่าการรับประทานไข่ไก่ปริมาณมากไม่ส่งผลกระทบในการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ..แต่สิ่งที่ต้องการจะชี้ให้เห็นคือการรับประทานอย่างมีสตินั้นก็คือ รับประทานอาหารให้หลากหลาย ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป เดินทางสายกลาง ไม่ตึงหรือไม่หย่อนจนเกินไป อะไรที่ไม่ชอบถ้ามีประโยชน์ก็ควรรับประทานบ้างเช่น ผักใบเขียว หรืออะไรที่ชอบก็ไม่ควรรับประทานบ่อย เช่นผลไม้หวาน ๆ เป็นต้น”
นอกจากนี้ ปี 2560 นี้ ผู้เขียนกำลังดำเนินการศึกษาวิจัยต่อไปเกี่ยวกับการรับประทานไข่แดงเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้แต่ละคนตอบสนองต่อการรับประทานไข่ไม่เหมือนกัน เพราะจากประสบการณ์การทำงานในเรื่องนี้ทำให้พบคนในสองกลุ่มที่สุดขั้วคือคนกลุ่มหนึ่งที่กินไข่วันละมากๆ แล้วก็สุขภาพแข็งแรงดี กับอีกกลุ่มหนึ่งที่กินไข่หรือไขมันเพียงนิดเดียว ก็เกิดปัญหากับสุขภาพ


ดังนั้นการทำวิจัยเพิ่มเติมเรื่องนี้จะช่วยทำให้วงการแพทย์ และสังคมไทยได้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับไข่กับกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์คือ มีคนบางกลุ่มหรืออาจจะเรียกว่าส่วนใหญ่จากผลการศึกษาวิจัยของผู้เขียนเองที่มีระดับ HDL ที่ดีขึ้นหลังการรับประทานไข่แดงอย่างต่อเนื่อง แต่หลายคนที่อยู่ในการทดลองนี้ระดับ HDL ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามในประเทศไทย กรมอนามัยได้แนะนำแนวทางในการบริโภคไข่ดังนี้ 
1.เด็กทารกตั้งแต่อายุ 6 เดือน เริ่มที่ให้ไข่แดงต้มสุก 1/2ฟอง ถึง 1 ฟอง
2.เด็กอายุ 7-12 เดือน สามารถบริโภคไข่วันละ 1 ฟอง
3.หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคไข่วันละ 1 ฟอง
4.กลุ่มเด็กวัย 1-5 ปีและเด็กวัยเรียน สามารถบริโภคไข่วันละ 1 ฟอง
5.กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี สามารถบริโภคไข่ 1 ฟองต่อวัน
6. กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงสามารถบริโภคไข่ 3-4ฟองต่อสัปดาห์หรือตามคำแนะนำของแพทย์


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รู้ไว้! กินไข่ไก่พอดีมีประโยชน์มากกว่าโทษ ช่วยกล้ามเนื้อฟิตปั๋ง แถมป้องกันโรคอัลไซเมอร์

view