สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โจทย์ใหม่ สรรพากร-สตง. บี้เก็บภาษีขายหุ้นทักษิณ

โจทย์ใหม่ "สรรพากร-สตง." บี้เก็บภาษีขายหุ้นทักษิณ

จากประชาชาติธุรกิจ

กลายเป็นปมดราม่าการเมืองระหว่าง 2 หน่วยงานรัฐ กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จากปมการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ที่อายุความจะหมดในวันที่ 31 มีนาคมนี้

ต้นเรื่องมาจากการที่นายพานทองแท้ และนางพินทองทา บุตรชายและบุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร ได้ซื้อหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ในราคาต่ำกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อปี 2548 ก่อนจะนำไปขายให้กับกลุ่มเทมาเส็กในจำนวน 7 หมื่นล้านบาท เมื่อ 23 มกราคม 2549

แต่เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษายึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ไว้ว่า การขายหุ้นชินฯให้กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขายหุ้นตัวจริงคือนายทักษิณ 

"ในข้อเท็จจริงเรื่องการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กนี้ ผู้ถูกกล่าวหา (นายทักษิณ) ได้ยืนยันไว้ในเอกสารท้ายคำร้องพิสูจน์ทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหาเรื่องขายหุ้นชินคอร์ปไม่ได้ขายชาติ ไม่ได้ขายดาวเทียมว่า ในส่วนของบริษัทชินคอร์ปมีการเตรียมการขายหุ้นและการเจรจาขายหุ้นต่อเนื่องมานานนับปี และมีกลุ่มผู้สนใจเสนอซื้อหลายรายก่อนที่จะตัดสินดำเนินการขายในวันที่ 23 มกราคม 2549 แต่เป็นพิรุธว่าผู้ที่เจรจาและตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปคือผู้ถูกกล่าวหา มิใช่ผู้คัดค้าน (นายพานทองแท้ และนางพินทองทา ชินวัตร) 

เมื่อศาลพิจารณาเช่นนี้ การเรียกคืนภาษีจากนายทักษิณกลายเป็นข้อโต้แย้งกันระหว่างกรมสรรพากรกับ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถึงการเรียกคืนภาษีจากนายทักษิณทำได้หรือไม่ได้ 

เพราะฝ่ายกรมสรรพากรยืนยันว่า ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นครั้งนี้ได้ เพราะ 1.ที่ "พานทองแท้และพินทองทา" ซื้อขายหุ้นชินคอร์ปในตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว อีกทั้ง 2.ศาลฎีกาฯ พิสูจน์แล้วว่าหุ้นที่ "พานทองแท้และพินทองทา" ถืออยู่ ยังคงเป็นของนายทักษิณ และให้ยึดทรัพย์จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทมาเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเงินภาษีจำนวนนี้ก็รวมอยู่ในเงินก้อนนี้ด้วย

ขณะที่ "พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส" ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแย้งว่า รมว.คลังมีอำนาจที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเงินที่ถูกยึดทรัพย์กับเงินที่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นเมื่อปี 2548 คนละส่วนกัน

ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า "คงบอกไม่ได้ว่าควรเก็บหรือไม่ควรเก็บภาษี ฝากให้กรมสรรพากรดูแลให้รอบคอบ ต้องเดินตามกฎหมาย แม้จะใกล้หมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคมนี้ สรรพากรต้องหาช่องทางอื่น ต้องไปดูว่าทำอะไรได้แค่ไหน เรื่องนี้หยุดไม่ได้"


"ประชาธิปัตย์" จี้รัฐบาลจัดการภาษีหุ้นชินฯ ก่อนคดีหมดอายุความ มี.ค.นี้

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือแจ้งเตือนกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เรียบร้อยก่อนคดีจะขาดอายุความในวันที่ 31 มีนาคมนี้ว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบเรื่องนี้ว่า ทำไมกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ถึงปล่อยให้เรื่องนี้ล่วงเลยมาถึง 5 ปี จนคดีจะขาดอายุความปลายเดือนมีนาคมนี้ และควรเร่งหามาตรการในการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปนี้ให้ได้ ดังนั้นรัฐบาลควรทำความจริงให้กระจ่างในประเด็นต่างๆ เพราะที่สังคมคลางแคลงสงสัย คือ 1.ทำไมกรมสรรพากรไม่ออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนภายใน 5 ปีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร 2.ถ้ากรมสรรพากรออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนก่อนคดีขาดอายุความ จะทำให้สามารถประเมินภาษีได้ต่อไปอีกหรือไม่ 3.ถ้าคดีขาดอายุความใครจะรับผิดชอบ จะถือว่ามีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ทั้งนี้เชื่อว่าถ้ารัฐบาลจริงจังกับเรื่องนี้ ก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลมากขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลปล่อยให้เรื่องนี้เป็นคลื่นกระทบฝั่งก็จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลในแง่ความรับผิดชอบและความโปร่งใสตามมาอย่างแน่นอน





ที่มา : มติชนออนไลน์


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โจทย์ใหม่ สรรพากร-สตง.  เก็บภาษีขายหุ้นทักษิณ

view