สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยพัฒน์ แนะกิจการขับเคลื่อน 6 ทิศทาง CSR

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

หนุนบทบาทองค์กรธุรกิจไทยในยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมาก 
       โจทย์ CSR นับวันก็ยิ่งท้าทายผู้ประกอบการ แนะธุรกิจควรเริ่มทันที เริ่มต้นกับชุมชนที่ธุรกิจตั้งอยู่ก่อนก้าวไปสู่สังคมใหญ่ 
       สถาบันไทยพัฒน์ สรุป 6 ทิศทางมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ เที่ยงธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม ท้องถิ่น ท่องเที่ยว และทดแทน 

“ไทยพัฒน์” แนะกิจการขับเคลื่อน 6 ทิศทาง CSR
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
        องค์กรยุคใหม่จำเป็นต้องมี CSR 
       ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ เปิดเผยถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมา ว่าเป็นในลักษณะแกว่งไปมาระหว่างขั้วนอกประเทศและขั้วในประเทศ ยุคสมัยหนึ่งเคยเน้นส่งออก มาตรการส่งเสริมต่างๆ ก็เทกันไปในทางที่ให้ความสำคัญกับตลาดนอกประเทศ พอถึงจุดที่ตัวเลขส่งออกปั้นยากก็หวนกลับมาเน้นท้องถิ่น มีการอัดฉีดทรัพยากรลงสู่ชุมชน จังหวัด และภูมิภาค
       “เป็นมาตรการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ตุ้มน้ำหนักทางเศรษฐกิจสมัยนี้จึงสวิงกลับมาหาตลาดในประเทศอีกครั้ง โจทย์ที่ท้าทาย นอกจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะทำให้เกิดกำลังซื้อในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นจริงหรือ และการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งคือหน่วยผลิตจะตามมาจริงหรือไม่”
       ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตหรือหดตัว หรือจะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ บทบาทหนึ่งของภาคเอกชนที่ต้องดำรงอยู่ คือการดำเนินความรับผิดชอบของกิจการ (CSR) โดยเฉพาะความรับผิดชอบในกระบวนการธุรกิจ คือ
       1) การดูแลป้องกันและบรรเทาเยียวยาผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้น และที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ
       2) การส่งมอบผลกระทบทางบวกแก่ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเน้นที่การใช้ขีดความสามารถหลักในธุรกิจ และความเชี่ยวชาญของกิจการที่มีอยู่
       ทั้งนี้ จะเป็นการสร้างให้เกิดการยอมรับของชุมชนท้องถิ่นที่สถานประกอบตั้งอยู่ ก่อนไปสู่สังคมในวงกว้างที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
       
       ปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน
       ผอ.สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่าในปีนี้ ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในสถาบันหลักของสังคมไทย นอกจากปัจจัยภายในประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิสังคมโลก ทั้งกระแสการแยกตัวของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป การชูนโยบายประเทศต้องมาก่อนของสหรัฐอเมริกา การอพยพย้ายถิ่นของผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง ถือเป็นปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       ขณะที่บทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจที่มีเข็มมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ก็มีโจทย์อยู่ที่การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ซึ่งได้รับการรับรองโดย 193 ประเทศรวมทั้งไทย ในเวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ เมื่อ 25 ก.ย.2558 มาผนวกเข้ากับกระบวนการธุรกิจที่ดำเนินอยู่เพื่อการขับเคลื่อนดำเนินงานที่เป็นปกติประจำวัน โดยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เกิดเป็นผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ต่อท้องถิ่นที่เป็นสังคมใกล้กับกิจการของตนไปจนถึงผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ในสังคมไกลออกไป
       ปีนี้สถาบันไทยพัฒน์ ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2560 ก็จะเป็นแนวทางดำเนินงานในทางที่ตอบสนองต่อเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน 

“ไทยพัฒน์” แนะกิจการขับเคลื่อน 6 ทิศทาง CSR
        เบื้องหลัง 6 ทิศทาง CSR
       หนึ่งในทิศทาง CSR ที่สำคัญในปีนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการเปิดเผยรายงานของกระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ กรณีการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์รอยซ์ ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับบริษัทจดทะเบียนไทย กรณีบริษัท เจเนอรัล เคเบิล ผู้ผลิตสายเคเบิลและสายไฟ ที่รับสารภาพว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย และ กรณีบริษัท ไบโอ-ราด แลบบอราทอรี่ส์ ผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ ที่ยอมจ่ายค่าปรับในคดีสินบน ซึ่งระบุว่ามีหน่วยงานในไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ทำให้ปี 2560 เป็นปีแห่งความท้าทายในเรื่องการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลของไทย ทั้งแก่หน่วยงานกำกับ ดูแล และองค์กรผู้ปฏิบัติ ที่ต้องยกระดับการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาล จากการพัฒนาที่เน้นรูปแบบ (Form) มาสู่การให้ความสำคัญกับเนื้อหา(Substance) เพื่อลดช่องว่างระหว่างการมีเจตนาที่ดี (good intentions) ไปสู่การกระทำที่ดี (good actions) ให้เห็นผลจริงในทางปฏิบัติ
       จากการเสวนาเรื่อง SDG Business : Articulating 'Global Goals' to 'Local Impacts' สถาบันไทยพัฒน์ ต้องการเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของภาคธุรกิจให้มีความเชื่อมโยงกับการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเข็มทิศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG Compass ที่สามองค์กรชั้นนำด้านการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลก ได้แก่ องค์กรแห่งความริเริ่มว่าด้วย การรายงานสากล (GRI) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) และสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (WBCSD) ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น
       
       สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2548 และเป็นองค์กรสมาชิกของเครือข่ายการแก้ปัญหา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังกัดสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Solutions Network: UNSDSN) ได้ริเริ่มจัดทำ “ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กร” หรือ Corporate SDG Index ของประเทศไทยเป็นครั้งแรก ด้วยการประมวลข้อมูลความยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย จำนวน 124 แห่ง โดยจากการ ประเมินพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ มีการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ เป้าหมายด้านการศึกษา มากสุดที่ร้อยละ 57.5 รองลงมาเป็นเป้าหมายด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ร้อยละ 40.1 และเป้าหมายด้านความเท่าเทียมทางเพศ ร้อยละ 31.0 ตามลำดับ 

“ไทยพัฒน์” แนะกิจการขับเคลื่อน 6 ทิศทาง CSR
        

“ไทยพัฒน์” แนะกิจการขับเคลื่อน 6 ทิศทาง CSR
        6 ทิศทาง CSR ปี 2560 
       
       ทิศทางที่ 1: เที่ยงธรรม (Integrity) 
       ธุรกิจต้องลดช่องห่างระหว่างการมีเจตนาที่ดี กับการกระทำที่ดี
       
       องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น Corruption Perceptions Index (CPI) ประจำปี 2559 โดยประเทศไทยได้คะแนน 35 จาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ ตกลงจากอันดับที่ 76 (ปี 2558) และอันดับที่ 85 (ปี 2557) ด้วยค่าคะแนน 38 คะแนนเท่ากันในสองปีที่ผ่านมา
       การสำรวจใช้ข้อมูลจาก 9 แหล่ง (เพิ่มใหม่ 1 แหล่งในปี 2559) โดยแหล่งข้อมูลที่มีคะแนนลดลงมากสุดในสามอันดับแรก คือ การสำรวจมุมมองของการดำเนินการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต (ลดลงถึง 20 คะแนน) และเรื่องสินบนที่ภาคธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง ในเรื่องธรรมาภิบาลของผู้ประกอบการ/การเสียภาษี/การขออนุญาต/พิธีการทางศุลกากร (ลดลง 6 คะแนน) และระดับของการรับรู้ของภาคธุรกิจต่อปัญหาการทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง (ลดลง 4 คะแนน) จะเห็นได้ว่า ค่าคะแนนที่ลดลงในปี 2559 มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบสามปีที่ผ่านมา ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจ
       สำทับด้วยการเปิดเผยรายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กรณีการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์รอยซ์ ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับบริษัทจดทะเบียนไทย กรณีบริษัท เจเนอรัล เคเบิล ผู้ผลิตสายเคเบิลและสายไฟ ที่รับสารภาพว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย และกรณีบริษัท ไบโอ-ราด แลบบอราทอรี่ส์ ผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ ที่ยอมจ่ายค่าปรับในคดีสินบน ซึ่งระบุว่ามีหน่วยงานในไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน โดยทั้งสามกรณี มิได้เป็นเพียงข้อกล่าวหาที่รอการพิสูจน์ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำให้การของบริษัททั้งสามแห่งที่รับผิดสำเร็จแล้ว
       ในปี 2560 จะเป็นปีแห่งความท้าทายในเรื่องการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลของภาคธุรกิจ ทั้งแก่หน่วยงานกำกับดูแล และองค์กรธุรกิจผู้ปฏิบัติ ที่ต้องยกระดับการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาล จากการพัฒนาที่เน้นรูปแบบ (Form) มาสู่การให้ความสำคัญกับเนื้อหา (Substance) เพื่อลดช่องว่างระหว่างการมีเจตนาที่ดี (good intentions) ไปสู่การกระทำที่ดี (good actions) ให้เห็นผลจริงในทางปฏิบัติ
       
       ทิศทางที่ 2: ทั่วถึง (Inclusive)
       ธุรกิจต้องยกระดับการพัฒนาให้เติบโตก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
       
       หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของรัฐบาล คือ การมุ่งให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากความเจริญและการพัฒนา เปลี่ยนความมั่งคั่งและโอกาสที่กระจุก เป็นความมั่งคั่งและโอกาสที่กระจาย เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน (Inclusive Society) เน้นการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการเติบโตไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind)
       ความจำเป็นของการสานพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เชื่อมโยงและเกื้อกูล ให้เกิดเป็น “ห่วงโซ่” ที่ไม่อาจแยกคิดแยกทำได้ ห่วงโซ่ทุกห่วงต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน โดยความแข็งแรงของโซ่ จะวัดจากจุดที่อ่อนแอที่สุด จึงเป็นที่มาของวลีที่ว่า “เราไม่สามารถทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่ต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกัน และพัฒนาเคียงบ่าเคียงไหล่ไปพร้อม ๆ กัน
       การประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงชุมชนในระดับฐานราก ด้วยการสร้างงานแก่คนในท้องถิ่นที่มีรายได้น้อย การมอบโอกาสให้แก่สมาชิกชุมชนในการเป็นผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้ให้บริการในห่วงโซ่ธุรกิจ และการพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับฐานราก ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นหนทางหนึ่งที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการ ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า “ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น” (Inclusive Business)
       ในปี 2560 จะเห็นความร่วมไม้ร่วมมือของภาคธุรกิจกับภาคส่วนอื่นๆ โดยให้ความสำคัญกับการนำขีดความสามารถหลักและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจมาใช้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน รวมถึงการใช้โครงข่ายธุรกิจที่ตนเองมีอยู่ มาสนับสนุนการทำงานของชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย
       
       ทิศทางที่ 3: เท่าเทียม (Equality) 
       ธุรกิจต้องใช้ศักยภาพในตลาด จัดหาบริการให้กับส่วนตลาดที่ยังมิได้รับการตอบสนอง
       ประเทศไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการขาดแคลนแรงงานและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประสิทธิภาพของแรงงานไทยที่พัฒนาช้ากว่าเทคโนโลยีการผลิตของโลกและขีดความสามารถในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในภาพรวม ธุรกิจใหม่ของไทยยังขาดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม สุขอนามัยของประชาชน และความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ฯลฯ
       การปรับโมเดลเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนำประเทศออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมคุณค่า เพื่อผลิตกำลังคน สร้างพลังสังคม กระจายความมั่งคั่งและโอกาสอย่างถ้วนทั่วและเป็นธรรม ยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องดำเนินการเพื่อลดระดับความไม่เสมอภาคในทิศทางที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
       ภาคธุรกิจ จะเข้ามามีบทบาทในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการเข้าร่วมพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ยากไร้ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการของธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส การสร้างบริการสำหรับส่วนตลาดลูกค้าที่ยังมิได้รับการตอบสนอง และการเข้าลงทุนในโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น
       นับจากปี พ.ศ.2560 เป็นต้นไป ประเด็นการจ้างงานคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย นิเวศเพื่อการทำงานและการอยู่อาศัย เพื่อให้มีสภาพที่เข้าถึงได้ (Accessibility) จะเป็นโจทย์ที่ภาคธุรกิจในแต่ละสาขาอุตสาหกรรม จำเป็นต้องนำมาพิจารณาดำเนินการเพื่อตอบสนองในทิศทางที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนจากมุมมองที่เป็นภาระ (Liability) มาเป็นโอกาส (Opportunity) ในธุรกิจ
       
       ทิศทางที่ 4: ท้องถิ่น (Local)
       ธุรกิจต้องสร้างการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับภาครัฐ ในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
       
       การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลได้ประกาศว่า จะเร่งแก้ไขปัญหาจากฐานราก และสร้างความเข้มแข็งจากภายใน มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเอง
       ที่น่าจับตา คือ การจัดทำแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยได้มีการเสนอโครงการตามแผนพัฒนาภาค 6 ภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ (17 จังหวัด) /ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (20 จังหวัด) /ภาคกลาง (19 จังหวัด) /ภาคตะวันออก (6 จังหวัด) /ภาตใต้ (9 จังหวัด) และภาคใต้ชายแดน (5 จังหวัด) ตามแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2561 วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท หลังจากที่ได้จัดสรรวงเงินงบกลางปี 2560 จำนวน 1.15 แสนล้านบาท ผ่านโครงการของกลุ่มจังหวัดตามแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งข้อสังเกตว่า มีลักษณะเป็นการจ้างงานแบบเบี้ยหัวแตก และหลายโครงการเป็นกิจการเฉพาะหน้า มากกว่าการคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน
       ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน 18 กลุ่มจังหวัด วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้ขยายตัวได้ เนื่องจากมีหลายภาคส่วนร่วมกันพิจารณาและเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งด้านการเกษตร ท่องเที่ยว การค้า และโลจิสติกส์
       ในปี 2560 ธุรกิจในภูมิภาค คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากงบพัฒนากลุ่มจังหวัดตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่กระจายลงไปผ่านแต่ละกลุ่มจังหวัด การสร้างการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับภาครัฐต่อการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น จะเป็นทิศทางที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและความได้เปรียบทางการแข่งขัน
       
       ทิศทางที่ 5: ท่องเที่ยว (Tourism)
       ธุรกิจต้องสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
       องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้ประกาศให้ ปี พ.ศ.2560 เป็นปีสากลแห่งการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนา เพื่อยกระดับการรับรู้ในบทบาทของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ที่มีต่อการพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่ม เพื่อใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวปลุกเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวก
       ในปีสากลแห่งการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนา มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบายสาธารณะ การดำเนินงานของภาคธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ในอันที่จะจรรโลงให้เกิดภาคส่วนของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รองรับกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
       บทบาทของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนา ผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง ด้านความครอบคลุมในทุกภาคส่วนของสังคม การจ้างงาน และการลดความยากจน ด้านประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านค่านิยมทางวัฒนธรรม ความหลากหลาย และมรดกประเพณี และด้านความเข้าใจกัน สันติภาพ และความมั่นคง
       ในปี 2560 เป็นที่คาดหมายว่า ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในปีสากลแห่งการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพื่อการพัฒนานี้ ทั้งในมิติของการผลักดันและยกระดับการรับรู้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การสร้างและกระจายองค์ความรู้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การริเริ่มนโยบายการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การสร้างขีดความสามารถและการให้ความรู้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
       
       ทิศทางที่ 6: ทดแทน (Renewable) 
       ธุรกิจต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
       การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดทั้งภาวะโลกร้อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ภัยแล้งและการขาดน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการเกษตรและน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร กระทบต่อแหล่งอาหารของโลก ตลอดจนทำให้เกิดความขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความยากจน ความขัดแย้ง และเป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศกำลังพัฒนา ที่รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตรที่ราคามีความผันผวนและคาดการณ์ได้ยาก
       โดยที่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของโลกและมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ประชาคมโลกมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการดูแลรักษามิให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะความพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศา โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง โดยต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ
       ในส่วนประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใน พ.ศ. 2573 ที่ร้อยละ 20 ถึง 25 คือพยายามลดการปล่อยลงจาก 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ให้ได้ 111-139 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลดการขนส่งทางถนนโดยเพิ่มการขนส่งทางราง การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศให้มากขึ้น ขจัดการบุกรุกป่า และจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ
       ในปี 2560 ธุรกิจที่มุ่งตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแบบแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งมีการกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ตลอดจนเป้าหมายการลดปริมาณของเสียที่นำไปฝังกลบจนเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) 

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทยพัฒน์ แนะกิจการ ขับเคลื่อน 6 ทิศทาง CSR

view