สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หม่อมอุ๋ย ยื่น สนช.โหวตล้มตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ 30 มี.ค.นี้

หม่อมอุ๋ย” ยื่น สนช.โหวตล้มตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ 30 มี.ค.นี้

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“หม่อมอุ๋ย” ยื่น สนช.โหวตล้มตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ 30 มี.ค.นี้

        “หม่อมอุ๋ย” ร่อนหนังสือถึง “สนช.” ให้โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ วาระ 2-3 ที่จะพิจารณาวันที่ 30 มี.ค. แต่ให้ตัด ม.10/1 ว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติออกไป ชี้ปล่อยให้ผ่านพลังงานไทยวิกฤตแน่
       
       
       


       
       ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... วาระ 2-3 วันที่ 30 มี.ค.นี้ โดยขอความร่วมมือให้โหวตเห็นชอบ พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านเพื่อให้มีกฎหมายรองรับการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมของประเทศแต่ให้ตัดมาตรา 10/1 ว่าด้วยการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอออก
       
       “ตั้งแต่การดำเนินงานที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้มีระบุการจัดตั้ง แม้กระทั่งการพิจารณาของ สนช.วาระ 1 แต่จู่ๆ ก็ไม่เข้าใจว่าวาระ 2 ก็โผล่เข้ามาได้ ต้องมีผู้มีอำนาจหนุนหลังอย่างแน่นอน และยังซุกเข้ามาซึ่งถ้าดีจริงก็ควรจะถกกันและเปิดเผย ถ้าแยกออกมาเป็น พ.ร.บ.ต่างหากก็ยังเข้าใจได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
       
       ทั้งนี้ สิ่งใดที่ไม่ได้เป็นนโยบายและยังไม่ได้มีการศึกษาข้อดีและข้อเสียหากกฏหมายผ่านออกไปจะมีผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากได้เห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่ระบุว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศและในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงานให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อนซึ่งจะทำให้กิจการพลังงานของประเทศถอยหลัง
       
       “เมื่อ 50 ปีก่อนขณะที่กรมพลังงานดูแลกิจการน้ำมันเรามีน้ำมัน “สามทหาร” ของไทยที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ ต่อมาเราตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่เสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่วันนี้มีการเติบโตและขยายตัวอย่างมาก หากมีการตั้งบรรษัทใหม่เข้ามาแล้วถือกรรมสิทธิ์พลังงานทุกชนิดมาอยู่ในบริษัทใหม่นี้ วิสาหกิจและบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
       
       ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากในอนาคตหากมีการจัดตั้ง NOC เพราะจะถูกการเมืองและกลุ่มประโยชน์อื่นๆ เข้าแทรกแทรกได้ง่ายกว่าปัจจุบันที่มีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลแล้วเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เป็นรูปแบบสัมปทานและในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ก็ได้เพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบสัญญาจ้างบริการ และได้แยกการบริหารออกจากการปฏิบัติแต่ต่อไปรวมอยู่ที่เดียวก็จะน่ากลัวมาก
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังได้แจกรายชื่อผู้ที่จะตอบคำถามสื่อมวลชนต่อความเห็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ในรายละเอียดซึ่งมีเบอร์มือถือติดต่อ เช่น นายคุรุจิต นาครทรรพ คุณอานิก อัมระนันทน์ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี เป็นต้น 


“ธีระชัย”โต้ “หม่อมอุ๋ย”ยันต้องมีบรรษัทพลังงานฯ

โดย MGR Online

        อดีต รมว.คลังโต้ “หม่อมอุ๋ย”ยันบรรษัทพลังงานฯ ไม่ทำกิจการน้ำมันของประเทศถอยหลังเข้าคลอง ถ้าเลือกโมเดลเหมาะสม ชี้ ปตท.ไม่สามารถทำหน้าที่แทน ย้ำต้องตั้งบรรษัทฯ ก่อนประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ ให้ผู้สนใจรู้ข้อมูลก่อนยื่นความจำนง
       
       วันนี้(28 มี.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. … โดยระบุว่า ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล (อดีตรองนายกรัฐมนตรี) ได้มีหนังสือเปิดผนึกแจ้งความเห็นเกี่ยวกับบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแก่ท่านเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... นั้น เพื่อให้ท่านได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนทุกด้านเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของท่าน ข้าพเจ้าขอแจ้งความเห็นโต้แย้ง ดังนี้
       
       ข้อ ๑. ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล แจ้งว่า ได้เคยเห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ” และ “ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน...” ซึ่งหากเป็นไปตามร่างดังกล่าว กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไป โดยเปรียบเทียบกับไปช่วงเวลาเมื่อ ๕๐ ปีก่อนที่ประเทศไทยมีน้ำมัน “สามทหาร”
       
       ในข้อนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าสถานการณ์ในธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศในปัจจุบันมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแม้แต่ในช่วงเริ่มต้น จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อ้างว่าปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าว
       
       แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกัน ข้าพเจ้าไม่เห็นเหตุผลว่าการมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะหมายความว่าเป็นการถอยหลัง ๕๐ ปี เพราะถ้ามีการกำหนดโมเดลที่เหมาะสมกับประเทศไทย ก็จะไม่กระทบต่อบริษัทเอกชนทั่วไปแต่อย่างใด ซึ่งข้าพเจ้าจะบรรยายโมเดลที่เหมาะสมกับประเทศไทยในลำดับต่อไป
       
       ข้อ ๒. ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุลแจ้งความเห็นว่าสภาพธุรกิจน้ำมันในอดีตนั้น บริษัทต่างชาติเป็นกลุ่มหลักที่ครอบครองตลาด แต่การจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งกลุ่มบริษัท ปตท. ขึ้นเป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่ง สามารถขยายเครือข่ายไปต่างประเทศ สามารถตั้งบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอีกหลายบริษัท และทำการสำรวจและผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นกรณีที่ประเทศไทยมีกลุ่มบริษัท ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว เป็นนัยว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัทฯ ขึ้นมาอีก
       
       ในข้อนี้ ข้าพเจ้าขอเรียนว่าการที่กลุ่มบริษัท ปตท. สามารถทำธุรกิจประสบความสำเร็จก้าวหน้าโดยขยายตัวไปต่างประเทศได้นั้น เป็นเรื่องที่ดี และรัฐควรสนับสนุน แต่การสนับสนุนจะต้องเท่าเทียมกับบริษัทเอกชนในธุรกิจอื่นๆ ที่จะขยายตลาดและการทำธุรกิจไปทั่วโลก ทั้งนี้ รัฐย่อมจะไม่สามารถให้การสนับสนุนที่เกินกว่าการให้สิทธิตามปกติเท่าเทียมกับบริษัทอื่นๆ ได้
       
       สำหรับข้อคิดว่า กลุ่มบริษัท ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัทฯขึ้นมาอีกนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะสถานการณ์ธุรกิจพลังงานของประเทศไทยในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากสองปัจจัย
       
       ปัจจัยที่หนึ่ง การใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต/ระบบจ้างบริการ จะเป็นครั้งแรกที่ทำให้รัฐได้รับสิทธิในรูปส่วนแบ่งปิโตรเลียม หรือเป็นเจ้าของปิโตรเลียม และ
       
       ปัจจัยที่สอง ขณะนี้มีสัมปทานที่กำลังจะทยอยหมดอายุหลายสัมปทาน ซึ่งจะทำให้มีทรัพย์สินตกเป็นของรัฐจำนวนมาก ดังนั้น สองปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เกิดทรัพยสิทธิในรูปแบบใหม่ๆ ที่รัฐจำเป็นจะต้องบริหารจัดการ และทรัพยสิทธิเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐทั้งสิ้น
       
       การที่กลุ่มบริษัท ปตท. มีผู้ถือหุ้นที่เป็นเอกชน ทั้งผู้ถือหุ้นไทยและผู้ถือหุ้นต่างชาติ ซึ่งจะมีคำถามว่าอาจจะเป็นผู้บริหารและพนักงาน ผู้มีอุปการคุณที่ได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นในช่วงการแปรรูป นักการเมืองและสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้น และผู้ถือหุ้นต่างชาติบางรายก็อาจจะเป็นคนไทยที่อ้อมไปใช้สิทธิจองซื้อหุ้นในต่างประเทศ
       
       ดังนั้น ถ้าหากรัฐให้ทรัพยสิทธิใดๆที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ให้สิทธินี้แก่กลุ่มบริษัท ปตท. ก็จะมีผลเป็นการยกเอาประโยชน์ของประชาชนไปให้แก่ผู้ถือหุ้นเอกชนดังกล่าว ซึ่งจะไม่เป็นธรรมต่อประชาชนโดยทั่วไป
       
       ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ข้อคิดว่า กลุ่มบริษัท ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัทฯขึ้นมาอีกนั้น ไม่ถูกต้อง
       
       และถ้าหากไม่มีบรรษัทฯ ก็จะต้องจัดให้ส่วนงานของรัฐเข้ามาเป็นผู้เป็นเจ้าของและบริหารจัดการทรัพยสิทธิเหล่านี้ ซึ่งการที่ส่วนงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามระเบียบราชการ จะทำให้ไม่คล่องตัวในทางธุรกิจ
       
       ข้อ ๓. ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ตั้งคำถามว่า ถ้าดึงเอากรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมารวมศูนย์อยู่ที่บรรษัทฯ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินการอยู่ได้อย่างไร กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้
       
       ข้าพเจ้าขอเรียนว่าในสภาวะที่ทรัพยสิทธิของรัฐกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากมายเช่นนี้ และเนื่องจากรัฐย่อมไม่สามารถยกเอาทรัพยสิทธิเหล่านี้ไปให้เป็นประโยชน์แก่เอกชนเพียงบางกลุ่ม ดังนั้น วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานเอกชนต่างๆ จึงจำเป็นจะต้องปรับตัว และจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะทำธุรกิจในสภาวะที่มีการแข่งขัน
       
       ทั้งนี้ กรณีของกลุ่มบริษัท ปตท.นั้น เนื่องจากเป็นบริษัทที่โฆษณาตลอดเวลาว่า เป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลสูง ดำเนินงานอย่างโปร่งใส และมีผู้บริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ จนมีผลกำไรสูงต่อเนื่องหลายปี กลุ่มบริษัท ปตท. จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการปรับตัวแต่อย่างใด
       
       ข้อ ๔. ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุลตั้งข้อสังเกตว่า การเอากรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมารวมศูนย์อยู่ที่บรรษัทฯ และเนื่องจากบรรษัทฯ จะสามารถขยายขอบเขตการทำธุรกิจผ่านบริษัทลูก จึงจะมีความเสี่ยงที่นักการเมืองจะแทรกแซง
       
       และบรรษัทฯ ที่ตั้งใหม่จะยังไม่มีประสบการณ์ที่จะรับมือกับปัญหาและพัฒนาการใหม่ๆ ของกิจการพลังงาน จึงจะมีความเสี่ยงเกิดการสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย
       ในประเด็นนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุลมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ข้อมูลเพื่อให้ร่างกฎหมายเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศมากที่สุด จึงขอเรียนว่า
       
       บทบาทของบรรษัทฯสามารถจะกำหนดกรอบให้เหมาะสมกับประเทศไทยเป็นการเฉพาะ ดังนี้
       
       ๔.๑ บทบาทแบบแคบที่สุด ควรมีดังนี้
       
       ๔.๑.๑ การขายและจำหน่ายปิโตรเลียม ทั้งในส่วนที่เป็นของผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตและในส่วนที่เป็นของรัฐ ซึ่งในประเทศต่างๆที่ใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาบริการนั้น โดยปกติบรรษัทฯเป็นผู้ทำการขายปิโตรเลียม โดยวิธีจัดประมูลแข่งขันโปร่งใสเป็นประจำ
       
       ๔.๑.๒ การรับซื้อปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งโดยปกติรัฐจะกำหนดราคารับซื้อที่ต่ำกว่าราคาตลาดเล็กน้อยเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้สำรวจและผลิต บรรษัทฯ จึงควรเป็นผู้ทำหน้าที่รับซื้อปิโตรเลียมดังกล่าว
       
       ๔.๑.๓ การถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินปิโตรเลียมที่เป็นของรัฐ เช่น การเป็นผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ในระบบท่อก๊าซซึ่งจะต้องมีการรับโอนตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งการถือกรรมสิทธิ์โดยบรรษัทฯจะเป็นการเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้าร่วมใช้ท่อก๊าซโดยทำสัญญาตรงกับบรรษัทฯ และการเป็นผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่รัฐจะได้จากสัมปทานที่กำลังจะทยอยหมดอายุ ซึ่งนับวันจะมีจำนวนมากขึ้นๆ
       
       ๔.๒ บทบาทที่อาจจะขยายเพิ่มเติม ได้แก่ การนำพื้นที่ออกให้บริษัทเอกชนแข่งขันกันสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไม่ว่าในรูปแบบสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาบริการ ซึ่งขณะนี้เป็นงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่แล้ว จึงจะสามารถโอนย้ายบุคลากรที่สนใจมาสังกัดบรรษัทฯได้โดยง่าย แต่ในการดำเนินการตามบทบาทนี้ จำเป็นจะต้องมีการกำหนดกติกาและวิธีการ เพื่อให้มีการแข่งขันโปร่งใส และป้องกันการแทรกแซงจากนักการเมือง
       
       ๔.๓ บทบาทสำหรับบรรษัทฯ ที่เต็มรูปแบบและใช้กันอยู่ในหลายบางประเทศ คือการ ทำหน้าที่ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแบบครบวงจร (กล่าวคือเป็นทำการสำรวจเอง เป็นผู้จัดซื้ออุปกรณ์และทำการผลิตเอง ดังเช่นตัวอย่างกรณีของบรรษัท Pemex ของประเทศเม๊กซิโก)
       
       แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าบทบาทนี้ยังไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะการจัดตั้งจะต้องใช้เวลานานในการพัฒนาและรวบรวมบุคลากร จะต้องมีทุนดำเนินการจำนวนมาก และจะเป็นการผูกขาดการทำธุรกิจด้านนี้โดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ กระบวนการทำงานที่ครบวงจรดังกล่าวย่อมเปิดช่องให้มีการแทรกแซงจากนักการเมืองและบุคคลต่างๆ ประกอบกับการบริหารความเสี่ยงด้านป้องกันทุจริตก็จะกระทำได้ยาก เพราะการจัดซื้อจัดจ้างเป็นส่วนใหญ่จะมีประเด็นเทคนิกที่ซับซ้อน และถ้าหากบริหารงานไม่รัดกุม ก็จะล้มละลายได้ในภายหลัง
       
       ข้อ ๕. ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุลเสนอแนะให้สมาชิก สนช. ลงมติรับร่างโดยให้ตัดมาตรา ๑๐/๑ ออกไป
       เนื่องจากสถานการณ์ธุรกิจพลังานในอนาคตจะมีทรัพยสิทธิใหม่ๆ ที่เป็นของรัฐจำนวนมาก ซึ่งทรัพยสิทธิดังกล่าวได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ จึงไม่สามารถให้บริษัทที่มีเอกชนร่วมถือหุ้นเป็นผู้ใช้สิทธิดังกล่าวแทนรัฐได้ และจำเป็นต้องมีการจัดตั้งบรรษัทฯขึ้นใหม่นั้น
       
       ข้าพเจ้าขอเรียนว่าการจัดตั้งบรรษัทฯ จำเป็นจะต้องดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยก่อนหน้าการนำเอาแปลงเอราวัณ/บงกชออกประมูล เพราะในกระบวนการนำเอาแปลงเอราวัณ/บงกชออกประมูลนั้น รัฐจำเป็นจะต้องให้ข้อมูลแบบทั่วไปแก่ผู้ที่สนใจให้ชัดแจ้งก่อนการยื่นความจำนงว่า ผู้ใดจะเป็นผู้ทำหน้าที่ขายและจำหน่ายปิโตรเลียม และผู้ใดจะเป็นผู้ทำหน้าที่รับซื้อปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต มิฉะนั้น เอกชนรายต่างๆ ที่มีความสนใจจะยื่นความจำนง จะไม่สามารถพิจารณาได้แม่นยำว่าตนเองจะมีสิทธิเหลืออยู่ในส่วนใด และสมควรจะเสนอแบ่งปันผลผลิตให้แก่รัฐบาลไทยในสัดส่วนเท่าใด
       
       ข้าพเจ้าจึงขอให้ข้อมูลเพื่อจะเป็นประโยชน์ให้แก่ท่านในฐานะสมาชิก สนช. และหวังว่าท่านจะพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน


ERS คัดค้านสอดไส้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

โดย MGR Online

       กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนแถลงการณ์คัดค้านการสอดไส้ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ สนช.จะพิจารณาวาระที่สองและสามในวันที่ 30 มี.ค.นี้
       
       กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนต่างๆ ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ในวาระที่สองและสาม ในวันที่ 30 มีนาคมนี้นั้น
       
       ทางกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนได้รับทราบด้วยความห่วงใยว่าได้มีการปฏิบัติที่ผิดหลักการและกระบวนการในทางนิติบัญญัติในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในวาระที่สอง ในขั้นตอนของการพิจารณาแปรญัตติของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวคือ ได้มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอแปรญัตติเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้ามาใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ อันเป็นการละเมิดหลักการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติรับหลักการไว้ในวาระที่หนึ่ง และในการอภิปรายในวาระแรกก็ไม่มีสมาชิกท่านใดที่อภิปรายท้วงติงหรือต้องการเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด
       
       การเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับบรรษัทน้ำมันแห่งชาติดังกล่าว จึงเป็นการผิดกระบวนการนิติบัญญัติที่ไม่อนุญาตให้มีการแปรญัตตินอกเหนือไปจากหลักการที่สภาได้ลงมติไว้ในวาระที่หนึ่ง นอกจากนั้น ยังเป็นการใช้เสียงข้างน้อยกดดันกรรมาธิการเสียงข้างมากให้ต้องยอมตาม โดยส่งร่าง พ.ร.บ.กลับไปให้ฝ่ายบริหารพิจารณายินยอมให้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวลงไปในที่สุด อันมีลักษณะเป็นการกดดันฝ่ายบริหารให้ต้องทำตามถ้าต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ
       
       กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนมีความเห็นว่า เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายในการบริหารจัดการระบบพลังงานของประเทศ สมควรที่จะต้องมีการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย ให้รอบคอบ ไม่ใช่ใส่เข้ามาลอยๆ ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ โดยไม่มีรายละเอียดอะไรรองรับ ถ้าทางสภาฯ หรือสมาชิก สนช. ท่านใดต้องการให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติก็ชอบที่จะเสนอเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรใหม่โดยตรง ที่ควรระบุหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ พร้อมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบและรายละเอียดต่างๆ เช่น โครงสร้างองค์กร และงบประมาณที่ต้องใช้ รวมถึงผลการศึกษาทางวิชาการที่สนับสนุนการจัดตั้งบรรษัทฯ ว่าจะมีผลดีต่อประเทศชาติอย่างไร เพื่อให้รัฐบาล และ สนช.ได้พิจารณากันอย่างรอบคอบจึงจะเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง
       
       ดังนั้น กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนจึงขอเรียกร้องวิงวอนมายังสมาชิก สนช.ทุกท่านได้โปรดใช้วิจารณญาณในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยความรอบคอบ และหากเห็นแก่ความถูกต้องก็ได้โปรดตัดมาตรา 10/1 ออกไปจากร่าง พ.ร.บ.นี้ และยืนยันว่าทางกลุ่มฯ มิได้ขัดข้องที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เปิดให้ประเทศมีทางเลือกในการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตในสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับหลักการและเหตุผลในการเสนอกฎหมายนี้ แต่ทางกลุ่มขอคัดค้านการสอดไส้ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 10/1 ดังกล่าว 


คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้

โดย MGR Online 

       คปพ.แถลงต้าน 2 ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมสุดกำลัง ชี้ยังมีปัญหาเปิดช่องโหว่ทุจริต ผูกขาด เอื้อประโยชน์ผู้รับสัมปทานรายเดิม ไม่ระบุการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ชัดเจน ขาดองค์กรรองรับทรัพย์สินที่จะตกเป็นของรัฐ ย้ำ คปพ.ไม่ขอร่วมเป็นกรรมการบรรษัท นัดพี่น้องเข้าชื่อยื่นหนังสือประธาน สนช.30 มี.ค.นี้ หากยังดึงดันผ่านจะยื่นถึงนายกฯ ต่อไป
       

       
       

       วันนี้ (28 มี.ค.) ที่อนุสรณ์สถานวีรชน 14 ตุลาฯ แยกคอกวัว เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน พร้อมด้วยตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ร่วมกันแถลงข่าว “ทำไมต้องคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมอัปยศปล้นกลางแดด ทิ้งมรดกบาปไว้ให้ลูกหลาน” และชี้แจงตอบโต้กรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกมาคัดค้านการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ
       
       สำหรับแถลงการณ์ คปพ.ฉบับที่ 1/2560 เรื่องคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมปล้นกลางแดด หยุดมรดกบาปทิ้งไว้ให้ลูกหลาน มีเนื้อหาระบุว่า
       
       “ตามที่ปรากฏในวาระการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าจะมีการพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบ ร่าง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และ ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ นั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอแสดงจุดยืนดังต่อไปนี้
       
       ประการแรก ร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับ ยังคงเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เนื้อหาในกฎหมายดังกล่าว มีการให้อำนาจบุคคลและคณะบุคคลใช้ดุลพินิจมากแทนหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ก่อให้เกิดช่องว่างในการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่รัฐสูงสุด อีกทั้งยังไม่แก้ไขให้ครบถ้วนตามรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ อีกทั้งยังไม่ฟังเสียงของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรายงานของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่อง ปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ฟังเสียงทักท้วงจากประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ และไม่ฟังเสียงคัดค้านจากมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
       
       จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับจึงขาดความชอบธรรมเพราะขัดต่อหลักธรรมาภิบาลที่ดี และเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติไปชั่วลูกชั่วหลาน สมควรอย่างยิ่งที่ภาคประชาชนทุกหมู่เหล่าจะร่วมกันออกมาคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมอัปยศ ๒ ฉบับนี้จนถึงที่สุด
       
       ประการที่สอง หัวใจสำคัญในการคัดค้านในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมกว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา กำลังจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาการหมดอายุสัมปทานที่ไม่สามารถจะต่ออายุสัญญาสัมปทานได้อีกตาม พรบ.ปิโตรเลียม ฉบับเดิม โดยเริ่มต้นจาก แหล่งเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี ๒๕๖๕ และแหล่งบงกช ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี ๒๕๖๖
 และจะมีแหล่งอื่นๆ จะทยอยหมดอายุสัญญาหลังจากนั้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยทั้งแหล่งเอราวัณและบงกชนั้นถือเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณก๊าซธรรมชาติรวมกันมากที่สุดในประเทศไทย คือมีมากถึงร้อยละ ๗๐ ของอ่าวไทย หรือมีประมาณครึ่งหนึ่งของการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ซึ่งสามารถสร้างรายได้สูงถึงประมาณ ๒ แสนล้านบาทต่อปี เมื่อหมดอายุสัญญาแล้วยังพบว่าสามารถผลิตปิโตรเลียมให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาลต่อไปได้

       
       ดังนั้น หากอยู่ภายใต้กฎหมายเดิมที่ไม่สามารถต่ออายุสัมปทานใน ๒ แหล่งนี้ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม ทรัพย์สินทั้งหมดของผู้รับสัมปทาน อันได้แก่ แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนปิโตรเลียมจากทั้ง ๒ แหล่งนี้ จะตกเป็นกรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์แก่รัฐครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งหมายถึงว่าแหล่งปิโตรเลียมอันมหาศาลจะตกอยู่แก่รัฐ โดยรัฐจะสามารถบริหารและขายปิโตรเลียมให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างรายได้แก่รัฐหรือจะขายปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศไทยได้
       
       แต่แทนที่ทรัพย์สมบัติและปิโตรเลียมของชาติหลังจากหมดอายุสัญญาสัมปทานจะกลับมาเป็นของรัฐ สร้างอธิปไตยทางพลังงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย กลับปรากฏว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่กำลังจะพิจารณาผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ นี้ ทำให้เกิดการผูกขาด เอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เกิดการใช้ดุลพินิจมาก และทำให้อธิปไตยทางพลังงานตกเป็นของเอกชนรายเดิมต่อไป ด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้
       
       ๑. การไม่ระบุให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือแม้จะมีการแปรญัตติเพิ่มเข้าไปว่าจะมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะมีเมื่อใด ทำให้ไม่มีองค์กรที่จะมาบริหารทรัพย์สินและขายปิโตรเลียมที่จะตกเป็นของรัฐ
 เพราะหน่วยราชการอย่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะอยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้างตามระบบราชการ จึงไม่มีความคล่องตัวที่จะบริหารและขายปิโตรเลียมรายวันได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในกระทรวงคมนาคมที่ไม่มีความคล่องตัวในเรื่องการบริหารและจัดการรายได้ในกิจการทางด่วน จึงต้องมีการตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อบริหารทรัพย์สินและดูแลรายได้ในการจัดเก็บให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

       
       ดังนั้น ในระหว่างช่วงระยะเวลาที่ยังไม่มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจึงเท่ากับไร้องค์กรของรัฐที่จะมาบริหารและขายปิโตรเลียมให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลทำให้ต้องมอบหน้าที่การบริหารและขายปิโตรเลียมให้กับเอกชนคู่สัญญาคล้ายกับระบบสัมปทานเดิม อันเป็นการทลายอุปสรรคกฎหมายปิโตรเลียมเดิมที่ไม่สามารถจะต่ออายุสัมปทานให้กับคู่สัญญารายเดิมได้
       
       อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความพยายามจากคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่พยายามจะแก้ไขปัญหา ด้วยการแปรญัตติ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ว่า “จะให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม” นั้น แต่เมื่อไม่มีกำหนดเวลาจัดตั้งที่แน่นอน หมายความว่า อาจไม่จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติตลอดไปก็ได้
       
       อีกทั้งคำตอบของ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ ระบุว่า มีเจตนาที่จะเปิดให้เอกชนได้รับสิทธิในการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชไปก่อนที่จะมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการอำพรางกฎหมายเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิมในแหล่งเอราวัณและบงกชให้มีโอกาสในการผลิตปิโตรเลียมต่อไปได้เมื่อหมดอายุสัญญาสัมปทาน โดยหากมีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในภายหลัง ก็สายไปเสียแล้ว เพราะประเทศไทยได้สูญเสียอธิปไตยการบริหารและขายปิโตรเลียมให้แก่เอกชนในปริมาณถึงครึ่งหนึ่งของประเทศไปแล้ว และจะต้องรอคอยการหมดอายุสัญญาใน ๒ แหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ไปอีกถึง ๓๐ ปี กว่าจะถึงวันที่อธิปไตยทางพลังงานจะกลับคืนมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง เพียงเพราะการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไม่ทันต่อเวลาที่จะบริหารจัดการแหล่งบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี ๒๕๖๕ และ ๒๕๖๖ หรือเลวร้ายกว่านั้นคือจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไม่ทันต่อการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ ๒๑
       
       
       ๒. ในขณะที่ยังไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ระบบแบ่งปันผลผลิตที่แท้จริงและระบบจ้างผลิตย่อมไม่สามารถดำเนินการได้
 เพราะในด้านระบบจ้างผลิตไม่มีองค์กรของรัฐเข้ามาบริหารและขายปิโตรเลียมที่จะตกอยู่แก่รัฐทั้งหมดร้อยละ ๑๐๐ การบัญญัติโดยอ้างว่า จะมีระบบจ้างผลิตจึงเป็นการเขียนกฎหมายที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ
       
       ในขณะที่ระบบแบ่งปันผลิตในระหว่างที่ไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติก็ย่อมเท่ากับยกสิทธิการบริหารและการขายปิโตรเลียมให้กับเอกชนเหมือนกับระบบสัมปทาน ดังนั้น การเขียนกฎหมายเช่นนี้จึงเป็นการเพิ่มระบบการผลิตปิโตรเลียมแต่เพียงตัวอักษรอย่างเดียว เพราะเนื้อหาความเป็นจริงแล้วกลับมีเพียงระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิตที่มีเนื้อหาเหมือนระบบสัมปทานเท่านั้น จึงไม่ใช่การเพิ่มทางเลือกให้กับประเทศชาติตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนแต่ประการใด
       
       นอกจากนี้ การที่ไม่บัญญัติกฎหมายอย่างชัดเจนว่าจะใช้การประมูลแข่งขันเพื่อให้เกิดผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสินผู้ชนะการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต จึงเป็นการเปิดช่องว่างทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนเหมือนกับระบบสัมปทาน การกระทำเช่นนี้จึงทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ง่าย
 โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณและบงกชที่มีความพยายามจะเปิดให้เอกชนลงนามผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ได้คล้ายกับระบบสัมปทานเดิม
       
       ๓. การที่ท่อก๊าซธรรมชาติยังคงอยู่ภายใต้การครอบครองของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทำให้เกิดการผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติโดยปริยาย
 เมื่อไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติก็จะไม่มีองค์กรของรัฐขึ้นมาถือครองกรรมสิทธิ์และบริหารกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อเปิดให้เอกชนแข่งขันอย่างเสรี ส่งผลทำให้การประมูลแข่งขันย่อมไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ที่ครอบครองท่อก๊าซธรรมชาติเท่านั้นจึงจะมีสิทธิกำหนดอนุญาตให้ใครใช้ท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อขายก๊าซธรรมชาติให้โรงแยกก๊าซและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือไม่ก็ได้
       
       หรือแม้แต่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะอนุญาตให้เอกชนรายอื่นใช้ท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ในวันข้างหน้าก็ตาม แต่ก็ยังผูกขาดอยู่ภายใต้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อยู่ดี เพราะบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ใช้สิทธิเดิมที่มีอยู่ในการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ดังเช่น การผูกขาดการรับซื้อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย การผูกขาดการซื้อน้ำมันดิบในแหล่งสิริกิติ์ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก และยังได้เงินค่าเช่าท่อก๊าซธรรมชาติที่กำไรอย่างมหาศาลจากผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติและประชาชน อีกทั้งยังถือหุ้นอยู่ในบริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแข่งกับผู้ผลิตปิโตรเลียมรายอื่นอีกด้วย หากมีการประมูลในขณะที่ยังมีลักษณะผูกขาดในทรัพย์สินเช่นนี้ ย่อมได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันเอกชนรายอื่นทุกราย สมมุติยกตัวอย่างเช่น สามารถให้บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) ไปประมูลในราคาต่ำกว่าผู้เข้าแข่งขันทุกราย แล้วให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) ไปผ่องถ่ายทำกำไรชดเชยแทนในการได้รับค่าเช่าท่อ หรือขายต่อปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นในภายหลังได้จริงหรือไม่ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ถูกแปรรูปตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร จนไม่สามารถเกิดการประมูลแข่งขันได้อย่างแท้จริง
       
       พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่กำลังจะพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงมีปัญหา ๓ ประการพร้อมกัน คือ ๑. ไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ทันเวลาต่อการเปิดให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และบงกช หรือไม่ทันต่อการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ๒. ไม่ชัดเจนว่าจะให้เกิดการประมูลแข่งขันผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐ และ ๓. ประกอบกับการที่ท่อก๊าซธรรมชาติยังคงตกอยู่ภายใต้การครอบครองของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จึงย่อมส่งผลทำให้การร่างกฎหมายครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง โดยผู้ที่รับประโยชน์โดยปริยาย คือ ผู้รับสัมปทานรายเดิมในแหล่งเอราวัณและบงกช ตลอดจนผู้ถือหุ้นของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ถูกแปรรูปไปในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 
       
       ประการที่สาม 
เพื่อเป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ใจ จากกระแสข่าวการโจมตีใส่ร้ายจากกลุ่มทุนพลังงานว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ต้องการเข้าไปมีประโยชน์นั่งเป็นกรรมการในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตนนั้น กรรมการของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอยืนยันประกาศปฏิเสธไม่รับตำแหน่งกรรมการในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ทั้งสิ้น
       
       เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในการเรียกร้องของภาคประชาชนนั้น ไม่ได้มีความมุ่งหมายเพื่อจะให้เป็นผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมผูกขาดแบบครบวงจร หรือเข้าแข่งขันแก่งแย่งทางธุรกิจกับเอกชน แต่ต้องการที่จะให้เป็นองค์กรซึ่งมาทำหน้าที่ถือครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่หากปล่อยให้อยู่ในมือเอกชนจะก่อให้เกิดการผูกขาดกิจการปิโตรเลียมซึ่งเป็นอันตรายต่อพัฒนาธุรกิจปิโตรเลียมไทย โดยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะทำหน้าที่รับซื้อปิโตรเลียมปากหลุมจากเอกชนเพื่อสร้างความมั่นใจให้เอกชนว่า ปิโตรเลียมทั้งหมดจะขายได้ และขายปิโตรเลียมในส่วนของรัฐที่พึงได้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
       
       ส่วนการทำหน้าที่เปิดประมูลให้เอกชนแข่งขันสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมให้เอกชนทุกรายเข้ามาแข่งขันนั้นจะจัดการประมูลโดยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ได้ ขอเพียงทำให้เกิดโปร่งใส เสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติด้วยโครงสร้างที่ใหญ่หรือใช้งบประมาณมหาศาล เพราะมิได้เข้าไปสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเอง ดังที่กลุ่มทุนพลังงานพยายามกล่าวโจมตีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ประการใด เพียงแต่เข้าไปรับสิทธิประโยชน์แทนปวงชนชาวไทยเท่านั้น
       
       ดังนั้น หลักประกันที่จะทำให้มั่นใจว่าการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะมีประโยชน์จริงหรือไม่ มีเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ ต้องบัญญัติให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเอราวัณและบงกชจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแล้วเท่านั้น

       
       จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงเห็นว่าจำเป็นต้องคัดค้านในเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง แม้ว่าแกนนำบางคนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะมีข้อห้ามการเคลื่อนไหวและการชุมนุมตามคำสั่งของศาล ทำให้มีขอบเขตได้เพียงการแสดงความคิดเห็นและยื่นหนังสือถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ครั้งนี้มีความสำคัญเพราะเป็นเดิมพันผลประโยชน์ของประเทศชาติถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันเข้าชื่อยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ ฟุตปาธฝั่งตรงกันข้ามรัฐสภา ตั้งแต่ เวลา ๐๘.๐๐ น. และหากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านความเห็นชอบกฎหมายปิโตรเลียม ทั้ง ๒ ฉบับ ก็เหลือเพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ฝั่งตรงกันข้ามทำเนียบรัฐบาล เมื่อถึงเวลานั้น ประชาชนผู้รักชาติและแกนนำทุกกลุ่มผู้ซึ่งไม่มีข้อจำกัดตามคำสั่งของศาลจะเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่าจะชุมนุมแบบปักหลักพักค้างที่ฟุตปาธฝั่ง กพร. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล จนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๔๔ เพื่อยกเลิกกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวต่อไปหรือไม่
       
       ในวาระโอกาสที่กฎหมายปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว ซึ่งมาพร้อมกันในช่วงเวลาใกล้หมดอายุสัญญาปิโตรเลียมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย อันเป็นโอกาสแรก และโอกาสเดียวที่จะได้อธิปไตยปิโตรเลียมกลับคืนมาในช่วงชีวิตของคนไทยรุ่นเราเท่านั้น เป็นเดิมพันครั้งสำคัญต่ออนาคตของชาติที่อยู่ในมือคนไทยทุกคน อาศัยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในมาตรา ๓ ซึ่งบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และมาตรา ๔ ซึ่งบัญญัติให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ จึงขอเรียนเชิญพี่น้องประชาชนผู้รักชาติบ้านเมืองทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันทำภารกิจคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำการทบทวนและหยุดยั้งกฎหมายดังกล่าวเพื่อคืนความสุขให้กับประชาชนในชาติอย่างแท้จริง
       
       ด้วยจิตคารวะ
       เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)
       ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา
       วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐”

       
       
 


คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้
        

คปพ.ลั่นค้าน กม.ปิโตรเลียมสุดกำลัง นัดเข้าชื่อยื่นประธาน สนช.30 มี.ค.นี้

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หม่อมอุ๋ย ยื่น สนช. โหวตล้ม ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ

view