สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดอกเบี้ยขึ้น เงินบาทแข็ง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีระพงษ์ รามางกูร

คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้น หรือ Federal Funds Rate จากระดับ 0.5-0.75 เป็น 0.75-1.00 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับให้สัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกายังมีนโยบายที่จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีก 2 ครั้งในปี 2560 นี้ ซึ่งคงจะหมายถึงจะค่อย ๆ ขึ้นครั้งละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ และในปีหน้า 2561 ก็ยังจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกต่อไปอีก 3 ครั้ง

ทันทีที่ธนาคารกลางสหรัฐประกาศขึ้นดอกเบี้ย ปรากฏว่าค่าเงินสกุลต่าง ๆ มิได้มีค่าต่ำลงเมื่อเทียบเงินดอลลาร์ หรือเงินดอลลาร์มีค่าแพงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ สหรัฐตามที่สื่อมวลชนคาดการณ์เอาไว้ แต่ค่าเงินสกุลต่าง ๆ รวมทั้งค่าเงินบาทกลับมีค่าแข็งขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์รวมทั้งดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น

การที่ราคาหุ้น ราคาตราสารหนี้ รวมทั้งค่าเงินสกุลต่าง ๆ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็เท่ากับว่าเงินดอลลาร์จากภูมิภาคนี้ไม่ได้ไหลออกกลับไปที่สหรัฐ แต่กลับกันเงินดอลลาร์กลับไหลเข้าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทยด้วย

เหตุการณ์เช่นนี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการคาดการณ์อย่างมีเหตุผล หรือ Rationale Expectation Theory กล่าวคือ ตลาดได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าทางการสหรัฐจะต้องขึ้นดอกเบี้ย เพียงแต่จะขึ้นครั้งละ 0.25 หรือ 0.50 เปอร์เซ็นต์ ตลาดตราสารหนี้ก็ได้ปรับตัวไปก่อนล่วงหน้าแล้ว ทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและดอกเบี้ยระยะยาวผ่านทางการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหนี้ หลังจากได้มีการปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน

เมื่อถึงกำหนดธนาคารกลางประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง0.25 เปอร์เซ็นต์ เงินจึงไม่ไหลกลับไปที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับไหลออก แสดงว่าตลาดไม่มีความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของรัฐบาลทรัมป์ ว่าจะยังคงรักษาสถานการณ์เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองอย่างในขณะนี้ได้หรือไม่ เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะพลิกกลับเป็นเศรษฐกิจขาลงอีกก็ได้ ปัจจัยทางลบมีมากกว่าจึงทำให้เงินทุนไม่ไหลกลับไปสหรัฐอเมริกา แต่กลับไหลออก

หากธนาคารกลางสหรัฐยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐต่อไปเงินก็อาจจะยิ่งไหลออกจากอเมริกาเงินดอลลาร์อ่อนลง เมื่อเทียบกับเงินสกุลต่าง ๆ ในเอเชียและไม่มีผลในการดึงดูดเงินกลับอเมริกา แต่มีผลทำให้การลงทุนในการผลิตน้อยลง เพราะไม่ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานไม่ลดลง ในระยะต่อไปอัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นตามนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐที่ต้องการเห็นเช่นนั้น สถานการณ์จึงไม่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์แปลกใจ แต่นักธุรกิจอาจจะแปลกใจ

การประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐว่า สหรัฐไม่เชื่อในระบบเศรษฐกิจการค้าเสรี แต่จะดำเนินนโยบายกีดกันการนำเข้า โครงการขึ้นกำแพงภาษีกับโรงงานอุตสาหกรรมที่นักลงทุนอเมริกันไปลงทุนที่อื่น เช่น เม็กซิโก หรือแคนาดา หรือออสเตรเลีย ก็จะทำให้ปริมาณการค้าของโลกลดลง ข้าวของในอเมริกาจะแพงขึ้น โรงงานในอเมริกาก็จะต้องผลิตของราคาแพง ไม่สามารถส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติรวมทั้งรายได้ประชาชาติของอเมริกาอาจจะลดลง แทนที่จะเพิ่มขึ้น และคงจะกระทบต่อคนยากจนในสหรัฐอเมริกาเป็นอันมาก

ถ้าหากสถานการณ์เป็นอย่างนี้ผู้คนก็คาดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็จะยิ่งตกเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ เงินจึงไหลออกจากอเมริกามาลงทุนในภูมิภาคอื่นที่มีอนาคตกว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งก็คือเอเชีย

อย่างไรก็ตาม จีนแม้จะปรับอัตราดอกเบี้ยทางการขึ้น แต่ก็ขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าสหรัฐอเมริกา กล่าวคือขึ้นเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์ แต่ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ไม่ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม

การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ธนาคารกลางสหรัฐมองเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังก่อตัวขึ้น อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐนั้นมักจะเกิดขึ้นจากการกดดันของอัตราค่าจ้างที่แท้จริง หรือที่เรียกกันว่า "Wage Push Inflation"

ในภาวะเศรษฐกิจร้อนแรง การที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานย่อมสร้างอำนาจต่อรองให้สหภาพแรงงานขอขึ้นอัตราค่าจ้าง การขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานในขณะที่ไม่มีความกดดันทางด้านเงินเฟ้อย่อมกดดันทำให้เงินเฟ้อเกิดขึ้นได้

การประกาศต่อต้านระบบการค้าเสรีของประธานาธิบดีทรัมป์โดยจะทำเศรษฐกิจสหรัฐให้อยู่โดดเดี่ยว หรือที่เรียกว่า Autarky Economy หรือ Robinson Crusoe Economy ย่อมทำให้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ หรือ Gain From Trade ของสหรัฐอเมริกาหายไป นโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ ถ้าทำจริงก็คงจะได้รับการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ในที่สุดอาจจะกลายเป็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ อาจจะรวมทั้งระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก สหรัฐกับแคนาดา ซึ่งสหรัฐคิดว่าจะเจรจาแบบทวิภาคีกับแต่ละประเทศได้

การที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผลไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดว่าเงินดอลลาร์จะไหลออกจากภูมิภาคเอเชียกลับไปอเมริกา แต่กลับกลายเป็นว่าเงินดอลลาร์ยังไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคนี้แข็งขึ้น ทำให้ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า พฤติกรรมของตลาดเงินและตลาดทุนที่ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ในอนาคตมีความสำคัญมากขึ้น และอาจจะมากกว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะการคาดการณ์อนาคตหรือ Future Expectation มักจะคาดการณ์เกินความจริงเสมอ

และเมื่อปัจจัยที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเกิดขึ้นจริง แต่เกิดขึ้นน้อยกว่าที่คาด ตลาดจึงปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงเกิดเหตุการณ์ตรงกันข้ามกับที่คิดว่าควรจะเป็นตัวอย่างจากเหตุการณ์ครั้งก็คือ มีการคาดการณ์ว่าทางธนาคารกลางอาจจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25-0.5 เปอร์เซ็นต์ การปรับตัวของตลาดจึงปรับตัวบนพื้นฐาน 0.5 เปอร์เซ็นต์บ้างสำหรับผู้ที่มีความคิดที่ไม่ชอบเสี่ยงหรือ "Risk Averter" และปรับตัวบนสมมุติฐานว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ที่ชอบเสี่ยงหรือ "Risk Lover" การปรับตัวล่วงหน้าของตลาดจึงปรับตัวมากกว่าความเป็นจริง เมื่อธนาคารกลางประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ตลาดจึงปรับตัวอีกครั้ง แต่ปรับตัวไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับที่ควรจะเป็น เช่น เมื่อสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินดอลลาร์ควรไหลออกจากเอเชีย ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดเอเชียควรจะแพงขึ้น หรือค่าเงินในภูมิภาคเอเชียควรจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ แต่เกิดสถานการณ์ตรงกันข้าม คือค่าเงินในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งเงินบาทกลับปรับตัวแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แทนที่จะอ่อนตัวลง

แต่อย่างไรก็ตาม การปรับตัวนี้ก็คงเป็นเรื่องของสถานการณ์ระยะสั้น ในระยะปานกลางหรือระยะยาวก็จะมีการปรับตัวตามเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์จึงมีความผันผวนมากขึ้น แต่ควรจะมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเมื่อราคาตราสารหนี้ ราคาหุ้น ได้ปรับตัวไปถึงจุดที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีกไปไม่ได้ และคงจะเป็นช่วง "ขาลง" เช่นเดียวกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เพื่อให้เกิด "ดุลยภาพ" หรือ "Equilibrium" กับทั้ง 2 ตลาด

ปัญหาเศรษฐกิจขาลงจึงเกิดขึ้นตามกันมา กล่าวคือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงลงเพราะการส่งออกหดตัว หรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ไม่เพียงพอที่จะรองรับการเดินเครื่องจักรอย่างเต็มที่ของโรงงานได้ ผลประกอบการจะค่อย ๆ ไม่ดี ขณะเดียวกันภาคการเงินก็จะมีปัญหาเงินตึงตัวขึ้น เพราะเงินไหลออกและดอกเบี้ยมีความกดดันที่จะต้องสูงขึ้นเป็นของปกติตามวัฏจักร คงทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากระมัดระวังตัวให้มากขึ้น รอเวลาเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างจริงจัง

คงทำได้เท่านี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดอกเบี้ยขึ้น เงินบาทแข็ง

view