สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไมญี่ปุ่น ยังเป็น สังคมเงินสด

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลรุกไล่เข้ามาในชีวิตมนุษย์บนโลกนี้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องฝากชีวิตไว้กับเทคโนโลยีดิจิทัล ขณะที่หลาย ๆ ธุรกิจก็กำลังถูกเทคโนโลยีไล่ล่า เกิดคู่แข่งนอกวงการเข้ามาปฏิวัติวงการอย่างรวดเร็ว

หนึ่งในธุรกิจที่กำลังเผชิญความท้าทายนี้ก็คือ"ธุรกิจการเงิน"ที่ทำให้ต้องปรับรูป เปลี่ยนแบบการทำธุรกรรมการเงิน ไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับ "ฟินเทค" แต่แท้จริงนั้นเป็นการเปลี่ยนเพื่อรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมากกว่า

ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลหรือยุคของคนที่เกิดมาพร้อมกับ"อินเทอร์เน็ต" "สมาร์ทโฟน" และ "โซเชียลมีเดีย" กิจกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นบนหน้าจอ (สมาร์ทโฟน) ระบบการชำระเงินเป็นหนึ่งในธุรกรรมที่สามารถเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ได้ง่ายอันดับต้น ๆ

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ประกาศนโยบายเรื่อง "เนชั่นแนลอีเพย์เมนต์" เพื่อก้าวสู่ "สังคมไร้เงินสด"

จากข้อมูลระบุว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แบบช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในระบบการชำระเงินและใช้จ่าย ประเด็นส่วนใหญ่ที่ธนาคารพาณิชย์นำเสนอก็คือ "สะดวก-รวดเร็ว-ง่ายดาย-ปลอดภัย"

สำหรับประเทศไทยที่เริ่มต้นจากระบบการชำระเงิน "พร้อมเพย์" หรืออาจเรียกว่า "พร้อมจ่าย" ดูเหมือนกระตุ้นให้พร้อมจับจ่ายใช้สอยเต็มที่

แม้ว่าประโยชน์ของสังคมไร้เงินสดมีมากมาย แต่ก็ไม่อยากให้รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธนาคารพาณิชย์ มองข้าม "ปัญหา" ที่ซ่อนอยู่หรือที่มาพร้อมกับความสะดวกง่ายดายของการใช้จ่ายแบบทุกที่ทุกเวลาของสังคมไร้เงินสด เพราะเทคโนโลยีที่ช่วยให้ "โอนง่าย-จ่ายง่าย" อาจมาพร้อมกับการทำให้ประชาชนเป็นหนี้ง่ายไปด้วย ?

เพราะ "สังคมไร้เงินสด" ทุกอย่างใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต-บัตรเดบิต ใช้ง่าย-จ่ายคล่อง ทุกอย่างรูดปรื๊ดออกจากบัตรทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละวันใช้จ่ายไปเท่าไหร่

ต่างจากการใช้"เงินสด" ถ้าในกระเป๋ามี 500 บาท ก็จะมีลิมิตการใช้จ่ายไปในตัว หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าหยิบเงินออกจากกระเป๋าไปเท่าไหร่


แน่นอนว่าอีเพย์เมนต์เป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์แต่ถ้าจะดีกว่าถ้ามีการเตือนสติหรือรณรงค์ให้คนไทยมีวินัยการใช้เงินควบคู่ไปด้วยเพราะแม้แต่ "ญี่ปุ่น" ประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี แต่เชื่อหรือไม่...คนญี่ปุ่นยังนิยมใช้เงินสดในการจับจ่ายซื้อของมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

โดยข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศหรือBIS ระบุว่า "ญี่ปุ่น" มีอัตราเงินสดหมุนเวียนอยู่ในระบบสูงถึง 19.4% ต่อผลของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงที่สุดในบรรดา 18 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และสูงกว่าสหรัฐถึง 2.5 เท่า ขณะที่ประเทศที่พึ่งพิงการใช้เงินสดน้อยที่สุดคือ "สวีเดน" มีอัตราเงินสดหมุนเวียนอยู่ในระบบเพียง 1.7% ต่อจีดีพี

โดยผลสำรวจของธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุว่า คนญี่ปุ่นส่วนมากที่นิยมใช้เงินสด เพราะกังวลว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ตัวเองเผลอหรือลืมตัวใช้เงินซื้อสินค้ามากเกินความจำเป็นจนกลายเป็น"หนี้" ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว

รวมทั้งคนญี่ปุ่นมองว่าการใช้ "เงินสด" มีความปลอดภัยสูงโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกปลอมแปลงข้อมูลและถูกนำไปใช้โดยมิชอบ บ้างก็มองว่าการใช้เงินสดมีความเป็นส่วนตัวสูงกว่า เพราะการใช้ผ่านบัตรเครดิตหรือจ่ายออนไลน์ ข้อมูลการใช้จ่ายจะถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดและจะถูกนำไปใช้เพื่อการตลาดของสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งหลายทั้งปวงก็ต้องยอมรับว่าเพราะชาวญี่ปุ่นมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากและเป็นคนที่มีระเบียบวินัยสูง ทำให้มีการปลูกฝังวินัยทางการเงินมาอย่างดีนั่นเอง

นี่จึงทำให้คนญี่ปุ่น "รวยก่อนแก่" ไม่ใช่ "แก่ก่อนรวย"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำไมญี่ปุ่น สังคมเงินสด

view