สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธุรกิจรุกเปลี่ยนเกม ควานหาลูกค้ายุค 4.0

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

เป็นยุคที่กูรูการค้าเดิมต้องกุมขมับ เมื่อโลกหมุนเร็วเคลื่อนสู่ “4.0” ร่วมเปิดมุมมอง โมเดลธุรกิจรอด สูตร..ไร้รูปแบบ (Formless) ไร้พรมแดน (Borderless) และไร้ขีดจำกัด (Limitless) ก่อนสายเกินแก้ !

10 ปีที่แล้วเมื่อพูดถึงโลกดิจิทัลยังมีหลายคนทำหน้างงๆ เพราะขณะนั้นมีเพียงแอพพลิเคชั่น เฟซบุ๊ค เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย ตามมาด้วยอินสตราแกรม 

ทว่า ไล่หลัง 5 ปีต่อมา เห็นเทรนด์การเสพสื่อดั้งเดิมเบนเข็มสู่ โซเซียลมิเดีย ชัดเจนขึ้นมาก โดยมีมือถือสุดหล่อ “สมาร์ทโฟน” เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตผู้คนมากขึ้นไปพร้อมกับของเล่นต่างๆที่มีมากขึ้น ทั้ง แอพพลิเคชั่นแชทโปรแกรม เสิรชเอ็นจิน อาทิ เฟซบุ๊ค ไลน์ วีแชท อินสตราแกรม กูเกิล ยูทูป ฯลฯ  

จนถึงปัจจุบัน สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ผู้คนต่างใช้สมาร์ทโฟนต่างระดับราคาเป็นแพลตฟอร์มในการเสพสื่อ

ในไม่ช้า สมาร์ทโฟนยังจะเป็นสิ่งพกพาแทนเงินสด (สังคมไร้เงินสด) เพราะธุรกรรมทางการเงินต่างๆสามารถทำผ่านสมาร์ทโฟน อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นประเทศแถบแกนดิเนเวีย เงินสดจะหายไปจากกลุ่มประเทศแถบนี้ 3-4 ประเทศ เริ่มต้นในประเทศสวีเดน ที่มีตั้งเป้าหมายเลิกใช้เงินสดภายในปี 2563

นั่นเป็นพฤติกรรม (ไลฟ์สไตล์) ของผู้คนที่หมุนตามเทคโนโลยีรอบตัว

กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้ธุรกิจต้อง ถอดรหัส” ค้าอย่างไรในโลกยุคดิจิทัล 

"ธุรกิจจะต้องควานหาลูกค้า ต้องดักทางให้ถูกต้อง! คำเตือนให้คนทำธุรกิจต้องเปลี่ยนตัวเองหากต้องการอยู่รอด จากเวทีสัมมนา "New Economy Dialogue 2017" ในหัวข้อ มองมุมใหม่ ปฏิวัติธุรกิจ แข่งขันยุค 4.0 จาก ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้ง FireOneOne และ Weecosystem Academy

ล่าสุดเขายังเป็นประธานเจ้าหน้าที่มบริหาร สิริ เวนเจอร์ บริษัทร่วมทุนระหว่างบมจ.แสนสิริ กับธนาคารไทยพาณิชย์ ในลักษณะ Corporate Venture Capital (กองทุนร่วมลงทุน) เพื่อวิจัยและลงทุน เพื่อสร้างนวัตกรรมด้าน Property Technology (เทคโนโลยีตอบโจทย์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์) เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่ที่มีแววไปไกลในแวดวงอสังหาฯ

ชาคริต เป็นอีกคนที่ทำนายไว้ก่อนหน้านี้ว่า ต่อไปธุรกิจมูลค่านับแสนล้านจะอยู่บนสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ธุรกิจจึงต้องคิดโมเดลเชื่อมลูกค้าที่ย้ายรังไปสู่สมาร์ทโฟนให้ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในไทย หากเดินไปยังร้านอาหารในไทย เฉพาะในภูเก็ต และเชียงใหม่ หน้าร้านจะมีป้ายพลาสติกตั้งโต๊ะ ชูสัญลักษณ์ “อาลีเพย์” และ “วีแชทเพย์” ระบบชำระเงินออนไลน์ที่กำลังฮอต

นั่นเป็นบริการการชำระเงินนอกประเทศจีน ให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยแบบไม่ต้องพกเงินสด แถมยังได้ส่วนลดค่าซื้อสินค้าและบริการ

นี่คือตลาดใหม่ !!! ที่ลูกค้าไม่ต้องรอเพียงสแกนคิวอาร์โค้ด แล้วจ่ายเงินผ่านมือถือเป็นอันจบ ยังไม่รวมการเรียกรถแท็กซี่ผ่านอูเบอร์ หรือแกร็บ แท็กซี่ ที่เริ่มเพิ่มมากขึ้นไม่ต้องทอนเงินให้ยุ่งยาก

ต่อไปแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ จะเข้ามาแทนการชำระเงินเงินสดอย่างรวดเร็ว เร็วชนิดที่ตั้งตัวไม่ทัน เร็วกว่ายุคที่เปลี่ยนเงินสดมาใช้บัตรเคดิตที่ต้องใช้เวลาหลายสิบปี “ชาคริต” เชื่อเช่นนั้น

หากอยากให้เห็นภาพชัดเจน เขายังอธิบายโปรดักท์ใหม่จากค่าย “อเมซอน” ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์สัญชาติอเมริกัน ที่แนะนำบริการค้าปลีกระบบใหม่ ลูกค้าที่เดินเข้าร้านอเมซอนผ่านด่านสแกนบาร์โค้ด เจ้าร้านนี้ก็จะรู้ทันทีว่า ลูกค้ารายนั้นมีวงเงินในบัตรเคดิตเท่าไหร่ จากนั้นทันทีที่ลูกค้าหยิบสินค้าจากเชลฟ์ใส่ในรถเข็น ระบบก็จะคิดคำนวณยอดเงินรวมทันที แบบไม่ต้องไปยืนต่อแถวเพื่อให้แคชเชียร์สแกนจ่ายเงินหน้าตู้แคชเชียร์อีกต่อไป

ลดต้นทุนจ้างแคชเชียร และค่าบริหารจัดการอื่นๆ อีกจิปาถะ ข้อเสียมีอย่างเดียวคือ คนซื้ออาจจะหยิบเพลินแบบยอดเงินพุ่งไม่รู้ตัวเพราะไม่ได้พกเงินสด

อเมซอน เปิดบริการนี้ออกมา เพื่อพลิกโฉมวงการค้าปลีกเป็นดิจิทัลรีเทล ลูกค้ารายแรกๆ ก็คือห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ ลงทุนระบบเพียงครั้งเดียว ลดต้นทุนด้านแคชเชียร์ และอื่นๆได้มากมาย 

รูปแบบบริการทางการเงินไม่หยุดเพียงแค่นี้ ยังมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เช่น โรงรับจำนำที่ไม่ต้องมีเงินทุน วางตัวเป็น“ตัวกลาง”เชื่อมคนมีเงิน กับเจ้าของสินค้าที่ร้อนเงิน เช่น กระเป๋าหลุยส์ รถคลาสสิค

ยกตัวอย่างหากเจ้าของกระเป๋าต้องการเงิน 1 แสนบาท แต่โรงรับจำนำตีราคา 8 หมื่นบาท เจ้าของโรงรับจำนำจะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและตีราคากระเป๋า ส่วนเงินจะมาจากผู้สนใจอยากได้กระเป๋าใบนั้น โดยได้กำไรจากการปล่อยเงินจำนำ10% โรงรับจำนำคิด 2% หากกระเป๋านี้หลุดจำนำ ผู้ที่มีสิทธิเป็นเจ้าของก่อนคือคนปล่อยเงิน เป็นต้น

ระบบนี้คือการระดมทุนผ่านมวลชน หรือ Crowdfunding  ไม่ต่างจากระบบแชร์ ที่ไม่ในไม่ช้าจะเกิดวงแชร์บนโลกดิจิทัล ความเสี่ยงน้อยลง เพราะมีระบบตรวจสอบ ใครเป็นจอมเบี้ยว ปิดจุดอ่อนวงแชร์ที่เล่นกัน แบบไม่ต้องเสียเวลาไปจับฉลากเปียแชร์ เจ้าของแพลตฟอร์มขอกำไรจากค่าดูแล 2%

นี่เป็นหนึ่งในอีกหลากหลายธุรกิจบริการการเงินที่จะเกิดขึ้นในโลกมากขึ้น แม้จะยังไม่เกิดขึ้นในไทยเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่อนุญาต แต่อนาคตมาแน่

ที่ไม่เหมือนเดิมคือผู้ให้บริการเหล่านี้ไม่ต้องใช้เงินสดตัวเอง ใช้เงินคนอื่นระดมทุน นี่คือเศรษฐกิจใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี ที่ไม่จำเป็นต้องแพง ขอแค่เข้าใจ คนแรกที่ต้องเข้าใจคือลูกค้า ก่อนกระโดดเข้าไป จากนั้นเข้าใจเครื่องมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการมีมือถือไปเกี่ยวข้อง ชาคริตย้ำว่า ต้องอ่านให้ขาดมือถือไปเกี่ยวข้องกับลูกค้าของเราในมุมไหน?

เขาเล่าเส้นทางการค้นพบการค้าใหม่ที่เกิดขึ้นจากการติดตาม“บล็อก”ของฝรั่งรายหนึ่งรีวิวบล็อกเกี่ยวกับน้ำปลา จัดลำดับคะแนนน้ำปลาจากทั่วโลกแล้วเรียงลำดับตามทั้งรสชาติ กลิ่นและความเค็ม มีทั้งแชมป์คือน้ำปลาจากเวียดนาม และรองลงมาคือไทยติดหนึ่งใน 10 แบรนด์ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ น้ำปลาจากญี่ปุ่นติดหนึ่งใน 10

รีวิวจากบล็อกไปกระตุ้นต่อมอยากรู้บางอย่างของชาคริตให้ไปค้นหาน้ำปลา จากญี่ปุ่นชาติที่เราได้ยินความโด่งดังจากซอสโชยุ และซอสต่างๆที่กินกับปลาดิบ เท่านั้น ก่อนจะไปค้นพบว่าน้ำปลายี่ห้อนี้ขวดละพันกว่าบาท เพราะเป็นน้ำปลาพิเศษตรงที่หมักในถังวิสกี้ คนหมักขายเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ อาชีพประมง หมักน้ำปลาเป็นแค่งานอดิเรกปีละแค่ 200 ขวดเท่านั้น

แต่เป็นเรื่องที่โดนจนทำให้เขายอมควักเงินซื้อน้ำปลาเจ้าพิเศษนี้มาติดไว้ในครัว

สิ่งที่ชาคริตจะบอกไม่ใช่แค่ซื้อน้ำปลาข้ามประเทศ แต่เขาต้องการให้เห็นเส้นทางการเดินทางของการค้นพบน้ำปลาเจ้าเล็กที่ผลิตในญี่ปุ่นนั้นมาจากการสืบค้นจากหลายแหล่งข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับโฆษณาใดๆ เลย 

ดังนั้นคนขายของจึงต้องหาแหล่งเส้นทางเหล่านี้เพื่อพาตัวเองให้ ไปชนลูกค้า”!

ระหว่างเส้นทางการเสพสื่อของลูกค้าเหล่านี้เป็นโอกาสในหลากหลายพันโอกาส ที่เกิดขึ้นในมือถือมูลค่านับแสนล้านบาท

หาโอกาสใหม่ให้เจอตอบสนองลูกค้าในยุคที่ต้องการความง่าย ถามตัวเองว่าเราอยู่ตรงไหน ทำอะไร เข้าหาลูกค้าด้วยอะไร เทคโนโลยีเสิร์ซเอ็นจิ้น กูเกิล หรือบล็อครีวิว หรือจากเว็บตัวเอง รวมถึงโซเชียลมิเดีย เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม ไล่ไดอะแกรมลูกค้าเป้าหมายให้เจอ

โมเดลธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากมี 3 คำที่ต้องจำคือ ไร้รูปแบบ (Formless) ไร้พรมแดน (Borderless) และไร้ขีดจำกัด (Limitless)

ไร้รูปแบบ เมื่อทุกอย่างเกิดบนดิจิทัล เงินสด หรือบัตรเครดิตไปอยู่บนมือถือ ไม่มีรูปแบบตายตัวของการชำระเงินซื้อสินค้ารวมถึงรูปแบบธุรกิจ , ไร้พรมแดน ตัวอย่างการซื้อน้ำปลาจากญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่ามีคู่แข่งจากต่างประเทศจะเข้ามาแย่งตลาดจากเราโดยที่เราไม่ทันสกัดด้วยซ้ำ แต่ก็มีโอกาสและข้อดีก็ตรงเราก็ไปเอาเงินนอกประเทศได้ด้วยเช่นกันและสุดท้าย ไร้ขีดจำกัด 

บนโลกดิจิทัลตลาดเพิ่งเปิดหมายถึงสมรภูมิที่เพิ่งเกิดใหม่ พื้นที่ว่างอีกมหาศาล จากตลาดมูลค่าธุรกิจกำลังจะเติบโตอย่างไม่หยุดอย่างไร้ขีดจำกัด 

---------

ลูกชาวนาอเมริกัน พลิกโฉมเกษตรกรโลก

โมเดลที่น่าสนใจและเป็นสตาร์ทอัพทางด้านการเกษตรที่มาแรงในสหรัฐอเมริกา คือ ฟาร์มาฟีลด์ (FarmAField) เกิดขึ้นจากไอเดียทีมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยลูกหลานเกษตรกรแถบมิดเวสต์ พวกเขามีหัวใจรักอาชีพเกษตรกร 

เบรนแนน คอสเทลโล (Brennan Costello) หัวหน้าฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร FarmAfield หนึ่งในทีมผู้คิดแพลตฟอร์มเขาก็เป็นเกษตรกรหนุ่มรุ่น 4 ของตระกูลคนทำเกษตรกรรมที่ผ่านการหลังขดหลังแข็ง ตรากตรำงานหนักในไร่ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เมื่อวัย 14 ปีไปช่วยพ่อทำงาน และระหว่างเรียนมีทริปไปทำวิจัยที่ประเทศไลบีเรีย จึงเห็นความทุกข์ยากของเกษตรกรในแถบนั้น กลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้เขาอยากเป็น “ผู้พลิกเกม” ให้เกษตรกรของโลกให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

“พวกเราเป็นลูกเกษตรกรชาวมิดเวสต์ชุมชนเกษตรกรรมเล็กๆ ที่ยังเผชิญความเสี่ยงในการทำเกษตรกรรมหลายด้าน และหนึ่งในทีมของพวกเขาเคยเข้าถึงทุนให้กับเกษตรกรในแอฟริกา จึงมีประสบการณ์และเห็นโอกาสการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรทั่วโลก”

แพลตฟอร์มธุรกิจสตาร์ทอัพ ฟาร์มาฟีลด์ เป็นโมเดลสร้างเครือข่ายเกษตรกรรมตั้งแต่ เกษตรกร คนเลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำสวน นักลงทุน รวมถึง ผู้บริโภค ได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายเกษตรกรรมทั่วโลกให้แข็งแกร่ง

เขาต้องการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เกษตรกร ที่ขาดแคลนเงินทุน แถมยังเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ นานา ตั้งแต่ ผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนสูง แถมราคาขึ้นๆ ลงๆ

แพลตฟอร์มแรกสำหรับเกษตรกร หรือชาวนาชาวไร่ ที่ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ได้มีโอกาสเข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนด้านปศุสัตว์ แล้วทำการเลี้ยงพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีชื่อเสียง เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางเลือกให้กับเกษตรกรต้นน้ำที่ไม่ได้พึ่งพาเพียงผลผลิตด้านเดียว แต่ยังเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเกษตรกรรมด้านอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง

สำหรับผู้บริโภคปลายทาง ก็เข้ามาใช้ตลาดนี้ในการเป็นเจ้าของฟาร์มที่สามารถเห็นวิวัฒนาการเติบโตการเลี้ยงแต่วันแรกจนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งลูกค้าสามารถเป็นทั้งนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แล้วยังรู้ข้อมูลสต็อกปริมาณผลผลิตในแอพลิเคชั่นแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถสร้างกำไรจากตรงนี้ได้

ฟาร์มาฟีลด์จึงเข้ามาบริหารจัดการปัญหาอุปสรรคทางการเงินของฟาร์มที่อยู่ห่างไกลให้เข้าถึงตลาด และช่วยสร้างเครือข่ายให้หเกษตรกรมีความเสี่ยงผลผลิตตกต่ำ เพราะมีทั้งตลาดและผู้ร่วมลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ขณะที่คนทำปศุสัตว์ต้องการแหล่งอาหารเลี้ยงสัตว์

แพลตฟอร์มนี้จะพลิกอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ หลังจากที่เกษตรกรต้องเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเนื้อวัว แต่เมื่อมาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้สามารถเลือกตลาดได้ และมีอำนาจต่อรอง จากการรวมของผู้เลี้ยงวัวและผู้รับซื้อจำนวนมาก โดยที่ต่อไปอุตสาหกรรมเนื้อวัวก็อาจจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของแพลตฟอร์มนี้

เบรนแนน เล่าย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจที่จัดทำแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ในแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเป็นธุรกิจเพื่อช่วยเหลือปัญหาของภาคการเกษตรทั่วโลก

แม้กระทั่งเกษตรกรในสหรัฐอเมริกาก็ยังเกิดปัญหาการเติบโตอย่างเชื่องช้าและเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีการทำเกษตรขนาดใหญ่ หากทำในครอบครัว ผลผลิตอย่างมากเพียงปีละครั้ง ที่สำคัญสัดส่วนกว่า 70% เห็นกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปที่ไม่เข้าใจถึงวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำการเกษตร

เช่นเดียวกันกับชาวนาในไลบีเรีย มีฐานะยากจน ขาดแคลนเงินทุน กว่าจะเข้าถึงตลาดต้องเดินทางไกลโดยจักรยานหลายกิโลเมตร

ฟาร์มาฟีลด์ จึงเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกลางเชื่อมเครือข่ายคนตัวเล็กให้แข็งแกร่ง โดยที่เกษตรกรในสหรัฐสามารถบริหารความเสี่ยงโดยการเข้าไปลงทุนหรือกระจายความเสี่ยงให้ผลผลิตเติบโต

ส่วนเกษตรกรจากประเทศกำลังพัฒนา เช่น ในแอฟริกา สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยมีนักลงทุนที่สามารถประเมินแนวโน้มผลผลิต และราคาได้ ซึ่งมีโอกาสทำกำไร และยังได้ช่วยเหลือเกษตรกร

แพลตฟอร์มนี้เพิ่งแนะนำตัวในกลางปีที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มนักศึกษาได้พัฒนาขึ้นมาแบบทดลองกันกลุ่มชุมชนเกษตรกรรมเล็กๆในมิดเวสต์ สหรัฐอเมริกา ในปี 2558 จนผลตอบรับดี จนทำให้ SBIR PhaseI ซึ่งเป็นกองทุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ(National Science Foundation) พร้อมสนับสนุนด้านงานวิจัย ให้แผนไปสู่การเป็นธุรกิจมากขึ้น

เขาบอกว่า ก้าวต่อไปกำลังจะขยายแพลตฟอร์มเหล่านี้ไปยังเกษตรกรทั่วโลก ซึ่งมีหลายประเทศ เริ่มเข้ามาให้ความสนใจ ตั้งแต่ มาเลเซีย อินเดีย และบราซิล ไทยก็เป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะเป็นฐานการผลิตด้านเกษตรกรรม

------------------------------------

แกะรอยโมเดล สตาร์ทอัพพันธุ์ไทย

รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกวางยุทธศาสตร์ทุ่มเทงบประมาณ ไปกับการเตรียมคน เตรียมงบไปสู่การเปลี่ยนผ่านโลกยุคดิจิทัล ไปพร้อมกับการบ่มเพาะธุรกิจคนรุ่นใหม่ ไอเดียล้ำๆ ให้ก้าวขึ้นมาแจ้งเกิดปั้นโมเดลใหม่เพื่อช่วงชิงโอกาสและที่ยืนเป็นเพลย์เยอร์ผู้พลิกเกมการค้าโลก

สำหรับสตาร์อัพพันธุ์ไทยบ่มเพาะกันมาสักระยะ ว่ากันว่า 10% เท่านั้นที่อยู่รอดและมีโอกาสปั้นให้ก้าวไปต่อ นี่คือตัวอย่างของคนที่เริ่มเห็นธุรกิจเป็นชิ้นเป็นอัน แต่กว่าจะมายืนอยู่จุดนี้ได้ต้องบากบั่นเป็นนักสู้ชีวิต พลิกแพลงเปลี่ยนร่าง สร้างโมเดลธุรกิจลองผิดลองถูกหลายครั้ง

เช่นเดียวกับชีวิตของ ชนม์ชลิต ดีมี ผู้ก่อตั้ง โนเวล คาร์วอช ผู้คิดแผนธุรกิจล้างรถเดลิเวอร์รี่ ส่งตรงถึงบ้านที่เปิดตัวครั้งแรกแทบจะไม่มีลูกค้า เพราะตลาดยังงงงวยกับการบริการที่มันจะเป็นไปได้อย่างไรกับการออกแบบรถรุ่นพิเศษสำหรับล้างรถทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เขาวางแผนโมเดลธุรกิจอยู่ 6 เดือนพร้อมกับรับลูกน้อง 3 คน เข้าทำงานล้างรถ

ตลาดไม่เป็นไปตามคาดลูกค้าเข้ามาไม่คุ้มกับต้นทุนที่จ่ายไป ลูกน้องจึงค่อยๆ ทยอยออกไป เหลือเพียงแต่ตัวเขา ที่เป็นเจ้าของ รับงานทางโทรศัพท์และโซเชียลมิเดีย และเมื่อถึงเวลาปฏิบัติการล้างรถก็เปลี่ยนเสื้อลุยล้างรถเอง

ใบปลิวแจกเป็นหมื่นใบไม่มีคนโทรมาเลย คนล้างรถจึงทยอยกลับต่างจังหวัดเริ่มถามตัวเองที่คิดนั้นถูกหรือผิด ล้างรถคนเดียวอยู่ เดือนจนรู้สึกเหนื่อย ผิดหวัง ขับรถมอเตอร์ไซค์ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนน ก็โดนรถใหญ่บีบแตรไล่ เห็นเราเป็นอะไร

ช่วงที่ผิดหวัง เหนื่อยและท้อแท้สุดๆ ในชีวิต จนอยากเลิกล้าง หลังจากล้างรถคนเดียวให้ลูกค้าที่ดอนเมืองเสร็จแล้วระหว่างทางกลับบ้าน มีอีกใจที่เป็นลูกฮึด บอกกับตัวเองต้องลุยต่อ ช่วงขับรถผ่านอุโมงค์สุทธิสาร ก็ปาวรณาตัวเอง พร้อมกับตะโกนออกไปดังๆ ระหว่างขับรถลอดอุโมงค์

“อยากเลิกมากตอนนั้นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ หัวเริ่มติดลบ แต่ก็ต้องเอาชนะใจให้ลุยต่อ ระหว่างทางกลับบ้านเปิดเพลงเสียงดัง ตอนลอดอุโมงค์สุทธิสาร ตะโกนสุดเสียง ผมต้องทำให้สำเร็จ"

จากนั้นไม่นานเหมือนเขารู้สึกว่าพระเจ้าได้ให้บททดสอบกับเขาพอแล้ว เขาสอบผ่านแล้ว เพราะมีโทรศัพท์โทรบอกว่าต้องการให้ไปล้างรถสามคัน แลมโบกินี และแอสตัน มาติน ซึ่งเป็นรถสปอร์ตหรูราคาไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

เขาเริ่มเห็นเซ็คเมนท์ที่ตรงกับธุรกิจเขาแล้ว คือกลุ่มซูเปอร์คาร์ หลังจากล้างรถเสร็จเขาใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ โพสต์ลงโซเชียลทุกครั้ง ไม่พอ ยังแท็กเพื่อนในเฟซบุ๊ค ยอมโดนเพื่อนบางคนเกลียด เพื่อให้โลกรู้ว่าเขาทำธุรกิจอะไร

ธุรกิจเริ่มจับทางได้มีรถกลุ่มซูเปอร์คาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรักรถ ถนอมรถ ไม่อยากย้ายรถไปไหน จึงให้ไปล้างที่บ้าน เขาพีอาร์ผ่านโซเชียลจนคนเห็นความแปลกของธุรกิจและรูปแบบรถบริการคาร์แคร์ ที่ดัดแปลงเฉพาะ จึงยิ่งมีสื่อเข้าไปสัมภาษณ์ ออกทีวีและสื่อหลากหลาย ชื่อเสียงเริ่มรู้จักในวงกว้างขึ้น

ธุรกิจเริ่มเติบโต พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลรถ เคลือบสีรถ เคลือบเซรามิก และขัดเบาะแบรนด์ตัวเอง ปัจจุบันโนเวล คาร์อายุ 5 ปี เริ่มขยายไปต่างจังหวัด ฉะเชิงเทรา นครปฐม นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต พร้อมกับอัพเกรดภาพลักษณ์คนล้างรถให้มีชุดพนักงาน อบรมอย่างดี ให้บริการที่ดีที่สุด จุดขายอีกอย่างคือต้องหน้าตาดี

เขาประสบความสำเร็จจากการใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ และเป็นคนสู้และอยู่กับปัญหา รวมถึงพัฒนาตัวเอง

ธุรกิจเกิดจากช่องว่างของคนที่ขี้เกียจขับรถไปล้าง

มาดูธุรกิจของคนยุคนี้ที่รวมพลัง (Synergy) ธุรกิจที่ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ให้อยู่ในที่เดียวกันในชื่อธุรกิจว่า วันแดย์ และ พอส แอนด์ ฟอร์เวิร์ด (OneDay และ Pause and Forward) ธุรกิจที่กำลังเป็นเทรนด์ในเมืองไทย ซึ่งมีทั้งโฮสเทล์ดีไซน์เท่ห์ ๆ รวมอยู่ในโคเวิร์คกิ้ง สเปซ บนถนนสุขุมวิท

ยิหวา อรรถเวทยวรวุฒิ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการโครงการ วันแดย์ และ พอส แอนด์ ฟอร์เวิร์ด เล่าว่า ธุรกิจเริ่มต้นจากร้านกาแฟ โดยมีธุรกิจเก่าคือ เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ เมื่อร้านกาแฟยังไม่เติบโตตามเป้าหมาย จึงจับคู่ธุรกิจมารวมกันภายใต้คอนเซปต์ที่การมาใช้ชีวิตในธุรกิจภายในหนึ่งวัน เพื่อพักผ่อนและพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า

อยากให้ลูกค้าเข้ามาใช้ชีวิตสมบูรณ์แบบที่นี่ภายในหนึ่งวัน ที่นี่จึงมีทั้งที่นอน ร้านอาหาร กาแฟ และที่ทำงานรองรับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานไม่อยู่กับที่

ยิหวา เล่าว่า ต้องการลูกค้าที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง การบริการจึงโดดเด่นในโฮสเทลที่มีดีไซน์ สไตล์ลอฟต์ เทรนดี้ และฮิปสเตอร์ ตอบโจทย์เขาให้ได้

“ความสำเร็จของการทำธุรกิจนี้คือการควบรวมจุดเด่นของธุรกิจ โฮสเทล คาเฟ่ และโค เวิร์คกิ้ง สเปซให้เอื้อกัน แล้วออกแบบโปรโมชั่น ส่วนลด ให้ใช้ได้ทุกกลุ่มธุรกิจร่วมกัน"

ธุรกิจเริ่มเติบโตเกิดจากความเป็นเพื่อน เพราะสต๊าฟของธุรกิจเป็นเพื่อนคุยกับลูกค้าที่เข้ามา และเชื่อมโยงกันเพิ่มกันเป็นเพื่อนรู้จักกัน แนะนำคนรู้จักที่เป็นลูกค้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนเกิดเป็นสังคมเล็กๆในนี้ ที่มีบริการหลากหลายเมื่อเข้ามา นักท่องเที่ยวบางคนเข้ามาทำงาน พักอาศัย และต้องการไปเที่ยวที่อื่นฝากกระเป๋าเป็นเดือนๆ เราก็รับ”

จุดแข็งอีกด้านคือการเปิด 24 ชั่วโมง และมีโฮสเทลราคาพิเศษ ทั้งทำงานและนอนหลับอยู่ในที่เดียวกัน

เขาบอกว่า อนาคตหลังจากพัฒนาโมเดลที่เชื่อมโยง 3 ธุรกิจไว้ในที่เดียวกันอย่างลงตัวแล้วต้องการขยายความรู้โมเดลธุรกิจไปแนะนำกลุ่มธุรกิจโฮสเทล ในฐานะเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นเชน แทนการลงทุนเอง ที่เน้นใช้ความรู้ในการขยายธุรกิจแทนการใช้เงินทุน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธุรกิจรุกเปลี่ยนเกม ควานหาลูกค้า ยุค 4.0

view