สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

7การสื่อสารต้องห้ามของเจ้านาย-ลูกน้อง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การจะผลักดันให้เกิดการติดต่ออย่างสร้างสรรค์ภายในทีมงานได้ บรรดาผู้จัดการต้องเรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างให้ประสิทธิผล

มาดูกันว่าการสื่อสารต้องห้ามแบบไหนที่คุณเผลอทำไปลงแล้วบ้าง

ในการทำธุรกิจสมัยใหม่นั้น การบริหารจัดการกับพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ หากบริหารจัดการได้ดีก็จะช่วยเพิ่มผลิตภาพขององค์กรให้สูงขึ้น ช่วยลดจำนวนพนักงานลาออกและเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัท แต่การวิจัยล่าสุดจากแกลลอพโพลล์ บ่งชี้ว่า บริษัททั่วโลกประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการพนักงานได้ไม่ถึง 30%  และในส่วนของทีมบริหารอยู่ในอันดับต้นๆที่ขาดการสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงาน

ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าคุณไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพกับพนักงานในองค์กรได้แล้วละก็ คุณก็บอกลา การติดต่ออย่างสร้างสรรค์ ความสามารถด้านการผลิต และการคงอัตราการเติบโตของธุรกิจไปได้เลย

การจะผลักดันให้เกิดการติดต่ออย่างสร้างสรรค์ภายในทีมงานได้ บรรดาผู้จัดการต้องเรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างให้ประสิทธิผล และหากคุณต้องการเป็นผู้สื่อสาร และผู้จัดการที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ คุณต้องรู้ว่าการสื่อสารแบบไหนที่ทำให้ลูกน้องเกิดความเชื่อมั่น เชื่อใจ อยากสื่อสารด้วย และเกิดความรู้สึกมีขวัญกำลังใจที่ดี และต่อไปนี้คือ  7 การสื่อสารผิดบาปที่คุณควรหลีกเลี่ยง

บาปที่1:ตอกย้ำความล้มเหลว

ผลสำรวจจากแกลลอพโพลล์ บ่งชี้ว่า พนักงานที่เห็นว่าบรรดาผู้จัดการให้ความสำคัญกับจุดแข็งของพวกเขา จะขมักขเม้นกับการทำงานจนสำเร็จในสัดส่วน 67% และหากพนักงานรู้สึกตรงกันข้าม ก็จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง71% ที่ทำงานแบบขอไปที ไม่มุ่งเน้นทำงานให้มีคุณภาพ

การตอกย้ำความล้มเหลวหรือจุดอ่อนของพนักงานอยู่เรื่อยๆ ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่า พวกเขาไม่เคยทำอะไรถูกต้องเลยในสายตาผู้จัดการ ในทางตรงกันข้าม หากผู้จัดการปรับมุมมองใหม่ โดยโฟกัสที่จุดแข็งของพนักงา่น ก็จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกอยากดึงเอาจุดแข็งนั้นๆออกมาใช้เพื่อให้การทำงานให้ผลลัพธ์ที่ดี

บาปที่2:ไม่สนใจพัฒนาความเป็นมืออาชีพ

คนยุคมิลเลนเนียลซึ่งมีสัดส่วนประมาณ75%ของแรงงานทั่วโลกในปัจจุบัน ภายในปี 2563 ถูกมองว่าเป็นพนักงานรุ่นที่มีความภักดีน้อยที่สุด แต่ถึงแม้ผลสำรวจของดีลอยท์เมื่อปี 2559จะระบุว่า 2 ใน 3 ของคนยุคมิลเลนเนียลมีแผนที่จะลาออกจากงานในเร็วๆนี้กันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบว่าคนรุ่นนี้พึงพอใจกับโอกาสในการพัฒนาความเป็นมืออาชีพเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเพื่อให้ทำงานกับองค์กรต่อไป

บาปที่3 ทำตัวเข้าถึงยาก

มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าผู้จัดการ หรือเจ้านายเป็นบุคคลที่เข้าถึงยาก  เช่น บางคนอาจจะมีปฏิกิริยาในทางลบเพื่อเจอเรื่องร้องเรียนจากพนักงาน บางคนอาจจะมีเวลาจำกัดในการหารือในประเด็นปัญหาต่างๆกับพนักงานแบบตัวต่อตัว และบางคนก็ใช้เวลานานเกินไปในการตอบข้อสงสัยของพนักงานทางอีเมล

พนักงานอาจจะรู้สึกว่า ผู้จัดการการยุ่งตลอดเวลา หรือไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวความผิดพลาด และพยายามซ่อนปัญหาต่างๆเอาไว้ หรือแก้ไขปัญหาเหล่านั่้นโดยไม่ปรึกษาผู้จัดการหรือหัวหน้างาน 

พนักงานที่ลังเลที่จะพูดคุยปัญหาเรื่องงานกับบรรดาผู้จัดการ จะนำไปสู่การทำงานที่ผิดพลาด เปิดโอกาสให้เกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน และท้ายที่สุด อาจทำให้ปัญหานั้นบานปลายจนยากจะเยียวยา 

วิธีแก้ไขคือตอบอีเมลพนักงานเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จัดประชุมเพื่อเคลียร์ปัญหาต่างๆเป็นประจำ และแม้ไม่มีประชุมใดๆ บรรดาผู้จัดการก็จงเปิดประตูห้องทำงานไว้ตลอด เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้ามาพูดคุยในเรื่องต่างๆด้วยได้

บาปที่4:ไม่ใส่ใจ

ผู้จัดการบางคนมองบทบาทตัวเองสูงเกินไป บางคนคิดว่าตัวเองมีหน้าที่แก้ปัญหาเมื่อพนักงานไม่สามารรถรับมือกับปัญหานั้นๆได้เท่านั้น ซึ่งการคิดแบบนี้ เท่ากับทำให้บรรดาผู้จัดการไม่ได้มีโอกาสแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทแบบวันต่อกัน  ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าผู้จัดการไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือไม่ก็อาจจะคิดว่า ผู้จัดการขี้เกียจ

ผู้จัดการที่ดี ควรใส่ใจและมีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งแน่นอนต้องรวมถึงการแก้ปัญหาหน้างานกับบรรดาพนักงานแบบวันต่อวัน หากทำแบบนี้ได้ พนักงานจะเกิดความรู้สึกว่าอยากเข้ามาขอคำแนะนำต่างๆจากคุณก่อนที่จะเกิดปัญหาภายในองค์กร 

บาปที่5:ยุ่งทุกเรื่อง

บรรดาผู้จัดการต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานของพนักงานอย่างมีขอบเขต เพราะบางครั้งหากผู้จัดการดำเนินบทบาทแบบไม่มีขอบเขต ผลที่ได้จะเลวร้ายกว่าบาปข้อ4ที่พูดถึงผู้จัดการที่ไม่ใส่ใจ 

การเป็นผู้จัดการที่ทำงานกับพนักงานแบบ“ยุ่งทุกเรื่อง”หรือ“ล้วงลูก”งานของพนักงาน อาจทำลายขวัญและกำลังใจพนักงานโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะตั้งคำถามการตัดสินใจของพนักงานในทุกเรื่อง  ตรวจสอบการทำงานของพนักงานมากไป เข้าข่าย“จับผิด” และจี้ให้มีการสรุปรายละเอียดของงานหรือภาระกิจที่เสร็จสิ้นไปแล้ว

เพราะฉะนั้น ทางที่ดีคือ ปล่อยให้พนักงานทำงานของตัวเองอย่างมีอิสระและใช้ความสามารถที่มีอย่างเต็มที่ รวมทั้ง ให้เขาเหล่านี้ได้ทำผิดพลาดได้ด้วย เพื่อจะได้ทำข้อผิดพลาดนี้เป็นบทเรียนสำหรับปรับปรุงการทำงานในโอกาสต่อไป

บาปที่6:มองโลกแง่ร้าย

ผลศึกษาประสิทธิภาพความเป็นผู้นำของนิตยสารฟอร์บส์ พบว่่า บรรดาผู้จัดการที่มองโลกแง่ร้าย มีโอกาสที่จะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพแค่ 19% ส่วนผู้จัดการที่มองโลกแง่ดี มีโอกาสที่จะเป็นผู้นำองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากถึง 89%  ผู้จัดการที่มองโลกแง่ดีจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความก้าวหน้าและเกิดนวัตกรรม ขณะที่ผู้จัดการมองโลกแง่ร้ายจะบ่อนทำลายขวัญและกำลังใจพนักงาน 

บาปที่7:สื่อสารแบบบอ่อนออก-แข็งใน

การสื่อสารกับพนักงานจะให้ได้ผล ความชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  รองลงมา่คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การสื่อสารแบบอ่อนนอก-แข็งในเป็นตัวการทำลายองค์ประกอบสำคัญๆของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายในองค์กร เพราะมักจะถูกตีความผิดๆ และท้ายที่สุด ก็นำไปสู่ความขัดแย้งภายในองค์กร ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการทำงานโดยปริยาย

ไม่มีผู้จัดการคนไหนสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องปะทะสังสรรค์กับพนักงานเพื่อให้งานบรรลุตามเป้าหมาย ยิ่งหาความสมบูรณ์แบบไม่ได้ แต่ขอให้ยึดหลัก ตรงไปตรงมา ชัดเจนในการแก้ปัญหาร่วมกับพนักงาน แค่นี้ก็ช่วยให้ขวัญและกำลังใจของพนักงานในองค์กรแข็งแกร่งและพร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆต่อไปได้แล้ว

source: inc.com


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การสื่อสารต้องห้าม เจ้านาย-ลูกน้อง

view