สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ว่าด้วยการพัฒนาตนเอง ให้เปล่งแสงเจิดจรัส

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

พอใจ พุกกะคุปต์

การทำงานในยุคไหนๆ “ใจ”สำคัญยิ่ง ยิ่งในวันนี้ วันที่คนทำงานน้องใหม่ ล้วนมั่นใจว่า มีโอกาสรอบกายให้ไขว่คว้าสารพัด

แม้ยังไม่เห็นชัด..หนูก็สร้างโอกาสขึ้นใหม่เองได้

…Start-Up ไงพี่

หัวหน้างานวัยไม่ใหม่ จึงต้องใช้สารพัดวิธีที่จะประคองใจ ไม่ให้น้องกระฉอก เพราะน้องบอกว่า หนูอยู่ไม่ทนน้า..

มีหนทางใด พี่จึงต้องลองใช้ให้หมดใส้หมดพุง

ลองมาดูตัวช่วยลุงๆป้าๆ ที่มีหน้าที่เป็นหัวหน้างานกันค่ะ

อาจารย์ Dan Pink คนดัง ผู้รวบรวมการวิจัยเรื่องจิตวิทยาการโน้มน้าวใจในยุคปัจจุบัน ฟันธงว่า หากน้าอาสามารถตอบโจทย์ 3 ข้อต่อไปนี้ได้ การจับใจน้อง คล้องใจเขาให้อยู่ ดูจะเป็นเรื่องแสนธรรมดา

3 ข้อที่ว่าคือ

  1. ทำให้น้องเห็นว่างานนี้มีคุณค่า มีความสำคัญ
  2. ทำให้น้องมีอิสระในการเลือก สามารถตัดสินใจเองได้ (บ้าง)
  3. น้องดี๊ด๊า เพราะมีโอกาสพัฒนา ฝึกฝนจนชำนาญในเรื่องที่เขาเห็นว่าสำคัญ

วันนี้ ขออนุญาตขยายความข้อ 3 ว่าด้วยการพัฒนาค่ะ

อนึ่ง การพัฒนา โยงใยกลับไปถึงซึ่งข้อ 1 และ 2

เพราะเมื่อน้องพัฒนาจนคนเห็นฝีมือ

การได้มาซึ่งข้อ 2 Autonomy หรือ อิสระในการเลือกและตัดสินใจ ไม่ต้องรำคาญเพราะมีพี่มาตอแยมากมาย จะกลายเป็นเรื่องอัตโนมัติ พี่หัวหน้าพร้อมจัดให้ เพราะน้องเก่งแล้วไงคะ

นอกจากนั้น น้องบอกว่า ต้องการทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่สำคัญ ที่มีคุณค่า หรืออีกนัยหนึ่ง มี Purpose ในข้อ 1

สิ่งสำคัญระดับนั้นๆ ก็ไม่น่าจะเชี่ยวชาญได้ง่ายดาย จริงไหมคะ

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะงานใด เล็กหรือใหญ่ หากให้เก่งจริง

เก่งแบบนิ่ง แบบเจิดจรัส

คือ ไม่ใช่แค่ “ทำได้”

แต่ทำได้ อย่าง “ไม่พลาด”

ไม่ว่าจะทำขนมผิง วิ่งผลัด จัดดอกไม้ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการสั่งสม ฝึกปรือ

ทักษะหาซื้อไม่ได้

หากอยากมี ต้องแลกด้วยความทุ่มเท ทั้งแรงกาย แรงใจ

ตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของทฤษฏี 10,000 ชั่วโมงของการสร้างความชำนาญแบบเจิดจรัส คือ การศึกษาของอาจารย์ K. Anders Ericsson นักจิตวิทยาชาวสวีเดน ผู้ทำการวิจัยเรื่องการสร้างความเชี่ยวชาญของมนุษย์ในด้านต่างๆ

ครั้งหนึ่ง อาจารย์ได้เจาะวิจัยสถาบันดนตรีชั้นนำของนครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี โดย แบ่งนักศึกษาไวโอลินออกเป็นกลุ่มๆ แล้วเจาะว่า น้องๆทำอย่างไร จึงได้มาซึ่งระดับความเชี่ยวชาญที่มี

ลองมาดู 2 กลุ่มสำคัญกันค่ะ

  1. กลุ่มนักศึกษาที่เล่นได้ในระดับดี
  2. กลุ่มนักศึกษาที่ฉายแววเป็นดาวเด่น หรือ Super Stars ในอนาคต

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่า กว่าจะได้เป็นนักศึกษาสถาบันชั้นนำนี้ น้องๆ ต้องมีดีกว่านักเรียนดนตรีขั้นธรรมดาๆดาษดื่น

การแยก 2 กลุ่มนี้ จึงถือเป็นการแยกระหว่าง “ดี” และ “เด่น” (ที่น่าจะเป็นเป้าหมายของน้องไง เพราะทำได้ในระดับธรรมดาๆ หาเข้าขั้น Mastery ไม่!)

เมื่อสัมภาษณ์เจาะลึก จึงพบว่าระดับความทุ่มเทของน้อง 2 กลุ่ม ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นคือ ในช่วงต้น ยามเป็นเด็ก ชั่วโมงการฝึกอาจไม่ต่างกันมาก

แต่ความแตกต่างและความมุ่งมั่น จะเริ่มฉายแววเห็นได้ชัดเมื่อเวลาผ่านไป ยามที่อยู่ในวัยโตขึ้น ยามที่เขาเลือกได้ ว่าจะซ้อมเท่าไหร่ แบบใด เพราะใครบังคับยาก

ตัวเลขที่ออก...

นักศึกษากลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เล่น “ดี” สะสมชั่วโมงฝึกซ้อมได้เฉลี่ย 8000 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามากมายเอาการ

แต่..นักศึกษากลุ่มที่ 2 ที่อยู่ในระดับ Super Star ฝึกมากกว่าถึง 25%

หรือ กระหน่ำฝึกซ้อมถึง 10,000 ชั่วโมง!

เมื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตเรา ดิฉันแนะนำว่า ไม่ต้องติดยึดกับตัวเลขว่า 8000 10,000 หรือ 20,000

สาระ คือ ผู้ที่กว่าจะเชี่ยวชาญในเรื่องใดๆ เขาต้องทุ่มเท ฝึกปรือ สะสมชั่วโมงบินในเรื่องนั้นๆ เกินกว่ามือสมัครเล่น” มากมายนัก

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็น คือ กว่าน้องๆนักดนตรีจะมีวันนี้ได้ มิใช่ให้แค่ ปริมาณ” แต่เน้น คุณภาพยิ่ง

กล่าวคือ วิธีการฝึกฝนของคนทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ว่าจะเก่ง ทั้งระดับ “ดี” และ “เด่น” เป็นการฝึกแบบที่เรียกว่า Purposeful Practice หรือ Deliberate Practice

เอาว่า เวลาที่กระหน่ำใช้ ไม่ค่อยคล้ายเวลาที่เรา “ทุ่ม” กับการเช็คกลุ่ม Line เข้า Facebook หรือ โพสต์รูปใน Instagram..

เพราะการฝึกแบบ Deliberate Practice เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ เฉกเช่นนักดนตรีมีระดับ เขาจับงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีเป้าหมาย มิใช่สักแต่ใส่จำนวนชั่วโมง

ความต่างสำคัญข้อหนึ่งของการใส่เฉพาะ “ปริมาณ” กับ ใส่ “คุณภาพ” ในการซ้อม คือ อย่างหลัง ฝึกในสิ่งที่เกิน Comfort Zone หรือ ส่วนที่คุ้นเคย ง่ายๆ สบายๆ ชิลๆ

โดยเน้นฝึกซ้อมในสิ่งที่ยากขึ้น ยังทำไม่ได้ หรือ ยังทำได้ไม่ดี เพื่อจะได้ พัฒนา” กว่าเมื่อวานไง

สรุปว่า Mastery ความเชี่ยวชาญ ไม่เคยได้มาง่ายๆ

ต้องทุ่มด้วยคุณภาพ ทั้งกายใจ

และที่สำคัญให้ เวลา

น้องจ๋า..กรุณาให้โอกาสตัวเอง อย่าเร่งเกินไป..ใจเย็นนิดค่ะ!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ว่าด้วยการพัฒนาตนเอง เปล่งแสงเจิดจรัส

view