สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธุรกิจเอสเอ็มอี กับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เรวัต ตันตยานนท์

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ หรือนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า CSR มักจะจำกัดวงอยู่กับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่

และมีการทำกิจกรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นแบบแผน หรือเป็นไปตามมาตรฐานหรือแนวทางที่กำหนดไว้โดยองค์กรในระดับนานาชาติ เช่น ISO 26001, SA 18000/OHS 18000 หรือ UN Global Impact เป็นต้น

และในปัจจุบัน การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ ได้ขยายขอบเขตที่กว้างขวางออกไปเป็นการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ มิติความยั่งยืนของธุรกิจ มิติความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมิติความยั่งยืนของสังคมและชุมชน

ดังนั้น เรื่องของ CSR หรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี จึงเป็นเรื่องที่หลายคนคิดว่าไกลตัว เพราะเอสเอ็มอี จะไม่มีทรัพยากรทางธุรกิจเพียงพอที่จะทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางการเงิน หรือกำลังของทรัพยากรบุคคล

แม้ว่าตัวเอสเอ็มอีเองก็มีจิตใจและความรับผิดชอบที่จะช่วยเหลือสังคมเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว

ในทางปฏิบัติ เราอาจแบ่งกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเป็นทางการที่ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องทำให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ยอมรับในระดับสากล และแบบไม่เป็นทางการที่เอสเอ็มอีสมัครใจทำอย่างไม่เป็นทางการ ไม่ต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับความพร้อมและสถานภาพของการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความจริงใจ อาจพัฒนาการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ด้วยการผนวกกิจกรรมเพื่อสังคมให้หลอมรวมเข้าไปกับกิจกรรมทางธุรกิจอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ก็จะทำให้การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมแบบไม่เป็นทางการที่ทำบ้างหยุดบ้าง กลายเป็นกิจวัตรตามปกติที่จะต้องทำทุกวันควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ

แนวทางที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะทำเช่นนี้ได้ ก็จะต้องเริ่มจากเรื่องที่อยู่ภายใน เช่น เรื่องการดูแลพนักงาน แล้วขยายออกไปสู่ข้างนอกแต่เป็นเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจแก่ลูกค้าและผู้บริโภคที่ใช้สินค้าหรือบริการของเรา ตลอดไปจนถึงเรื่องที่ดูแล้วไม่ค่อยเกี่ยวกับธุรกิจแต่ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจได้ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เช่น เรื่องของการช่วยเหลือดูแลชุมชนรอบข้างและสังคมโดยทั่วไป เป็นต้น

เรื่องของการดูแลพนักงาน จะทำได้ตั้งแต่การให้ค่าจ้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การอบรมให้ความรู้และทักษะเพิ่มเต็มเพื่อเกิดความมั่นคงด้านอาชีพ การให้สวัสดิการช่วยเหลือเพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การจัดสถานที่ทำงานให้เกิดความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ในการทำงาน การมีน้ำดื่มสะอาด โรงอาหาร หรือมุมพักผ่อนหย่อนใจ เพิ่มเติมในช่วงระหว่างพักหรือหยุดงาน ฯลฯ เป็นต้น

หลักการสำคัญก็คือ พนักงาน ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากธุรกิจสามารถช่วยให้พนักงานของตนเองมีความมั่นคงทั้งในด้านการทำงานและการดำรงชีพ พนักงานเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งของสังคมนั่นเอง

ในเรื่องของการดูแลลูกค้าและผู้บริโภค ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถทำได้โดยการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ ไม่หลอกลวงหรือเอาเปรียบลูกค้าโดยไม่เป็นธรรม นำเสนอข้อมูลและทางเลือกในการบริโภคที่ถูกต้องไม่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าและผู้บริโภค

หากธุรกิจเอสเอ็มอีแสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้าและผู้บริโภค ผลตอบแทนที่จะได้รับก็คือ การได้ลูกค้าที่ภักดีต่อบริษัทและตัวสินค้า ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเติบโตของธุรกิจได้อย่างยาวนานและมั่นคง

ในเรื่องของชุมชนและสังคม ธุรกิจเอสเอ็มอีจะทำได้โดยเริ่มจากการใส่ใจไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแต่ชุมชนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เสียง กลิ่น ฝุ่น ควัน น้ำทิ้ง ขยะอุตสาหกรรม ขยะมูลฝอย การจราจรขนส่ง ฯลฯ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นเรื่องของสภาพการทำงานภายใน แต่ต้องไม่ทำให้ออกมาสร้างผลกระทบด้านลบต่อชุมชน

หากชุมชนรอบข้าง ไม่สนับสนุนหรือไม่พอใจกับกระบวนการภายในของธุรกิจ ธุรกิจย่อมเกิดปัญหาขึ้นได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอี อาจสนับสนุนให้ความร่วมมือในการสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนและสังคมโดยไม่จำเป็นต้องเป็นการบริจาคเป็นเงินเสมอ เช่น การมอบสินค้าให้ การให้ใช้สถานที่ การให้ยืมสิ่งของ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้กระทั่งการให้พนักงานออกไปบำเพ็ญประโยชน์ หรือไปเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักเรียน เยาวชน หรือชาวบ้าน

จะเป็นได้ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีวิธีการที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ในหลายๆ วิธี แม้ว่าดูจะไม่เป็นรูปแบบมาตรฐานสักเท่าใด

แต่หากมีจิตวิญญาณที่ต้องการจะสนับสนุนตอบแทนสังคมควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน เมื่อมีโอกาส ก็จงแสดงออกมาเถิดครับ!!!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธุรกิจเอสเอ็มอี การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

view