สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สนามหลวงผ่านเหตุการณ์มาหลายยุคหลายสมัย! ในไม่ช้านี้จะมีงานสำคัญที่ทำให้ได้ชื่อเก่า

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย โรม บุนนาค

สนามหลวงผ่านเหตุการณ์มาหลายยุคหลายสมัย! ในไม่ช้านี้จะมีงานสำคัญที่ทำให้ได้ชื่อเก่า!!
สนามหลวงสมัย ร.๕
        แต่เดิม สนามหลวงไม่ได้กว้างเหมือนในสมัยนี้ พื้นที่ด้านเหนือจากถนนกึ่งกลางในปัจจุบัน อยู่ในอาณาเขตของวังหน้า ซึ่งก็คือแนว “กำแพงชรา”ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านวัดมหาธาตุ ยื่นออกมาจนถึงถนนราชดำเนินใน ระดับเดียวกับกำแพงวังหลวง
       
       พื้นที่ว่างระหว่างวังหลวงกับวังหน้าจึงเป็นทุ่งโล่ง ใช้ทำนาบ้าง ใช้เป็นที่จัดงานระดับชาติบ้าง บางช่วงเวลาก็ถูกทิ้งให้รกร้างเป็นพง หน้าฝนมีแอ่งน้ำท่วมขัง
       
       ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของสนามหลวงก็คือ เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง
       
       เหตุที่ตั้งพระเมรุที่ท้องสนามหลวงก็เพราะ จะมีผู้คนไปร่วมแสดงความอาลัยกันมากมาย การจัดที่วัดจึงคับแคบไม่สะดวก
       
       ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนทั่วไปเรียกทุ่งนาแห่งนี้ว่า “ทุ่งพระเมรุ”
       
       แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ท่านไม่พอพระราชหฤทัยกับคำนี้ จึงทรงมีประกาศเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘ ว่า
       
       “...ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งและเป็นอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ทุ่งพระเมรุ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ท้องสนามหลวง...”
       
       ท้องสนามหลวงมามีชีวิตชีวาหมดสภาพเป็นรกเป็นพง เมื่อครั้งรับเสด็จ ร.๕ กลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกในปี ๒๔๔๐ ถูกเนรมิตให้เป็นทุ่งบันเทิง สว่างไสวไปด้วยแสงตะเกียงจากงานออกร้านและมีมหรสพ ทั้ง ละคร ลิเก โขน หนัง อีกทั้งยังมีการแข่งม้าเป็นครั้งแรกของกรุงสยามอีกด้วย
       
       การแข่งขันครั้งนั้นจัดขึ้นโดย “สโมสรน้ำเค็มศึกษา” โดยพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการที่ไปศึกษาต่างประเทศมา นำกีฬาแข่งม้าแบบอังกฤษมาจัด ตอนนั้นการเลี้ยงม้าแข่งยังไม่มี เลยต้องใช้ม้าลากรถมาแข่งกัน อีกทั้งกติกาก็พิลึก ต่างไปจากของประเทศต้นแบบ คือกำหนดว่าน้ำหนักบนหลังม้าต้องเท่ากัน เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ จ็อกกี้ที่ตัวเล็กจึงต้องเอาก้อนอิฐก้อนหินห่อผ้ามามัดกับตัวหรือแขวนไว้ เพื่อให้น้ำหนักเท่ากับจ็อกกี้ที่ตัวโตกว่า
       
       ปรากฎว่าเริ่มแข่งรอบแรกก็เห็นผล พอม้าโขยกก้อนอิฐก้อนหินที่ผูกไว้แขวนไว้ก็แกว่ง กระแทกลำตัวจ็อกกี้จนสะบักสะบอม บางคนทนไม่ไหวก็ปลดโยนทิ้งไปกลางทาง บ้างก็หลุดร่วงไปเอง พอเข้าหลักชัยเลยทำให้กรรมการตัดสิทธิ์ถือว่าผิดกติกา
       
       กติกานี้ถูกต่อต้านจากจ็อกกี้มาก จึงทำให้การแข่งขันในวันรุ่งขึ้นต้องเลิกกฎข้อนี้ไป คนตัวเล็กตัวใหญ่มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน
       
       ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท้องสนามหลวงได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ ๑๐๐ ปี รื้อกำแพงวังหน้าออกไป ขยายพื้นที่สนามหลวงได้อีกเท่าตัว เป็น ๗๔ ไร่ ๖๓ ตารางวา และปลูกต้นมะขามโดยรอบเป็น ๒ แถว แถวในมี ๘๒๐ ต้น แถวนอกมี ๘๔๐ ต้น เลยทำให้เกิดปริศนายอดฮิต ใช้ถามลองภูมิกันมาเป็นศตวรรษว่า
       
       “ต้นมะขามรอบสนามหลวงมีกี่ต้น?”
       
       แต่ตอนนี้อย่าเอาตัวเลข ๑,๖๖๐ ไปตอบล่ะ เพราะต้นมะขามสนามหลวงเคยเหลือเพียง ๗๐๐ กว่าต้น กทม.ได้ปลูกเสริมแนวเก่าแล้ว ยังได้เสริมด้านตะวันตกขึ้นใหม่อีก ๒ แถว มีจำนวนมากกว่าสมัยรัชกาลที่ ๕ เสียอีก
       
       สนามหลวงเกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยมาตลอด คงไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จักสนามหลวง สมัยก่อนคนต่างจังหวัดเข้ามากรุงเทพฯไปไหนไม่ถูก ก็ต้องไปตั้งหลักกันที่สนามหลวงก่อน แล้วค่อยไปตามคำอธิบายที่เริ่มจากสนามหลวงออกไป
       
       เมื่อตอนที่จักรยานได้รับความนิยมแพร่หลาย ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสนามหลวงเป็นที่ฝึกขี่จักรยาน มีให้เช่าอยู่หลายเจ้า ใครจะหัดขี่ก็ต้องมาที่สนามหลวง รวมทั้งเด็กๆ ที่ไม่ค่อยมีที่เที่ยว ก็มาเช่าจักรยานขี่เล่นรอบสนามหลวงด้วย
       
       ทุกวันที่ ๑ เมษายนซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ จนเปลี่ยนมาเป็น ๑ มกราคมอย่างปัจจุบัน สนามหลวงก็เป็นที่ทำบุญใส่บาตรรับศักราชใหม่ตลอดมา
       
       ในวันสงกรานต์ สนามหลวงเป็นที่ตั้งปะรำประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ให้ประชาชนมาสรงน้ำขอพร
       
       ในเดือน ๖ ซึ่งเริ่มต้นฤดูเพาะปลูก เมื่อพราหมณ์คำนวณว่าวันไหนเป็นฤกษ์ดี ก็จะมีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
       
       ในฤดูร้อนที่ลมตะเภาพัดมาจากอ่าวไทย สนามหลวงจะเป็นที่รับลมของคนกรุง นั่งดูการแข่งขันว่าวจุฬากับปักเป้า และพาลูกหลานไปรู้จักว่าวกันที่นั่น หลายกลุ่มก็ใช้เป็นที่ดื่มสังสรรค์ มีทั้งหาบส้มตำและร้านเหล้าเรียงราย กับแกล้มยอดฮิตอยู่คู่สนามหลวงก็คือปลาหมึกย่างเตาถ่าน
       
       ก่อนที่ตลาดนัดใหญ่ที่สุดในโลกจะมาจัดกันที่สวนจตุจักรอย่างในตอนนี้ สนามหลวงก็เป็นที่บุกเบิกตลาดนัดนี้มาตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ เพิ่งจะย้ายมาตอนจะใช้สถานที่จัดงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๒๕ มานี่เอง
       
       ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามจะฟื้นฟูบรรยากาศประชาธิปไตยให้เบ่งบาน เปิดให้มี “ไฮด์ปาร์ค” เป็นเวทีอภิปรายนอกสภาของประชาชน สนามหลวงนี่แหละที่ถูกใช้เป็นเวทีทุกนัด รวมทั้งเป็นที่รวมพลก่อนจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินของการเดินขบวนทุกครั้งด้วย
       
       ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ สนามหลวงต้องจดจำความโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ เมื่อคนไทยเข่นฆ่ากันเองอย่างอำมหิต เพราะถูกผู้หวังผลทางการเมืองปลุกปั่นจนบ้าคลั่ง ส่วนจะมีคนตายกี่คนแน่ต้องไปถามต้นมะขาม เชื่อว่าคงไม่บิดเบือนประวัติศาสตร์
       
       ปัจจุบันสนามหลวงเปลี่ยนโฉมไปมาก ถูกปรับปรุงให้สวยงามและมีระเบียบเรียบร้อยขึ้น มีรั้วโปร่งสูงถึง ๑.๗ เมตรกั้นโดยรอบ จะเข้าไปนอนผึ่งลมตลอดทั้งคืนอย่างเก่าไม่ได้อีกแล้ว กำหนดเวลาเปิดให้เข้าแค่ ๐๕.๐๐-๒๒.๐๐ น. และอย่าได้คิดปีนรั้วเข้าไปเป็นอันขาด จะมีโทษจำคุกสูงถึง ๑๐ ปี ปรับ ๑ ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๓๒ ของพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔
       
       สนามหลวงวันนี้จึงไม่ใช่สนามหญ้าธรรมดา แต่เป็นโบราณสถานคู่กรุงรัตนโกสินทร์
       
       อย่าทำเป็นเล่นกับสนามหลวงเข้าเชียว!
       
       ในราวปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ นี้ สนามหลวงจะมีงานสำคัญยิ่ง ซึ่งนานๆจะมีครั้ง และเป็นงานที่เคยทำให้ได้ชื่อเก่ามาแล้ว ก็คืองานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อันเป็นที่เทิดทูลเหนือเกล้าของปวงชนชาวไทย
       
       นี่ก็จะเป็นประวัติศาสตร์สำคัญอีกหน้าหนึ่งของสนามหลวง 

สนามหลวงผ่านเหตุการณ์มาหลายยุคหลายสมัย! ในไม่ช้านี้จะมีงานสำคัญที่ทำให้ได้ชื่อเก่า!!
น้ำท่วมสนามหลวงปี ๒๔๘๕
        

สนามหลวงผ่านเหตุการณ์มาหลายยุคหลายสมัย! ในไม่ช้านี้จะมีงานสำคัญที่ทำให้ได้ชื่อเก่า!!
จักรยานให้เช่าที่สนามหลวง
        

สนามหลวงผ่านเหตุการณ์มาหลายยุคหลายสมัย! ในไม่ช้านี้จะมีงานสำคัญที่ทำให้ได้ชื่อเก่า!!
“ไฮด์ปาร์ค” การเมืองกลางสนามหลวง

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สนามหลวง ผ่านเหตุการณ์มา หลายยุคหลายสมัย ในไม่ช้านี้ มีงานสำคัญ ทำให้ได้ชื่อเก่า

view