สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นำตัวเองให้เป็น ก่อนนำคนอื่น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข

เวลาเรานึกถึงภาพผู้นำโดยทั่วไป เรามักจะนึกถึงภาพคนๆหนึ่งที่ดูมุ่งมั่นเข้มแข็งยืนอยู่ข้างหน้ากลุ่มคน

หรือไม่ก็เป็นภาพของคนๆหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางฝูงชน เป็นศูนย์กลางหรือศูนย์รวมของความมั่นใจ ทิศทางเป้าหมายและกระบวนการทำงานดูเหมือนจะมาจากตัวผู้นำเป็นหลัก ก็เพราะภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำที่คนส่วนใหญ่ในสังคมวาดหวังไว้มักจะเป็นไปในทำนองนี้ 

จึงทำให้ผู้นำและคนที่กำลังพัฒนาภาวะผู้นำเข้าใจว่าหน้าที่และตำแหน่งที่พวกเขาควรอยู่คือ อยู่ข้างหน้าเป็นผู้กล้า เดินนำหน้าก้าวข้ามอุปสรรค เป็นตัวอย่างให้ลูกทีมเดินข้ามตามไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้นำดีๆเก่งๆหลายคนควรทำกัน แต่ไม่ใช่ทุกครั้งตลอดไป และก็ไม่ใช่กิจกรรมแรกที่ผู้นำน่าจะทำ 

บรรดา “กูรู” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาภาวะผู้นำอย่างเช่น เดฟ อัลริช จอห์น แม็กซ์เวลล์ หรือคนที่เป็นผู้นำที่ได้รับการยกย่องในความสามารถและคุณธรรม อย่างเช่น คุณชนินทร์ ว่องกุศลกิจ คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เน้นเรื่องการนำคนอื่นเป็นหลัก แต่จะเน้นเรื่องการรู้จักตัวเอง การสร้างวินัยในตนเองก่อนที่จะไปโน้มน้าวจิตใจและบริหารผู้อื่น แม้แต่ผู้นำทางศาสนาอย่างเช่น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านก็ทรงแนะนำสั่งสอนให้เริ่มจากการพิจารณาตนเองก่อนและรู้จักบริหารตนเองในทางที่ถูกที่ควรอย่างมีสติ และเมื่อมีสติก็จะสามารถไปมีปฏิสัมพันธ์ สื่อสารและบริหารคนอื่นได้ สรุปก็คือทั้งทางโลกและทางธรรมมองว่าคนที่เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพควรเป็นคนที่รู้จักบริหารและนำตัวเองก่อน 

เรามาดูกันซิว่าการที่จะนำตัวเองนั้นต้องทำอะไรกันบ้าง 

ส่องกระจกมองดูตัวเอง เริ่มจากภายนอกก่อนว่ารูปลักษณ์ของเราเป็นอย่างไร สูง ต่ำ ดำ ขาว สวยมาก หล่อน้อยหรือออกจะขี้ริ้ว จะเป็นอย่างไรก็ตามต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความเป็นตัวของตัวเราเองก่อน บางคนไม่ชอบรูปลักษณ์อย่างที่ตัวเองเกิดมาเป็นเช่นนั้นถึงขนาดต้องพึ่งมีดหมอเทคโนโลยีเพื่อให้ได้รูปลักษณ์ตามที่ตนพอใจ เรื่องนี้ก็ตามแต่ความชอบค่ะ ขอให้มีความเหมาะสมอย่าถึงกับเสพย์ติดศัลยกรรมก็แล้วกัน สำหรับขั้นตอนนี้จะให้พ่อแม่พี่น้องเพื่อนสนิท ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันวิจารณ์ก็ได้ค่ะว่ารูปลักษณ์ภายนอกของท่านเป็นอย่างไร ควรปรับปรุงอย่างไรเพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอกให้ดูเหมาะสมยิ่งขึ้น 

ประเมินตัวเองเบื้องลึก มองข้างนอกเสร็จแล้วก็มามองข้างใน ในแง่ของภูมิปัญญา ความสามารถ ความถนัด ความชอบ อุดมการณ์และเป้าหมายในชีวิต การจะเป็นผู้นำนั้นสามารถเป็นได้ในหลายรูปแบบหลายสาขา แต่ละคนก็มีความเป็นตัวของตัวเองที่มีเอกลักษณ์เด่นชัดจนสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำได้ทั้งสิ้น ถ้ารู้จักพัฒนาตนเองและสร้างปัจจัยความสำเร็จอย่างเหมาะสม ขั้นตอนนี้คือค้นหาตัวเองให้พบก่อน ถ้าตัวเรายังค้นหาตัวเองไม่เจอ ก็จะเป็นการยากที่จะกำหนดจุดหมายที่ต้องการบรรลุ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาพอสมควรและอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือประเมินทางจิตวิทยาร่วมด้วย เพื่อสามารถวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย ค่านิยม ทัศนะคติและความถนัดของตัวเราได้ชัดเจนละเอียดมากขึ้น จากนั้นก็จะได้ทำการพัฒนาตนเองในเรื่องของความรู้และทักษะในการทำงานในสาขาที่สนใจต่อไป แต่ในเรื่องของประสบการณ์ก่อนจะเป็นผู้นำ ขอให้ตามมาอ่านกันต่อค่ะ 

หัดเป็นผู้ตามที่ดีเสียก่อน ก่อนจะเป็นผู้นำที่เก่งและเป็นที่รักของลูกน้อง ก็ต้องเริ่มจากการเป็นลูกน้องก่อน จะได้เข้าใจหัวอกของคนเป็นผู้ตามหรือลูกน้องว่าเขาต้องการอะไรจากผู้นำ เขาชอบให้ผู้นำทำอะไรและไม่ทำอะไร ตอนเป็นลูกน้องอยู่ในตำแหน่งงานเล็กๆไม่ค่อยมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจเลยรู้สึกอย่างไร มีไอเดียดีๆแต่หัวหน้าไม่สนใจฟังรู้สึกเป็นอย่างไร หัดเป็นลูกน้องให้นานพอเพื่อจะได้เข้าใจมุมมอง ความคาดหวังและแรงจูงใจของลูกน้อง และเมื่อเป็นผู้นำแล้วก็จงอย่าลืมอดีตตอนเป็นลูกน้อง จะได้นำและบริหารพวกเขาอย่างที่คนเป็นลูกน้องเขาอยากได้ ว่ากันว่า “อำนาจ” ทำให้คนเราทำงานได้สำเร็จเร็วขึ้น ได้สิ่งที่ต้องการเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่ระวังตัว หลงติดในอำนาจวาสนาที่มี ทำอะไรก็ใช้แต่อำนาจเพราะว่ามันง่ายและเร็วดี แบบนี้เขาเรียกว่าไม่เก่งจริง ไม่มีฝีมือจริง เพราะผู้นำตัวจริงนั้นแม้จะไม่มีอำนาจตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต แต่มีคนเชื่อถือไว้วางใจและอยากร่วมมือ อยากทำตาม ซึ่งอำนาจนั้นเป็นอำนาจบารมี (Charisma) ประจำตัวที่ต้องสั่งสมกันโดยใช้ “ใจซื้อใจ” ไม่ใช่บังคับกัน 

พัฒนาการมีวินัย (Self-discipline) ในตนเอง ก็อย่างที่รู้ๆกันว่าบังคับคนอื่นย่อมยากกว่าบังคับใจตนเอง ต้องหัดเอาชนะใจตนเองก่อนด้วยการมีวินัยในตนเอง การมีวินัยกับตัวเองไม่ใช่เรื่องยากซับซ้อนมากมายอะไรนัก แต่ยากตรงที่มันต้องฝืนความต้องการของเรา เช่น ควรใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผลไม่ใช้อารมณ์ ต้องขยันทำงานสม่ำเสมอ ต้องทำตัวอยู่ในศีลธรรม ไม่ใช่หลงระเริงตามอารมณ์ชั่ววูบ ควรสุขุมไม่พูดมากปากพล่อยวิจารณ์คนอื่นด้วยความมันปาก เป็นต้น ถ้าปรารถนาให้ลูกน้องหรือชุมชนเชื่อถือไว้วางใจ มั่นใจในตัวเรา เราเองต้องเอาชนะใจตนเองทำหลายๆสิ่งที่ “ควรทำ” มากกว่า “อยากทำ” ถ้าเราเองยังผิดสัญญากับตัวเอง ใครจะมาเชื่อเรา เปรียบเทียบเรื่องการสร้างวินัยกับตัวเองกับขั้นตอนที่ผ่านมา เรื่องการพัฒนาความรู้ความสามารถ เรื่องนี้ยากสุดค่ะ เพราะทุกคนชอบตามใจตนเองกัน 

อดทน...อดทน...และอดทน เพราะการชนะใจตัวเองเป็นเรื่องยากดังกล่าวแล้ว จึงจำเป็นที่ต้องมีความอดทนเป็นพื้นฐาน ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทุกคนมิอาจปฏิเสธได้เลยว่าพระองค์ท่านทรงมีความอดทนมากที่สุด เหนื่อยลำบากพระวรกายอย่างไม่ย่อท้อ มุ่งมั่นทรงงานไปเรื่อยๆทุกๆวัน ได้มากบ้าง น้อยบ้าง ไม่เคยที่จะทรงท้อถอยต่ออุปสรรคความยากลำบาก ทุกคนย่อมเห็นประจักษ์ว่าพระองค์ท่านมิได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายหรือทรงงานอย่างสบายๆไม่ลำบาก หากฝึกจิตใจให้มีความอดทนวันละนิดๆ ภูมิต้านทานความท้อถอยมันจะเพิ่มขึ้นเอง จนมองเห็นว่าอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา นึกถึงเหมา เจ๋อ ตุงสิคะ ใช้เวลาตั้ง 20 ปีกว่าจะรวบรวมกองทัพประชาชนเอาชนะโค่นล้มเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 20 ปีเป็นเวลาที่นานมาก ถ้าไม่อดทน คงไม่มีวันนั้นสำหรับเหมา เจ๋อ ตุง เป็นแน่ 

ยอมรับคำวิจารณ์และพัฒนาตนเองเสมอ นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้นำ(ดีๆ)ยากจะมี เพราะผู้นำทุกคนล้วนมีอัตตากันทั้งสิ้น ถ้ามีน้อยก็ดีหน่อย ถ้ามีมากก็ยากที่จะพัฒนาก้าวหน้าเรื่อยๆ เพราะถ้าหลงตัวเองคิดว่าตัวเองดีแล้ว เก่งแล้ว แน่แล้ว มันย่อมนำไปสู่การหลงตัวเองมากขึ้นๆจนไม่ฟังใคร ซึ่งจะเป็นการปิดการสื่อสารระหว่างผู้นำและลูกน้องตลอดจนทุกๆคนที่เกี่ยวข้อง ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้นำกับทีมงานเพิ่มมากขึ้นๆจนวันหนึ่งต่อกันไม่ติด เหลือผู้นำคนเดียว... 

ก็เมื่อเหลือผู้นำคนเดียว ไม่มีผู้ตาม มันก็ไม่มีผู้นำแล้วใช่ไหมคะ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นำตัวเองให้เป็น ก่อนนำคนอื่น

view