สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองทิศทางและความเปลี่ยนแปลง เมื่อ จีน ขยับ กินรวบ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

มองทิศทางและความเปลี่ยนแปลง เมื่อ "จีน" ขยับ "กินรวบ" ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

จากประชาชาติธุรกิจ

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กลุ่มนักวิชาการด้านต่างๆ ข้าราชการและอดีตข้าราชการ บรรดาทูตประเทศอาเซียน รวมไปถึงสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา อุ่นเครื่องก่อนจัดงาน "ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน" ด้วยการจัดเสวนาเพื่อฉายภาพรวมของประเทศแถบลุ่มน้ำโขง ในหัวข้อ "ทิศทางและความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในทศวรรษ 2560-2569" ที่โรงแรมโซฟีเทลโภคีธรา สปา แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ โดยเจ้าของคือ นายสุภชัย วีระภุชงค์ ตัวแทนมูลนิธิวีระภุชงค์ และในฐานะเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย  เป็นโต้โผใหญ่

บรรยากาศการเสวนาตั้งแต่เช้าจรดเย็น ได้แง่คิดในประเด็นต่างๆ รวมถึงภาพในอนาคต ว่าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะเป็นอย่างไร ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ และจะเตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร โดยมีพี่เบิ้มใหญ่อย่าง "จีน" เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งกำลังส่งอิทธิพลแผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเข้มข้น



ในช่วงเสวนาถึงประเด็น"ศักยภาพในเชิงพื้นที่ลุ่มน้ำโขง กายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต" โดย ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย กล่าวถึงแม่น้ำโขงว่า ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก มีความยาว 4,160 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำ 475,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีต้นน้ำอยู่บนภูเขาจี้ฟู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงทิเบต ในเขตจังหวัดหยู่ซู่ มณฑลฉิงไห่ ประเทศจีน



แม่น้ำโขงตอนบนมีชื่อเรียกว่า"แม่น้ำล้านช้าง" เป็นชื่อที่ชาวไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนาเรียกแม่น้ำโขง ส่วนคนจีนเรียกว่า "แม่น้ำหลานซาง" จากนั้นมาตอนล่างของแม่น้ำจะไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้  แม่น้ำล้านช้างส่วนบนของแม่น้ำโขงมีความยาวประมาณ 2,130 กิโลเมตร อยู่ในมณฑลยูนนานของจีน ปริมาณน้ำที่ไหลจากพรมแดนจีนเข้าสู่เขตแดนเมียนมา-ลาวนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16-20% ของปริมาณน้ำของแม่น้ำโขง  จีนได้สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือประเทศที่อยู่ท้ายน้ำ ไม่ว่าไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ที่แย่กว่านั้น คือประเทศเหล่านี้จะกดดันจีนไม่ได้ เพราะจีนไม่ได้เป็นสมาชิกภาคีแม่น้ำโขง และจีนยังมีอิทธิพลต่อรองการเปิด-ปิดเขื่อนในฤดูแล้งและฤดูน้ำหลากอีกด้วย



สิ่งที่ได้รับรู้เพิ่มเติมจากวงเสวนาคือแผนการสร้างเขื่อนจำนวนมากในจีนมีสาเหตุมาจากการที่จีนตระหนักว่าปัจจุบันกำลังขาดแคลนน้ำมันในการผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้น จึงมีโครงการที่จะสร้างเขื่อนอย่างมากมาย นอกจากสร้างบนแม่น้ำโขงแล้ว ก็ยังมีแผนก่อสร้างบนแม่น้ำสาละวินอีกด้วย

รัฐบาลกลางของจีนให้ความสำคัญกับแม่น้ำสายนี้ ในฐานะที่แม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง สามารถเชื่อมโยงจีนเข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมณฑลยูนนานเป็นด่านหน้าที่มีพรมแดนติดต่อกับพม่า ลาว และเวียดนาม  ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ของจีน คือ ให้มณฑลยูนนานเป็นศูนย์กลางสำหรับพัฒนาจีนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย 4 มณฑล ได้แก่ยูนนาน กุ้ยโจว ซื่อชวน และชิงไห่ รวมถึง 2 เขตปกครองตนเองทิเบตและกวางสี

ขณะนี้แผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำล้านช้างในประเทศจีนเป็นรูปธรรมแล้วโดยมีอยู่8 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนม่านวาน (Manwan) เริ่มปั่นกระแสไฟฟ้าได้เมื่อปี 2539 เขื่อนต้าเฉาซาน (Dachaoshan) สร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว เขื่อนเซียววาน (Xiaowan) ซึ่งมีความสูงถึง 300 เมตร เท่ากับตึกระฟ้า 100 ชั้น เขื่อนนัวจาตู้ (Nuozhadu)  เขื่อนกงกว่อเฉียว (Gongguoqiao) เขื่อนกันลันปา (Ganlanba)  เขื่อนเมงซอง (Mengsong)) และกำลังเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนจิงฮง โดยจีนประเมินว่าเขื่อนทั้ง 8 ที่เรียงรายอยู่บนแม่น้ำโขงตอนบนจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 15,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะป้อนให้กับเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ทางชายฝั่งตะวันออกของจีน และบางส่วนมีแผนจะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยด้วย



กรณีเขื่อนจีนในแม่น้ำโขงเป็นกรณีที่มีความละเอียดอ่อน มีหลายมิติเข้ามาเกี่ยวข้อง หลากหลายในกลุ่มผลประโยชน์ ตั้งแต่ชุมชน ถึงบรรษัทข้ามชาติ รัฐบาลของ 5 ประเทศ ตลอดจนประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ พยายามจะเข้ามาถ่วงดุลอำนาจ  ดังนั้น ภาครัฐของไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ต้องสร้างองค์ความรู้  ด้วยจุดยืนที่ชัดเจนในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นอันดับแรก และควรสนับสนุน ส่งเสริม ในเวทีการเจรจาในระดับทวิภาคีหรือกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง ให้มีกลไกสร้างจุดสมดุลที่เหมาะสม เพราะแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นแม่น้ำส่วนรวมของทุกคน ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด

จากนั้นเป็นการกล่าวถึงการจัดการโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงโดยนายสุรพลมณีพงษ์ เลขาธิการสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา กล่าวว่าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่ได้อยู่อย่างลำพัง แต่มีจีนอยู่ด้านบน โดยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค มีมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกวางสี ค้ำหัวลุ่มน้ำโขงอยู่ เวลาจะทำอะไรในภูมิภาคนี้ สองมณฑลนี้ของจีนจะมีส่วนร่วมในทุกๆ เรื่อง

ในอนาคตการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้ไม่ใช่แค่ถนนเฉยๆ  แต่จะเป็นการเชื่อมกับจีนออกไปทางอินเดีย ต่อออกไปทางยุโรปด้วย ไม่ว่า R3a  R9  R12 ต่างๆ เส้นทางรถไฟในอนาคตที่จะเกิดในภูมิภาคนี้ก็ ซับซ้อนมาก จะมีการเชื่อมจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง กรณีของไทยมีแนวคิดจะเชื่อมทางรถไฟลงมาจากจีนผ่านลาวมาถึงแหลมฉบัง ซึ่งการก่อสร้างในไทยมีการลงมติกันแล้วว่าจะดำเนินการเชื่อมกับจีน 5 จุดในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า  สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาจากนโยบายของจีน "ONE BELT ONE ROAD" ซึ่งเป็นแนวคิดของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง

นโยบายของสีจิ้นผิง ไม่มีการเชื่อมโยงของจีนกับสหรัฐ แต่จะเชื่อมกับยุโรปกับเอเชีย ด้วยเรื่องของการขนส่ง โลจิสติกส์ ทั้งบนบกและทางทะเล นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้แตกต่างจากของเดิม เมื่อก่อนแนวคิดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือการสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกภายในประเทศ  แต่ความคิดในเวลานี้เป็นการสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อการขนส่งระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น เส้นทางต่างๆ ไม่ได้ยุติภายในประเทศเท่านั้น แต่ถูกควบคุมทั้งหมดในทางค้าขาย อนาคตต่อไปรถไฟความเร็วสูงจะเป็นตัวที่ทะลวงด่านชายแดนของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งอนาคตข้างหน้าหนีไม่พ้นลักษณะของการขนส่งแบบไม่มีพรมแดน

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงการต่อสู้เรื่องแม่น้ำโขงและการพัฒนาต่างๆในภูมิภาคนี้กลุ่มประเทศCLMVT จำเป็นต้องรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อให้การต่อรองมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะในอนาคตเรากำลังเผชิญกับความท้าทายของอำนาจของจีน ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การขนส่งในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็หนีไม่พ้น นอกจากการดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นในทุกระดับ สิ่งที่เป็นจุดร่วมของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คือพระพุทธศาสนาซึ่งคนในภูมิภาคมีศรัทธาความเชื่อร่วมกัน ดังนั้น การสร้างความแน่นแฟ้นของภูมิภาคจึงควรส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น เรียนรู้ในวิถีความศรัทธาพระพุทธศาสนาแต่ละประเทศ โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวและไม่ยึดประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ถ้าใช้จุดร่วมนี้ในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความจริงใจ ก็น่าจะก่อให้เกิดมิติความร่วมมือด้านอื่นๆ ตามมา


เตรียมรับมือ "จีน" ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย สกุณา ประยูรศุข

ามกลางความเจริญรุดหน้าของเศรษฐกิจโลก ประเทศต่าง ๆ ในแถบลุ่มน้ำโขงซึ่งประกอบไปด้วยไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม หรือ CLMVT และอาจรวมเอาจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนานและกวางสี) เข้าไปด้วยในปัจจุบัน ต้องนับว่าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในด้านการเมืองและความมั่นคงที่เกี่ยวโยงไปถึงผลประโยชน์ของประเทศไทย และผลประโยชน์ซึ่งกันและกันในประเทศกลุ่มดังกล่าว
จากการเสวนาของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา ที่ จ.กระบี่ เมื่อไม่นาน มีการพูดถึง ทิศทางและความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และรวมไปถึงศาสนา โดยมีความคิดหลักคือจะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMVT เข้าด้วยกันโดยใช้ "ศาสนาพุทธ" เป็นตัวเชื่อม เนื่องจากศาสนาเป็นสิ่งเดียวที่จะเชื่อมโยงจิตใจของคนแถบลุ่มแม่น้ำโขงเข้าไว้ด้วยกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในอนาคต ถึงแม้ว่าประเทศเหล่านี้ จะมีระบอบการปกครองที่แตกต่างกันก็ตาม แต่พื้นฐานของแต่ละประเทศล้วนนับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน
ประเด็นที่น่าจับตาและเป็นปมปัญหาของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในขณะนี้ คือเรื่องของ "ทุน" และ "คน" ที่กำลังไหลบ่ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ วงเสวนาคิดเห็นร่วมกัน ว่า ประเทศจีนพยายามขยายอิทธิพลลงมาสู่ประเทศลุ่มน้ำโขง และกำลังจะ "กินรวบ" ทรัพยากรสองฝั่งลุ่มน้ำโขง เพื่อมุ่งไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างยิ่งใหญ่ และยังเป็นการเปิดทางออกให้จีนสามารถทะลุไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก เชื่อมจีนเข้ากับเอเชียและยุโรปทั้งหมดอีกด้วย
ในภูมิภาค CLMVT แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญอย่างมาก นอกเหนือจากวิถีชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายของคนแถบนี้ต้องผูกติดกับแม่น้ำสายนี้แล้ว ยังเป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นพื้นที่ทำการเกษตร การประมง เป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าแม่น้ำโขงเป็นแหล่งกำเนิดระบบนิเวศ 13 แห่ง ทั้งหมดต่างเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เมื่อจีนเริ่มขยับหาหนทางเข้าครอบครองใช้ประโยชน์แม่น้ำสายนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังที่กล่าวมา โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์หรือกฎของชาวโลก ที่มีกำกับแบ่งปันการใช้ทรัพยากรมาช้านาน จึงเป็นเรื่องที่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต้องหันกลับมามองและร่วมหารือว่าจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้หรือไม่ และจะร่วมกันพัฒนาภูมิภาคแถบนี้ต่อไปอย่างไร
ยุทธศาสตร์ของจีน คือ มุ่งลงใต้ เพราะมีเป้าหมายต้องการรุกทางเศรษฐกิจ และเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จีนจึงต้องการ "อาเซียน" เป็น "ตัวเชื่อม" ดังนั้น จึงพบว่าตลอดระยะที่ผ่านมาไม่เกินห้าปีมานี้ ประเทศเพื่อนบ้านของเราไม่ว่าเมียนมา ลาว และกัมพูชา ต่างได้รับความช่วยเหลือจาก "ทุนจีน" ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เข้าสู่ระยะแรกของการพัฒนา ยังต้องการโครงสร้างพื้นฐานในทุกประเทศ เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใน CLMVT ซึ่ง T หมายถึงประเทศไทย และไทยเองก็มีความเกี่ยวข้องกับประเทศเหล่านี้อย่างมากในทุกด้าน จึงควรมีความรู้ที่ทันสมัย สอดรับกับพลวัตที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันจีนมีถนน R3A ผ่านลาวและข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 มุ่งตรงเข้าสู่ไทย เป็นถนนที่นำเอาผลผลิตจากประเทศลุ่มน้ำโขงส่งกลับไปจีน แต่จีนยังไม่พอ ยังต้องการ "ทางน้ำ" คือ การเดินเรือ นำเรือใหญ่มาล่องในแม่น้ำโขง เพราะเห็นว่ามีต้นทุนถูกที่สุด ในประเด็นนี้นับว่าเป็นผลประโยชน์โดยตรงของจีนเพียงฝ่ายเดียว เพราะถนน R3A นั้น ยังมีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่การใช้น้ำโขงเพื่อการเดินเรือ มีเพียงจีนที่ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ ขณะที่คนที่เสียประโยชน์คืประชาชนในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด
ฉะนั้น การที่จีนอ้างว่าระเบิดแก่งหินเพื่อปรับปรุงร่องน้ำในการเดินเรือ เป็นประโยชน์ร่วมกันในทางค้าขาย หากศึกษาให้ชัด จะพบว่าแก่งหินแม่น้ำโขงมีความสำคัญที่สุดต่อวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง ดังนั้น ความคุ้มค่าในการระเบิดเกาะแก่งตามที่จีนอ้าง จึง "ไม่คุ้มแน่นอน" และยังมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ผลกระทบนี้เราเห็นได้ชัดเจน
อนาคตเราหนีไม่พ้นลักษณะการขนส่งแบบไม่มีพรมแดน ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในยุโรปมาแล้ว แต่สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้กระบวนการของความเปลี่ยนแปลงนี้เราไม่เสียเปรียบจีน มีตัวเลขให้เห็นปริมาณการค้าระหว่างไทยกับจีนในปี 2559 ที่ผ่านมาไทยส่งออกไปจีน 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากจีนปริมาณ 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยขาดดุลกับจีน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่คู่ค้าอีกฝั่งคือสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยนำเข้าจากสหรัฐ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกไปสหรัฐ 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นหมายความว่าไทยได้ดุลการค้าสหรัฐถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 
ในแง่ความตระหนักของสังคมเราจำเป็นต้องรู้การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทั้งหลายที่จะเกิดในลุ่มน้ำโขง จำเป็นต้องรู้ให้ชัดว่าใครได้ประโยชน์ทางการค้า และจะทำอย่างไรเพื่อให้ 4-5 ประเทศใน CLMVT ได้ประโยชน์ด้วยกับเส้นทางคมนาคมที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดประโยชน์แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ในอีกสิบปีข้างหน้ามองเห็นชัดเจนว่าอำนาจและอิทธิพลของจีนจะแผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคนี้แน่ ๆ และจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การขนส่ง ในภูมิภาค 
คำถามที่ต้องหาคำตอบ ไม่ใช่การทะเลาะเบาะแว้ง แต่คือจะอยู่ร่วมกับเขาอย่างมีความสุข มีความมั่นคงในภูมิภาคได้อย่างไร ?

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองทิศทาง ความเปลี่ยนแปลง จีน ขยับ กินรวบ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

view