สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การยอมรับเทคโนโลยี ในบริบทของสังคม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เรวัต ตันตยานนท์

ในขณะที่ผู้บริหารของประเทศกำลังให้ความสนใจกับการนำประเทศไทยเข้ายุค 4.0

ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการผลักดัน

ดังนั้น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมและการยอมรับเทคโนโลยีของสังคม จึงเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างยิ่ง ต่อความสำเร็จของการพัฒนาสังคมไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ตามเป้าหมายและแผนดำเนินการของผู้บริหารประเทศ

การยอมรับเทคโนโลยี ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมเชิงสังคม เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนจะมีระดับของการยอมรับเทคโนโลยีได้ต่างกัน

มีนักวิชาการในต่างประเทศที่พยามศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการยอมรับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของบุคคลทั่วไป และค้นพบว่า เราสามารถแบ่งกลุ่มคนทั่วไปกับทัศนคติและพฤติกรรมในการยอมรับสิ่งใหม่ๆ ออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มคนล้ำสมัย (Innovators) จะมีจำนวนประมาณ 2.5% ของกลุ่มคนในสังคมทั้งหมดที่ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นสิ่งใหม่ในสังคม กลุ่มคนเหล่านี้ มักเป็นผู้ที่มีพื้นฐานการศึกษาดี มีความพร้อมและทัศนคติที่ดีต่อเทคโนโลยีและสิ่งแปลกใหม่ สามารถรับนวัตกรรมที่นำเสนอได้ทันที หรืออาจเป็นกลุ่มที่คิดริเริ่มสร้างนวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาในสังคมเสียด้วยซ้ำไป
  2. กลุ่มคนนำสมัย (Early adopters) จะมีจำนวนประมาณ 13.5% ของกลุ่มคนในสังคม คนกลุ่มนี้ มักจะเป็นผู้ที่ตื่นตัว รับฟังข่าวสารทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่เสมอ และเมื่อมีตัวอย่างของกลุ่มล้ำสมัย ทดลองนำสิ่งใหม่ๆ มาใช้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง กลุ่มคนนำสมัยกลุ่มนี้ ก็จะสามารถยอมรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นได้ทันที
  3. กลุ่มคนทันสมัย (Early majority) จะมีจำนวนประมาณ 34% ของกลุ่มคนในสังคม คนกลุ่มนี้จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมที่สามารถยอมรับเทคโนโลยีและสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่เป็นกลุ่มแรกๆ แต่จะเป็นกลุ่มสำคัญที่มีต่อการยอมรับนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ คนกลุ่มนี้จะเป็นตัวตัดสินได้ว่า ธุรกิจเทคโนโลยีและธุรกิจนวัตกรรม จะสามารถเอาชนะใช้ตลาดและผู้บริโภค และสร้างยอดขายที่ทำให้ธุรกิจสามารถเจริญเติบโตอยู่ต่อไปได้หรือไม่
  4. กลุ่มคนตามสมัย (Late majority) จะมีจำนวนอีกประมาณ 34% ของกลุ่มคนในสังคม โดยจะเป็นกลุ่มที่ยอมรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกลุ่มท้ายๆ เมื่อเห็นตัวอย่างว่ามีผู้ยอมรับและใช้งานจนเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแพร่หลาย และเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้นๆ ได้มีราคาลดลงจนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้แล้ว
  5. กลุ่มคนล้าสมัย (Laggards) เป็นกลุ่มคนที่เหลือในสังคม โดยไม่สนใจต่อเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือความใหม่ใดๆ หรือหากจำเป็นจะต้องยอมรับเทคโนโลยี ก็จะเป็นกลุ่มคนท้ายที่สุดในสังคม

พฤติกรรมดังกล่าวของกลุ่มคนในสังคมทั้ง 5 กลุ่มนี้ ได้รับการยืนยันและสนับสนุนจากผลการวิจัยและเชื่อได้ว่าเกิดขึ้นในสังคมทุกระดับ ที่จะแตกต่างกันออกไปก็คือระยะเวลาในการยอมรับเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น ในสังคมที่มีพื้นฐานความรู้ดี ระยะเวลาที่เทคโนโลยีใหม่จะได้รับการยอมรับตั้งแต่กลุ่มล้ำสมัยไปจนถึงกลุ่มล้าสมัย ก็จะสั้นกว่าระยะเวลาที่เกิดขึ้นในสังคมที่พื้นฐานการศึกษาด้อยกว่า

นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยค้นพบว่า ความพร้อมด้านเทคโนโลยีของมนุษย์ จะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัย 2 กลุ่ม คือปัจจัยเชิงบวกที่จะสนับสนุนให้สังคมเกิดความพร้อมมากขึ้น และปัจจัยเชิงลบที่จะขัดขวางความพร้อมรับเทคโนโลยี

ปัจจัยเชิงบวก ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ทำให้เกิดการมองเทคโนโลยีในแง่ดี เช่น จะช่วยให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ช่วยสร้างประโยชน์ได้มากขึ้น เป็นต้น และบรรยากาศที่สังคมสนใจและชอบที่จะทดลองใช้งานเทคโนโลยีใหม่

ปัจจัยเชิงลบ ได้แก่ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดความไม่สบายใจในการใช้เทคโนโลยี เช่น กลัวว่าจะไม่สามารถควบคุมเทคโนโลยีนั้นๆ ได้ กลัวการถูกครอบงำโดยเทคโนโลยี เป็นต้น และปัจจัยที่เกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น กลัวข้อมูลหรือความลับรั่วไหลไปสู่บุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทางการเงิน ที่อาจส่งผลลบต่อเงินออมหรือทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติและพฤติกรรมเชิงสังคม เพื่อจัดหากลยุทธ์ในการสร้างความเชื่อมั่น ความตั้งใจ และแรงจูงใจ ที่จะทำให้สมาชิกโดยทั่วไปของสังคม มีความพร้อมและสามารถยอมรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ด้วยความมั่นใจ

ทั้งในด้านประสิทธิภาพการใช้งานและในด้านความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของสังคม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การยอมรับเทคโนโลยี บริบทของสังคม

view