สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Gig Economy ตัวแปรสำคัญให้องค์กรเปลี่ยนแปลง

จากประชาชาติธุรกิจ

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล จึงทำให้หลายองค์กรพยายามปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของการปรับบทบาทในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเข้าไปหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดเล็กลง แต่จะต้องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หรือแม้แต่การนำเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาใช้ทดแทนในการบริหารพนักงานบางตำแหน่ง

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กำลังเป็น "ความจริง" ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในอนาคต



ที่สำคัญ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กำลังกลายเป็น "ความจริง" เช่นกันในอาเซียน และประเทศไทย โดยมีผู้ที่อยู่เบื้องหลังแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ คณะผู้บริหารระดับสูง และฝ่ายทรัพยากรมนุษย์

ยิ่งเฉพาะในฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ที่ถือเป็น "คู่คิด" กับ "นักบริหาร" ที่จะต้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง และพร้อมจะต้องเตรียมตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

โดยเรื่องนี้ผู้ที่ติดตามเทรนด์ของการเปลี่ยนแปลงในการบริหารเพื่อรับมือกับโลกดิจิทัลคงเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก"รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข" ประธานสายวิชาการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ต้องยอมรับความจริงว่าโลกแห่งการทำงานในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและบางองค์กรต่อไปคนจะถูกลดบทบาทลงโดยเฉพาะในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะอะไรมากมายเพราะเขาจะใช้ Man Robot เข้ามาแทนที่ ซึ่งตอนนี้เราเริ่มเห็นในหลายประเทศ และหลายอุตสาหกรรมแล้ว เพราะฉะนั้นในบทบาทของ HR จะต้องมาดูตรงนี้ด้วยว่าเราจะเลือกคน หรือหุ่นยนต์"

"เพราะอย่าลืมว่าการทำงานกับเครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ พนักงานจะไม่เกิดการปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งยังส่งผลทางจิตวิทยาด้วย จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าเขาด้อยค่ากว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แม้พวกเขาจะยอมรับความจริงว่า การที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนคนจะทำให้เกิดความรวดเร็ว และช่วยลดค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่ในหน้าที่ของ HR จะต้องบาลานซ์การบริหารงานตรงนี้เพื่อให้ทุกคนมีความสุขในการทำงาน"

"ดังนั้นถ้าจะมองภาพต่อเนื่องมายังประเทศไทยจึงอยากมองเรื่องของแรงงานคุณภาพเพราะตลาดแรงงานในปัจจุบันมีกำลังคนอยู่น้อยมากเนื่องจากเราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ และเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่เข้ามาในตลาดงาน นอกจากจะมีอยู่น้อย พวกเขาทำงานสักระยะยังลาออก เพื่อไปทำธุรกิจของตัวเอง ตรงนี้จึงทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะกับเจเนอเรชั่น Y, Z และ C ในอนาคต ซึ่งถือเป็นวัยแรงงาน และเราในฐานะผู้เฝ้ามองจากฟาก HR จึงต้องบอกว่าคนที่ทำงานทางด้านนี้จะต้องตาถึง และจะต้องมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น"

เพราะเนื่องจากปัจจุบันมีกลุ่มคนอีกกลุ่มที่เพิ่มเข้ามา หรือที่เรียกว่า "Gig Economy" กลุ่มคนเหล่านี้นอกจากจะชอบทำงานอิสระ มีอาชีพฟรีแลนซ์ ยังไม่ชอบที่จะทำงานในระบบอีกด้วย

"รศ.ดร.ศิริยุพา"
 ยอมรับว่า Gig Economy มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ และพวกเขาไม่เพียงจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หากกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกลุ่มเพื่อน ๆ นับแต่เรียนมัธยมศึกษา และมหา′ลัย


"ดังนั้นพอเขาจะทำธุรกิจอะไร เขาจะให้เพื่อน ๆ ที่มีทักษะในเรื่องต่าง ๆ เข้ามาช่วยก่อนเป็นอันดับแรก เพราะนอกจากจะเป็นการให้งานกับเพื่อน ๆ ของตัวเอง แนวทางการทำงานยังอธิบายกันในเชิงลึก แก้ไขงานกันอย่างไม่มีปัญหา นอกจากนั้น งานที่เกิดขึ้นจะเป็นโมเดิร์นที่ไม่ซ้ำกับตลาด เพราะพวกเขามีรสนิยมคล้าย ๆ กัน และมองโลกธุรกิจไปข้างหน้าเหมือน ๆ กัน ฉะนั้นคนกลุ่มนี้ถ้าประสบความสำเร็จ จะประสบความสำเร็จเกินคาด แต่ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ เขาจะเฟลไประยะหนึ่ง"

"ซึ่งเขาอาจกลับมาทำงานในระบบก็ได้ หรืออาจหันไปหาช่องทางใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจของตัวเอง ดิฉันจึงเชื่อว่าหากองค์กรหนึ่งองค์กรใดมีพนักงานรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ฝ่าย HR จะต้องมีไม้เด็ดเพื่อรักษาเขาให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ พูดง่าย ๆ จะต้องวาง Road Map ให้เขาเห็นชัดเจนเลยว่า ถ้าอยู่องค์กรนี้อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรบ้าง ภายใน 5 ปีจะอยู่ในตำแหน่งไหน มีโอกาสดูแลโปรเจ็กต์ธุรกิจใหม่ ๆ ได้หรือเปล่า และมีโอกาสไปทำงานต่างประเทศได้หรือไม่"

"ฉะนั้น ฝ่าย HR จึงต้องเป็นนักวางแผน และนักขายด้วย ที่สำคัญจะต้องมีทักษะในการมองดูคนให้ออก ไม่ใช่คงที่ไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้นยังจะต้องพัฒนาผู้จัดการทุกแผนกให้เป็น HR ด้วย เพราะฝ่าย HR สร้างคนไม่ทัน เราจึงต้องสร้างให้ผู้นำหน่วยเหล่านี้ช่วยเราอีกทางหนึ่ง เพื่อจะได้ช่วยกันสร้างคน รักษาคน และให้โอกาสคน ไปพร้อม ๆ กัน"

แต่กระนั้น ในอีกมุมมองหนึ่ง "รศ.ดร.ศิริยุพา" บอกว่า หากในอนาคตองค์กรหนึ่งองค์กรใดไม่สามารถหา Talent และวาง Succession Plan ได้จริง ๆ เราต้องกลับมามองผู้บริหารยุคเบบี้บูมเมอร์ ที่กำลังจะลงจากตำแหน่งในอนาคตอันใกล้

"เพราะตอนนี้หลายประเทศในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียบางประเทศ เริ่มประสบปัญหานี้เช่นกันคือสร้างคนไม่ทัน หมายความว่า เจเนอเรชั่น X ที่จะขึ้นมาบริหารยังโตไม่ทัน เพราะขาดทักษะเรื่องผู้นำ ทั้งยังขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ฝ่าย HR จึงแก้ปัญหาอย่างง่าย ๆ ด้วยกัน 2 อย่าง คือใช้ผู้บริหารที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นโค้ชให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ อาจจะใช้เวลา 5-10 ปี เพื่อสร้างเขาขึ้นมา ขณะเดียวกันจะใช้วิธีการยืดอายุเกษียณออกไป เพราะ Type Line ของ Leadership สร้างไม่ทันจริง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์, วิศวกร, HR ระดับสูง, ผู้พิพากษา, หมอ และอีกหลายกลุ่มอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน"

"ดิฉันจึงมองว่าเรื่องเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาขององค์กรในประเทศไทยทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างLeadershipเพื่อมาเป็นโค้ชให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ และการสรรหาพนักงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะความชำนาญเข้ามาในระบบ เพราะเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาของเราที่ไม่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติในแต่ละฉบับ"

"ถ้าจะพูดตรง ๆ เป็นหน้าที่ของภาครัฐตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ซึ่งอาจจะมีพูดถึงบ้างในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศบางฉบับ แต่อยากให้เป็นวาระสำคัญด้วย จริงอยู่ว่าการศึกษาควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่เขาต้องการ แต่กระนั้น ต้องสอดคล้องกับตลาดแรงงานด้วยว่า เขาต้องการบุคลากรทางด้านไหนเป็นพิเศษ เพื่อเราจะได้ผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นภาคเอกชนต่าง ๆ จึงไม่จับมือกับสถาบันการศึกษาในการออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่เขามีความต้องการหรอก"

เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเทรนด์ของโลกโดยตรงที่จะพยายามลดสัดส่วนแรงงานมนุษย์ลงโดยหันไปให้ความสำคัญกับMan Robot มากขึ้น และถ้าหากองค์กรหนึ่งองค์กรใดยังปรับตัวไม่ทัน

ยังพัฒนาแรงงานมนุษย์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

เชื่อแน่ว่าอนาคต"เครื่องจักรสมัยใหม่"จะมาแทนที่พวกคุณอย่างแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Gig Economy ตัวแปรสำคัญ องค์กรเปลี่ยนแปลง

view