สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดัชนี ค้าปลีก ดัชนีจับจ่าย ตลาดโตได้ด้วย...สาขาใหม่

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ก้อย ประชาชาติ


แม้ว่าตัวเลขของกลุ่มธุรกิจ "ค้าปลีก" ในไตรมาสแรกที่ออกมาจะเป็นบวกโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทในตลาดที่สะท้อนตัวเลขของผลกำไรที่เป็นบวกกันถ้วนหน้า

แต่ในแง่ของมู้ดและการจับจ่ายกลับยังคงอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ทรงตัวและไม่หวือหวา โดยเฉพาะตลาดแมสและตลาดระดับกลางที่เริ่มเห็นภาพชัดของการชะลอการจับจ่าย

Retail Landscape by The Nielson ระบุภาพการเติบโตในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค FMCG ยังคงติดลบในไตรมาสแรกของปี ส่วนหมวดสินค้าคงทนและสินค้ากึ่งคงทน ยังคงทรงตัวและยังไม่เห็นสัญญาณที่จะฟื้นตัวได้เร็วนัก 

สอดคล้องกับกันตาร์ เวิร์ลดพาเนล (ไทยแลนด์) ฉายภาพผลวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค ว่าอัตราการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนไทยทั่วประเทศผ่านช่องทางค้าปลีกดั้งเดิมและค้าปลีกสมัยใหม่ในปีที่ผ่านมาเติบโตเพียง 1.7% มูลค่า 4.4 แสนล้านบาท 



ถือเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 8 ปี

โดยหมวดสินค้าของใช้ในครัวเรือน (Household) เติบโต 3.2% กลุ่มของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care) เติบโต 2.9% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) เติบโต 0.8% ล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน

และที่สำคัญ พฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าเปลี่ยนไปเน้นจับจ่ายสินค้าราคาถูกลงแต่เน้นปริมาณมากขึ้น คุ้มค่า คุ้มราคา และระมัดระวังจับจ่ายมากขึ้น 

สอดคล้องกับตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ชะลอตัวลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตไตรมาสแรกว่าจำนวนบัตรเครดิตในระบบลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นการลดลงของบัตรใหม่เนื่องจากธนาคารพาณิชย์และน็อนแบงก์ต่างเข้มงวดในการเปิดบัตรเครดิตใหม่ขณะเดียวกันคนที่ถือบัตรอยู่แล้วนั้นได้ลดจำนวนบัตรเครดิตและลดการใช้จ่าย-ลดการก่อหนี้ลงเช่นเดียวกัน

"จริยา จิราธิวัฒน์" ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ฉายภาพดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกไตรมาสของปีว่าโตขึ้น 3.02% แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไปเนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายยังไม่แจ่มใสเท่าที่ควร เพราะถ้าหากเครื่องยนต์การใช้จ่ายของภาครัฐแผ่วลง ดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรกอาจต่ำกว่า 3% 

โดยการเติบโต 3.02% ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจหลายตัวเข้ามาหนุน อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.6%, อัตราการส่งออกขยายตัว 4.9%, จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 5%, ราคาพืชผลการเกษตรเพิ่มขึ้น, ดัชนีการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น, ตลาดรถยนต์ขยายตัว 15.4% และตลาดรถจักรยานยนต์ขยายตัว 5%

การเติบโตของตลาดมาจาก 3 อุตสาหกรรมหลัก คืออสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง, ภาคการเงินการธนาคาร และภาคค้าปลีก โดยในไตรมาสแรกกำไรของสถาบันการเงินการธนาคารยังดีอยู่ แม้หนี้เสียจะเพิ่มขึ้น แต่รายได้และกำไรยังคงที่ ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างยังเติบโตต่ำทั้งยอดขายและกำไรต่างก็ลดลง ขณะที่กลุ่มธุรกิจค้าปลีก แม้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นแต่กลับเป็นการเติบโตจากการขยายสาขาใหม่

และในครึ่งปีหลังยังต้องกังวลกับความท้าทายของบรรดาปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับการใช้จ่ายที่อาจแผ่วลง, โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ยังไม่เกิดการปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม, การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว, บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เติบโตลดลงทั้งยอดขายและกำไร และหนี้ครัวเรือนที่ยังส่งสัญญาณที่จะทรงตัวในระดับ 80.2% มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ 

กลายเป็นความท้าทายที่ต้องออกแรงฮึด...และฝ่าไปให้ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดัชนี ค้าปลีก ดัชนีจับจ่าย ตลาดโต สาขาใหม่

view