สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลื่นดิจิทัลซัดธุรกิจโลกเก่า สตาร์ตอัพ-ฟินเทค-อีคอมเมิร์ซ เบ่งบาน

จากประชาชาติธุรกิจ

ขณะที่การเมืองโลกกำลังเปลี่ยนขั้ว ปรากฏการณ์เบร็กซิต จนถึงชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ และกระแสพรรคฝ่ายขวาทั่วยุโรปกำลังมา สะท้อนภาพผู้นำชาติมหาอำนาจหันขวาต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ชัดเจนมากขึ้น นำพาซึ่งกติกาการค้าโลกที่กำลังถูกจัดระเบียบใหม่

ยักษ์ธุรกิจข้ามชาติต้องเตรียมพร้อมรับมือกับนโยบายกีดกันทางการค้ารูปแบบต่าง ๆ การค้าการลงทุนที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พร้อม ๆ กับการคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว

โลกธุรกิจกำลังทรานส์ฟอร์ม

พร้อม ๆ กับที่ธุรกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง หรือทรานส์ฟอร์ม หาหนทางเอาตัวรอดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจโลกดิจิทัล โลกที่นวัตกรรมก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โลกที่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จะเข้ามาร่วมงานกับมนุษย์ โลกที่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ 

หลายกลุ่มธุรกิจล้มหายตายจากไป เพราะคลื่นเทคโนโลยีซัดเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ขณะที่หลายกลุ่มธุรกิจก็ดิ้นปรับตัวล้อไปกับกระแสเทคโนโลยีเพื่ออยู่รอด เพื่อการเติบโต เพื่อเป็นใหญ่ และเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับโลกและมนุษยชาติ

ยิ่งสร้างการแข่งขันในโลกธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ปรากฏการณ์ “ควบรวมกิจการ” หรือ “M&A” (Merger & Acquisition) ยังเป็นเทรนด์ต่อเนื่องของยักษ์เล็กยักษ์ใหญ่ที่ต้องการทางลัดในการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่ง หรือเป็นการกินรวบซื้อคู่แข่ง

ขณะที่กระแสของ “สตาร์ตอัพ” (Startup) ที่มาแรงทั่วโลก เพราะมนุษย์ยุคมิลเลนเนียมที่เกิดมาพร้อมกับโลกอินเทอร์เน็ต มีการใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์ธุรกิจและบริการรูปแบบใหม่ ๆ ให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ที่ทำให้ธุรกิจดั้งเดิมต้องเผชิญความท้าทายยิ่งใหญ่ 

หากไม่สามารถปรับตัวไปกับโลกยุคใหม่ได้ และไม่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล เชื่อว่ามีโอกาสที่จะทำให้เส้นทางธุรกิจสั้นลง

เช่นที่มีการยกตัวอย่างว่า บริษัทที่ติดอันดับ S&P 500 เมื่อปี 2501 มีอายุเฉลี่ย 61 ปี แต่ปี 2523 อายุเฉลี่ยลดลงมาเหลือ 25 ปี และปัจจุบันเหลือแค่ 18 ปีเท่านั้น

การเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ให้กับโลกหลากหลายอุตสาหกรรมแต่ที่โดดเด่นและเขย่าวงการในเวลานี้ก็คงหนีไม่พ้นสตาร์ตอัพทางการเงินหรือ“ฟินเทค” (Financial Technology) ที่ทำให้อุตสาหกรรมการเงินทั่วโลกต้องปรับตัวอุตลุด เพื่อเปลี่ยนให้ทันโลกดิจิทัล

และกระแสการเติบโตของ “อีคอมเมิร์ซ” การซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เรียกว่าเป็นพัฒนาการขั้นต้นของธุรกิจโลกออนไลน์ที่เขย่าวงการค้าปลีกจนระเนระนาด

รวมทั้งการเกิดขึ้นของธุรกิจรูปแบบ“แชริ่งอีโคโนมี”(SharingEconomy) อย่างอูเบอร์ และแอร์บีเอ็นบี คือใครมีทรัพยากรอะไรก็สามารถนำมาแบ่งปันเพื่อสร้างรายได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบซื้อ-ขาย-เช่าแบบเดิม ๆ ซึ่งทำให้เจ้าของธุรกิจดั้งเดิมต่างออกมาต่อต้าน 

อีคอมเมิร์ซฝันร้ายของยักษ์ค้าปลีก

การเติบโตของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกส่งผลให้การช็อปปิ้งออนไลน์แทรกซึมในวิถีชีวิตประจำวันคนรุ่นใหม่จนดูดกลืนธุรกิจค้าปลีกรูปแบบเดิมๆ ให้ตกที่นั่งลำบาก เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทำให้ปริมาณผู้ช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าหดหายไปเกือบครึ่ง

เช่นที่เกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างมากสะท้อนจาก“อเมซอน” ยักษ์อีคอมเมิร์ซของสหรัฐสามารถก้าวแซงยักษ์ใหญ่อย่างพลังงาน ธนาคาร ขึ้นมาเป็นธุรกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 4.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ “วอลมาร์ต” ยักษ์ค้าปลีกอันดับ 1 ของโลก ที่เคยเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในฟอร์จูน 500 แต่วันนี้มูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่เพียง 2.29 แสนล้านดอลลาร์ ที่ยังต้องวิ่งไล่ตามยักษ์อีคอมเมิร์ซอย่าง “อเมซอน” พร้อมกับการทยอยปิดสาขาที่ยอดขายตกต่ำ และอีกด้านก็เดินหน้าซื้อกิจการออนไลน์เข้าพอร์ตหวังเป็นทางลัดเพิ่มรายได้ฝั่งอีคอมเมิร์ซ

“บิสซิเนสอินไซเดอร์”ระบุว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2017 จะมีร้านค้ามากกว่า 3,500 แห่งทั่วสหรัฐปิดตัวลง หลังจากที่ห้างดังอย่าง “เมซีส์” (Macy’s), “เซียร์ส” (Sears), เคมาร์ท (Kmart) และ “เจซีเพนนี” (JCPenney) ได้ทยอยปิดสาขารวมหลายร้อยแห่ง รวมถึงแบรนด์แฟชั่นอย่าง “บีซีบีจี” (BCBG), “อเบอร์ครอมบี แอนด์ ฟิทช์” (Abercrombie &Fitch) และ “บีบี” (Bebe) ได้ปิดบริการหน้าร้านหลายสิบแห่งแล้ว พร้อม ๆ กับการหันมามุ่งพัฒนาธุรกิจบนโลกออนไลน์ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป มาช็อปปิ้งบนหน้าจอมากกว่า

ข้อมูลจากผลการวิจัยเรื่อง “Worldwide Retail Ecommerce Sales” ปี 2016 ระบุว่า ยอดขายค้าปลีกออนไลน์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 22 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า และคาดการณ์ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะพุ่งแตะ 27 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020 
           
“ฟินเทค” สร้างจุดเปลี่ยนอุตฯการเงิน

 
ขณะที่ “ฟินเทค” นวัตกรรมทางการเงินที่สร้างความสะดวกสบายและรวดเร็วให้แก่ผู้ใช้งานด้วยต้นทุนที่ต่ำ ก็กำลังแสดงอิทธิฤทธิ์สร้างความปั่นป่วนให้อุตสาหกรรมการเงินทั่วโลก พร้อมกับปรากฏการณ์ธนาคารยักษ์ใหญ่ทยอยปิดสาขา เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ความจำเป็นในการเดินทางไปสาขาของธนาคารลดน้อยลง 

โดยในปี 2017 ธนาคารหลักแดนผู้ดีประกาศแผนปิดสาขานับพันแห่ง เช่น “ทีเอสบีแบงก์” เตรียมปิดเพิ่มอีก 38 สาขา เนื่องจากหลายสาขามีลูกค้าเข้าใช้บริการน้อยมาก รวมถึง “แบงก์เอชเอสบีซี” ที่ตัดสินใจปิดสาขาในปีนี้อีก 117 แห่ง โดยระบุว่าลูกค้าส่วนมากหันมาใช้ออนไลน์แบงกิ้งมากขึ้น 

ธนาคารในสหรัฐอเมริกาก็มีสถานการณ์ไม่ต่างกัน “แบงก์ออฟอเมริกา” นอกจากประกาศปิดสาขาจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ปรับรูปแบบสาขาใหม่ ทั้งปรับลดขนาดเล็กลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย จนถึงเปิดสาขาที่ไม่มีพนักงานประจำ เป็นการใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด สำหรับลูกค้าที่มาขอสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ จะสามารถสื่อสารกับพนักงานผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ขณะที่การทำธุรกรรมทั่วไปอย่างฝาก-โอนก็จะทำบนมือถือแทน

นอกจากนี้ ธนาคารหลายแห่งปรับตัวเปิด “ธนาคารออนไลน์” ขึ้นมาคู่ขนาน เช่น “ดีบีเอส” ของสิงคโปร์ ถือเป็นธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของภูมิภาค รุกเข้าเจาะตลาดอินเดียด้วยการเปิดธนาคารดิจิทัลเป็นเจ้าแรกในอินเดีย เมื่อเมษายน 2016 ในชื่อ “ดิจิแบงก์” เป็นธนาคารที่ไม่ใช้กระดาษ ไม่ใช้ลายเซ็น และไม่มีสาขา ลูกค้าจะต้องโหลดแอปพลิเคชั่น เปิดบัญชีเงินฝากดิจิทัลและอีวอลเลต ซึ่งจะยืนยันตัวตนผ่านลายนิ้วมือและบัตร Aadhaar เสมือนเป็นบัตรประชาชนของคนอินเดียที่มีเลขประจำตัว 12 หลัก

และอีกหนึ่งประเทศที่อุตสาหกรรมการเงินมีพัฒนาการอย่างมากก็คือ “จีน” เนื่องจากเป็นประเทศที่ “ฟินเทค” มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระบบอีเพย์เมนต์ “อาลีเพย์” ในเครืออาลีบาบา และ “วีแชทเพย์” ของกลุ่มเทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นช่องทางการจับจ่ายยอดนิยมของชาวจีน ที่ทำให้ทั่วโลกต้องยอมรับ เพื่อต้อนรับการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ ยักษ์ฟินเทคทั้ง 2 รายนี้ยังขยับขยายสู่การเปิดบริการธนาคารออนไลน์ ทั้งการให้บริการการกู้ยืมเงิน การลงทุน หรือการขาย
ประกัน

ขณะที่ธนาคารในจีนหลายแห่งก็ปรับตัวสู่แพลตฟอร์มการทำธุรกรรมบนมือถืออย่างเต็มรูปแบบพร้อมกับการขยายธุรกิจสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซนับเป็นการไขว้การขยายธุรกิจที่น่าจับตาและเป็นสัญญาณว่า เส้นแบ่งของธุรกิจบนโลกดิจิทัลนั้นไร้พรมแดน และเต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสมากมายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คลื่นดิจิทัลซัด ธุรกิจโลกเก่า สตาร์ตอัพ ฟินเทค อีคอมเมิร์ซ  เบ่งบาน

view