สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธรรมะนำการพัฒนา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ตามรอยฟ้า

บ้าน วัด โรงเรียน นับเป็นสถาบันหลักของชุมชน และเป็น 3 เสาหลักที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เข้มแข็ง โดยมีการเรียกกันว่าเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบ "บวร" ซึ่งจากทั้ง 3 สถาบันอาจกล่าวได้ว่าสถาบันศาสนาหรือวัด คือจุดศูนย์กลางความผูกพันทางจิตใจของชุมชน อีกทั้งการพัฒนาท้องถิ่นในหลายพื้นที่ก็มีจุดเริ่มต้นจากวัด แล้วผสานความร่วมมือกับคนในชุมชน

ภาพเช่นนี้เห็นชัดเจนจากบ้านตะครองงาม ต.ลุงเขว้า อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา ซึ่งเมื่อเดือน เม.ย. 2560 เพิ่งจะได้รับรางวัลชนะเลิศ "บ้านสวย เมืองสุข" ระดับจังหวัด เป็นความสำเร็จที่เกิดจากคนในชุมชนดูแลหมู่บ้านของตนมาโดยตลอด และได้รับการอบรมบ่มเพาะจากพระสงฆ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งหมู่บ้าน และพระสงฆ์รูปนั้นคือ "พระมหาบรรจง ชาครธมฺโม" ปัจจุบันเป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์บ้านตะครองงาม และเจ้าอาวาสวัดแจ้งนอก 

เรื่องราวของหมู่บ้านแห่งนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2543 ขณะนั้นชุมชนอยากมีวัดประจำหมู่บ้าน แต่ด้วยพื้นที่สำหรับสร้างวัดเป็นพื้นที่สาธารณะ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่ง "พระมหาบรรจง" ทราบเรื่องและเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ด้วยการสนับสนุนเงินทุนในการซื้อพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการสร้างวัดตะครองงาม



การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมาจากความตั้งใจจริงของ "พระมหาบรรจง" ถึงแม้ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่โดยตรง แต่ถือตนว่าเป็นลูกหลานของบ้านตะครองงามเช่นกัน จึงขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดแจ้งนอกเข้ามาทำงานคลุกคลีกับชาวบ้าน โดยเดินทางไป-กลับทุกวันระหว่างบ้านตะครองงาม และวัดแจ้งนอก ซึ่งอยู่ห่างกันถึง 60 กิโลเมตร    

"เป้าหมายของการเข้ามาช่วยชุมชน เพราะอยากเห็นภาพความร่วมมือของคนในบ้าน ด้วยพวกเขาเป็นเทือกเถาเหล่ากอเดียวกัน และมีความผูกพันกันอยู่แล้ว จึงเข้ามาจับจุดแข็งด้านนี้"

โดยได้ให้คนในชุมชนยึดมั่นกับความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ แผ่นดินเกิด พร้อมกับพัฒนาจิตใจให้เกิดการรู้รักสามัคคี ผ่านกุศโลบาย "ต้นไม้กลับหัว" ที่สอนให้ทุกคนคิดอย่างลึกซึ้งถึงแก่นราก 

"พระมหาบรรจง" เล่าให้ฟังว่า ต้นไม้กลับหัวมาจากการมองเห็นถึงความเป็นธรรมชาติที่ปกติแล้วรากจะอยู่ด้านล่าง และไม่มีใครเห็น ซึ่งอาตมาได้ระดมกำลังชาวบ้านกว่า 30 คนไปขุดตอไม้ใหญ่ขึ้นมา แล้วพลิกเอารากมาไว้ข้างบนแทนลำต้น เพื่อแสดงให้ชาวบ้านเห็นว่าการที่ต้นไม้สามารถเติบโตได้ เป็นเพราะมีรากค้ำยัน 

เปรียบได้กับฐานชีวิตของคน โดยปู่ย่าตายายมักพร่ำสอนเสมอว่าลูกหลานเป็นเหมือนรากและแขนงของต้นไม้ ถ้าไม่บำรุงให้แข็งแรง ตระกูลหรือสังคมจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น ผู้นำต้องรู้จักรักและบำรุงชาวบ้าน เหมือนกับที่ต้นไม้บำรุงรากของมัน

"อันนี้เป็นสิ่งที่อาตมาทำ ตอนที่เริ่มเข้ามาทำงานกับชาวบ้าน ซึ่งทุกวันนี้ตอไม้ได้ตั้งไว้ในวัดตะครองงาม เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจกับชาวบ้านหรือคนที่มายังชุมชนนี้ได้รู้ว่า หากไม่มีความรักความสามัคคีกันในชุมชนแล้ว จะไม่สามารถขุดตอไม้นี้ขึ้นมาได้" 

จากกุศโลบายทำให้ชาวบ้านเห็นแจ้ง และมาร่วมกันพัฒนาชุมชน ทั้งการสร้างวัดตะครองงามจนสำเร็จ พร้อมกับการพัฒนาทางกายภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมถนน ปลูกต้นไม้ และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ดูเรียบร้อยสวยงาม ตลอดจนการสร้างศาลาประจำคุ้มภายในหมู่บ้าน 

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานกับคนหมู่มาก ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนคล้อยตาม หรือมาร่วมทำงานด้วยกันทั้งหมดเสมอไป ซึ่ง "พระมหาบรรจง" ไม่ได้โกรธเคืองแต่อย่างใด โดยยังคงปฏิบัติตนเหมือนเดิม 

"คนที่เขาไม่ได้อยากมาเข้าร่วม เราไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจ หรือไปตำหนิอะไร เพราะรู้ว่าเขายังไม่มีใจมาช่วย แต่พยายามเรียกเขามาร่วมด้วยตลอด เพราะเมื่อได้มาสนิทชิดเชื้อกับคนอื่น ๆ จะเกิดการชักชวนมาทำงานกันเอง ซึ่งเวลาทำงานหรือพัฒนาชุมชน ชาวบ้านก็เหมือนได้เรียนรู้ธรรมะไปในตัวด้วย" 

"เพราะธรรมะอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว และทุกคนมีธรรมะ เพียงแต่บางคนอาจเจริญธรรมบางข้อน้อยไปหน่อย อย่างการเสียสละ คนไหนมีธรรมข้อนี้น้อย เราก็จะชักจูงเขาเข้ามา ส่วนคนไหนที่มีอยู่แล้ว เราจะบำรุงรักษาเขาไว้"

ทั้งนั้น จากการหล่อหลอมให้คนในชุมชนเกิดความสามัคคี ทำให้ "พระมหาบรรจง" ต้องการประคับประคองให้ความรู้สึกเช่นนี้ให้เกิดขึ้นอย่างยาวนาน จึงมีแนวคิดจัดตั้งกลุ่มอาชีพชุมชน ให้เป็นอาชีพเสริม โดยนำเงินจากกองทุนพ่อของแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากชาวบ้านร่วมบริจาคเมื่อครั้งที่จัดงานสวดอภิธรรมให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 เบื้องต้นได้มอบเงิน 50,000 บาทสำหรับเป็นเงินตั้งต้นให้กับชุมชน 

ส่วนกลุ่มอาชีพที่ "พระมหาบรรจง" คิดค้นทำโครงการร่วมกับชาวบ้าน คือ กลุ่มอาชีพทอเสื่อ เพราะเห็นว่าชาวบ้านมีฝีมือ และอุปกรณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดวัตถุดิบ จึงมีแนวความคิดที่จะปลูกต้นกกจันทบูร รวมถึงกลุ่มผลิตน้ำตาลอ้อย ซึ่งจะแปรรูปเป็นน้ำตาลปึก และน้ำตาลปี๊บ โดยจะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดสำหรับใช้ปลูกอ้อย 

"ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านมาจากความรักความสามัคคีกัน และมีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน เพราะเมื่อชาวบ้านเห็นแผนว่าหมู่บ้านกำลังเดินไปสู่จุดไหน ก็จะเกิดความเข้าใจและกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะล้วนสร้างผลดีกับชุมชนทั้งสิ้น โดยเรามีหน้าที่ประคับประคองความตั้งใจ และความดีของพวกเขาให้คงอยู่"

เพราะหลักธรรมคำสอนของพระสงฆ์เป็นแบบอย่างให้คนในชุมชนยึดมั่นในการมุ่งมั่นทำความดี สามัคคี เสียสละ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ชุมชนนี้จึงมีความสวยงามทั้งภายนอก และเป็นสุขอยู่ภายใน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธรรมะนำการพัฒนา

view