สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มอง คน จากมุม โค้ช ผ่านความสามัคคี-สติ-มนุษยชาติ

จากประชาชาติธุรกิจ

นับเป็นครั้งแรกที่เหล่าบรรดากูรูวงการโค้ชจากหลายประเทศทั่วโลกจะมาร่วมแชร์ และแบ่งปันประสบการณ์ในงาน APAC 2017 Coaching Conference ในเมืองไทย

ยิ่งเฉพาะเมื่อได้แม่เหล็กชั้นดีทางด้านโค้ชระดับโลกอย่าง "ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ" โค้ช และวิทยากรระดับโลกเดินทางมาขึ้นเวทีในครั้งนี้ด้วย ยิ่งทำให้วงการโค้ชต่างมีความคึกคักอย่างยิ่ง

เพราะ "ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ" ไม่เพียงเป็นผู้นำ และนักคิด 1 ใน 50 คนที่มีผลงานในการเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้นำมากมาย หากเขายังได้รับการยกย่องจากนิตยสารชั้นนำต่าง ๆ ของโลกให้เป็นกูรูทางด้านการให้ความรู้ และแนวทางการพัฒนาที่มีประโยชน์ต่อผู้บริหารระดับสูงของหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการโค้ชผู้นำมากกว่า 35 เล่ม ทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 30 ภาษาทั่วโลก ซึ่งรวมแล้วหนังสือของเขามียอดพิมพ์มากกว่า 2 ล้านเล่มทั่วโลก



ฉะนั้น จึงไม่แปลกเมื่อ "ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ" มีโอกาสขึ้นเวทีเดียวกันกับ"พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)" พระนักวิชาการ นักคิดนักเขียน และนักบรรยายธรรม พร้อม ๆ กับ "ดร.วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ "Can we as leaders and coaches guide businesses and the world towards more mindfulness and harmony for Humanity" จึงทำให้มีแง่คิดในหลายประเด็น

โดยเฉพาะเรื่องความสามัคคี (Harmony), สติ (Mindfulness) และมนุษยชาติ (Humanity)

"ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ" ฉายภาพให้ฟังก่อนว่า ความสามัคคีอาจไม่ใช่คำนิยามดีที่สุด เพราะชีวิตคนเรามีหลาย ๆ เรื่องประกอบกันระหว่างตัวเรา และคนรอบข้าง ดังนั้น เราจึงต้องบาลานซ์ทุกอย่างให้ได้ เพื่อให้เป็นภาพในทางเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นองค์รวมของความสามัคคี

"ว.วชิรเมธี" จึงเสริมในประเด็นนี้ว่า เราทุกคนอาจมีความต้องการ และให้คำนิยามคำว่ามนุษยชาติแตกต่างกัน แต่กระนั้น ในเรื่องของมนุษยชาติ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับตัวเอง บุคคลอื่น ๆ แล้ว ยังจะเกี่ยวข้องกับคำว่าสามัคคีด้วย

"เพราะมนุษยชาติเกี่ยวข้องกับกาย และจิต ดังนั้นเมื่อกายของคุณอยู่ตรงไหน ใจของคุณก็จะอยู่ตรงนั้น บางคนอาจบอกว่ากายกับใจอยู่ด้วยกันอย่างเต็มเปี่ยม แต่ลึกลงไปในทางพุทธศาสนา กายกับใจจะต้องอยู่กับคนอื่น ๆ ได้ด้วย เพราะมนุษยชาติเกี่ยวข้องกับความอ่อนโยน ความเป็นมิตรที่พร้อมจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้"

มุมมองเรื่องนี้ "ดร.วิรไท" กล่าวเสริมว่า เรื่องของความกลมเกลียว ถ้ามองในเชิงของการออม ทุกคนอาจชอบดอกเบี้ยสูง ๆ โดยเฉพาะผู้ฝากเงิน ซึ่งเหมือนกับงานของผมที่แบงก์ชาติ เนื่องจากเราเป็นผู้สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จึงยากที่จะหาจุดกลางที่มีส่วนร่วมลงตัว

"แต่กระนั้น เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ในสิ่งที่แตกต่างกัน เพื่อนำมาแบ่งปันในเรื่องต่าง ๆ เหมือนกับเมื่อปี 1997 ตอนนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจลดค่าเงินบาท ทุกคนต่างมองเศรษฐกิจในมุมที่แตกต่างกัน แต่มนุษย์เราทุกคนไม่ได้มองเรื่องเศรษฐกิจไปในทางเดียวกันทุกคน เพราะหลาย ๆ คนไม่มีโค้ชชี่ ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องวิกฤตไปในทางเดียวกัน"

ถึงตรงนี้ "ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ" จึงโยนคำถามปลายเปิดว่า แต่กระนั้นเราต้องสร้างความแตกต่างในเชิงบวกด้วย ?

"ดร.วิรไท"
 บอกว่า...ใช่ครับ ผมจึงมองว่าถ้าองค์กรประสบปัญหา เราต้องสร้างความแตกต่างในเชิงบวก แต่กระนั้น เราต้องเสริมในเรื่องของการสื่อสารให้มากขึ้นด้วย เพราะทุกครั้งที่เกิดวิกฤต หรือเกิดความแตกต่างในมุมมองของคน และองค์กร การสื่อสารจะมีความสำคัญมาก ๆ เพราะจะช่วยทำให้เกิดพื้นฐานของการฟังที่ดี


ขณะที่ "ว.วชิรเมธี" มองว่า ทุกครั้งที่มีปัญหาอะไรก็ตาม เราต้องฝึกเรื่องของการเติมใจ เติมพลังงานแห่งความรู้สึกเข้าไป เพราะจะช่วยให้เราดูแลตัวเองได้อย่างดี พร้อมกันนั้น จะช่วยทำให้เราดูแลคนอื่นได้ด้วย จนทำให้เกิดพลังงานบางอย่างที่เราอยากส่งไป จนทำให้เขาได้รับพลังงานจากเรา

"ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ" บอกว่า...สิ่งที่ ว.วชิรเมธีกล่าวนั้นคือ สติ หรือ Mindfulness ในทางพุทธศาสนา 

แต่ในมุมมองของ "ว.วชิรเมธี" บอกว่า การมีสติไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราไม่ค่อยใส่ใจ ดังนั้นถ้าตัวเราใส่ใจ เรื่องการมีสติไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคนมีสติจะเป็นกระจกที่ใสกระจ่างมาก เนื่องจากคนที่ขาดสติมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่จะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นหันมาใส่ใจในเรื่องของการมีสติ

อันสอดคล้องกับมุมมองของ "ดร.วิรไท" ที่บอกว่า เราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อว่าการกระทำมีผลต่อตัวเรา เพราะชีวิตมนุษย์ปกติในปัจจุบันเป็น Autopilot ที่ขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ระบบความคิดเกิดความแตกต่าง

"สติจึงสำคัญกับชีวิตมนุษย์ ฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบคือเรามักจะออกกำลังทางกายเสียส่วนใหญ่ และมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ก็เป็นอย่างนี้ แต่น้อยคนนักที่จะออกกำลังกายทางจิต ผมถึงเชื่อว่าการออกกำลังกายทางจิตสำคัญมากกว่า"

"โดยส่วนตัวผมสวดมนต์ นั่งสมาธิทุกเช้า เพื่อให้มีสติ เพราะช่วยทำให้ผมจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ผมตื่น 05.45 ทุกวัน และผมใช้เวลาครึ่งชั่วโมงในการทำสมาธิก่อนมาทำงาน ขณะที่ก่อนนอน ผมก็จะทำสมาธิทุกคืนเช่นกัน เพราะชีวิตปกติ ผมประชุมทุกวัน พูดง่าย ๆ คือผมฝึกในเรื่องของการมีสติทุกวัน เพื่อจะได้ทำให้ผมมีพลังงานมากขึ้น เพื่อนำมาตั้งคำถามในโจทย์ที่ผมต้องการคำตอบ"

"ดร.มาร์แชล โกลด์สมิธ" จึงเสริม "ดร.วิรไท" ว่า การมีสติดีขึ้นอย่างแน่นอน และในสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยมีพุทธศาสนิกชนเท่าไหร่นัก แต่สำหรับเรื่องการฝึกสมาธิ การเจริญภาวนาด้วยสติกำลังแพร่หลายมากขึ้นในโลกตะวันตก ทั้งยังมีประโยชน์ต่อผู้นำ เพราะทำให้เกิดการมองโลกเชิงบวก สำคัญไปกว่านั้นเรื่องของโค้ชที่ผมทำ ส่วนใหญ่จะนำมาจากหลักศาสนาพุทธทั้งสิ้น

อันไปสอดรับกับมุมมองของ "ว.วชิรเมธี" ที่บอกว่า คนทั้งหลายชอบพูดกันว่าทุกอย่างจบลงที่ออนไลน์ เพราะทุกคนมองแต่เรื่องความเร็ว และการแข่งขัน อาตมาอยากถามว่าสิ่งเหล่านี้มีประสิทธิภาพจริง ๆ หรือเปล่า ทุกวันนี้เราพยายามทำตัวให้เป็นมนุษย์ที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน แต่ในความหลากหลายทำให้เราขาดคุณภาพ

"ดังนั้น Mindfulness นอกจากจะทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง ยังทำให้เรามีสติในการดำรงชีวิตของตัวเองด้วย อาตมาจึงเชื่อว่าการตัดสินใจที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพ ไม่มีทางลัดหรอก เราต้องลงมือฝึกทำอย่างใจเย็น ๆ"

ซึ่งเหมือนกับ "ดร.วิรไท" ที่สรุปในตอนท้ายว่า การมีจิตที่ชัดเจน นอกจากจะทำให้เรามีความสุขจากภายใน ยังทำให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เพราะสติจะมีส่วนช่วยทำให้เกิดความสามัคคี และเมื่อเกิดความสามัคคีแล้ว จะทำให้มวลมนุษยชาติเกิดความสันติสุขด้วย

อันเป็นหลักสำคัญในการบริหารโค้ช

ที่ไม่เพียงจะทำให้ผู้นำองค์กรมีคุณธรรมจริยธรรมแต่จะต้องส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปให้กับทุก ๆ คนในองค์กรด้วย และเมื่อทุกคนในองค์กรมีเรื่องราวเหล่านี้ฝังไมโครชิปอยู่ในตัวตน จะทำให้มนุษยชาติทั้งมวลบนโลกใบนี้เกิดความผาสุกอย่างเท่าเทียม

อันเป็นสิ่งที่ได้จากการฟังเหล่าบรรดากูรูทางด้านโค้ชระดับประเทศและระดับโลกที่มาแลกเปลี่ยนมุมมองในวันนั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองคน มุมโค้ช ความสามัคคี สติ มนุษยชาติ

view