สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราคายางร่วงแรง...ล้มครืน เป็นเรื่องผิดปกติ ฝีมือใคร

ราคายางร่วงแรง...ล้มครืน "เป็นเรื่องผิดปกติ" ฝีมือใคร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ขุนพินิจ

ราคายางจะขึ้นมั้ย หรือจะตกไปถึงไหน ? เป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบ และอนาคตเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศยังคงมืดมน ทั้ง ๆ ที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารามากอันดับหนึ่งของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 2-3 แสนล้านบาท แต่ก็ไม่อาจที่จะคุมตลาดรักษาระดับราคาให้มีเสถียรภาพได้

หลังจากพักปิดกรีดยางในช่วงฤดูแล้งเดือน ก.พ.-เม.ย. 2560 รายได้ก็หายไปด้วย และพอเริ่มมีหวังเปิดกรีดอีกครั้งในเดือน พ.ค. ก็มาเจอสภาพฟ้าฝนไม่เป็นใจ กระหน่ำแทบทุกวัน แต่ชาวสวนยางก็ยังยิ้มได้ เพราะราคาที่อยู่ในระดับ 60-70 บาท/กิโลกรัม

แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผัน ความหวังดับวูบ จู่ ๆ เพียงสัปดาห์เดียวราคาก็ร่วงดิ่งเหวเกือบ 20 บาท/กก. บางวันวูบลง 5-6 บาท/กก.หากเป็นหุ้นตกแบบนี้ก็ต้องหยุดการซื้อขายไว้ก่อน แต่นี่กลับไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใด ๆ จะมาดูแลยับยั้ง ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ตามวลีเด็ด "กลไกตลาด" 

ภาวะ "ซื้อแพง มาขายถูก" ส่วนต่างหายไปเกือบ 15-20 บาท/กก. เป็นอย่างนี้ก็เจ๊งระนาว สภาพคล่องหมด


ล่าสุด เจ้ากระทรวงเกษตรฯสั่งให้ ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เรียก 5 เสือส่งออกยางรายใหญ่ของไทยเข้าพบด่วน โดยฟากเอกชนบอกว่า "ราคายางที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะปริมาณยางที่ออกมาในช่วงนี้ไม่มาก"

ส่วน กยท. บอกว่า "มีลักษณะที่ผิดปกติ ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดโลก"

นั่นก็ทำให้เข้าใจได้ว่า นี่คือสาเหตุหลักที่ทุบราคายางวูบหนัก แม้จะมีสารพัดปัจจัยมาทำให้ราคายางตกต่ำ เช่น ราคาน้ำมันลดลง เงินบาทแข็งค่า อุตฯยานยนต์ชะลอตัว ฯลฯ รวมทั้งผลกระทบจากการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าก็ตาม

แสดงว่ามีคนทำให้กลไกตลาดบิดเบือนใช่หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นผู้ที่มีพาวเวอร์เท่านั้นที่จะทำได้

ภาวะราคายางหัวทิ่มหัวตำแบบนี้ คนที่เจ็บหนักสุดก็คือ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร โรงรมยาง โดยเฉพาะเกษตรกรหัวไวใจสู้ที่พยายามรวมกลุ่มกันมาทำโรงงานแปรรูปยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางเครป กำลังเจอปัญหาขาดทุนฉับพลัน หมดตัวกันอีกแล้ว

วันนี้ชีวิตของคนปลูกยางแขวนไว้บนความเสี่ยง ความไม่แน่นอน กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ หวาดผวาว่าในวันพรุ่งจะขายได้สักกี่บาท จะมีเงินส่งลูกเรียนมั้ย จะผ่อนงวดรถไหวหรือไม่ เจ็บป่วยจะไปหาหมอยังไง

แม้ในช่วงราคายางขาลง 2-3 ปีก่อน ก็อยู่ในภาวะอดทน ใช้จ่ายน้อยลง หลายรายต้องพักการเรียนบุตรหลานไว้ ไม่มีเงินจะส่งเรียน บางรายก็หันไปเลี้ยงแพะ ปลา ปลูกผักเหลียง ปลูกกล้วยขายเป็นรายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัว

คนที่มีพลังปัญญา คอนเน็กชั่น มีทุนรอนบ้าง ก็หันไปคิดค้นแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง แต่ก็มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำได้ เพราะกลุ่มผู้บริโภคยังไม่มาก ไม่มีผู้บริหารประเทศ ดารา ไอดอล มาช่วยปลุกกระแสให้คนไทยหันมาใช้สินค้าที่ผลิตจากยางพารา

แม้แต่นโยบายการนำยางพารามาผสมทำถนน สนามกีฬา ทางจักรยาน กระแสก็แผ่วแล้ว

หากใครที่ทำจริง ก็ช่วยโพนทะนา ประชาสัมพันธ์ให้รู้กันไปทั่วบ้านทั่วเมืองเลย

ที่ผ่านมา นโยบายรัฐส่วนใหญ่ที่ออกมาเพื่อช่วยชาวสวนยาง เมื่อนำไปปฏิบัติจริงก็ล่าช้า ไม่ทั่วถึง ไม่ทันการณ์ แล้วปัญหาเดิม ๆ ก็เวียนกลับมาซ้ำรอยเดิมอีก

หากไม่รีบปลดชนวนอย่างจริงใจ ย่อมไม่เกิดผลดีแน่ เพราะตราบใดที่คนกลุ่มใหญ่ของประเทศไม่มีกำลังซื้อ นอนสะดุ้งทุกคืน แล้วเศรษฐกิจจะฟื้นได้อย่างไร

ราคายางตกต่ำ จึงไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของเกษตรกรเท่านั้น แต่จะเป็นโดมิโนต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะยางพาราเป็นบ่อเกิดของกำลังซื้อนับแสนล้านบาท เม็ดเงินที่ได้มาก็จะหมุนไปสู่การซื้อสินค้าสำคัญ ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงไทยเที่ยวไทยอีกด้วย

คิวต่อไปก็สะเทือนไปถึงนักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้าที่จะขายของไม่ได้ เพราะ ราคายางตกต่ำฉุดกำลังซื้ออย่างหนัก

หากรัฐบาล บิ๊กส่งออก ราชการ หรือแม้แต่เกษตรกรชาวสวนยางเอง ยังคิดและทำแบบเดิม ๆ เห็นทีจะไปไม่รอด


หยุดซ้ำเติมชาวสวนยาง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

บทบรรณาธิการ

ราคายางพาราที่ปรับลดลงต่อเนื่อง วันที่ 8 มิ.ย. 2560 ราคาประมูลซื้อขายยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา อยู่ที่ 54.78 บาท/กก. ส่วนยางแผ่นรมควันลดลงเหลือ 57.60 บาท/กก. เทียบกับต้นเดือน พ.ค. 2560 ยางแผ่นดิบขยับขึ้นสูงสุดที่ 71.28 บาท/กก. ยางแผ่นรมควัน 75.49 บาท/กก. เท่ากับช่วงเดือนเศษราคาลดลงเกือบ 20 บาท/กก.

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นทำให้ชาวสวนยางตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีคนฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์กดราคารับซื้อยางจากชาวสวน เพราะสถานการณ์ราคายางโลกขณะนี้ไม่ถึงกับดิ่งลงฮวบฮาบ แม้จะมีปัจจัยลบราคาน้ำมันดิบอ่อนตัว เงินเยนผันผวน บาทแข็งค่า รวมทั้งความไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวยางพาราไทยมีปัญหาด้านคุณภาพ ส่งผลให้บริษัทอุตสาหกรรมยางรถยนต์ปฏิเสธการรับซื้อ ซ้ำรอยข่าวลือปี 2559 ที่พ่อค้ายางกระพือข่าวผู้ผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกแบนยางพาราจากไทยที่ใช้กรดซัลฟิวริกช่วยให้น้ำยางเซตตัว ก่อนพ่อค้าจะกว้านซื้อยางในราคาถูกจากชาวสวน

ขณะที่หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบดูแลยางพารา พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละกว่า 6 แสนล้านบาท อย่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังแก้ปัญหาแบบเดิม ๆอาทิ ให้ชาวสวนยางชะลอระบายยางออกสู่ตลาด ขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรรวบรวมยาง ขยายเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง รวมทั้งหยุดส่งออก ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยให้ราคายางในตลาดปรับตัวสูงขึ้น

ล่าสุด พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท. กับ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ได้เรียกผู้ส่งออกยางพารา 5 รายใหญ่ ได้แก่ บมจ.ไทยฮั้วรับเบอร์ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี บจ.เซาท์แลนด์ รับเบอร์ บจ.วงศ์บัณฑิต และ บจ.ไทยรับเบอร์ ลาแท็คซ์กรุ๊ป เข้าหารือ ลดกระแสกดดันจากชาวสวนยางที่ขู่จะเคลื่อนขบวนร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ 

อย่างไรก็ตาม ผลการหารือแทบไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะแม้ 5 เสือส่งออกยางจะยอมรับว่าราคายางที่ลดฮวบลงช่วงนี้ผิดปกติจริง แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาบิดเบือนตลาดกดราคารับซื้อ

กยท.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการพัฒนาและแก้ปัญหายางพาราจึงจำเป็นต้องทำการบ้านใหญ่ให้เจอต้นตอปัญหา ก่อนจัดทำมาตรการแก้โจทย์ยางพาราราคาตกให้เกิดผลเป็นรูปธรรมกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

ที่สำคัญต้องป้องกันไม่ให้พ่อค้า ผู้ส่งออกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้มข้นกับคนที่ฉวยโอกาส ตลาดยางพาราจะได้ไม่ถูกบิดเบือนซ้ำเติมให้ย่ำแย่ลงอีก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราคายางร่วงแรง ล้มครืน เป็นเรื่องผิดปกติ ฝีมือใคร

view