สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจไทย : โตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ระดมสมอง โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง


ไอเอ็มเอฟได้เผยแพร่รายงานการประเมินเศรษฐกิจไทย ในปลายเดือนพฤษภาคม 2560 ได้ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยดีขึ้นจากเดิม โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ในปีนี้ และร้อยละ 3.3 ในปีหน้า (2561) ซึ่งใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายคาด แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของรัฐบาลไทยเล็กน้อย

ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสถาบันการเงินมีความมั่นคงนอกจากนี้เสถียรภาพภายนอกมีความแข็งแกร่ง(เกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง)อย่างไรก็ตามปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ตลอดจนความผันผวนของตลาดการเงิน อาจจะทำให้เศรษฐกิจโตน้อยกว่าคาด

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ คือไอเอ็มเอฟแสดงความกังวลในเรื่องของระดับการขยายตัวและเงินเฟ้อที่ต่ำของไทย โดยแนะนำให้ใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปฏิรูปเพื่อไม่ให้ไทยติด "กับดักโตต่ำเงินเฟ้อต่ำ (a low-inflation, low-growth trap)"

จากข้อมูลในปี 2559 ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศพัฒนา ที่มีอัตราการขยายตัวต่ำและเงินเฟ้อต่ำ โดยเศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 3.2 และเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.2 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเกาหลี ออสเตรเลีย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าไทยและเงินเฟ้อไม่อยู่ในระดับต่ำมาก ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตการเงินปี 2551 โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.1 ในระหว่างปี 2552-2559 ลดลงจากร้อยละ 4.9 ในปี 2543-2551 ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่น เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ปรับลดลงในช่วงเวลาดังกล่าวและต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ยังเป็นที่คาดการณ์ว่าทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในปีนี้และอาจจะปีหน้า(2561)ด้วยโดยไอเอ็มเอฟคาดการณ์จีดีพีไทยโตในระดับร้อยละ3.2-3.3ในปี 2560-2561 และเงินเฟ้อที่ร้อยละ 1.2 และ 0.6 ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งการขยายตัวในระดับร้อยละ 3 นับว่าต่ำกว่าระดับศักยภาพของไทยที่เคยอยู่ที่ร้อยละ 4-5 ในช่วงก่อนวิกฤต ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำและเงินเฟ้อต่ำ ทำให้กิจกรรมและธุรกิจภายในประเทศซบเซาและชะลอตัวลง และผู้ที่ได้รับผลกระทบมาก น่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กและผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักของเศรษฐกิจ

แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวจะปรับตัวดีขึ้น เช่น การขยายตัวของจีดีพี การส่งออก และยอดขายรถยนต์ แต่ดูเหมือนว่าผลบวกของการฟื้นตัวนี้ไม่กระจายอย่างทั่วถึง ดังจะเห็นได้จากปัญหาหนี้เสียของธนาคารที่เพิ่มขึ้นในส่วนของธุรกิจขนาดเล็ก และหนี้เสียส่วนบุคคล รวมทั้งการขยายตัวของการบริโภคที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ดังกล่าว ไอเอ็มเอฟจึงเสนอแนะให้ไทยใช้นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการภายในประเทศ ประกอบกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่มีปัญหาหลายประการ เช่น จำนวนคนวัยทำงานลดลง ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย (คนแก่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว) ขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น



ซึ่งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างคงต้องใช้เวลาหลายปี และเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง หากแก้ปัญหาได้ก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวและตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูงว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) จะสามารถเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทย โดยรัฐบาลหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 4-5 ในอนาคต ขณะเดียวกันไอเอ็มเอฟก็สนับสนุนให้รัฐบาลสร้างระบบเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคตด้วย

ส่วนนโยบายการเงินนั้นไอเอ็มเอฟมองว่าดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับสูงเกินไปเพราะเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มา 2 ปีแล้ว และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด) ก็ปรับลดลงต่อเนื่อง (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 0.46 และอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 1 มากว่าปีครึ่ง) ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยนโยบายหักด้วยเงินเฟ้อ) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.3 เป็น 1.3 ในปี 2559 ซึ่งเป็นระดับที่ตึงเกินไป (คำนวณโดยไอเอ็มเอฟ)

หรืออีกนัยหนึ่ง ไอเอ็มเอฟมองว่าไทยควรจะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงจากปัจจุบัน ควบคู่กับการใช้มาตรการควบคุมความเสี่ยงของสถาบันการเงิน (Macroprudential) แต่ ธปท.นั้นดูเหมือนจะมองว่า ภาวะการเงินในปัจจุบันเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวอยู่แล้ว และเป็นห่วงว่าถ้าลดดอกเบี้ยจะทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะดอกเบี้ยต่ำจะทำให้คนหันเหไปลงทุนในตราสารที่ให้ดอกเบี้ยสูง โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันน่าจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

อีกประการหนึ่ง ธปท.พูดเสมอคือประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในปัจจุบัน มีไม่มาก การลดดอกเบี้ยจึงไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก

จึงเป็นที่คาดว่า ธปท.คงจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบัน แต่น่าจะปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่กดดอกเบี้ยลงเอง โดยจะเห็นว่าดอกเบี้ยในตลาดเงิน เช่น พันธบัตรระยะสั้นนั้นลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธบัตรอายุต่ำกว่า 1 ปี ในปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย หรือต่ำกว่าร้อยละ 1.5 อยู่แล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจไทย โตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ

view