สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Tier 2 Watch List แล้วไงต่อ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคบุตร

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2560 (TIPReport-ภายใต้ กม. Trafficking Victims Protection Act) ปรากฏประเทศไทยได้รับการจัดลำดับให้อยู่ในกลุ่ม Tier 2 Watch List หรือประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐ แต่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขและมีจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของไทยถูกจัดลำดับอยู่ในขั้นนี้ติดต่อกันมาเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้ว

ซึ่งลึก ๆ แล้วได้สร้างความผิดหวังให้กับรัฐบาลไทยอย่างมาก โดยปรากฏอยู่ใน "ท่าที" อย่างเป็นทางการของกระทรวงการต่างประเทศไทยว่า "(ผลการตัดสินของสหรัฐครั้งนี้) ไม่สะท้อนและไม่สอดคล้องต่อความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ทางการไทยได้สร้างขึ้นมาในปีที่ผ่านมา" จากที่เคยหมายมั่นปั้นมือไว้ว่า สหรัฐจะลดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะ Tier 2 

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาว่า ความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและปราบปรามของรัฐบาลไทยนั้น มีการดำเนินการอย่างไรถึงไม่เข้าตาสหรัฐ

เฉพาะการปรับปรุงกฎหมายในปี 2559 รัฐบาลไทยได้ดำเนินการไปแล้วถึง 9 ฉบับ ได้แก่ การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 187 (การดำเนินงานความปลอดภัยและชีวอนามัย), พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ 2559, อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล 2006, การให้สัตยาบันอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก, พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน 2559, พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ 2559, การแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในส่วนแรงงานเด็ก, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 และ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560

ด้านการฟ้องคดีในปี 2559 พบว่า มีการสั่งฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ไปแล้ว 301 คดี จากปี 2558 ที่ฟ้องคดีไปเพียง 251 คดี มีจำนวนผู้กระทำผิด 600 คน จำนวนผู้กระทำผิดที่ถูกศาลพิพากษา 268 คน หรือเพิ่มขึ้น 30% อัตราโทษด้วยการลงโทษจำคุกมากกว่า 5 ปีแต่ไม่เกิน 10 ปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 โดยการพิจารณาคดีที่รวดเร็วเช่นนี้ เป็นผลมาจากการจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ขึ้นในศาล 

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์ที่มีการฟอกเงินจำนวน 9 คดี มูลค่าทรัพย์สินที่ยึดอายัดไว้ได้ 784 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 414% ส่วนศาลแพ่งเองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 87 ล้านบาทในคดีค้ามนุษย์ตกเป็นของแผ่นดินด้วย ที่สำคัญได้มีการรายงานผลการดำเนินคดีสำคัญทั้งที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ อาทิ คดีนาตารี คดีเครือข่ายบิ๊กบอส คดีต้นน้ำคาราโอเกะ คดีบังคับใช้แรงงานประมงที่ภูเก็ต-ปัตตานี และปฏิบัติการฝาง 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยมีการบังคับใช้กฎหมาย การเร่งปราบปรามการค้ามนุษย์ ความรวดเร็วในกระบวนการพิจารณาคดี การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การจำแนกเหยื่อ การดูแลเหยื่อการค้ามนุษย์ การเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมแผนงาน (Master Plan) ที่รัฐบาลไทยจะทำในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่สำคัญก็คือ รัฐบาลไทย
มีการดำเนินการตาม "นโยบาย" ที่ชัดเจนและมีความ "ต่อเนื่อง Sustained Efforts" มาโดยตลอด

ทั้งหมดนี้ดูเหมือนว่า "ยังไม่เพียงพอ" กับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐ ที่สำคัญก็คือ จำนวนผู้ต้องหา กับจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น ถ้ามองในอีกด้านหนึ่งจะกลับกลายเป็นประเทศไทยมีปัญหาการค้ามนุษย์อย่างกว้างขวางได้หรือไม่ ?

ทั้ง ๆ ที่การดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการตาม "ข้อแนะนำ Recommendation" ของสหรัฐแทบจะไม่มีผิดเพี้ยน แต่ก็ยังไม่เพียงพอจนไม่มีผู้ใดในประเทศนี้รู้ว่า การดำเนินการที่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐแท้จริงแล้วมันเป็นอย่างไร ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Tier 2 Watch List แล้วไงต่อ

view