สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

20 ปีภาวะเศรษฐกิจไทยมาไกลมาก! ผู้ว่าการ ธปท. ชี้โอกาสเกิดวิกฤตเหมือนปี 2540 ไม่มีแน่นอน

20 ปีภาวะเศรษฐกิจไทยมาไกลมาก! ผู้ว่าการ ธปท. ชี้โอกาสเกิดวิกฤตเหมือนปี 2540 ไม่มีแน่นอน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

20 ปีภาวะเศรษฐกิจไทยมาไกลมาก! ผู้ว่าการ ธปท. ชี้โอกาสเกิดวิกฤตเหมือนปี 2540 ไม่มีแน่นอน!
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

        ผู้ว่าแบงก์ชาติแนะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตในระยะยาว ต้องมี 3 ประสาน คือ เรื่องของผลิตภาพ (Productivity) การสร้างภูมิคุ้มกัน กันชนที่จะรองรับแรงปะทะต่าง ๆ (Immunity) และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยได้กระจายไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน (Inclusivity) ฟันธงโอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนในช่วงปี 2540 ในช่วงอันใกล้นี้ เชื่อว่าคงไม่มี
       
       วันที่ 30 มิถุนายน 2560 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ในโอกาสครบ 20 ปี วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 โดยระบุว่า ครบรอบ 20 ปีของวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 หลายคนอาจสงสัยว่า สภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจคล้าย ๆ กับวิกฤตในปี 2540 หรือที่เรียกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่จะเกิดขึ้นอีกสักครั้งได้หรือไม่ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งมีหลายปัจจัยในขณะนั้น โดยพิจารณาตั้งแต่การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค พบว่า มีจุดเปราะบางกระจัดกระจายอยู่หลายจุด เริ่มตั้งแต่ระบบอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ทำให้อาจจะไม่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจ จนนำไปสู่ความบิดเบือนหลาย ๆ ด้าน เช่น การกู้เงินตราต่างประเทศเป็นสินเชื่อระยะสั้นเข้ามาใช้ในโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก ตลอดจนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในอัตราที่สูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายปี สูงถึงร้อยละ 7-8 ของจีดีพี
       
       ขณะที่ส่วนของสถาบันการเงินก็มีจุดเปราะบางหลายด้าน อาทิ มีสถาบันการเงินขนาดเล็ก บริษัทเงินทุนที่แข่งกันระดมเงินฝากแล้วปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งมีการปล่อยสินเชื่อในโครงการหลายประเภทที่ไม่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในอัตราที่คุ้มค่า นอกจากนี้ บางรายยังมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอัตราที่สูงมาก โดยไม่มีการคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และมีการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์จนทำให้เกิดภาวะ “ฟองสบู่อสังหา” นอกจากนี้ สถาบันการเงินต่าง ๆ ก็มีการแข่งกันในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อไปลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการนำไปเก็งกำไรในธุรกิจบางประเภท เช่น การซื้อขายใบจอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในยุคนั้น
       
       ด้านภาครัฐในสมัยนั้น ก็ประสบปัญหาหลายด้าน ที่ชัดเจนที่สุด ได้แก่ การไม่มีกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างรอบคอม และรัดกุม และมีความสุ่มเสี่ยงต่อสภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจที่รุนแรง และอาจเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต
       
       “ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL สะสมซึ่งในขณะนั้น หลาย ๆ สถาบันฯ มีการค้างชำระเกินกว่า 1 ปี ในขณะที่มาตรฐานสากลได้กำหนดเกณฑ์การค้างชำระเพียง 3 เดือน เท่านั้น ทำให้ ณ ขณะนั้น ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินเอง ก็ไม่ทราบสถานะที่แท้จริงของการเงินไทย”
       
       อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นเหล่านี้นำไปสู่ความบิดเบือนของการใช้ทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ภาคการเงินเท่านั้น แต่ยังไปสู่ภาคเศรษฐกิจมวลรวม ซึ่งเกิดขึ้นจริงด้วย ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ประกอบการจำนวนมากขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของตัวเอง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญ ส่งผลให้มีการก่อหนี้ในสัดส่วนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับทุนที่ตัวเองมี สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นไปสูงถึงประมาณ 5 เท่า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เสี่ยงเชิงระบบที่มาอย่างต่อเนื่องจนนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540
       
       “หากเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่า 20 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจไทยมีการพัฒนาต่อไปในหลาย ๆ ด้าน ที่ทำให้ความเปราะบางที่มีความเสี่ยงในเชิงระบบได้หายไป หรือลดลงไปมาก เริ่มตั้งแต่การที่รัฐบาลได้มีการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ, การใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว โดยขณะนี้ไม่ได้มีการกำหนดค่าเงินอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งการที่เรามีอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวก็ถือเป็นความยืดหยุ่นของระบบเศรษฐกิจ หากเจอกับแรงปะทะจากอัตราแลกเปลี่ยนภายนอก ก็เป็นตัวช่วยรับแรงปะทะทำให้เกิดการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง”
       
       ในส่วนของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดขึ้นในปี 2540 และก่อนหน้านั้น เป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมต่อเนื่องกันมาหลายปี จนถึงขณะนี้กลายเป็นสภาวะที่ตรงกันข้าม คือ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงมาก โดยดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 12 ของจีดีพี แต่กระนั้น ก็ยังมีอานิสงส์ในทิศทางบวกจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน ที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน ก็อาจจะไม่ค่อยดีมากนัก เพราะการลงทุนของภาคเอกชนที่เริ่มชะลอตัวลง ทำให้การนำเข้าสินค้าอยู่ในระดับต่ำ แต่โดยรวมในแง่ของเศรษฐกิจมหภาค ไม่ได้มีปัญหาความเปราะบางจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนเดิม
       
       “ปีนี้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังอยู่ในระดับสูง จากการที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่สูง และหากพิจารณาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้า ก็มีปริมาณสูงถึง 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมาก หากเทียบกับหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ ต่างจากในช่วงปี 2540 ที่หนี้ต่างประเทศเราเยอะมาก แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศมีน้อยมากจนเสียสมดุลการคลัง”
       
       ภาคสถาบันการเงินช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการหลายด้าน เช่น รูปแบบการทำธุรกิจของสถาบันการเงินมีการเปลี่ยนไปจากอดีต ที่ให้ความสำคัญกับการออกสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งหากลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่มีปัญหา ก็จะกระทบกับสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน แต่ในปัจจุบันนี้ สถาบันการเงินมีการทำธุรกิจในรูปแบบการกระจายตัวมากขึ้น และให้ความสำคัญกับสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล ทำให้การบริหารความเสี่ยงดีขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่กับลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่แต่เพียงกลุ่มเดียว
       
       ขณะที่ในระบบสถาบันการเงินมีการรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาที่มีผู้ประกอบการ หรือบริษัทเงินทุนขนาดเล็ก หรือสถาบันการเงินขนาดเล็ก ที่มีการแข่งขันกันมากในอดีต ก็ลดจำนวนลง โดยปัจจุบัน สถาบันการเงินภายในประเทศมีขนาดใหญ่ขึ้น มีความมั่นคงมากขึ้น และมีเงินกองทุนหมุนเวียนก็อยู่ในระดับที่สูง มีเงินสำรองสำหรับเอ็นพีแอล อยู่ในระดับที่เกินเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล และยังมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งหมายถึงเงินกองทุนที่จะเพิ่มเข้ามารองรับถ้าเจอแรงปะทะ หรือมีสภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอลง ทำให้เอ็นพีแอล อาจจะสูงขึ้นในบางช่วงเวลา ซึ่งจะเห็นว่า ระบบสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก รวมทั้งวิธีการบริหารจัดการของสถาบันการเงินด้วยที่ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง
       
       ขณะที่ข้อมูลต่าง ๆ ที่ใช้ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงก็เป็นข้อมูลที่ละเอียด ทันการณ์ ตรงประเด็น สามารถวิเคราะห์ลูกหนี้แต่ละราย ความเสี่ยงแต่ละประเภทได้อย่างรอบคอบกว่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
       
       “ภาคธุรกิจได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ธุรกิจใหญ่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักของตัวเอง มีการปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความถนัด ยกเลิกธุรกิจที่ไม่ตรงกับธุรกิจหลักของตัวเอง”
       
       ขณะที่ผู้ให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อก็มีความระมัดระวังขึ้นมากในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ซึ่งในช่วงปี 2540 ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยได้มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศในปริมาณมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า และเชื่อว่าค่าเงินจะถูกกำหยดไว้อย่างคงที่ ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ขณะนี้จะเห็นการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมีความระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลให้ไม่มีปัญหาหนี้สินเป็นเงินสกุลหนึ่ง แต่สินทรัพย์เป็นเงินสกุลหนึ่งเหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2540 ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุนก็ปรับตัวลดลง จากที่เคยสูงประมาณ 5 เท่า เหลือเพียงประมาณ 2 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่มีทุนมากพอในการประกันความเสี่ยงในการองรับแรงความผันผวนจากการทำธุรกิจที่อาจจะสร้างผลกระทบในบางช่วงเวลาได้
       
       ด้านผู้กำกับดูแล และกำหนดนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ทันเหตุการณ์ มีความรวดเร็ว เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งเชิงลึก และเชิงกว้างให้ประชาชนได้รับรู้ สามารถที่จะใช้ข้อมูลเหล่านั้น ในการทำความเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งวางแผนสำหรับอนาคตด้วย นอกเหนือจากนี้ มาตรฐานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินก็เป็นมาตรฐานที่เป็นสากลมากขึ้น เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ และมีหน่วยงานจากต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบ เข้ามาทบทวนให้มีความแน่ใจว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
       
       ขณะที่ในภาคตลาดทุนมีพัฒนาการที่เติบโตขึ้นกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด และสถานะการเข้าลงทุน มีความมั่นคงมากขึ้น เปรียบเทียบกับเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ภาคธนาคารพาณิชย์ ภาคสถาบันการเงิน เป็นเหมือนเสาหลักเสาเดียวของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งทำให้เมื่อเกิดวิกฤตในสถาบันการเงินขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในลักษณะที่รุนแรง เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเสาหลักอื่นมาเป็นเสาหลักทางการเงินให้กับประเทศ
       
       “ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หน่วยที่กำกับดูแล และกำหนดนโยบายก็ร่วมกันส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการของตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ ไปจนถึงตลาดที่ให้มีผู้ลงทุนโดยตรง เช่น venture capital โดยปัจจุบันนี้ ตลาดทุนมีขนาดใหญ่กว่าตลาดของธนาคารพาณิชย์ เพราะฉะนั้น การที่ตลาดทุนมีขนาดใหญ่มากขึ้น และมีความเชื่อมโยงในภาคการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องทำงานมากขึ้นในการกำกับดูแล โดยเฉพาะ ก.ล.ต. คณะกรรมการประกันภัย หรือ คปภ. และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันทำงานใกล้ชิดมากขึ้น มีการเปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้มีมาตรฐานการกำกับดูแลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
       
       ขณะที่การตัดสินใจในเชิงนโยบายก็เป็นส่วนสำคัญ ซึ่ง ธปท. ได้เป็นคณะกรรมการ ตามพระราชบัญญัติการธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551 ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการตัดสินทางด้านนโยบาย คณะกรรมการสำคัญ ๆ ของ ธปท. ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน, คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือคณะกรรมการนโยบายระบบการชำระเงิน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกในสัดส่วนที่มากกว่าผู้บริหารจาก ธปท. เพื่อให้แน่ใจว่า การตัดสินใจนโยบายสำคัญ ๆ ของประเทศได้รับฟังมุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบุคคลภายในของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนเดียวที่คิด และตัดสินใจ
       
       “การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลในโลกที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ ต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานกำกับนโยบาย กับหน่วยงานคล้ายกันในประเทศต่าง ๆ แต่วันนี้ เราก็จะเห็นสถาบันการเงินต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เราเห็นสถาบันการเงินไทยไปทำธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เราเห็นความเชื่อมโยงในธุรกรรมการเงินที่เป็นธุรกรรมการเงินข้ามพรมแดนมากขึ้น เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทยจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดี กับหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลา และที่สำคัญ คือ จะต้องร่วมกันสร้างกลไกที่จะใช้ในการแก้ปัญหาเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น”
       
       เพราะฉะนั้น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นกลไกในการที่จะช่วยแก้ปัญหาในลักษณะที่เป็นกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาค ในการบริหารสภาพคล่องซึ่งกันและกัน เช่น ธนาคารกลางของประเทศหนึ่งอาจจะมีปัญหา ก็สามารถที่จะไปขอสภาพคล่องชั่วคราวจากธนาคารกลางของประเทศอื่นได้
       
       หากสรุปในภาพรวมตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ในหน่วยงานกำหนดนโยบาย หน่วยงานกำกับดูแล มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาจสรุปได้ด้วยคำว่า เสถียรภาพ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 คำว่าเสถียรภาพอาจจะไม่ได้รับความสำคัญมากเท่าในขณะนี้ เรื่องของเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมหภาค เสถียรภาพการเงิน เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับหน่วยงานกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะธนาคารกลาง ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะต้องมุ่งเน้นในการรักษาเสถียรภาพในระยะยาวของระบบเศรษฐกิจ โดยจะต้องมองการณ์ไกล นโยบายต่าง ๆ ที่ทำจะต้องให้แน่ใจว่า ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่จะเป็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว และจะต้องแน่ใจว่า มีกลไกที่จะป้องกันไม่ให้ความเปราะบางที่อาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ สามารถที่จะระเบิดขึ้น กระทบกับจุดอื่น ๆ และลามเป็นปัญหาเชิงลูกโซ่ และทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพของระบบได้
       
       “ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หลังจากวิกฤตปี 2540 การรักษาเสถียรภาพเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากมองภาวะเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนี้ เรามาไกลมากจากสภาวะที่เกิดขึ้นในปี 2540 โอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนในช่วงปี 2540 ในช่วงอันใกล้นี้ เชื่อว่าคงไม่มี เพราะถ้าดูจากฐานะด้านต่างประเทศของไทย ก็มีความเข้มแข็งมาก ไม่ว่าจะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ฐานะของภาคสถาบันการเงินไทยก็จัดว่าเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน ระบบการบริหารความเสี่ยง วิธีการทำธุรกิจของสถาบันการเงินก็ต่างไปจากเดิมมาก ในภาคธุรกิจเองมีความระมัดระวังในการบริหารจัดการเงินต่างจากเมื่อปี 2540 มากนัก”
       
       แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องระมัดระวัง แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงเหมือนปี 2540 ในช่วงอันใกล้นี้คงจะไม่มี แต่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เราจะต้องจับตามอง และมีเกราะที่จะป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงเหล่านั้น นำมาสู่ปัญหาเชิงระบบกับเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งหากมองความเสี่ยงในอนาคต ในภาคการเงินก็มีประเด็นที่จะต้องระมัดระวังอยู่บ้าง เรื่องแรก คือ วิธีการทำธุรกิจของสถาบันการเงินไทย ถ้ามองไปในโลก วิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิกฤตทางภาคการเงิน หลายประเทศมีแนวโน้มที่อาจจะกลับมาเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยอาจเว้นช่วงประมาณ 40-50 ปี ส่วนใหญ่อาจเป็นเพราะว่า รุ่นอายุของคนในอุตสาหกรรมการเงิน ได้หมดรุ่นที่เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจไปในรอบก่อน ในกรณีของประเทศไทยในขณะนี้ ภาคการเงินของประเทศไทย ยังมีบุคลากรซึ่งผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ทำให้มีการบริหารจัดการลักษณะที่ระมัดระวัง มีความเข้าใจความเสี่ยง และเห็นถึงโทษของการที่เกิดวิกฤตเหมือนในช่วงปี 2540 แต่ขณะเดียวกัน คนรุ่นอายุนั้น ก็กำลังอยู่ในช่วงที่จะเกษียณอายุ และจะเปลี่ยนผ่านรุ่นไป
       
       ฉะนั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแล และสถาบันการเงินจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างบุคคลากรที่เข้าใจ และให้ความสำคัญเรื่องการบริหารความเสี่ยง มีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้บริหารรับความเสี่ยงจนเกินควร อันจะนำมาสู่ปัญหาในเชิงระบบของสถาบันการเงินได้ ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่จะต้องเฝ้าระวัง และควรมีการปรับกลยุทธ์ ปรับตัวให้เท่าทัน คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีในโลกอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก และจะมีผลกระทบกับทุกภาคธุรกิจ ในภาคการเงินที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็วจากเทคโนโลยีดิจิตอลที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา ระบบสถาบันการเงินไทย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทย ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายสาขา การให้บริการด้วยพนักงาน จะทำให้เกิดต้นทุนสูง มองไปข้างหน้าจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามามาก จะทำให้เกิดการแข่งขันในภาคการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ จากผู้เล่นประเภทใหม่ ๆ ด้วย
       
       “เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินจะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้นที่จะลดต้นทุนทางการเงินให้กับคนไทย ให้กับธุรกิจไทยในภาพใหญ่ด้วย เมื่อเกิดผู้ให้บริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากทางด้านเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกัน ก็จะต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่มาจากภาคที่เรียกว่า เป็นธนาคารเงา (Shadow banking) ซึ่งต้องยอมรับว่า ในการให้บริการทางการเงินบางประเภท วิธีการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลก็มีมาตรฐานที่อาจจะต่างกัน และต้องระวังไม่ให้เป็นปัญหาช่องโหว่ของธนาคารเงาที่อาจจะเกิดขึ้นได้”
       
       นอกจากในเรื่องของภาคการเงินแล้ว ความเสี่ยงที่สำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันบริหารจัดการ และปิดไม่ให้เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่จะนำมาสู่ปัญหาในอนาคต คือ เรื่องของทิศทางภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยโดยรวม อย่างที่ทราบกันว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องเลี่ยงดู มีภาระที่จะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาระของภาครัฐบาลก็ดี หรือภาระของคนไทยทุกคนก็ดี ซึ่งหมายความว่า พวกเราทุกคนก็จะต้องทำงานเก่งขึ้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น เพื่อที่จะสามารถรองรับภาระของผู้สูงอายุได้
       
       ขณะเดียวกัน ก็จะต้องสามารถที่จะมีเงินออมในระดับที่มากพอ กับบริหารจัดการวางแผนทางการเงินของตัวเองได้ เพื่อที่เราจะได้มีความมั่นคงในเรื่องของการเงินในระยะยาว ซึ่งวันนี้สิ่งที่อาจจะเป็นข้อกังวล ส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะว่า เราเห็นหลายภาคธุรกิจ การปรับตัวในเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพ อาจจะยังไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน โดยเฉพาะ เช่น ในกลุ่มของเอสเอ็มอี ที่จะต้องมีพัฒนาการที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพของตัวเอง
       
       อีกด้านหนึ่งในด้านของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จะเห็นคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้ในมูลค่าที่สูงขึ้น และมีระยะที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง มิฉะนั้นแล้ว เมื่อคิดถึงเรื่องผู้สูงอายุที่จะต้องเผชิญ และจะต้องดูแลความมั่นคงทางการเงินระยะยาวแล้ว ปัญหาหนี้ครัวเรือนอาจจะเป็นจุดเปราะบาง ทำให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งในระดับเศรษฐกิจมหภาค และในระดับครัวเรือนของแต่ละคนมีปัญหาได้
       
       ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่เป็นปัญหาที่พวกเรารับทราบกัน และอาจจะนำมาสู่เรื่องของเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ก็คือ ปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นจากคนรวย กับคนที่อยู่ฐานล่างของสังคม จะเห็นได้จากความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจ และสังคมใดก็ตามที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูง ก็จะเป็นความเปราะบาง เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับฐานล่างของสังคม หรือธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ไม่สามารถที่จะรับแรงประทะต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ในโลกที่มีความผันผวนสูง และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีความเหลื่อมล้ำในระดับที่สูง การปฏิรูปเศรษฐกิจก็จะทำได้ยากขึ้น การออกนโยบายที่จะมองไปข้างหน้าที่มีความเห็นร่วมกัน มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ก็จะทำได้ยากขึ้น ทำให้ความสามารถในการที่จะยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะไม่สามารถทำได้ง่าย นี่ก็เป็นประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญ
       
       ความเสี่ยงอีกด้านหนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ ความเสี่ยงที่มาจากด้านต่างประเทศ ในโลกที่เราอยู่จะมีลักษณะที่ผันผวนมากขึ้น คาดเดาได้ยากขึ้น และต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของนโยบายเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายกีดกันทางการค้า นโยบายเหล่านี้จะมีผลกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าเศรษฐกิจไทยมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจเปิด แล้วพึ่งพาตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดสินค้าจากต่างประเทศมีความเชื่อมโยงกันในระดับที่สูง เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ จะต้องสร้างภูมิต้านทานเวลาที่เศรษฐกิจต่างประเทศมีความเปลี่ยนแปลง ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
       
       “จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีกันชนอยู่ในระดับสูง ตั้งแต่กันชนในระดับเศรษฐกิจมหภาค ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทุนระหว่างประเทศ, ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน, ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบริการจัดการสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้เหมาะสม พวกนี้เป็นกันชนที่จะทำให้เราสามารถรองรับแรงปะทะต่าง ๆ ที่จะเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้จากโลกที่จะผันผวนมากขึ้น โลกต่างประเทศที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีทางด้านภาคการเงินมีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว ความเชื่อมโยงกันของการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามประเทศก็จะเกิดขึ้น เร็วขึ้นมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ ถ้าเราจะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตในระยะยาว ผมคิดว่า มี 3 คำที่มีความสำคัญมาก คำแรก คือ เรื่องของผลิตภาพ (Productivity) คำที่สอง คือ เรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกัน การสร้างกันชนที่จะรองรับแรงปะทะต่าง ๆ (Immunity) และคำที่สาม คือ การแน่ใจว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยได้กระจายไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น (Inclusivity) ทั้ง 3 คำเป็นคำที่สำคัญ และเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบาย, ผู้กำกับดูแล, สถาบันการเงิน, ธุรกิจ หรือประชาชน ที่จะต้องช่วยกันเร่งเพิ่มผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจสังคมไทย ช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นกันชนให้กับเศรษฐกิจสังคมไทย และช่วยกันลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย” 


20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง บทเรียนสู่อนาคตยุค 4.0

manager360

นอกเหนือจากข่าวที่ไหลบ่าท่วมกระแสการรับรู้ของผู้คนไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อำนวยความสะดวกให้กับการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางในเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย ที่มีจีนเป็นผู้ดำเนินการ หรือการอนุมัติและเร่งรัดให้มีการสร้างหอชมเมืองด้วยวิธีที่ไม่ต้องประมูลเพื่อเร่งรัดให้โครงการสำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็วแล้ว บทวิเคราะห์ย้อนอดีตว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจไทยที่ลุกลามไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ดูจะเป็นอีกบริบทหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจไม่น้อย

เนื่องเพราะบทเรียนแห่งวิกฤตในครั้งนั้นยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องและส่วนหนึ่งฝังรากเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่ดูเหมือนว่า กลไกรัฐไทยและภาคธุรกิจเอกชนไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่พร้อมจะผลิตซ้ำความผิดพลาดครั้งเก่าจากความพยายามเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ในภาวะซึมเซายาวนานให้กลับมีสีสัน บนความคาดหวังครั้งใหม่ว่าจะช่วยฉุดกระชากเศรษฐกิจสังคมไทยออกจากหล่มโคลนให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้

หลักไมล์แห่งการวิเคราะห์วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ส่วนใหญ่ได้ยึดเอาวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ด้วยการยกเลิกการผูกติดกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากถูกโจมตีค่าเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งการประกาศดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมาก และส่งผลให้ปริมาณหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยทันที และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจไทย ก่อนที่จะลุกลามและขยายตัวจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียในนาม “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

หากแต่ในความเป็นจริงการประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่หักโค่นลงโดยที่ภูเขาน้ำแข็งแห่งปัญหาที่สั่งสมอยู่ใต้ผิวน้ำกำลังละลายและพังครืนจากความอ่อนแอที่เกิดขึ้นอยู่ภายในโครงสร้างที่เปราะบาง

โดย AMRO หรือสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN +3 Macroeconomic Research Office) ได้เสนอบทวิเคราะห์ย้อนอดีตวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นว่าแม้จะดูเหมือนว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย เมื่อค่าเงินบาทถูกกดดันจากการเก็งกำไรอย่างรุนแรง แต่ในความเป็นจริงความเสี่ยงต่างๆ ในภูมิภาคได้ก่อตัวมาสักระยะก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเฉพาะความไม่สมดุลของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค พัฒนาการจากเศรษฐกิจต่างประเทศ และความอ่อนแอของภาคการเงินและบรรษัทเอกชน

ความไม่สมดุลของภาคต่างประเทศถูกสะท้อนจากเงินทุนเอกชนที่ไหลเข้ามาอย่างมากและการลงทุนของเอกชนภายในประเทศที่สูง ซึ่งถูกกระตุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทกลับถูกตรึงเอาไว้ตามนโยบายขณะนั้น เงินทุนที่ไหลเข้ามาป็นชนวนขับเคลื่อนการขยายสินเชื่อและการลงทุนในเกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่เงินทุนและการกู้ยืมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายมาเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจเหล่านี้

ประเด็นว่าด้วยความเข้มแข็งและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากในช่วงก่อนปี 2540ในระดับร้อยละ 10 ต่อปีอย่างต่อเนื่องกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของมูลเหตุแห่งความชะล่าใจ และทำให้เร่งการลงทุนขยายธุรกิจด้วยความมั่นใจในสถานการณ์โดยไม่คาดคิดว่าวิกฤตกำลังจะติดตามมา

แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบันจะดูห่างไกลจากเงื่อนไขของสถานการณ์ในปี 2540 เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ3-4 ท่ามกลางความไม่มั่นใจของผู้ลงทุนที่จะเติมเต็มการลงทุนใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาวะฟืดเคือง โอกาสที่จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ จึงไม่ได้อยู่ที่ความมั่นใจที่มีมากเกินไป หากแต่เป็นประเด็นว่าด้วยการขาดธรรมาภิบาลของกลไกเศรษฐกิจและการละเลยไม่ระมัดระวังในการควบคุม

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำถึงความกังวลจากบทเรียน 20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง ไว้อย่างน่าสนใจเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ประเด็นที่ควรได้รับความสนใจอยู่ที่ความมั่นคง การมีธรรมาภิบาล และการปล่อยสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งแม้สหกรณ์ออมทรัพย์เหล่านี้จะเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร แต่ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์กลับไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลหนี้สินของสมาชิก และยังปล่อยสินเชื่ออย่างขาดความระมัดระวัง

กรณีที่ว่านี้รวมถึงการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งพบว่าสถาบันการเงินบางแห่งปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีธรรมาภิบาล จนสินเชื่อเติบโตสูงมาก และกลายเป็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา

ความตกต่ำของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในลักษณะฟองสบู่แตกเหมือนเมื่อครั้ง 20 ปีที่ผ่านมา ได้รับการเน้นย้ำ หากแต่จุดเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ความพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เกี่ยวเนื่องกับการนำพานวัตกรรมมาใช้ รวมถึงการปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจและการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

มิติมุมมองที่ว่านี้ได้รับการสะท้อนออกมาเป็นทัศนะจากกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า วิกฤตของไทยจากนี้จะเป็นประเด็นว่าด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ที่เห็นเด่นชัดคือตลาดแรงงานมนุษย์จะมีบทบาทน้อยลง ซึ่งหมายถึงการชำระภาษีของเหล่าลูกจ้างแรงงานเข้าสู่รัฐก็จะน้อยลงด้วย ขณะที่แนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งมีภาระเป็นรายจ่ายงบประมาณสวัสดิการของรัฐสูงขึ้นด้วย รัฐบาลจึงควรมีแผนสำหรับรองรับประเด็นที่ว่านี้ไว้

ขณะที่บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ผู้ประกอบการด้านสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ประเมินเศรษฐกิจไทยด้วยท่วงทำนองที่อาจให้ความรู้สึกอย่างค่อนข้างแตกต่างจากนักวิเคราะห์และนักวิชาการส่วนใหญ่ หลังจากออกมาระบุว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เหมือนเข้าสู่ขาขึ้นและใกล้เจอทางเรียบ ปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะดี หากไม่มีอะไรมาสะดุดขาตัวเอง

พร้อมกับระบุว่ากำลังซื้อที่เคยหดหายไป จากสถานการณ์ที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องยาวนาน น่าจะกลับมากระเตื้องขึ้น เพราะสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ดูจะเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ปลอบประโลมและให้กำลังใจ แม้ว่าสถานการณ์ที่ว่านี้อาจมีผลหรือเป็นปัจจัยเสริมเชิงบวกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัจจัยลบที่รุมเร้า

หากแต่ในความเป็นจริง วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจของเครือสหพัฒน์ไม่น้อย แม้สถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่รุนแรงมากเหมือนอดีต แต่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะปัญหากำลังซื้อหดตัว ก่อนที่เครือสหพัฒน์จะใช้กลยุทธ์กระตุ้นยอดจำหน่ายด้วยการจัดงาน “สหกรุ๊ป เอ็กซปอร์ต แอนด์ เทรด เอ็กซิบิชั่น” ครั้งแรกในปี 2540 เพื่อเร่งจำหน่ายสินค้าในเครือให้ได้มากที่สุด และจัดต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้เป็นครั้งที่ 21 แล้ว

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ในด้านหนึ่งก็คือความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นของสาธารณะ (Public Trust) ซึ่งประเด็นที่ว่านี้ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการของกลไกรัฐ เพราะ public trust ย่อมไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้จากการโหมประโคมประชาสัมพันธ์ หากแต่เป็นผลจากการดำเนินนโยบายและการผลิตสร้างจากมาตรการที่มีความเป็นรูปธรรมและจับต้องได้

สังคมไทยต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองและสังคมมาอย่างยาวนาน หวังเพียงแต่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฏเค้าลางให้ได้เห็นจากทั้งปัจจัยภายในและสถานการณ์ระดับนานาชาติจะไม่ซ้ำเติมให้สถานการณ์ในประเทศไทยเลวร้ายไปกว่าที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้


ถอดบทเรียนวิกฤต เศรษฐกิจสร้างภูมิคุ้มกัน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

บทบรรณาธิการ


ผ่านไป 20 ปีเต็ม นับจาก 2 ก.ค. 2540 วันแรกที่มีการประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัว หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่สามารถต้านทานการโจมตีค่าเงินจากกองทุนต่างชาติ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงฮวบฮาบเกือบเท่าตัวจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 48 บาทต่อดอลลาร์

เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตต้มยำกุ้ง สร้างความเสียหายหนักให้กับเศรษฐกิจ สังคมไทย ก่อนลุกลามไปอีกหลายประเทศในเอเชีย กลายเป็นบทเรียนราคาแพงมาจนถึงทุกวันนี้

ครั้งนั้นสถาบันการเงินจำนวนมากประสบปัญหา จนทำให้ทางการต้องประกาศปิดไฟแนนซ์ 56 แห่งที่เข้าขั้นวิกฤต สำหรับธนาคารพาณิชย์แม้ส่วนใหญ่จะยืนหยัดอยู่ได้ แต่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูเยียวยาหลายปี

ที่หนักหนาสาหัสคือภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การค้า อุตสาหกรรม กิจการนับไม่ถ้วนพากันล้มหายตายจาก ที่เหลือรอดก็ต้องแบกภาระหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้นมากเพียงแค่ชั่วข้ามคืน

เวลาล่วงเลยมานาน ถึงวันครบรอบลอยตัวค่าเงินบาท 2 ก.ค. 2560 ปีนี้ แม้ปัจจัยแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป สถานะทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ของประเทศไทยมีความมั่นคงแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมมาก แต่หากประมาทวางใจปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและนอกประเทศก็มีโอกาสจะพลาดซ้ำ

เพราะแม้หลังวิกฤตต้มยำกุ้งรัฐบาลรวมทั้ง ธปท.จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคการเงินการคลังของประเทศแต่โลกยุคใหม่ที่ปรับเปลี่ยนเร็ว ปัจจัยทั้งลบและบวกอาจส่งผลกระทบรุนแรงได้แบบไม่คาดฝัน การเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า ควบคู่กับสร้างฐานรากเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

แม้อานิสงส์จากการปฏิรูปใหญ่ระบบสถาบันการเงินการออกกฎกติกากำกับดูแลสถาบันการเงินทั้งระบบ ปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบอิงตะกร้าเงินตรามาเป็นระบบลอยตัว รวมทั้งมาตรการควบคุมดูแลภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่ให้ทำนอกลู่นอกทางป้องกันความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐดำเนินการมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จะช่วยลดผลกระทบได้ระดับหนึ่ง

ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ีความผันผวนไม่แน่นอนมีรอบด้านรัฐและเอกชนไทยจึงต้องผนึกกำลังสร้างสรรค์แนวทางพัฒนาประเทศสู่ทางเลือกใหม่ เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง พลิกโฉมประเทศภายใต้โมเดลใหม่ไทยแลนด์ 4.0 ตามเป้าหมายที่วางไว้

ที่สำคัญคือต้องถอดบทเรียนช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งมาปรับใช้ป้องกันแก้ไขปัญหา ขับเคลื่อนสังคมไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในระยะยาวให้ได้

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 20 ปีภาวะเศรษฐกิจไทย มาไกลมาก ผู้ว่าการ ธปท. โอกาสเกิด วิกฤตเหมือนปี 2540 ไม่มีแน่นอน

view